โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรื่องเล่าจากริมโขง เมื่อไทย-ลาวจับมือกัน อนุรักษ์สายน้ำแห่งชีวิต

WWF-Thailand

เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 17.01 น.

สำหรับคุณยรรยง ศรีเจริญ เขาเปรียบแม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการเดินทางของหยาดน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะบนที่ราบสูงของทิเบต ก่อให้เกิดแม่น้ำสายที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และเป็นแม่น้ำสายที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากแม่น้ำแอมะซอน

แม่น้ำโขงได้ก่อกำเนิดสรรพชีวิต รวมถึงจำนวนพันธุ์ปลากว่า 1,100 ชนิด ตลอดระยะทาง 4,800 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนกว่า 60 ล้านคน และเป็นแหล่งที่สามารถจับปลาได้ 2.6 ล้านตันต่อปี 

“ตอนนี้มันกำลังอยู่ในช่วงที่มีปัญหา สืบเนื่องจากการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจที่มากเกินไป เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การสร้างสะพาน หรือการคมนาคม” คุณยรรยงกล่าว “ลักษณะการก่อสร้างนี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการไหลเวียนของน้ำ เพราะฉะนั้นในอนาคตก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะระบบนิเวศในแม่น้ำโขงก็เปลี่ยนไป.. แน่นอน มันจะส่งผลกระทบต่อการอพยพของปลา ที่ขึ้นมาทำรัง วางไข่ ขยายพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้ปลาในแม่น้ำโขงลดลงตามลำดับ” คุณยรรยงกล่าว ความผูกพันระหว่างผู้คนในสองฝั่งโขง จึงนำมาสู่โครงการร่วมจัดการทรัพยากรประมงระหว่างประเทศไทย และสปป.ลาว เพื่อปรับปรุง เพิ่มปริมาณปลาและพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนในแม่น้ำโขงตอนกลาง

พื้นที่แม่น้ำโขงตอนกลางทอดตัวผ่านเส้นทาง 132 กิโลเมตร และเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหนังและปลาเกล็ดจำนวน 165 ชนิด ตั้งแต่จังหวัดบึงกาฬ ไปจนถึงจังหวัดนครพนม โดยมีหมู่บ้านเป้าหมายเป็นหมู่บ้านฝั่งไทยจำนวน 15 หมู่บ้าน และหมู่บ้านฝั่งลาวอีก 19 หมู่บ้าน

ความร่วมมือในการปรับปรุงพื้นที่นี้ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อสามปีที่แล้ว เมื่อ WWF-ประเทศไทย จับมือกับ WWF-ลาว ภายใต้เป้าหมายเพื่อปรับปรุงและฟื้นฟูพันธุ์ปลาท้องถิ่นเดิม ที่มีอยู่ในแม่น้ำโขงตอนกลาง ตลอดจนเสริมสร้างความเข้าใจแก่ชุมชน ด้านระบบนิเวศน้ำโขงอันทรงคุณค่า และเสริมสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และองค์กรชุมชน ด้านการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ร่วม กัน 2 ประเทศ เพื่อส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านอาหาร และ เสริมสร้างรายได้ชุมชนจนทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

“การทำงานกับ WWF-ลาว เป็นเรื่องที่สำคัญครับ เพราะ WWF เองให้ความสำคัญกับเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศมาก เราได้เรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับทั้ง WWF-ลาว และข้าราชการลาว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งแม่น้ำโขงที่โอบอุ้มทั้งสองประเทศไว้ก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน เจ้าหน้าที่ภาครัฐของทั้งสองประเทศ จึงต้องรับรู้และเข้าใจเรื่องราวแม่น้ำโขง และประสานงานกันในอนาคต” คุณยรรยงกล่าว พร้อมเสริมว่าทุกครั้งที่เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างสองฝั่งโขง ทีมงานของทั้งสองประเทศยังตั้งใจกันในการเก็บข้อมูลและคอยติดตามเรื่องแนวทางการปรับปรุงพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลของทั้งสองฝั่งมาแบ่งปันร่วมกัน

กิจกรรมหลักในการดำเนินงานเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนนั้น รวมไปถึงการจำแนกถิ่นที่อยู่สำคัญของเหล่าปลาในแม่น้ำโขงตอนกลาง ทั้งการศึกษาแหล่งหากินและแหล่งวางไข่ แหล่งน้ำลึก เส้นทางอพยพ รวมถึงการจำแนกสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดเป็นวังสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ , การทำแนวเขตที่ชัดเจนของเขตวังสงวนพันธุ์สัตว์น้ำและให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการกำหนดข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศไทย และสปป.ลาว อีกทั้งยังมี “หน่วยลาดตระเวนชุมชน” เพื่อดูแลเขตวังสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ เรียกได้ว่าเป็นการให้ความร่วมมือกันของทุกพื้นที่ ควบคู่ไปกับการอาศัยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ และสำรวจแพลงตอนภายในแม่น้ำ

การดำเนินงานเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์สู่แม่น้ำโขงนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของการทำฐานข้อมูลและการทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจับมือชุมชนและภาครัฐ ให้ร่วมกันรักษ์สายน้ำแห่งชีวิต ด้วยการส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน เช่นการปลูกผักฤดูแล้งริมฝั่ง และการจัดทำธนาคารปุ๋ย 

รวมไปถึงกิจกรรมร่วมกันปล่อยปลา เนื่องใน “วันปล่อยปลาแห่งชาติ” ของประเทศลาว ที่แขวงคำม่วน ซึ่งในปีนี้จัดกิจกรรมไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยความร่วมมือกันจาก WWF-ประเทศไทย และเจ้าหน้าที่กรมประมงไทย ได้นำมาสู่การปล่อยลูกปลาสู่แม่น้ำโขง รวมกว่า 400,000 ตัว โดยแบ่งเป็นปล่อยที่แขวงบอลิคำไซ 200,000 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับฟากฝั่งจังหวัดบึงกาฬ และปล่อยที่แขวงคำม่วนอีก 200,000 ที่แขวงคำม่วน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม

วิถีชีวิตและความผูกพันที่ริมฝั่งน้ำ นำมาสู่ความรักและความร่วมมือของผู้คนในพื้นที่ ที่ต่างเต็มใจและร่วมมือร่วมใจเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์สู่สายน้ำแห่งชีวิต ซึ่งพาดผ่านระหว่างประเทศไทยและลาว ส่งผลให้ตลอดสามปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจร่วมกับกรมประมง ได้ระบุว่าปลาในเขตนี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นในที่สุด

เรียกได้ว่าความร่วมมือกันด้วยความรักและความผูกพัน นำมาสู่การค่อย ๆ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับสายน้ำได้ในที่สุด WWF จึงขอร่วมเป็นกำลังใจ ให้ทุกคนในการร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อมกันคนละไม้คนละมือนะคะ

#WWFThailand #TogetherPossible

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0