โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เลี้ยงไก่เนื้อ ระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง รายได้มั่นคง หลักล้านต่อปี

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 15 ส.ค. 2561 เวลา 04.31 น. • เผยแพร่ 15 ส.ค. 2561 เวลา 03.13 น.
39026945_666060803750517_8517964228747853824_n

อาชีพเลี้ยงไก่อยู่คู่คนไทยมาแต่โบราณ ปัจจุบันยังมีให้เห็น ทั้งเลี้ยงไก่เนื้อไว้ขาย เลี้ยงไก่บ้านเพื่อการกีฬายังคงอยู่ แม้ไก่จะไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจชนิดเดียวในไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันสามารถสร้างรายได้ให้กับคนประเทศเราไม่น้อย

“เส้นทางเศรษฐี” มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจฟาร์มที่จังหวัดนครราชสีมา กับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์รูปแบบ Contract Farming ที่เรียกว่า ระบบฟาร์มข้อตกลง หรือ ระบบฟาร์มสัญญา ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำเข้ามาใช้งานกว่า 40 ปีแล้ว

คุณคะนองเดช พินิจด่านกลาง วัย 40 ปี หนึ่งในเกษตรกรระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง เจ้าของคะนองเดชฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ 225 หมู่ 2 ตำบลแหลมทอง อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า แต่เดิมเป็นเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังและอ้อย กับพ่อแม่ มีรายได้เพียงปีละครั้ง ผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ราคาขายก็ไม่แน่นอน

กระทั่งซีพีเอฟขยายโครงการเลี้ยงไก่เนื้อมาในเขตพื้นที่ ตนมองว่าเป็นระบบที่ดี มีมาตรฐาน และวงจรการผลิตอยู่ในโซนเดียวกัน อีกทั้งเป็นโอกาสดีในการประกอบอาชีพ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมกับบริษัท ปี 2549 รวมระยะเวลา 12 ปีแล้ว

คุณคะนองเดช เล่าต่อว่า เริ่มต้นสร้างโรงเรือน 2 หลัง เลี้ยงไก่ 31,200 ตัว เป็นไก่เนื้อขนาดเล็กขนาดเท่ากับไก่ KFC น้ำหนักประมาณ 1.9 กิโล ต่อมาได้ขยายฟาร์มในพื้นที่เดิม ปัจจุบันสามารถเลี้ยงไก่ได้ 96,600 ตัว จำนวน 5 โรงเรือน ในพื้นที่ 18 ไร่

ภายในโรงเรือนมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการเลี้ยงให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น ระบบให้อาหารอัตโนมัติ ช่วยลดการสูญเสียอาหารและช่วยให้คนงานทำงานง่ายขึ้น รวมถึงการนำระบบกกลูกไก่ที่ใช้ฮีตเตอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำความร้อนแทนระบบกกแก๊สมาใช้ สามารถช่วยกระจายความร้อนและลดการใช้พลังงานได้เป็นอย่างดี

“เทคโนโลยีการเลี้ยงเป็นตัวช่วยที่ทำให้มีรายได้แน่นอน คืนทุนเงินกู้ภายใน 5-6 ปีแรก รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 3-4 ล้านบาท”

ด้าน คุณทวีสิน คุณากรพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพที่ยั่งยืน มีรายได้แน่นอน จากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบัน มีเกษตรกรในโครงการคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ จำนวน 5,200 ราย โดยครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกรที่ร่วมโครงการมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี และมีเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่เข้าร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการ ปี 2518 ที่ปัจจุบันส่งมอบมรดกอาชีพสู่รุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0