โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เรียนรู้ 4 มาตรการแบงก์ชาติสร้างหนี้คุณภาพ

Businesstoday

เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 00.01 น. • Businesstoday
เรียนรู้ 4 มาตรการแบงก์ชาติสร้างหนี้คุณภาพ

ปีนี้เป็นปีที่ดิฉันได้รับการติดต่อให้เป็นวิทยากรเดินสายคุยเรื่อง หนี้ แบบที่มีโปรแกรมยาวตลอดทั้งปี ต้องเดินทางไปใน15 จังหวัดเกือบทุกทิศทั่วประเทศ หลายคนบอกว่า เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะถือว่าหน้าที่การงานเจริญงอกงาม สวนทางกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ในปีนี้อาจจะเติบโตไม่ถึง2%

ที่แย่กว่านั้นคือในไตรมาสแรกอาจจะขยายตัวไม่ถึง1% ด้วยซ้ำ

แต่ในมุมกลับกัน หน้าที่การงานเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า หนี้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ที่แม้แต่สถาบันการเงินผู้ให้บริการ ซึ่งปกติจะมีรายได้จากการปล่อยกู้ และคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ ยังต้องกลับมาคิดเรื่องจะปล่อยกู้อย่างไรให้มีคุณภาพ ดีกับทั้งลูกหนี้ และดีกับทั้งแบงก์

จะสร้างหนี้ที่ดีและมีคุณภาพได้อย่างไร ลองถอดจาก4 มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้กันค่ะ มาตรการที่ว่านั้นเป็นการขอความร่วมมือและผลักดันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่1 : เน้นนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมครัวเรือนปลูกฝังความรู้ก่อนก่อหนี้ผลักดันการส่งเสริมความรู้และเสริมสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชนโดยไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัวและให้ความสำคัญกับการออม

เราทำ: ตั้งสติก่อนกู้ แยกแยะให้ออกว่า‘หนี้’ ที่เรากำลังจะก่อนั้น มีเหตุผลเพียงพอสมควรที่จะก่อหรือไม่ กลับมาเรื่องเดิมๆ ที่เราคุยกันหลายครั้งคือ แยกให้ออกระหว่าง จำเป็น หรือ ต้องการ เลือกกู้ในสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตก่อน จะช่วยให้การก่อหนี้นั้นเริ่มต้นอย่างมีคุณภาพไปแล้วครึ่งนึงค่ะ

มาตรการที่2 : เน้นนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมผลักดันการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถในการดำรงชีพของผู้กู้และไม่กระตุ้นการก่อหนี้ที่เกินความจำเป็นซึ่งธปท. อยู่ระหว่างประมวลผลข้อมูลสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของธนาคารพาณิชย์ที่คำนวณตามมาตรฐานกลางที่ตกลงกับธปท. เพื่อใช้ติดตามมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้กลุ่มต่างๆ

เราทำ: เมื่อเลือกก่อหนี้ที่จำเป็นแล้ว ต้องไม่ก่อหนี้เกินกำลังด้วย ต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ว่าหนี้ที่ก่อนั้นมีภาระผ่อนชำระเกินกว่า30-40% ของรายได้ในแต่ละเดือนหรือไม่ อันนี้สำคัญค่ะ เพราะถึงจะกู้ในสิ่งที่จำเป็น แต่ถ้าไม่มีความสามารถในการชำระ หรือก่อหนี้เกินกำลัง สุดท้ายก็จบตรงที่ผ่อนต่อไม่ไหว ต้องถูกยึดทรัพย์สินที่กู้มาซื้อ ถ้าทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าไม่คุ้มมูลหนี้ ก็อาจจะถูกเรียกทรัพย์เพิ่มเติมอีก กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา

ต้องเริ่มต้นแบบไม่เข้าข้างตัวเองว่ากู้ๆไปเถอะเพราะกู้มาแล้วยังไงก็ต้องผ่อนไหวเพราะตัวอย่างของความล้มเหลวก็มีให้เห็นเริ่มแบบรอบคอบไว้ก่อนปลอดภัยกว่าค่ะ

มาตรการที่3: เน้นนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิมที่มีอยู่ผลักดันแนวทางเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวังวนหนี้เช่นโครงการคลินิกแก้หนี้และการรีไฟแนนซ์

เราทำ: แม้ว่าเราจะทำทั้งสองอย่าง คือ เลือกก่อหนี้ที่จำเป็น และกู้ตามกำลังความสามารถของตัวเอง ซึ่งเท่ากับป้องกันความเสี่ยงไปได้มากแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า จะไม่มีปัญหา100% เพราะปัจจัยที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้จะวางแผนมารัดกุมแค่ไหน เพียงแต่การวางแผนอย่างรอบคอบจะช่วยลดความเสี่ยงและความเดือดร้อนไม่ให้เกิดผลกระทบจนรับมือไม่ไหว

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเลยก็คือ ต้องยอมรับว่ามีปัญหา และหาทางแก้ปัญหา หาทางเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ค่ะ อย่าหนีหนี้หนีปัญหา

มาตรการที่4: หลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

เราทำ: พยายามอย่ากู้ใหม่หรือสร้างหนี้เพิ่มมาแก้หนี้เก่า เพราะจะกลายเป็นเราต้องก่อหนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ทางที่ดีที่สุด คือ ต้องหาทางชำระหนี้ด้วยรายได้หรือเงินเดือนที่เราได้มาจากทำงานนะคะ หนี้ ของเราถึงจะลดลงอย่างมีคุณภาพ เราสามารถลดความเปราะบางหรือความง่อนแง่นทางการเงินของตัวเองลงได้ ด้วยการไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วงที่ต้องแก้ปัญหาหนี้เก่าค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง :จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ ยอดชำระลด แต่ “ดอกเบี้ย” เพิ่ม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0