โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'เรียนรู้ว่าเราไม่ต้องรู้ไปทุกอย่าง' เพราะมนุษย์พึ่งพาความฉลาดจากการทำงานเป็นทีมได้

The MATTER

เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 03.30 น. • Curious Cat

มหาวิทยาลัย Columbia คณะ Biological Science มีวิชาเรียนที่ชื่อว่า ‘Ignorance’ หรือ ‘วิชาความไม่รู้’ ในคลาสนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ หรืออาจารย์มาพูดเล่าบรรยายว่า มีสิ่งใดบ้างที่เขาไม่รู้ และความไม่รู้สามารถขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าได้อย่างไร เพื่อให้ผู้เข้าเรียนได้เปิดใจสำรวจความไม่รู้ของตนเองอย่างผ่อนคลายสบายใจ

ในโลกที่ซับซ้อนและมีข้อมูลมากมายมหาศาล ไม่มีใครรู้ข้อมูลทั้งหมดและเราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกสิ่งสักหน่อย หนังสือ The Knowledge Illusion: Why We Never Think Alone โดย Steven Sloman และ Philip Fernbach ชวนให้เรามาสำรวจดูความไม่รู้ของตัวเอง เพราะเรามักประเมินความฉลาดหรือความเข้าใจของตัวเราสูงเกินไป เราต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญและชุมชนแห่งความรู้ (knowledge community) หนังสือเล่มนี้ชวนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและการจัดการที่ช่วยให้กลุ่มคนได้ทำงานร่วมกันสำเร็จลุล่วง เกิดเป็น ‘collective intelligence’ หรือความฉลาดของการรวมกลุ่ม สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กลุ่มร่วมมือกันจนเกิดความรู้และความก้าวหน้าใหม่ๆ

เราอยู่ในโลกที่สรรเสริญเรื่องราวของฮีโร่ อัจฉริยะ คนฉลาด และความสำเร็จของปัจเจกบุคคล เพราะเรื่องเหล่านี้เข้าใจง่ายกว่า เล่าต่อได้ง่ายกว่า ไม่ซับซ้อนเท่าการเล่าถึงชุมชน ความเคลื่อนไหว บริบท หรือกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นั้นๆ

คนเรามักทึกทักว่าตัวเองรู้และเข้าใจกว่าความเป็นจริง

คุณอาจเป็นคนที่มีเหตุผลและเข้าใจความเป็นไปของโลกประมาณหนึ่ง และคิดว่าเราก็มีความรู้รอบตัวพื้นฐานมากพอที่ใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่ขาดตกบกพร่อง คุณคิดว่าคุณรู้และเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง แต่คุณอาจตกอยู่ใน ‘ภาพลวงตาแห่งความรู้’ นั่นคือ คุณคิดว่าตัวเองรู้และเข้าใจมากกว่าที่เป็นจริงๆ  

หนังสือ The Knowledge Illusion ได้ยกตัวอย่างของที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ‘โถส้วม’ แทบไม่มีใครที่อายุเกินวัยเด็กแล้วใช้โถส้วมไม่เป็น หากมีคนถามว่าคุณรู้จักและเข้าใจโถส้วมไหม? คุณก็ต้องตอบว่า แน่นอนสิ ก็ใช้มาทั้งชีวิต

แต่เมื่อ มีคนถามคุณว่า ลองอธิบายรายละเอียดหรือวาดไดอะแกรมส้วมให้ดูหน่อยได้ไหม โถส้วมทำงานอย่างไร? คุณอาจจะพบว่า คุณไม่ได้รู้จักโถส้วมดีขนาดนั้น ไม่แปลกที่หากคุณไม่ใช่ช่างซ่อม ไม่ใช่วิศวกร นักประดิษฐ์ หรือนักออกแบบโถส้วมเป็นอาชีพ ไม่ได้ทำงานในสายการผลิตโถส้วม ไม่ใช่เซลส์ขายโถส้วม ไม่ใช่นักศึกษาที่อาจารย์พาไปดูงานที่โรงงานสุขภัณฑ์ คุณอาจจะเริ่มสนใจแค่ว่ามันทำงานยังไงในวันที่คุณกดแล้วมันไม่ลงแค่นั้นเอง

