โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เลี้ยงลูกด้วยคำขู่ ความเสียหายที่พ่อแม่คาดไม่ถึง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 29 ม.ค. 2563 เวลา 10.10 น. • เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 10.10 น.
PARENT-CHILD CONFLICT
Photo by: BSIP/Universal Images Group via Getty Images

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย รศ.พญ.สุวรรณี พุทธิศรี

การขู่ให้ลูกกลัวถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการเลี้ยงลูกแบบผิด ๆ ที่พ่อแม่หลายคนอาจยังไม่รู้ตัวว่านั่นคือการทำร้ายลูกทางอ้อม แม้ช่วงแรกการขู่จะใช้ได้ผล ลูกเชื่อฟัง แต่ก็เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น เพราะในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อตัวลูกที่คุณอาจคาดไม่ถึงเลยทีเดียว เรามาดูกันว่าการขู่ให้ลูกกลัวจะมีผลเสียอย่างไรบ้าง

กลัวจนเสียโอกาส

เด็กในวัย 2-5 ขวบ เป็นวัยที่กำลังอยากรู้ อยากเห็น อยากเรียนรู้ เริ่มเข้าใจภาษาพูดและพฤติกรรมของคนรอบข้าง หากพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยการขู่บ่อย ๆ จะทำให้ความอยากเรียนรู้หายไปเพราะเกิดความกลัวเข้ามาปิดกั้น ตามธรรมชาติของเด็กแล้วหากเกิดความกลัวก็จะไม่กล้าเข้าไปสำรวจ ไม่กล้าลองสิ่งใหม่ ๆ แม้สิ่งนั้นจะไม่อันตรายจนทำให้เด็กเสียโอกาสหลายอย่างเพราะพ่อแม่ตั้งกรอบความกลัวรอบตัวลูกโดยไม่รู้ตัว

*ส่งผลต่อการเรียน *

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การขู่ลูกตั้งแต่เด็กจะทำให้การอยากเรียนรู้หายไป เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียนความอยากเรียน ความกระตือรือร้นจะน้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เพราะเด็กจะรู้สึกว่าไม่สนุกกับการเรียน ไม่เกิดความสงสัยและไม่พยายามหาคำตอบ ส่วนใหญ่เด็กที่เรียนหนังสือได้ดีจะเรียนเพราะอยากรู้ ไม่ใช่เรียนเพราะต้องเรียน ดังนั้น ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความฉลาดของเด็กเป็นอย่างมาก

*ไม่กล้าเข้าสังคม *

นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความกลัวจนเสียโอกาสและไม่กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้ว ยังมีผลทำให้เด็กมีอาการวิตกกังวล ไม่กล้าเข้าสังคม พอโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่มีนิสัยหวาดระแวงและมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือความสัมพันธ์กับเพื่อน บางรายอาจจะหนักถึงขั้นเมื่อโตขึ้นอยู่ในวัยผู้ใหญ่ก็มักจะมีปัญหาหย่าร้างและไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิตคู่

*เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว *

ลูกเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนสิ่งที่พ่อแม่ทำ หากพ่อแม่ขู่ลูกด้วยคำพูดที่รุนแรง ก้าวร้าว เด็กจะเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้น ทำให้เมื่อโตขึ้นอาจมีนิสัยก้าวร้าวและชอบใช้ความรุนแรง เนื่องจากถูกปลูกฝังด้วยคำขู่มาตั้งแต่เด็ก ๆ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ เด็กที่เริ่มเข้าใจภาษาพูดของพ่อแม่จะเรียนรู้ได้ว่าคำขู่เหล่านั้นไม่เกิดขึ้นจริง เป็นแค่คำขู่ที่พ่อแม่สร้างขึ้นมา ทำให้พวกเขาไม่เกรงกลัวต่อคำขู่และอำนาจการต่อรองของพ่อแม่ก็จะลดลง ในระยะยาวเด็กจะไม่เชื่อฟังและแสดงอาการต่อต้านที่ก้าวร้าวมากขึ้น

หมายเหตุ : รศ.พญ.สุวรรณี พุทธิศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0