โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เรียนประวัติศาสตร์จากเกม Detention กับความจริงอันโหดร้ายในไต้หวัน

GamingDose

เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 03.42 น. • GamingDose - ข่าวเกม รีวิวเกม บทความเกมจากเกมเมอร์ตัวจริง
เรียนประวัติศาสตร์จากเกม Detention กับความจริงอันโหดร้ายในไต้หวัน

เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนมักจะเป็นกันหลังจากได้รับความประทับใจจากเกมที่เล่นจนจบแบบเต็มอิ่มแล้วก็คือการออกไปค้นหาข้อมูลของเกมที่ชอบเพิ่มเติม ซึ่ง Detention ก็เป็นหนึ่งในเกมที่ผู้เขียนเพิ่งได้เล่นและรีวิวไป และแน่นอนว่าตัวเกมมีการนำเสนอประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่น่าสนใจและโหดร้ายที่สุดของเกาะไต้หวันมาใส่ลงในเกมด้วย ซึ่งวันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับเรื่องนี้กันครับ

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเกม Detention*

เรามาเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกม Detention กันเสียหน่อย ซึ่งเหตุการณ์ในเกมเกิดขึ้นในประเทศไต้หวันช่วงปี 1960 ที่กฏอัยการศึกทางการเมืองของพรรคก๊กมินตั๋งจากจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงมีผลอยู่เพื่อเอาไว้ปราบปรามผู้เห็นต่างในประเทศ นักศึกษาและประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านจะถูกจับไปสังหารอย่างโหดเหี้ยม โดยเชื่อกันว่ามีการปราบปรามผู้เห็นต่างเหล่านี้ไปมากกว่าพันราย และสาบสูญไปอีกนับไม่ถ้วน

ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงยุคสงครามเย็น ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไต้หวันนั้นถูกปกครองโดยญี่ปุ่นที่ชนะสงครามทางทะเลระหว่างประเทศจีนหรือที่เรียกกันว่า The First Sino-Japanese War ที่เกิดขึ้นในปี 1894 และจีนเป็นผู้แพ้สงคราม จำเป็นต้องมอบเกาะไต้หวันให้ชาวญี่ปุ่นปกครองเป็นอาณานิคมไป

ภาพวาดแสดงเหตุการณ์หลังสงคราม First Sino Japanese War ครั้งที่หนึ่งจบลง ด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น
ภาพวาดแสดงเหตุการณ์หลังสงคราม First Sino Japanese War ครั้งที่หนึ่งจบลง ด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น

หลังจากที่ยึดครองเกาะไต้หวันได้ ญี่ปุ่นก็เริ่มวางรากฐานทั้งทางสาธารณูปโภค การศึกษาและอื่น ๆ อีกหลายอย่างไว้ให้ เพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องทรัพยากรต่าง ๆ แน่นอนว่าภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นในไต้หวันตลอด 50 ปีนั้นย่อมต้องสร้างความไม่พอใจให้กับชาวไต้หวันอย่างมาก เนื่องจากการวางอำนาจบาตรใหญ่ของชาวญี่ปุ่นในชนชั้นปกครอง จนเริ่มที่จะมีการก่อตัวเป็นกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมาอย่างลับ ๆ

ในที่สุดหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลงในปี 1945 ญี่ปุ่นเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม ทำให้ชาวไต้หวันหลายคนดีใจที่จะได้ปลดแอกและปกครองตัวเองอย่างจริงจังเสียที แต่กลับกลายเป็นว่าญี่ปุ่นนั้นมอบสิทธิในการปกครองไต้หวันกลับไปให้จีน ซึ่งตอนนั้นนายพลเจียง ไค เช็ค และหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ถือสิทธิที่จีนชนะสงครามเข้ามาตั้งหลักปกครองไต้หวันต่อจากญี่ปุ่นแทน ก่อนที่จะอยู่ยาวหลังจากพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ของแผ่นดินใหญ่ในเวลาต่อมา

นายพลเจียง ไค เช็ค ในปี 1949 (ภาพจาก culture.dwnews.com)
นายพลเจียง ไค เช็ค ในปี 1949 (ภาพจาก culture.dwnews.com)

การมาของพรรคก๊กมินตั๋งนั้นทำให้ชาวไต้หวันมีคุณภาพชีวิตที่เลวร้ายไม่ต่างจากยุคที่ถูกปกครองโดยญี่ปุ่นแม้แต่น้อย ซึ่งในตอนนั้นไต้หวันมีนายพลเฉิน อี้ เป็นผู้ว่าการ โดยเขาและพรรคพวกนั้นเข้ามาควบคุมเกือบทุกอย่างในไต้หวัน ทั้งสาธารณูปโภคต่าง ๆ แต่งตั้งพวกพ้องตนเองเข้ามารับตำแหน่งสำคัญแทนชาวไต้หวันที่อยู่มาแต่เดิม และใช้การปกครองแบบเผด็จการทหารจัดการควบคุมคนเห็นต่าง รวมไปถึงควบคุมและจำกัดการนำเข้าส่งออกสินค้า และลักลอบขนส่งสินค้าไปขายต่อในจีนแผ่นดินใหญ่เสียเอง แถมทหารชั้นผู้น้อยยังก่อเรื่องวุ่นวาย ทำลายทรัพย์สินโดยอ้างความชอบธรรมว่าเพื่อทำลายทรัพย์สินเดิมของญี่ปุ่นที่เป็นคู่แค้นอีกด้วย

เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวไต้หวันอย่างมหาศาล เพราะแต่เดิมพวกเขาก็ถูกกดขี่โดยชาวญี่ปุ่นมานานแล้ว และจากเดิมที่พวกเขามองว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม จนถึงขนาดมีการพูดกันว่า “หมาไป หมูก็เข้ามา” (หมายเหตุ: ชาวไต้หวันมักจะเรียกชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นว่าสุนัข ที่ถึงแม้จะโหดร้าย แต่ก็ไม่เข้ามาโกงกินคอรัปชั่น) และกระแสความไม่พอใจก็ก่อตัวขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า

ในที่สุดวันแห่งความวิปโยคก็มาถึง….

คืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1947 เกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ขึ้นหลังจากที่มีการจับกุมตัวหญิงคนหนึ่งที่ขายบุหรี่ที่เป็นสินค้าควบคุมในตอนนั้นโดยทหารของพรรคก๊กมินตั๋ง และเกิดเหตุปืนลั่นจนมีผู้เสียชีวิต ทำให้ชาวไต้หวันที่ทราบเรื่องโกรธแค้นเป็นฟืนเป็นไฟ ร่วมมือกันก่อหวอดประท้วง จนกลายเป็นการปะทะกันครั้งใหญ่ที่กองทัพสู้กับประชาชน หรือประชาชนสู้กันเอง จนเกิดความวุ่นวายไปทั่วในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947

การประท้วงใหญ่ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกฏอัยการศึกที่ยาวนาน
การประท้วงใหญ่ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกฏอัยการศึกที่ยาวนาน

เมื่อเหตุการณ์บานปลายไปมาก ผู้ว่าการในสมัยนั้นคือนายพลเฉิน อี้ ก็ได้นำกองทัพจากพรรคก๊กมินตั๋งจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาควบคุมความไม่สงบในครั้งนี้ และมีการประกาศกฎอัยการศึกที่ยาวนานกว่า 38 ปี เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่างอย่างโหดร้ายทารุณ ทั้งการกักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน และอีกมากมาย ซึ่งคาดการณ์กันว่าผู้เสียหายทั้งบาดเจ็บล้มตายในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึกนี้มีมากกว่าแสนรายเลยทีเดียว

ซึ่งเหตุการณ์ในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึกและล้อมปราบผู้เห็นต่างนี้รู้จักกันทั่วโลกในชื่อว่า “White Terror” หรือความสะพรึงสีขาวนั่นเอง

อีกหนึ่งเหตุการณ์หนึ่งที่น่าเศร้าไม่แพ้กันก็คือในวันที่ 13 กรกฎาคม 1949 นักเรียนนักศึกษาจำนวนกว่าร้อยคนจากโรงเรียนในเขต Shangdong ถูกกองกำลังของพรรคก๊กมินตั๋งล้อมปราบจนเสียชีวิตในฐานทัพค่ายกักกันที่เกาะ Penghu โดยการป้ายข้อหาว่าเป็นสายลับของคอมมิวนิสต์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Punghu 713 incident ที่ยังมีการรำลึกถึงมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับในเนื้อเรื่องของ Detention นั้นอยู่ในยุคปี 1960 ที่ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่อย่างเข้มข้น มีการล้อมจับนักเรียนนักศึกษา และปัญญาชนหลายแขนงโดยการป้ายข้อหาว่าเป็น “สายลับของพวกคอมมิวนิสต์” ซึ่งเราจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในเกมที่มีการส่งรายชื่อของบุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นสายลับของพรรคคอมมิวนิสต์จากจีน และนำตัวคนเหล่านั้นไปสังหาร ซึ่งก็รวมไปถึงบุคคลอันเป็นที่รักของตัวละครหลักในเรื่องอย่าง Rei ที่ต้องมารับกรรมจากการกระทำในครั้งนี้ของเธอด้วย จนนำไปสู่จุดจบที่เธอเลือกเองอย่างน่าเศร้าในท้ายที่สุด

ปัจจุบันนี้ในประเทศไต้หวันได้มีการกำหนดให้วันที่ 28 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงสันติภาพแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันประท้วงใหญ่ในปี 1947 นั่นเอง มีการเดินขบวน จัดงานรำลึกในสถานที่ต่าง ๆ รวมไปถึงยังมีการกำหนดให้เรื่องที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถูกบบรรจุลงในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อรำลึกว่าครั้งหนึ่งที่ไต้หวันมีความจริงที่โหดร้ายนี้เกิดขึ้น และการระลึกถึงความโหดร้ายนี้ก็เพื่อไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สองในอนาคต

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0