การเกิดโถส้วมขึ้นบนโลกนี้ได้สักอันต้องมีความเข้าใจเรื่องแรงดันนํ้า เรื่องวัสดุที่ใช้ เรื่องเคมีของสารที่เคลือบโถส้วมให้ไม่ซึม เข้าใจการเซ็ทตัวของเซรามิก เรื่องระบบนํ้าประปา หรือกระทั่ง Ergonomic ที่ทำให้โถส้วมมีรูปร่างอย่างที่เราใช้กันอยู่ แต่คนทั่วไปแค่ว่าเพื่อให้คุณใช้งานได้ก็พอแล้ว เราไม่ต้องรู้ทุกอย่างก็ได้

ไหนลองอธิบายสิว่าโถส้วมทำงานยังไง?

ภาพจาก Google Patent https://patents.google.com/patent/US5307524

แต่หากมีคนย้อนถามอีกครั้งว่า ‘คุณรู้จักและเข้าใจโถส้วมไหม?’ คราวนี้คุณอาจจะตอบอ้อมแอ้มไม่มั่นใจเท่าเดิมแล้ว ของง่ายๆ ในชีวิตประจำวันที่เราคิดว่าเราเข้าใจ จริงๆ แล้วมีความรู้มากมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เพียงแต่เราไม่ได้ตระหนักและไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียดขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญและความรู้ของคนอื่นเพื่อจะให้ชีวิตและสังคมฟังก์ชั่นต่อไปได้

ในงานวิจัยจิตวิทยา The science of cycology: Failures to understand how everyday objects work  จาก University of Liverpool ให้กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาลองวาดเติมกลไกของจักรยานจากภาพที่ส่วนประกอบบางส่วนหายไป ให้ลองใส่โซ่และตีนถีบเอง คนประมาณครึ่งนึงทำผิด และไม่ได้ทำได้ดีขึ้นต่อให้โชว์รูปจักรยานที่ถูกต้องแล้ว

ตัวอย่างภาพที่กลุ่มตัวอย่างพยายามวาดเติมกลไกของจักยาน ภาพจาก: The science of cycology: Failures to understand how everyday objects work https://link.springer.com/content/pdf/10.3758/BF03195929.pdf

เราอยู่ในโลกปัจจุบัน ซับซ้อน และเทคโนโลยีก็มาไกลเหลือเกินจากยุคหินเก่า แทบไม่มีใครนั่งกะเทาะหินฟลินท์เพื่อสร้างอาวุธหรือเครื่องมือของตัวเองอีกแล้ว เทคโนโลยีพาโลกเราไปไกลกว่าโถส้วมหรือจักรยานมาก เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่คนส่วนใหญ่ก็ต้องการความรู้แค่ให้ใช้งานสิ่งต่างๆ ได้ก็พอแล้ว

แม้เราจะเชื่อว่าตัวเองรู้ เมื่อลงรายละเอียดหรือลองอธิบายจริงๆ คุณก็จะพบว่าสิ่งต่างๆ มันช่างซับซ้อนกว่าที่เราคิด โลกเราพัวพันในโครงข่ายสายใย เราพบว่าเราไม่ได้เข้าใจหลายสิ่งอย่างที่เราคิด เราไม่เข้าใจเทคโนโลยีที่เราใช้ เราไม่เข้าใจสิ่งที่เราบริโภค เราไม่เข้าใจระบบสังคมที่เราอยู่ ไม่เข้าใจเงื่อนไข หรือประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดเรื่องราว เราคาดเดาอะไรแทบไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด คุณไม่ต้องรู้ทุกอย่างก็ได้

