โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรือโบราณพนม-สุรินทร์ "เก่าแก่ที่สุดในไทยและอุษาคเนย์" อายุพันกว่าปีมาแล้ว

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 24 ก.ค. 2566 เวลา 02.57 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2566 เวลา 22.32 น.
ภาพปก-พนมสุรินทร์
สภาพเรือโบราณพนม-สุรินทร์ บริเวณขุดพบในนากุ้ง เมื่อ พ.ศ. 2560

เรือโบราณพนม-สุรินทร์ อายุราว พ.ศ. 1200-1300 ขุดพบในนากุ้ง ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร นับเป็นหลักฐานแหล่งเรือจมมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบแหล่งเรือจมในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการศึกษาอักษรอาหรับบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา รูปภาชนะดินเผาที่พบทั้งจากแหล่งผลิตจากจีน ตะวันออกกลาง และภาชนะในท้องถิ่น ทั้งรูปแบบเรือที่ใช้วิธีการต่อเรือแบบอาหรับโบราณ และการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างอินทรียวัตถุที่พบสอดคล้องกันว่าเรือโบราณลำนี้มีอายุราว พ.ศ. 1200-1300 (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14) ร่วมสมัยกับเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี

ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีบ่งชี้ให้ทราบว่าเรือโบราณนี้พบอยู่ในร่องน้ำโค้งตวัดโบราณ ที่ระดับความลึกประมาณ 2 เมตร จากผิวดินปัจจุบัน ลำน้ำโค้งตวัดที่เรือโบราณจมตัวอยู่นี้ เป็นส่วนของแม่น้ำท่าจีนโบราณหรือแม่น้ำสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน

เรือลำนี้น่าจะเป็นเรือที่เดินทางไปมาระหว่างดินแดนแถบตะวันออกกลางและจีน พิจารณาจากภาชนะดินเผาแบบแอมฟอราที่คล้ายกับไหทรงตอร์ปิโด (torpedo jar) ซึ่งมีแหล่งผลิตในตะวันออกกลาง

ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีเมืองท่าสำคัญอยู่หลายเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เช่น เมืองบัสเราะฮ์ (Basra) เมืองอัล-อูบัลเลาะห์ (Al-Ubullah) ในประเทศอิรัก เมืองซีรอฟ (Siraf) ในประเทศอิหร่าน เป็นต้น ส่วนภาชนะดินเผาจากจีนที่พบในเรือพนม-สุรินทร์ มีแหล่งผลิตอยู่ใกล้กับเมืองกว่างโจว (Guangzhou) ในมณฑลกว่างตง เมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญในสมัยราชวงศ์ถัง

มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ของอาหรับมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนและอินเดีย โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 บันทึกของชาวอาหรับในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 กล่าวถึงเส้นทางการเดินเรือจากเมืองซีรอฟมายังประเทศอินเดียและจีนโดยขึ้นฝั่งที่เมืองกว่างโจว สินค้าหลักที่พ่อค้าชาวอาหรับนำมาขายยังประเทศจีน คือ เครื่องหอม (aromatic)

เมื่อต้องล่องเรือสำเภากลับไปยังตะวันออกกลาง พ่อค้าอาหรับก็จะจัดหาสินค้าชั้นดีของจีนคือผ้าไหมและเครื่องถ้วย เพื่อนำมาขายตามรายทาง ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศรีลังกา อินเดียภาคใต้ ก่อนจะไปยังจุดหมายปลายทางในตะวันออกกลาง

ดังนั้นเรือโบราณลำนี้อาจออกจากเมืองท่าเมืองใดเมืองหนึ่ง อาจแวะพักขนถ่ายสินค้าตามเมืองท่าหรือดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเมืองที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของลุ่มแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย โดยมีแม่น้ำท่าจีนเป็นเส้นทางการค้าทางเรือที่สำคัญเส้นทางหนึ่งที่นำพาสินค้าจากต่างแดนเข้ามาสู่ลุ่มน้ำภาคกลาง หรือในทางกลับกันก็เป็นเส้นทางนำสินค้าออกไปด้วยเช่นกัน

เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนใหญ่มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำสำคัญอย่างคลองหรือแม่น้ำสายหลัก เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำในชีวิตประจำวัน การเกษตรกรรม และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน เช่น

เมืองนครปฐมโบราณ ตั้งอยู่ใกล้กับคลองบางแก้วที่ต่อไปยังแม่น้ำนครชัยศรีเมืองคูบัว ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำแม่กลองสายเก่า เมืองอู่ทอง อยู่ใกล้กับแม่น้ำจรเข้สามพัน เป็นต้น

เมืองโบราณหลายเมืองยังตั้งอยู่ใกล้แนวชายฝั่งทะเลเดิม เรือสินค้าจากต่างภูมิภาคสามารถเดินทางเข้าไปยังเมืองโบราณได้โดยใช้เส้นทางแม่น้ำสายหลักที่อยู่ใกล้เมือง ส่งผลให้เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีหลายเมืองมีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขาย-จุดแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ทั้งสินค้าท้องถิ่นและสินค้าต่างประเทศ

โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นช่วงที่เส้นทางการค้า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เจริญรุ่งเรือง เทคโนโลยีการเดินเรือมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้การเดินเรือข้ามทวีปสามารถทำได้ เกิดเป็นเครือข่ายการค้าตามเส้นทางสายไหมทางทะเล

ส่งผลให้พบโบราณวัตถุจากต่างประเทศ เช่น สินค้าจากอินเดีย จีน กระทั่งสินค้าจากโรมันและอาหรับ แพร่กระจายอยู่ตามเมืองโบราณสำคัญที่ร่วมสมัยกัน ทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ เช่น พม่า มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากหนังสือ “แหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์” ของ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม อ้างใน “ประชาชื่น” มติชนรายวัน. ฉบับวันที่ 21 ธันวาคม 2560

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0