โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เลือกหุ้นให้พ่อแม่ยามเกษียณ - REIT, PF, IF

Finnomena

อัพเดต 20 พ.ย. 2561 เวลา 04.45 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2561 เวลา 04.22 น. • InvestDiary
เลือกหุ้นให้พ่อแม่ยามเกษียณ - REIT, PF, IF
เลือกหุ้นให้พ่อแม่ยามเกษียณ - REIT, PF, IF

พ่อแม่เริ่มเกษียณจากงานประจำแล้ว คำถามที่สำคัญคือเราจะบริหารเงินของพ่อแม่อย่างไรไม่ให้ท่านจำเป็นต้องรบกวนเงินต้น?

ในตอนที่แล้วผมได้อธิบายไปคร่าวๆ ถึงแนวคิดแล้วว่าเราควรจะเลือกคัดสรรหุ้นอย่างไร รวมถึงกฏเกณฑ์ 4 ข้อในการคัดเลือก เลือกหุ้นให้พ่อแม่ยามเกษียณ

ซึ่งหลักสำคัญจะเป็นเรื่องของการปกป้องเงินต้นมากกว่าการสร้างผลตอบแทน

อันที่จริงผมพบว่ามีหุ้นอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจและแทบจะไม่ค่อยมีเอ่ยถึงมากนักในหมู่นักลงทุน

โดยส่วนตัวผมว่ากลุ่มนี้สามารถเข้ากฏเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อได้ และมีความน่าสนใจไม่แพ้หุ้นทั่วไปก็คือกลุ่ม REIT, Property fund รวมไปถึง Infrastructure fund

สาเหตุหลักที่กลุ่มนี้น่าสนใจเป็นพิเศษก็เพราะ

*1. ให้ปันผลที่สูง *

เพราะกลุ่มนี้ไม่ใช่สินทรัพย์ประเภทที่จะสามารถเติบโตได้มากนัก แต่จะเน้นการจ่ายปันผลให้นักลงทุนแทน โดยส่วนใหญ่จะจ่ายถึง 90% ของกำไรสุทธิ

*2. ความเสี่ยงต่ำ *

เพราะรายได้มาจากการให้เช่า ซึ่งหากทำเลดีก็ทำให้ occupancy rate สูง ตัวอย่างเช่น Terminal21 อโศก เป็นกลุ่ม REIT ที่มีอสังหาฯทำเลดีมาก

*3. สามารถเพิ่มอัตราค่าเช่าในแต่ละปีได้ *

ทำให้ถึงแม้จะไม่ได้โตเร็ว แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสเติบโตที่จะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้

*4. ที่ดินเป็นสิ่งที่มีจำกัด *

หากได้ทำเลดีก็แทบจะถือว่าเป็น Monopoly ในทำเลนั้นๆ

แต่ก่อนที่จะไปเจาะว่าหุ้นไหนจะน่าสนใจ เราลองมาทำความรู้จักกับความแตกต่างระหว่าง REIT และ Property fund กันก่อน

*Property fund *

คือกองทุนที่ถือครองสินทรัพย์ประเภทอสังหาฯ ซึ่งมีรายได้มาจากการรับค่าเช่าอสังหาฯ เป็นหลัก

รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากค่าเช่าจะถูกหักค่าบริหารไปส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือจึงเป็นกำไร

หน้าที่หลักของกองทุนเหล่านี้คือการจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น กองทุนไม่จำเป็นต้องเก็บกำไรสะสมไว้ลงทุนเพิ่ม เพราะ Property fund ไม่สามารถลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มได้

ข้อจำกัดตรงนี้ทำให้เกิดกองทุนอสังหาฯประเภทใหม่ขึ้นมาเรียกว่า REIT

*Real Estate Investment Trust หรือ REIT *

เป็นกองทุนอสังหาฯเช่นกัน แต่แตกต่างตรงที่กองทุนนี้สามารถเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเพิ่มนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เพิ่มได้

มาถึงจุดที่สำคัญที่สุดในกองทุน REIT, PF, IF คือกองทุนเหล่านี้มี 2 ประเภทใหญ่; Leasehold และ Freehold

สำหรับความแตกต่างของ 2 ประเภทนี้ คือ Leasehold เป็นกองทุนที่มีวันหมดอายุ ส่วน Freehold เป็นกองทุนที่ไม่มีวันหมดอายุ

หากดูคร่าวๆ จะเหมือน Leasehold เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า Free hold เพราะมีวันหมดอายุ แต่จริงๆ ก็ไม่เชิงครับ กองทุนที่จะหมดอายุจะค่อยๆ ทยอยคืนเงินต้นราคาพาร์กลับให้เราผ่านปันผล

