โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เรื่องเล่า “ไอคอนสยาม” ทุก “อณู” ของที่นี่มีที่มา

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2561 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ผมขออนุญาตเขียนถึงอภิมหาโปรเจกต์ “ไอคอนสยาม” ต่ออีกสักวันนะครับ เพราะการลงทุนใหญ่ขนาดนี้ใหญ่อย่างชนิดที่หน้าสตรีไทยรัฐเคยพาดหัวเอาไว้ว่า “เดิมพันชีวิต ชฎาทิพ จูตระกูล” ซึ่งผมเห็นด้วย…จึงไม่ควรที่จะเขียนถึงแค่วันเดียว

บทสัมภาษณ์เต็มพื้นที่ในหน้าสตรีไทยรัฐ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน ก่อนพิธีเปิดงาน 5 วัน นับเป็นบทสรุปของสิ่งที่อยู่ในหัวใจและวิญญาณของหญิงแกร่งรายนี้ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

รวบรวมเรียบเรียง สาระหลักๆของคำพูดทุกคำพูดที่ ชฎาทิพ จูตระกูล และตอบคำถามพวกเรา ที่ซักถามเธอถึงเหตุและผลของการลงทุน 54,000 ล้านบาท เอาไว้ทุกประเด็น

“เจ้าของไอคอนสยาม คือคนไทยทั้งประเทศ สิ่งที่เราสร้างไม่ใช่เมืองแต่เป็นการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นไทยของคนยุคนี้”

“มีคนถามว่าทำไอคอนสยามอยากได้อะไรมากที่สุด…สมัยก่อนต้องบอกว่าอยากได้ยอดขายหมื่นล้าน อยากให้คนเดินเข้าวันละหลายแสนคน แต่ครั้งนี้สิ่งที่อยากได้ที่สุดคือ อยากให้คนไทยทุกคนที่เข้ามาเดินไอคอนสยามได้เรียนรู้เรื่องราวของเมืองไทยในทุกมิติและกลับออกไปด้วยหัวใจที่รักประเทศไทย รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เกิดเป็นคนไทย”

“อยากให้ไอคอนสยามเป็นสถานที่เล่าเรื่องราวล้านเรื่องของประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก อยากทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงและสง่างามบนเวทีโลก อยากเรียกความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง หลังจากเมืองไทยของเราผ่านความวุ่นวายมาหลายปี”

ผมชอบที่เธอบอกว่า “จะให้ไอคอนสยามเป็นสถานที่เล่าเรื่องล้านเรื่องของประเทศไทย” เพราะทุกวันนี้คำว่า “เล่าเรื่อง” หรือกลับกันคือ “เรื่องเล่า” กำลังเป็นคำฮิตของโลกยุคนี้

สินค้าที่ขายดีทุกอย่างจะต้องเป็นสินค้าที่มีที่มาที่ไปและมี “เรื่องเล่า” ที่น่าสนใจ

“ไวน์” ขวดละแสนขายได้เพราะมีตำนานและเรื่องเล่า สำหรับให้กลุ่มคนที่กำลังจะดื่มไวน์ขวดนั้นได้คุยกันถึงความเป็นมาและรสชาติ

กระเป๋าถือแบรนด์เนมใบละแสนหรือมีอยู่ยี่ห้อหนึ่งใบละล้าน ล้วนมีเรื่องเล่าที่แสดงถึงความโดดเด่นที่จะทำให้คนหิ้วกระเป๋าใบนั้นเดินยืดอกด้วยความภูมิใจ

นี่คือความสำคัญของคำว่า “เรื่องเล่า” และแน่นอนสำคัญไม่แพ้กันเลย คือการรู้จัก “เล่าเรื่อง” เพื่อให้สินค้าแต่ละชิ้นถูกใจผู้คน

มีคนมาบอกผมว่า ที่อังกฤษขณะนี้มีการเปิดสอนวิชา “เล่าเรื่อง” หรือ Storytelling ถึงระดับชั้นปริญญาโทเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ทุกๆอย่างที่ ไอคอนสยาม ของเธอจึงมี “เรื่องราว” ที่จะเล่าสู่กันฟังได้ทั้งสิ้น

ลองไปใช้ห้องน้ำในบริเวณ “สุขสยาม” ซึ่งเป็นสถานที่แสดงอัตลักษณ์ไทยสักนิด แล้วคุณจะพบกับห้องน้ำที่ใช้โอ่งมังกรมาทำเป็นที่ล้างหน้า และผนังลวดลายไทยๆสีฉูดฉาด

ซึ่งก็มีเรื่องเล่าว่าเป็นฝีมือของเด็กพิเศษ (ออทิสติก) กลุ่มหนึ่งที่ผ่านการฝึกจนสามารถวาดและเขียนรูปต่างๆได้เป็นอย่างดี

หรืออย่างศูนย์จำหน่าย “แอปเปิล” (แอปเปิลสโตร์) สินค้าที่คน 4.0 รู้จักทั่วโลกก็มีเรื่องเล่าว่า นี่คือร้านของแอปเปิลสายตรงร้านแรกในประเทศไทย ไม่ใช่ร้านสาขาหรือตัวแทนจำหน่ายอย่างในอดีตกาล

สาวกแอปเปิลพอรู้ว่าสายตรงก็แห่กันไปเยือนแน่นเอี้ยด

เมื่อทุกอย่างมีเรื่องเล่าเช่นนี้ ตัวโครงการ ไอคอนสยาม ทั้งโครงการจึงต้องมีเรื่องเล่าด้วย ดังที่คุณแป๋มเธอเล่าถึงที่มาที่ไปและความในใจของเธอผ่านสื่อทุกแขนงทุกช่องทุกฉบับ ที่ผมหยิบยกส่วนหนึ่งจากหน้าสตรีไทยรัฐมาเป็นตัวอย่างข้างต้น

อีกเรื่องเล่าหนึ่งของไอคอนสยามที่คุณชฎาทิพย้ำเสมอๆก็คือ

“แรงบันดาลใจจากพ่อ”…พ่อที่เดินมาจับมือเธอ หลังความสำเร็จของโครงการ สยามพารากอน พร้อมกับกล่าวว่าคำพูดที่ทำให้เธอเดินหน้า ต่อมาถึงไอคอนสยาม

คุณพ่อของ ชฎาทิพ จูตระกูล คือใคร? และมาพูดอะไรกับเธอ? พรุ่งนี้ขออนุญาต “เล่าเรื่อง” ต่ออีกวันนะครับ.

“ซูม”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0