โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เร่งทรานส์ฟอร์ม รับโลกที่ไม่เหมือนเดิม

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 17.00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3507 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย.2562

 

เร่งทรานส์ฟอร์ม

รับโลกที่ไม่เหมือนเดิม

 

          ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “พลิกวิกฤติสร้างเศรษฐกิจไทย : Do or Die” ที่จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสิ่งที่มนุษย์ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้โลกใหม่ ทั้งเรื่องการดำรงชีวิต การทำงานและการเรียนรู้ พร้อมชี้ให้เห็นถึงประเด็นท้าทายในยุคดิจิทัลไว้อย่างน่าสนใจ 7 เรื่องที่น่ากลัวของประเทศ

          ประกอบด้วย 1. Career Migration หรือการย้ายข้ามสายงาน ที่ทำงานมาถึงจุดหนึ่งก็มีสิทธิ์ตกงานจากการถูกดิจิทัลดิสรัปต์ 2. Jobless Growth จำนวนงานมีน้อยลง เพราะอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจจะเกิดจากดาต้า และ Ai เป็นอัตราการเติบโตที่ดี แต่จะไม่มีการจ้างงาน 3. Skill Divide ทักษะจะถูกจำแนก คนที่มีทักษะจะไปรอด แต่ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ห่างไกลดิจิทัล ทำให้คนถูกแยกเป็น 2 กลุ่ม 4. Competing for Talents เกิดการแข่งขันด้านความสามารถ 5. Multistage Life ขั้นของการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม 6. Intellectual Capital Investment การลงทุนด้านปัญญา 7. Career of the Future หน้าที่การงานในอนาคต

          ขณะที่นายพงษ์พันธ์ สุระวัฒน์เจริญ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เสนอกรอบแนวความคิดเรื่อง Digital Transform จะต้องทำ 3 เรื่อง คือ 1.การสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า Customer Experience 2.การปรับปรุงกระบวนการให้กระชับ ลดขั้นตอนยุ่งยาก เพื่อลดต้นทุน หรือ Operation Process และ 3.การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และธุรกิจใหม่ หรือ Business Model โดยดึงเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้เหมาะสม

          สอดคล้องกับ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อเสนอแนะในหัวข้อ “พายุเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้มนุษย์เราอยู่รอดในโลกที่ไม่เหมือนเดิมคือต้องเปลี่ยนแปลง และต้องเปลี่ยนให้ไว ถ้าช้าไปเพียงวันละ 1 นาทีก็สู้เขาไม่ได้แล้ว เพราะวันนี้เป็นยุคทำลายล้าง เป็นโลกที่น่ากลัวที่สุดเพราะเราไม่รู้ว่า สู้กับใคร และใคร คือ คู่แข่งของเรา

          ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้โลกของเราในตอนนี้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แม้ว่าปัจจุบันที่เราอยู่ในยุค Internet of Things (IoT) หรือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” แต่ IoT เองก็กำลังถูกทำลายล้างจากเทคโนโลยีด้วยกันเองและก้าวเข้าสู่ยุค sensorization of things ที่ทุกสิ่งอย่างวัดได้ โดยอุปกรณ์ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันจะติดเซ็นเซอร์ รับส่งข้อมูลและนำข้อมูลไปแปลความสามารถรับรู้ความรู้สึกของคนผ่าน AI

          นับเป็นเรื่องทุกคนต้องตระหนักและเร่งทรานส์ฟอร์ม รับความท้าทายและความเสี่ยงการเข้ามาของคลื่นเทคโนโลยีและธุรกิจดิจิทัล หรือ ดิจิทัล ดิสรัปชัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0