คนเราล้มเหลวในการเข้าใจแม้ของในชีวิตประจำวันที่ไม่ซับซ้อน ลองนึกว่าเรื่องซับซ้อนอย่างเช่น เรื่องการเงิน  การทำอาหาร การศึกษา ศาสนา นโยบายสาธารณะ ภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ การเมือง สุขภาพ กฎหมาย หน้าที่พลเมือง การจราจร ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ แม้เราจะมีความรู้ความเห็นอยู่บ้าง หากลองให้ต้องอธิบายละเอียดก็จะพบว่า เออเราก็ไม่ได้รู้จริงขนาดนั้นนี่หว่า

รวมไปถึงนโยบายหรืออุดมคติทางการเมืองบางอย่าง หลายๆ ครั้งที่คนบางคนต่อต้านหรือสนับสนุนนโยบายใดอย่างรุนแรง แต่เมื่อลองสอบถาม ให้เขาอธิบายกลไกของแนวคิดที่เขารักหรือเกลียดโดยละเอียด เขาอาจได้เรียนรู้ว่าเขาก็ไม่ได้เข้าใจมันขนาดนั้น และลดความรุนแรงทางความคิดและอารมณ์ได้ ถ้ามีสติไม่หัวเสียฉุนเฉียวที่มีคนมาสอบถามไปเสียก่อน

ยิ่งเราเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเพียงปลายนิ้วและฐานข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็ใหญ่โตมหาศาล ยิ่งชวนให้เราหลงละเมอคิดไปเองว่าสิ่งที่เรารู้คือความรู้ที่เราสามารถแสวงหาได้ เราหลงหยิบความคิดของผู้อื่นมาผูกเป็นของเราเองได้ง่ายมาก ควรตระหนักไว้เสมอว่า เราอาจรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ น้อยกว่าที่เราคิด สิ่งที่เรารักหรือชัง เราอาจไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจมันขนาดนั้น

‘Collective Intelligence’ หรือความฉลาดของการรวมกลุ่ม

*มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้เก่งในทุกอย่าง *

แต่สร้างให้มีส่วนร่วมกับชุมชน

Humans aren’t built to become masters of all subjects;

humans are built to participate in community

– John Dewey

เราได้เห็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อันเกิดจากกลุ่มคนจำนวนมากมาร่วมมือกัน เช่น ภารกิจถ่ายภาพหลุมดำแห่งประวัติศาสตร์ แม้มีต้นความคิดมาจากอัลกอริทึ่มที่คิดค้นโดย Katie Bouman จาก MIT แต่ภารกิจนี้สำเร็จได้จากการร่วมมือร่วมใจจากสถานีอวกาศทั่วโลก และทำงานร่วมกับ machine learning จนหาภาพถ่ายของหลุมดำได้พบ

วิวัฒนาการสำคัญของมนุษย์คือการเกิดพฤติกรรมส่งต่อถ่ายข้อมูลที่เฉพาะและซับซ้อนได้มากกว่าสัตว์อื่น เราสามารถแชร์จุดมุ่งหมายบางอย่างร่วมกัน การส่งต่อความรู้ทำให้ข้อมูลของมนุษย์นั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครที่รู้ทุกอย่างในโลกได้อีกแล้ว  ไม่มีใครสร้างทฤษฎี breakthrough หรือสิ่งประดิษฐ์ได้จากสุญญากาศ ทุกคนต่างต่อยอดพึ่งพาความรู้จากคนที่ศึกษามาก่อนหน้า และหลายครั้งเกิดจากการร่วมมือของกลุ่มคนขนาดใหญ่

นอกจากการตกผลึกคิดคนเดียวในห้องนํ้า ห้องนอน หรือระหว่างอาบนํ้า ไอเดียใหม่ๆ อาจเกิดจากการรวมกลุ่ม พูดคุย เล่นมุกตลก เล่าเรื่อง แลกเปลี่ยนความรู้จนเกิดบทสนทนาที่น่าสนใจ นำไปต่อยอด เกิดการถกเถียง เกิดคำถาม เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ไอเดียของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของทีมหรือกลุ่ม

