โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เลือกลงทุนยังไงระหว่าง “นิสัย” กับ “อายุ”

Money2Know

เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
เลือกลงทุนยังไงระหว่าง “นิสัย” กับ “อายุ”

สัปดาห์ที่แล้ว เล่าเรื่อง “กองทุน” ที่เหมือน “ขัน” ให้คนที่สนใจไป “ลงขัน” กัน แล้วนำไปลงทุนตามนโยบายที่เราต้องการ ซึ่งคิดว่า หลายคนคงจะนึกภาพออกแล้วนะคะว่า กองทุนคืออะไร และนโยบายลงทุนหลักๆ มีอะไรบ้าง สำหรับสัปดาห์นี้ จะเป็นตอนต่อจากที่ทิ้งค้างไว้ว่า สำหรับคนที่เลือกไม่ถูกว่า จะ “ลงขัน” ไหน มันมีหลักเกณฑ์อะไรที่เป็น “มาตรฐาน” หรือเป็น “ค่ากลาง” พอเป็นแนวทางให้ตัดสินใจได้หรือไม่

คำตอบ คือ “มี” ค่ะ  โดยปกติก็จะใช้เกณฑ์ “อายุ” เป็นหลักในการพิจารณา โดยจะแบ่งเป็น 4 ช่วง (อ้างอิงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ดังนี้ค่ะ

 วัยเริ่มต้นทำงาน อายุ 21-30 ปี

ว่ากันว่า วัยนี้เป็นวัยที่ได้เปรียบเรื่องการออมและการลงทุนมากที่สุด เพราะเพิ่งเริ่มทำงาน มีเวลา มีกำลังในการหารายได้ และยังไม่มีภาระรับผิดชอบมากนัก ดังนั้น จึงสามารถนำเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นได้มากถึง 90% แต่ก็ต้องเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงทางการเงิน มีเงินปันผลที่น่าพอใจ และมีโอกาสเติบโตในอนาคต ส่วนที่เหลืออีก 10% สามารถเก็บไว้ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่มีความปลอดภัยของเงินต้นสูง และได้อัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน

 วัยสร้างครอบครัว อายุ 31-40  ปี

วัยนี้จะเหนื่อยหน่อยค่ะ เพราะหน้าที่การงานมั่นคง รายได้สูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จะเป็นช่วงที่การเงินตึงตัว ไหนจะสร้างครอบครัว แต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายของลูก และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น การเลือกลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่น้อยลง โดยควรลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเหลือ 50% และเพิ่มสัดส่วนเงินฝากและตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง

วัยปึกแผ่นมั่นคง อายุ 41-50 ปี

เป็นช่วงที่ชีวิตมีหลักฐานมั่นคงที่สุด ฐานเงินเดือนสูงขึ้น ถึงจะมีภาระทางการเงินอยู่ แต่ก็น่าจะผ่อนคลายลงไปมาก ยิ่งถ้าเก็บออมและลงทุนอย่างมีวินัยมาตั้งแต่ต้น ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงที่ฐานะทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีความสมดุลในทุกๆ ด้าน แต่เนื่องจากวัยที่เริ่มมากขึ้น เหลือเวลาหารายได้ไม่มากก็จะเกษียณหรือหยุดทำงานแล้ว ดังนั้น การลงทุนของคนในวัยนี้จึงต้องเน้นนำเงินไปไว้ในที่ปลอดภัยอย่างเงินฝากหรือตราสารหนี้ โดยมีสัดส่วนสูงถึง 70% ค่ะ  ส่วนที่เหลืออีก 30% ให้แบ่งมาลงทุนในหุ้นระยะยาวเพื่อแสวงหาผลตอบแทนเพิ่มเติม

 วัยเกษียณ อายุ 55 ปีขึ้นไป

เป็นโค้งสุดท้ายของการทำงานค่ะ หรือบางคนก็ไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ด้วยเงินสะสมของตัวเอง แม้ว่าค่าใช้จ่ายบางอย่างจะลดลง แต่ต้องไม่ลืมว่า วัยนี้ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มมากขึ้นตามวัยค่ะ ดังนั้น เงินออมเกือบทั้งหมดในชีวิต กว่า 90% จึงควรอยู่ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ไม่ใช่ว่า จะลงทุนในหุ้นไม่ได้เลยนะคะ เพราะสำหรับคนที่มีเงินออมมากพอ ก็อาจจะจัดสรรเงินไม่เกิน 10% ไปลงทุนในหุ้น เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ และถึงแม้จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการลงทุน แต่สัดส่วนเพียงแค่ 10% ก็ไม่ได้กระทบกับการเงินโดยรวมมากนักค่ะ

ถ้าเราจะเลือกการลงทุนโดยใช้หลัก “อายุ” ก็จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงประมาณนี้ แต่ยังมีการเลือกลงทุนตาม “นิสัย” หรือ “ไลฟ์สไตล์” เพราะเดี๋ยวนี้คนอายุ 55 จำนวนไม่น้อย ก็ยังรับความเสี่ยงได้มากอยู่ ยิ่งถ้ามีวินัยในการออมและการลงทุนมาตลอด ก็สามารถจัดสรรเงินสำหรับลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้เกินกว่า 10% ค่ะ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรจะเสี่ยง 100% หรือเสี่ยงเกินกว่า 50% เพราะถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น โอกาสแก้มือหรือเอาคืนมันน้อยเต็มที

ติดตามเรื่องการลงทุนในกองทุนแบบมือใหม่มากจริงๆ ไป 2 ตอนแล้ว หลังจากนี้ ต้องเริ่มลงมือทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลเองบ้างค่ะ ดิฉันนำเสนอเว็บไซต์ https://www.wealthmagik.com/ ให้ลองเข้าไปศึกษาเพิ่มเติม หรือจะดูคลิปนี้จากตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=EdjKoQJFgtA

ย้ำว่า ในอินเทอร์เน็ต มีสารพัดคลิป สารพัดเว็บ ให้ศึกษาเพิ่มเติม แต่ต้องเลือกค่ะ เพราะบางเว็บหรือบางคลิปก็หลอกลวง ขายของปลอมก็มี ชวนลงทุนแบบผิดๆ ก็มี หลักคิดง่ายๆ คือ เลือกที่ไว้ใจได้ เช่น เป็นองค์กรที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบที่มาขององค์กรนั้นจากหน่วยงานกำกับได้ หรือแม้แต่กูรู หรือวิทยากรก็ต้องเลือกเชื่อ เลือกฟังนะคะ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0