โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เรือนจำไทย" ติดอันดับ 6 ของโลก สุดยอดความแออัด

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 06 ก.ค. 2563 เวลา 04.13 น. • เผยแพร่ 06 ก.ค. 2563 เวลา 04.04 น. • Thansettakij

เว็บไซต์รัฐสภา เผยแพร่บทความเรื่อง "ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ" ซึ่งเขียนโดย นางสาวศรันยา สีมา นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ ระบุในคำนำของเรื่องว่า

 

โทษจำคุกเป็นโทษทางอาญาที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อเป็นการชดเชยทดแทนความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับจากการกระทำความผิดอาญา ข่มขู่ยับยั้งไม่ให้ผู้อื่นกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันขึ้นอีกในสังคม และแก้ไขฟื้นฟูให้ผู้กระทำความผิดกลับตัวเป็นคนดีไม่กระทำความผิดซ้ำอีกเมื่อพ้นโทษออกจากเรือนจำ

"ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน มีปริมาณผู้ต้องขังเกินความจุที่เรือนจำแต่ละแห่งรองรับได้ เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อการจัดสวัสดิการ และการแก้ไขฟื้นฟูพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำมีสาเหตุมาจากการใช้กฎหมายอาญามากเกินความจำเป็น การใช้มาตรการทางอาญาและการบังคับใช้โทษจำคุกกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และการถูกควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดีผู้ต้องขังล้นเรือนจำจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน"

ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปรับปรุงการใช้กฎหมายอาญาให้เหมาะสม การใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก การใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ในการควบคุมผู้ต้องขัง และการใช้มาตรการลดทอนความเป็นอาชญากรรมในคดียาเสพติด เป็นต้น

สถิติจำนวนผู้ต้องขัง ปี 2553-2563
สถิติจำนวนผู้ต้องขัง ปี 2553-2563

จากนั้นบทความดังกล่าวได้ไล่เรียงให้เห็นปัญหา โดยระบุในตอนหนึ่งของ "สถานการณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำของไทย" ระบุว่า ประเทศไทยมีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศจำนวน 143 แห่ง แบ่งออกเป็น การบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ เรือนจำกลาง 33 แห่ง เรือนจำพิเศษ 4 แห่ง ทัณฑสถาน 24 แห่ง สถานกักกัน 1 แห่ง สถานกักขัง 5 แห่ง และการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ เรือนจำจังหวัด 50 แห่ง เรือนจำอำเภอ 6 แห่ง 

"มีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศทั้งหมด 378,159 ราย เป็นชาย 330,258 ราย หญิง 47,901 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2563) ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำของ ต่างประเทศแล้วพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่ความจุของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศสามารถรองรับ จำนวนผู้ต้องขังได้ประมาณ 254,302 คน

รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563
รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563

ในตอนท้ายของบทความ ระบุถึง "บทสรุปและข้อเสนอแนะ" ตอนหนึ่งระบุว่า ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำมีสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการใช้กฎหมายอาญามากเกินความจำเป็น จนเกิดภาวะ “กฎหมายอาญาเฟ้อ” คือ การกำหนดให้การกระทำหรือไม่กระทำการบางอย่างเป็นความผิดอาญา ด้วยความเชื่อที่ว่าโทษอาญานั้นสามารถควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมได้ ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องถูกลงโทษจำคุกทั้งที่ความผิดนั้นเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง หรือเป็นความผิดที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการกำหนดความผิดอาญา 

ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ เพื่อกำหนดโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด โดยนำโทษทางอาญามาใช้เท่าที่จำเป็นและใช้เฉพาะกับความผิดที่เป็นความผิดอาญาร้ายแรง และนำโทษทางปกครองมาใช้ในการกำหนดโทษสำหรับการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องกระทำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรงแทนการใช้โทษทางอาญา รวมถึงการตรากฎหมายใหม่ขึ้นใช้บังคับในอนาคตก็ควรต้องคำนึงถึงการนำโทษอาญามาใช้ให้เหมาะสมกับการกระทำความผิดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน 

การใช้มาตรการทางอาญาและการบังคับใช้โทษจำคุกกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดซึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาดของภาครัฐโดยใช้กลไกทางกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรงและเด็ดขาด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งแม้รัฐจะนำนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วยมาใช้เพื่อบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบางฐานความผิดฐานเพื่อไม่ให้กลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีก และเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมหลักเพื่อลดปริมาณผู้ต้องขังในเรือนจำลงก็ตาม แต่ก็เป็นการบำ บัดรักษาในระบบการบังคับบำบัดและระบบต้องโทษมากกว่าระบบสมัครใจ 

ประกอบกับเงื่อนไขบางประการที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ติดยาเสพติดไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ เช่น ประเภทและปริมาณยาเสพติด หรือการอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาอื่น ทำให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดยังคงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ผู้ติดยาเสพติดจึงต้องถูกพิจารณาคดีและลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมหลัก ทำให้จ านวนผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดในเรือนจำสูงกว่าจำนวนผู้ต้องขังในคดีอาญาอื่น เป็นสาเหตุหลักของปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ 

ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปราบปรามยาเสพติดและการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้เหมาะสมกับการกระทำความผิดและสภาพสังคมในปัจจุบัน นำนโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรม(decriminalization) ของคดียาเสพติดมาใช้กับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดบางประเภทโดยนำโทษทางปกครองมาใช้แทนโทษอาญา นำกำไลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการควบคุมตัวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดและผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และสนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาโดยระบบสมัครใจมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลสำเร็จในการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมากกว่าการถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดรักษา และช่วยลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำลงได้

การถูกควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดีของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาเป็นสาเหตุหลักอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ผู้ต้องขังกลุ่มนี้เป็นผู้ต้องขังในระหว่างการสอบสวนของตำรวจและพนักงานอัยการ ผู้ต้องขังระหว่างการไต่สวนและการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น และผู้ต้องขังระหว่างการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา 

ฎการถูกควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดีนี้มักมีสาเหตุมาจากการที่เจ้าพนักงานของรัฐมักจะกำหนดหลักทรัพย์ในการปล่อยชั่วคราวไว้ค่อนข้างสูงเพื่อป้องกันการหลบหนีคดีของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาเป็นประกันได้แม้ความผิดที่ถูกกล่าวหานั้นจะเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรงมีโทษน้อย จึงต้องถูกควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสาเหตุของปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำเท่านั้น แต่ยังกระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องขังดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงควรนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยเพิ่มขึ้นทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล ในคดีความผิดที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำได้"

 รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563
รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563

มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำได้ มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกนี้มีอยู่หลายวิธีและสามารถนำมาใช้ได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนที่ผู้กระทำความผิดจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงภายหลังจากที่ผู้ต้องขังถูกตัดสินลงโทษให้จำคุกแล้ว เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี การรอลงอาญา การคุมประพฤติ การพักการลงโทษ และการลดวันต้องโทษ การนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นวิธีการหนึ่งที่เกิดประโยชน์กับผู้ต้องขังและสังคมมากกว่า และช่วยแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำลงได้ 

ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำเป็นปัญหาที่เกิดในประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำและการบริหารจัดการเรือนจำ ทั้งในเรื่องการจัดสวัสดิการให้แก่ ผู้ต้องขัง การแก้ไขฟื้นฟูพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ และงบประมาณของประเทศในการดูแลผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังล้นเรือนจำจึงเป็นปัญหาสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรต้อง ร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นระบบ ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำบรรลุผลสำเร็จได้ในที่สุด 

 

ที่มา : เว็บไซต์รัฐสภา 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0