Collective Intelligence ต่างจากความคิดแบบติดกลุ่ม หรือ Groupthinking ที่หมายถึงการที่คนในสังคมหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคิดเออออเหมือนกันไปหมด เป็นจิตใจของคนที่เดินตามกันไปเป็นฝูง เกิดแนวโน้มคิดร่วมกันอย่างเหนียวแน่น จนทำให้คนในกลุ่มไม่ได้คิด แค่ตามๆ กันไป แม้จะอยู่ในสังคมที่มีคนเป็นหมื่นเป็นแสน แต่พวกเขาใช้สมองร่วมกันอันเดียวเพราะขี้เกียจคิดก็น่าเสียดาย

ลบภาพจำฮีโร่ตัวคนเดียว อัจฉริยะผู้ที่โดดเดี่ยว ให้เครดิตกับกลุ่มคน ชุมชนให้มากขึ้น

ในภาพยนตร์ เรามักเห็นสเตอริโอไทป์ตัวละครฉลาดที่แพ็คมาพร้อมความโดดเดี่ยว พ่อหนุ่มเก่งเลขหรือฟิสิกส์อัจฉริยะแต่กลับไม่กล้าคุยกับเพศตรงข้าม แต่ความฉลาดในยุคนี้กลับต้องการทักษะทางสังคมอย่างมากเพื่อทำงานร่วมมือกันให้ลุล่วง ต้องการความสามารถในการสื่อสาร การจัดการทีม การแบ่งปัน แลกเปลี่ยน การกระจายข้อมูลเพื่อสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคนเดียวสร้างได้

The Social Network (2010)

แนวคิดส่งเสริมความฉลาดแบบกลุ่มโยงต่อไปถึงแนวคิดของระบบการศึกษาและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการรวมทีม มากกว่าความสำเร็จเฉพาะบุคคล สร้างระบบที่ทำให้เกิดความก้าวหน้า การร่วมมือ ไม่ใช่สร้างดารามาเฉิดฉายหรือสร้างอัจฉริยะผู้โดดเดี่ยวอีกต่อไป การศึกษาให้ความสำคัญกับทักษะการสื่อสาร การฟัง และความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่เพียงทักษะทางความคิดหรือความจำอย่างเดียว

การศึกษาควรขยับจากการพยายามให้ทุกคนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) เพราะเรื่องนี้เกินขีดจำกัดของความทรงจำและอาจไม่ก่อประโยชน์ใช้สอยในการทำงานจริงขนาดนั้น แต่ควรหันมาผลักดันให้ทุกคนพบหน้าที่ที่ตัวเองทำได้ดี สื่อสารและแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองถนัดมาสู่ทีม ให้คนทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตรเนื้อหาการเรียนจึงไม่ควรขยายหรือเชิดชูความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ถึงมันจะเล่าง่ายกว่า สนุกกว่า มีอารมณ์อินได้ง่ายมากกว่า เพราะเกิดการใส่เรื่องราว จุดมุ่งหมายตัวละคร มีพล็อต มีหักมุม มีตัวดี ตัวร้าย ซึ่งอาจทำให้ fact ถูกบิดเบือนได้ง่ายมาก การเล่าถึงฮีโร่โดยลำพังแล้วละเว้นไม่เล่าถึงบริบทสังคม สิทธิประโยชน์ โอกาสและโชคชะตา และสิ่งที่อำนวยความสำเร็จให้เขากลายเป็นคนสำเร็จหรือสำคัญ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ

การศึกษาควรทำให้ผู้เรียนได้มองเห็นบริบททางสังคมและสภาพแวดล้อมที่ห่อหุ้มคนสำคัญในประวัติศาสตร์ เขาเป็นตัวแทนของกลุ่มชุมชนใดรึเปล่า มีใครเป็นผู้สนับสนุนและคนผลักดัน รวมถึงคนที่มาก่อนหน้าเขา

