โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เรียนรู้จากมาเลเซีย: ใช้ blockchain สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 04.00 น.

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง มาเลเซีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในประเทศที่แข็งแกร่ง จากพัฒนาการที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 2526 เริ่มจากการผลิตรถยนต์ โปรตอน (Proton) แบรนด์รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซียในยุคแรก และ เปอโรดัว (Perodua) ซึ่งเป็นรถยนต์แห่งชาติลำดับที่ 2 จนถึงขณะนี้ มาเลเซียมีนโยบายรถยนต์แห่งชาติครั้งใหม่ (Third National Car Policy) ด้วยแนวคิดของ ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบันที่สนับสนุนการจัดตั้งบริษัทรถยนต์แห่งชาติเพิ่มขึ้นเป็นลำดับที่ 3 รวมถึงฟื้นโครงการโปรตอนกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยลงทุนมูลค่าถึง 1,200 ล้านริงกิต (ประมาณ 9,100 ล้านบาท) ขยายโรงงานเพื่อรองรับกระบวนการผลิตรถยนต์รุ่นแรกของโครงการอย่าง Proton SUV X70 รวมไปถึงการพัฒนาศูนย์ R&D ของรถ Proton รุ่นใหม่ ทั้งหมดเพื่อปูทางให้โปรตอนกลับมายิ่งใหญ่ในตลาดของรถยนต์พวงมาลัยขวา

 

มาเลเซียในฐานะประเทศที่ผลิตรถยนต์เพื่อการแข่งขันในตลาดภูมิภาค ให้ความสำคัญกับการมีองค์ความรู้และการพัฒนาต่อยอดไปได้เรื่อยๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากผู้ผลิตรถยนต์ร่วมทุนไม่ยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้อย่างต่อเนื่อง ความพยายามของมาเลเซียที่ต้องการองค์ความรู้ดังกล่าวทำให้รัฐบาลผลักดันเรื่อง R&D จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในมาเลเซีย รวมถึงแนวทางที่รัฐบาลมีการสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยต่างๆ ของภาครัฐที่มีอยู่ตาม แผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ หรือ Third Industrial Master Plan (IMP3) ทั้งนี้สถาบันยานยนต์มาเลเซีย (Malaysia Automotive Robotics and IoT Institute - MARii) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรถยนต์แห่งชาติของภาครัฐมาโดยตลอด เป็นอีกจุดที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควรศึกษาอย่างยิ่ง

สถาบัน MARii มีหน้าที่หลักในการเสนอแนะนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มาเลเซียให้แก่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศมาเลเซีย (MITI) จัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร รวมถึงวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยานยนต์ โดยสถาบันจะจัดฝึกอบรมความรู้ขั้นพื้นฐานให้แก่แรงงานมาเลเซียและเยาวชนที่ไม่มีงานทำ เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยจัดอบรม 6,000-7,000 ครั้ง/ปี นอกจากนี้ยังจัดการฝึกอบรมแก่บุคลากรบริษัทยานยนต์เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีสอนในสถาบันการศึกษาหรือสถาบันฝึกอบรมของภาคเอกชนที่ศูนย์ MARii Resources Center อาทิ ระบบ Hybrid ในรถยนต์ รวมถึงมีศูนย์ MARii Design Center ที่เมืองเสลังงอร์ ซึ่งเปิดให้บริษัท OEM หรือบริษัทยานยนต์ใช้วิจัยและทดลองสร้างรถยนต์ต้นแบบ และมีศูนย์ให้บริการตรวจวัดมลพิษจากยานพาหนะตามมาตรฐาน EU ซึ่งในปีนี้สถาบันมีแผนจะเปิดศูนย์ความเป็นเลิศที่มหาวิทยาลัย Universiti Teknologi MARA (UiTM) มหาวิทยาลัย University Putra Malaysia เกาะลังกาวีและเมืองโกตาคินาบาลู

โปรตอน
โปรตอน

อุตสาหกรรมยานยนต์ของมาเลเซียได้ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 MARii ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Crypto Valley Malaysia Association (CVM) เพื่อนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในไตรมาสแรกของปี 2562 โดย MARii มีการลงทุนเริ่มแรก 2 ล้านริงกิต และทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อริเริ่มร่วมกันใน 4 เรื่อง คือ

(1) พัฒนาระบบ digital identities สำหรับอะไหล่ยานยนต์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคาและคุณภาพ คาดว่าจะพัฒนาระบบแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562

(2) พัฒนาระบบเรียกใช้บริการรถยนต์โดยสารร่วม (e-hailing) เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค คาดว่าจะแล้วเสร็จภาย ในเดือนมีนาคม 2562

(3) พัฒนาระบบประเมินความพึงพอใจและมาตรฐานการให้บริการของอู่ซ่อมรถและศูนย์บริการรถยนต์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ก่อนเลือกใช้บริการ คาดว่าจะพร้อมใช้งานภายในกลางปี 2562

(4) พัฒนาระบบเก็บรวบ รวมข้อมูลของยานยนต์พาณิชย์เพื่อคำนวณ Carbon footprint โดยคาดว่าจะพัฒนาระบบแล้วเสร็จและนำมาใช้ได้ในปี 2563

นอกจากนี้ MARii และ CVM จะร่วมมือในการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้าน Cryptography เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี blockchain เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

เปอโรดัว
เปอโรดัว

บทบาทหน้าที่ของ MARii เป็นการรวมศูนย์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ที่หน่วยงานอิสระ โดยนอกจากการเสนอแนะแนวนโยบายต่อรัฐบาลบนพื้นฐานการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมแล้ว MARii ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมและสร้างแรงงานฝีมือเพื่อป้อนอุตสาหกรรม มีสิทธิบัตรทั้งจากโครงการวิจัยที่ดำเนินการเองและที่ร่วมดำเนินการกับผู้เชี่ยวชาญและบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งด้วย

ปัจจุบันสถาบัน MARii มีประเด็นที่เตรียมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับไทยใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

(1) การพัฒนามาตรการลดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ขนาดน้อยกว่า 150 ซีซี) โดยใช้เทคโนโลยีพัฒนาจักรยานยนต์ที่เหมาะกับการใช้งานในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น พัฒนาระบบจำกัดความเร็วรถ และระบบหยุดรถอัตโนมัติหากเท้าผู้ขับขี่ไม่อยู่บนคันเหยียบ

 

(2) ผลักดันให้มีมาตรฐานรถยนต์อาเซียนหรือ driving Cycle ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและสภาพท้องถนนของประเทศสมาชิกอาเซียน (ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนใช้มาตรฐานของ EU)

 

สำหรับไทย ความร่วมมือกับสถาบัน MARii นับเป็นอีกช่องทางในการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนในการใช้ R&D เพื่อพัฒนาการผลิตสำหรับรถยนต์แห่งชาติ จึงถือเป็นสิ่งที่ไทยควรพิจารณาหาวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงจับตามองในฐานะที่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยเพื่อสร้างขีดความสามารถให้ไทยได้ในอนาคต 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3471 ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0