ความเสี่ยงสำคัญจึงอยู่ที่สินทรัพย์ที่เราเลือกต่างหากว่าจะแข็งแกร่งจริงหรือเปล่า

มาลองดูตัวอย่างสมมติกันดีกว่า เพื่อเป็นกรณีศึกษาไว้ผสมระหว่าง Freehold และ Leasehold

ตัวอย่างที่ 1 : กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน XXX

เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานประเภท Leasehold ซึ่งสินทรัพย์หลักเป็นโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม แน่นอนว่ารายได้หลักจะมาจากการผลิตไฟฟ้า

กองทุนนี้เปิดเมื่อปี 2558 และจะหมดอายุ 2578 ทำให้หากลงทุนตอนนี้จะเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 17 ปีในการรับผลตอบแทน

ราคาพาร์ของกองทุนตอนเปิดอยู่ที่ 10 บาท ซึ่งปัจจุบันกองทุนได้คืนทุนบางส่วนออกมาบ้างแล้ว ทุนจึงเหลือ 9.718 บาท

ราคาตลาดอยู่ที่ 11.10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ให้ปันผลสูงถึง 7% (ปีล่าสุด 0.76 บาทต่อหุ้น)

เมื่อรวมทั้งหมดจะหมายความว่าหากเราลงทุนวันนี้และถือจนครบสัญญา นั้นแปลว่าเราก็อาจจะได้ปันผล 0.76 บาทต่อหุ้นไปตลอดระยะเวลา 17 ปี เท่ากับปันผลรวมตลอดอายุกองทุนที่คาดว่าจะได้อยู่ประมาณ 12.92 บาทต่อหุ้น

หรือคิดง่ายๆ ว่าหากวันนี้ลงทุนด้วยเงิน 1,000,000 บาท เราจะได้ปันผลทั้งหมดประมาณ 1,160,000 บาท ในเวลา 17 ปี

ส่วนทุนราคาพาร์ที่เหลืออยู่ในกองทุนอีก 9.718 บาท กองทุนก็จะทยอยคืนเราจนครบผ่านปันผล

ดังนั้นแล้วเมื่อรวมเงินจากปันผล 12.92 บาทต่อหุ้นและส่วนของทุน 9.718 บาทต่อหุ้น จะเท่ากับ 22.638 บาทต่อหุ้น

สรุปง่ายๆ คือ หากเราลงทุนวันนี้ในราคา 11.10 บาทต่อหุ้น เมื่อเราถือจนครบอายุกองทุนจะกลายเป็น 22.6 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 100% ใน 17 ปี

ตัวอย่างที่ 2 : กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน YYY

เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานประเภท Freehold ซึ่งสินทรัพย์หลักเป็นโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง รายได้หลักมาจากการเช่าโครงข่าย

กองทุนนี้เปิดเมื่อปี 2558 และไม่มีวันหมดอายุ หมายความว่านักลงทุนสามารถรับผลตอบแทนได้นานจนกว่าสินทรัพย์จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้

ราคาพาร์ของกองทุนตอนเปิดอยู่ที่ 10 บาท ซึ่งปัจจุบันกองทุนได้คืนทุนบางส่วนออกมาบ้างแล้ว ทุนจึงเหลือ 9.85 บาท (สาเหตุที่คืนทุนสามารถอ่านได้ในรายงานประจำปี)

ราคาตลาดอยู่ที่ 10.3 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ให้ปันผลสูงถึง 8% (ปีล่าสุด 0.9 บาทต่อหุ้น)

เมื่อรวมทั้งหมดจะหมายความว่าหากเราลงทุนวันนี้และถือไปเรื่อยๆ นั้นแปลว่าเราก็อาจจะได้ปันผล 0.9 บาทต่อหุ้นไปตลอดระยะเวลา หากคิดระยะเวลา 10 ปี เราก็จะได้ปันผลทั้งหมด 9 บาทต่อหุ้น

หรือคิดง่ายๆ ว่าหากวันนี้ลงทุนด้วยเงิน 1,000,000 บาท เราจะได้ปันผลทั้งหมดประมาณ 900,000 บาท ในเวลา 10 ปี

สรุป

ทั้งหมดเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น การบ้านต่อไปคือการศึกษาแต่ละสินทรัพย์ให้เข้าใจไม่ต่างอะไรกับการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน รวมถึงปันผลที่คำนวนก็จะต้องลองหักภาษีออกก่อนด้วยเมื่อคำนวนผลตอบแทนที่แท้จริง

จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วในการลงทุนระยะยาว เราควรจะได้กำไรตั้งแต่วันแรกที่เข้าลงทุนแล้ว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการลงทุนของเรา

ในกรณีของกองทุนประเภทนี้อาจจะดูแล้วผลตอบแทนไม่ได้สูงมากและไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนหลายคน แต่สำหรับนักลงทุนที่เกษียณและต้องการปกป้องเงินต้นแล้วถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ

ที่มาบทความ: http://investdiary.co/2018/10/12/155/

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0