เราไม่สามารถเรียนรู้แค่ประวัติศาสตร์ของไทยได้ผ่านชีวิตคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เราไม่อาจเข้าใจความเป็นไทยโดยปราศจากความเข้าใจความเป็นโลก ของประวัติศาสตร์ไทยย่อมพัวพันกับในประวัติศาสตร์โลก ความรู้เรื่องพรมแดน ภูมิศาสตร์ที่มีผลกับอำนาจทางการเมือง ประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้าน อารยธรรมที่มาก่อน หรือวัฒนธรรมโดยรอบที่อยู่มาก่อน ที่ส่งอิทธิพลมาถึงความเป็นไทยที่อาจเปลี่ยนไปหากมองผ่านกรอบที่เปลี่ยนไป

พอดูหรืออ่านชีวประวัติคนดัง บางคนอาจเผลออยากเป็นคนที่เปลี่ยนโลก เพราะชีวิตคนเดียวนั้นสนุกและเล่าง่าย เราอาจควรให้เครดิตกับตัวบุคคลน้อยลง และสนใจสภาพแวดล้อม กลุ่มคน บริบท ที่อำนวยให้เกิดสิ่งใหม่ๆ หรือความสำเร็จขึ้นมาได้

Intellectual Humility มาหัวเราะให้กับความไม่ฉลาดของตัวเรา

ลองสัมผัสกับ Intellectual Humility คือการยอมรับว่าเราไม่รู้ทุกอย่าง เรามีอคติ เราอาจโดนหลอกโดยภาพลวงตาความความฉลาด เมื่อเราเห็นข้อด้อยนี้ของตัวเอง เราก็จะยอมรับความคิดชุดใหม่ได้ แม้มันจะขัดกับความเชื่อหรือมุมมองที่เราเคยมีมาก่อนหน้า เรียนรู้ที่จะฟังและยอมเสี่ยงที่จะพบว่าเรานั้นไม่รู้ไม่เข้าใจเท่าที่เราคิด

เรามักใช้เวลาจำนวนมากหัวเราะเยาะและจับผิดความเขลาของผู้อื่น แต่เราควรสละเวลาและสมองมาลองหันมาสำรวจและจับผิดความไม่รู้ ความเด๋อด๋าของเราบ้าง

จงกลับมาสงสัยว่ามนุษยชาติและเทคโนโลยีนั้นก้าวหน้าอย่างมาก แต่ทำไมตัวเราถึงรู้น้อยนิดและเข้าใจเพียงแค่เสี้ยว จงยอมรับว่าเรารู้น้อยมากมากหากเทียบกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จงชื่นชมกลุ่มคนคนที่ศึกษาและอยู่กับเรื่องใดใดอย่างเข้มข้นสนใจเป็นเวลานาน

จงยินดีที่คนเราไม่ต้องรู้และเข้าใจในทุกสิ่ง น่าดีใจที่เราไม่ต้องเหนื่อยปวดหัวคิดไตร่ครองรู้รายละเอียดของทุกอย่างบนโลกทั้งระดับซูมเข้าและซูมออก จงยอมรับว่าเราก็ไม่รู้และไม่เป็นไร จงพึ่งพาข้อมูลจากคนอื่น จงฝึกการเสาะหาข้อมูล เปรียบเทียบ วิจารณ์ และคัดกรองข้อมูลไม่ให้เราโดนหลอกโดยง่าย จงอย่าเผลอทึกทักว่าความฉลาดของคนอื่นว่าเป็นของเราเพียงแค่เราอ่านเจอและยืมเขามา

จงเลิกแสวงหาการยืนยันว่าเรานั้นช่างฉลาด จงหลุดจากสุญญากาศของความเชื่อว่าคนฉลาดนั้นโดดเดี่ยวตัวคนเดียว พาตัวเองไปสัมผัสกลุ่มคนที่สนใจ ชุมชนความรู้ ร่วมความเคลื่อนไหวเพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

ลองถามตัวเองอีกครั้งว่า ในวันนี้มีอะไรบ้างที่เรายังไม่รู้ :)

อ้างอิงข้อมูลจาก

The Knowledge Illusion: Why We Never Think Alone by Steven Sloman & Philip Fernbach

Ignorance: Biological Science at Columbia University

COLLECTIVE INTELLIGENCE: A Conversation with Thomas W. Malone

The science of cycology: Failures to understand how everyday objects work

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0