โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ทำไมไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่ง? ปรากฏการณ์นี้มีคำตอบ

LINE TODAY

เผยแพร่ 24 ก.ย 2561 เวลา 05.04 น. • nawa.

เคยสงสัยกันไหม ทำไมเวลาเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่มันไม่ปกติ ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ในสถานการณ์นั้น แต่กลับไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ ตัวอย่างเรื่องจริงที่เจอมากับตัว เมื่อกลางดึกวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่ทุกคนกำลังนอนหลับในอพาร์ทเมนต์ จู่ ๆ ก็มีเสียงคล้ายคนกำลังทะเลาะกันดังมาก ตามมาด้วยเสียงเหมือนข้าวของพังทลาย เป็นเช่นนี้วนไป 2-3 รอบ นานหลายสิบนาที ก็เลยถามเพื่อนว่าไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยเหรอ คำตอบคือ ไปยุ่งเรื่องอะไรของเขา ช่างเขาเถอะ แม้สุดท้ายเสียงผิดปกติเหล่านั้นจะเงียบลงไป แต่ในใจรู้สึกว่า ทำไมเราถึงไม่ไปช่วย ถ้าเขาถูกทำร้ายจริง ๆ ล่ะ แล้วถ้าเขาตายล่ะ เราจะไม่รู้สึกผิดเหรอ สารพัดคำถามเกิดขึ้น แต่ก็โทษใครไม่ได้ เพราะสุดท้ายเราเองก็เลือกที่จะเมินเฉยไปเช่นกัน

เรื่องนี้จิตวิทยามีคำตอบ อธิบายง่าย ๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Bystander Effect หรือที่เรียกว่า 'ไทยมุง' คือเวลามีเรื่องอะไรสักอย่างเกิดขึ้น ท่ามกลางคนจำนวนมากที่เห็นและอยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่น้อยคน หรือแทบไม่มีใครสักคนเลยที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เพราะทุกคนมัวแต่คิดกันเอาเองว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ไม่เห็นต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงเลย เดี๋ยวก็มีคนช่วยเองแหละ อย่างเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ก็คล้ายกัน ไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากรับรู้เรื่องส่วนตัวของเขา เผลอ ๆ ถ้าเข้าไปช่วยแล้วจะซวยเอง ประมาณนี้ (แต่น่าสนใจที่ว่า หากเราเป็นคนเดียวที่อยู่ในที่นั้น โอกาสในการเข้าไปช่วยจะมีมากกว่าอยู่กันหลายคน)

โดยปกติแล้วคนเราจะมีความรู้สึก 'รับผิดชอบต่อสังคม' อยู่ลึก ๆ นะคะ แต่พออยู่ในกลุ่มมวลชน มันจะเกิดความรู้สึก 'ปัดความรับผิดชอบ' ขึ้นมาในใจด้วย ถึงเราไม่ช่วย เดี๋ยวคนอื่นก็ช่วย ไม่เป็นไร เราเห็น คนอื่นก็เห็นนี่

แต่บางทีเราก็ต้องทำความเข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่นว่า ที่ไม่กล้าช่วยเพราะต่างคนต่างมีเหตุผล มันก็มีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่เคยช่วยเหลือเขาแล้วกลับแย่เอง เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด ก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง อย่างเวลาดูข่าวอาชญากรรม คนโดนจี้ที่ป้ายรถเมล์ คนตั้งเยอะแยะ  ทำไมคนนั้นไม่ช่วย ทำไมคนนี้ยืนเฉย เราก็ไม่มีสิทธิ์ในการไปตัดสินว่าเขาใจจืดใจดำ เรื่องแบบนี้มันเทา ๆ ไม่มีถูกไม่มีผิดซะทีเดียว มันเป็นเพียงหนึ่งในพฤติกรรมของมนุษย์ของเราก็เท่านั้น

ทั้งหมดที่เขียนมาไม่ได้ชี้นำว่า เราควรช่วยหรือไม่ช่วยเหลือใครนะคะ แต่หากในสถานการณ์นั้น ๆ ลองประเมินความเสี่ยงแล้วว่า สามารถช่วยได้ ก็ช่วยกันค่ะ ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ช่วยเท่าที่เราไหว อาจจะไม่ได้เข้าไปยื่นมือตรง ๆ แต่หากสามารถติดต่อผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ความสามารถในการแก้ไขสถานการณ์โดยตรง ก็ยังดีนะคะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0