โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรียนรู้ผ่านเพื่อนร่วมโลก! การจัดการน้ำของ ‘เนเธอร์แลนด์’ ที่ดีที่สุดในโลก - ลัดเลาะรอบโลก

LINE TODAY

เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 01.00 น. • Pannaput J.

เป็นวิกฤติที่ยังต้องรับมือ และจัดการแก้ไขปัญหากันอยู่ สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจากแม่น้ำมูลที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงจนท่วมบ้านเรือนในจังหวัดอุบลราชธานีจนเสียหายอย่างหนัก จนตอนนี้กลายเป็นพื้นที่ภัยพิบัติไป 3 อำเภอแล้ว ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ก็ได้รับความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน มีจิตอาสาหลายกลุ่มที่เข้าไปช่วยเหลือทั้งในพื้นที่ หรือเรี่ยไรเงินบริจาค ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการเข้าไปเยียวยาผู้ประสบภัย 

ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหากับเหตุการณ์น้ำท่วมมาตลอด ทั้งในแง่การรับมือกับสถานการณ์ การจัดการ และการเยียวยาผู้ประสบภัย โดยสาเหตุมาจากการจัดการน้ำอย่างไม่ยั่งยืน เพราะนอกจากอุทกภัยแล้วนั้น ในช่วงหน้าแล้งไทยก็ประสบปัญหาขาดน้ำด้วยอีกเช่นกัน การจัดการน้ำอย่างเป็นระบบจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก วันนี้ #ลัดเลาะลอบโลก ขอพาทุกคนไปรู้จักกับระบบจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษในการเอาชนะน้ำท่วม

บทเรียน 40 ปีของเนเธอร์แลนด์ สู่ระบบการจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลก

รู้หรือไม่ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำท่วมประเทศหลายครั้งมาเป็นเวลาร้อย ๆ ปี และยิ่งในสถานการณ์ที่โลกต้องพบกับสภาวะโลกร้อน ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขึ้นของน้ำฝนที่ตกลงมา รวมไปถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ภัยคุกคามจากน้ำท่วมก็เพิ่มขึ้น เมื่อเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงเป็นสาเหตุให้เนเธอร์แลนด์พัฒนาระบบการจัดการน้ำต่าง ๆ เช่น กังหันลม ปั้มน้ำไฟฟ้า และกำแพงกั้นน้ำมาอย่างยาวนาน จนเนเธอร์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในด้านการวิศวกรรมการจัดการน้ำเลยทีเดียว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่ใหญ่และรุนแรงที่สุดของเนเธอร์แลนด์ในปี 1953 ก็เลยทำให้เกิด “โครงการเดลต้า” ที่ใช้เวลากว่า 40 ปี ในการสร้างระบบการจัดการน้ำ ที่นอกจากจะที่ดีที่สุด ก็ถือว่าเป็นระบบที่ได้รับความร่วมมือจากทุกคนในประเทศอีกด้วย

“โครงการเดลต้า” ประกอบด้วยโครงการย่อยทั้งสิ้นถึง 16 โครงการ มีทั้งเขื่อน พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และกำแพงกันคลื่น โดยส่วนที่เป็นเขื่อนจะทำหน้าที่กั้นน้ำทะเลและแม่น้ำออกจากกัน ซึ่งนอกจะส่งผลดี เพราะตัวชายฝั่งรับน้ำถูกเลื่อนให้อยู่ไกลจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยแล้ว น้ำส่วนที่อยู่ด้านในเขื่อนยังเป็นน้ำสะอาด ซึ่งสามารถใช้ในการเกษตรได้ และประตูระบายน้ำที่ไม่ได้ทำการปิดกั้นน้ำทะเลจากการไหลสู่แม่น้ำด้านในอย่างถาวร แต่จะปิดประตูเฉพาะเวลาที่มีคลื่นลมแรง ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำทะลักเข้าสู่บริเวณที่อยู่อาศัยได้เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่าจะทำให้ชาวประมงที่ดำรงชีพด้วยการจับปลาทะเล สามารถทำอาชีพดั้งเดิมได้

นอกจากเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมที่ถูกพัฒนาและออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน กำแพงป้องกันน้ำ ป้องตูป้องกันคลื่นขนาดใหญ่ ฯลฯ รวมไปถึงการบริหารการจัดการน้ำที่ดีแล้ว ยังมีการนำ ‘เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ’ มาใช้ในการจัดการและการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ เพื่อนำไปทำแผนการต่าง ๆ อีกด้วย รวมไปถึง ‘เทคโนโลยีแบบจำลองทางอุทกวิทยา’ เพื่อพยากรณ์ระดับน้ำล่วงหน้า ประเมินความเสี่ยง รวมถึงการ 'Delta Act' บทบัญญัติระเบียบต่าง ๆ ของโครงการนี้ ที่มอบอำนาจให้กับผู้รับผิดชอบได้ทำงานอย่างคล่องตัวขึ้น จึงถือได้ว่าการจัดการของเนเธอร์แลนด์นั้นครอบคลุมทั้งในแง่ของเทคโนโลยี กฎหมาย และประชาชน ถือว่าเป็นการร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่างแท้จริง

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือกันเท่าที่ทำ และนอกเหนือที่จะต้องร่วมกันก้าวผ่านปัญหาในครั้งนี้ไปแล้ว ยังต้องคิดถึงการสร้างความสำคัญเกี่ยวกับมาตรการการจัดการน้ำของรัฐบาลด้วย เพื่อที่จะเป็นด่านแรกในการรับมือหากเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นอีกครั้ง การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนนั้นมีความสำคัญมาก ๆ เช่นเดียวกับการสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคมให้ได้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่เพิ่มความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติบนโลกนี้ ความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วนที่ได้เห็นกันตอนนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ☺

อ้างอิง

https://www.billionmindset.com/delta-works-case-study/

https://www.pri.org/stories/2017-07-16/netherlands-always-vulnerable-floods-has-new-approach-water-management

http://ejournals.swu.ac.th/index.php/SWUJournal/article/view/4486

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0