โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรื่องราวอาถรรพ์ชวนขนหัวลุกของ ‘ยักษ์แบก’

Horrorism

อัพเดต 10 มี.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. 2563 เวลา 07.40 น. • Horrorism

 

       หากใครที่เคยขับรถหรือมีโอกาสผ่านไปตรงบริเวณถนนสายวิภาวดี อาจจะสังเกตเห็นตรงปลายเสาของทางด่วนที่มีลวดลายแปลกแตกต่างไปจากเสาต้นอื่น ๆ และมีเพียงแค่สองต้นเท่านั้นที่ปรากฏลายปูนปั้นเป็นรูปปั้นยักษ์ยืนทำท่าเสมือนแบกเสาเอาไว้ ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ ว่าทำไมถึงไม่ปั้นรูปปั้นยักษ์ไว้ที่เสาทุกต้น ?

       และในวันนี้เราจะพานักอ่านทุกท่านไปสัมผัสเรื่องราวอาถรรพ์ชวนขนหัวลุกของ ‘ยักษ์แบก’ ตรงทางด่วนดอนเมืองกันค่ะ 

 

ที่มาของภาพ : world.kapook

               

       เรื่องเล่าของยักษ์ทั้งสองตนนั้นเริ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ‘ทางด่วนดอนเมือง’การก่อสร้างเกิดอุปสรรคมากมาย มีทั้งข่าวลือเรื่องคนตายและเรื่องเล่าเกี่ยวกับอาถรรพ์ต่าง ๆ ที่ทำให้การก่อสร้างนั้นไม่ราบรื่น พอดำเนินการก่อสร้างมาถึงแยกลาดพร้าว ซึ่งต้องสร้างทางยกระดับเหินข้ามแยกลาดพร้าวขึ้นไป เรื่องราวอาถรรพ์ก็เกิดขึ้นอีก กล่าวคือเมื่อสร้างเสาและคานได้ไม่กี่วัน เสาก็พังลงมาทับคนงานตาย และเป็นแบบนี้อยู่หลายครั้ง ทั้งที่มีการกล่าวว่าขั้นตอนการก่อสร้างทุกอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมแล้วก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักลง จนทำให้ทางโครงการต้องไปขอร้องให้ทางกรมศิลปกรช่วยปั้นรูปปั้นยักษ์แบกขึ้นมาและนำไปประดับไว้ที่ปลายเสาของทางด่วนเพื่อเป็นการ ‘แก้เคล็ด’ ซึ่งก็น่าแปลกว่าหลังจากที่นำยักษ์แบกทั้งสองตนขึ้นไปไว้ที่ปลายเสาของทางด่วนแล้วก็ไม่ปรากฏเหตุการณ์อาถรรพ์ใด ๆ ขึ้นอีกเลย

       แต่ก็มีคนในพื้นที่เล่าว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้มีเหตุการณ์สยองขวัญตามที่ถูกเล่าต่อ ๆ กันมาแต่อย่างใด แต่ยักษ์ทั้งสองตนนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความมั่นคง ความแข็งแรง ให้กับประเทศชาติตามความเชื่อทางศาสนาเท่านั้นเอง

       ปัจจุบันยักษ์ทั้งสองตนนั้นก็ยังคงทำหน้าที่อยู่ตรงบริเวณทางลงสะพานข้ามแยกสุทธิสารฝั่งขาออก 1 ตนและ ทางลงสะพานข้ามห้าแยกลาดพร้าวฝั่งขาเข้า 1 ตน

 

 

       จริง ๆ แล้ว ยักษ์แบกนั้นไม่ได้มีแค่ตรงบริเวณเสาของทางด่วนดอนเมืองเท่านั้น แต่ปรากฏอยู่ในหลากหลายสถานที่ ทั้งที่วัดหรือโบราณสถานต่าง ๆ เช่นที่วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร เป็นต้น

 

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ที่มาของภาพ: pantip

 

       พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามนั้นมีรูปปั้นของยักษ์แบกที่สวยงาม และยังประกอบไปด้วย ‘พลแบก’ในลักษณะต่าง ๆ กัน ได้แก่ ยักษ์แบก กระบี่แบก เทวดาแบก ซึ่งจะเรียงลำดับลดหลั่นกันไปโดยมีความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนาว่าเป็นไปเพื่อการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่นคง รุ่งเรือง หรืออาจจะเป็นอิทธิพลมาจากความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุที่มียักษ์ ครุฑ ท้าวจตุโลกบาล และเทพชั้นต่าง ๆ เป็นผู้อารักษ์อยู่นั่นเอง

 

ที่มาของภาพ : en.wikipedia

 

       แม้แต่ในตำนานของกรีกก็ปรากฏเป็นประติมากรรมและภาพวาดในลักษณะการแบกซึ่งเป็นตำนานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว นั่นก็คือเรื่องราวของ ‘แอตลาส’ เทพผู้แบกสวรรค์

 

ที่มาของภาพ : thairath

 

       แอตลาส เป็นหนึ่งในเหล่าไททันที่ก่อกบฏในสงครามไททัน หลังจากที่พ่ายแพ้ต่อเหล่าเทพโอลิมเปียนแล้ว แอตลาสก็ถูกลงโทษให้เป็นผู้แบกท้องฟ้าไว้บนบ่าเพื่อเป็นการไถ่บาป ซึ่งแต่ละตำนานก็แตกต่างกันออกไป

 

ที่มาของภาพ : 2556tourism

 

       มีบทความเกี่ยวกับยักษ์แบกกล่าวว่าศิลปะและตำนานของแอตลาสนี่เองที่เป็นหนึ่งในอิทธิพลที่ทำให้เกิดศิลปะยักษ์แบกในแถบเอเชีย

 

       ถึงแม้จะมีตำนานมากมายเกี่ยวกับเรื่องราวของการแบกที่แตกต่างกันออกไปทั้งรูปแบบของการแบกหรือความเชื่อต่าง ๆ ตามบริบทของในแต่ละวัฒนธรรมดังที่กล่าวไปข้างต้น ในตำนานของกรีกแอตลาสต้องแบกสวรรค์เพราะถูกลงโทษ แต่ตามความเชื่อของไทยหรือตามความเชื่อทางพุทธศาสนานั้น การแบกของเหล่าพลแบกเป็นไปเพื่อค้ำชูและปกปักรักษาซึ่งสิ่งที่แบกเอาไว้ ดังนั้น การที่มียักษ์ทั้งสองตนอยู่ที่เสาของทางด่วนดอนเมืองนั้น ก็คงจะเพื่อให้เหล่ายักษ์คอยปกปักรักษาและค้ำชูเสาต้นนั้น ๆ ให้แข็งแรงก็เป็นได้

       แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนไม่มีความรอบคอบหรือขาดสติในขณะขับขี่หรือมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วนั้น แม้แต่ยักษ์ที่แบกเสาเอาไว้เป็นร้อยเป็นพันตนก็คงไม่สามารถจะช่วยเหลือเราได้ ถ้าเรายังไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเราเอง จริงไหมคะ ?

 

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ : เรื่องราวอาถรรพ์ชวนขนหัวลุกของ ‘ยักษ์แบก’

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0