โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เราเหมาะสมกับประกันชีวิตแบบไหน?

aomMONEY

อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 14.17 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 14.17 น. • อภินิหารเงินออม
เราเหมาะสมกับประกันชีวิตแบบไหน?
เราเหมาะสมกับประกันชีวิตแบบไหน?

ช่วงที่ผ่านมาอภินิหารเงินออมได้ออกแบบวิธีเก็บเงินให้กับหลายๆคน หนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องทำ คือ การสรุปกรมธรรม์ว่าตอนนี้มีแบบประกันอะไร ความคุ้มครองรวมเท่าไหร่ ถ้ามีเพียงพอแล้วก็ไม่ต้องทำประกันเพิ่ม แต่ถ้ายังขาดอยู่ควรทำเพิ่มอีกเท่าไหร่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพคล่องทั้งตอนนี้และในอนาคต 

 

ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ซื้อประกันที่ยังไม่ค่อยตอบโจทย์เป้าหมายการเงินของตัวเอง เช่น 

  • ต้องการเน้นสะสมเงินแต่ไปเก็บเงินที่ประกันตลอดชีพที่ไม่มีเงินคืน ความจริงควรเก็บไว้ที่แบบสะสมทรัพย์ แบบบำนาญ แบบควบการลงทุน

  • อีก 20 ปีจะเกษียณ ต้องการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่ไปซื้อประกันสะสมทรัพย์ที่มีระยะเวลาสั้นๆ 5 ปี ความจริงควรเก็บไว้ที่สะสมทรัพย์ระยะยาว แบบบำนาญ แบบควบการลงทุน

  • เรื่องเจ็บปวดที่สุด คือ ได้รับข้อมูลผิดพลาด เขาบอกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปจะคุ้มทุนในปีที่ 10 (เบี้ยประกันที่จ่ายไปมากกว่ามูลค่าเงินสด) สามารถปิดประกันได้เลยไม่ขาดทุน ทั้งที่ความจริงแล้วอยู่ปีที่ 20 เขารู้สึกเสียใจมากที่มารู้เรื่องนี้ทีหลัง

 

อภินิหารเงินออมอยากให้มองประกันชีวิตเหมือนการเลือกภาชนะ “จานข้าว จานเปล ชาม ถ้วยน้ำจิ้ม แก้วน้ำ” ล้วนเป็นภาชนะใส่ของกินเหมือนกัน แต่มีขนาดและการใช้งานแตกต่างกัน เรารู้ว่าน้ำจิ้มไก่จะต้องใส่ถ้วยน้ำจิ้ม ตักข้าวใส่จานข้าว ปลาราดพริกตัวใหญ่ควรใส่จานเปล ตักแกงใส่ชาม เพราะสิ่งของแต่ละชิ้นออกแบบมาแล้วว่ามีการใช้งานอย่างไร

เรื่องของประกันชีวิตก็เช่นกัน แม้ว่าจะให้ความคุ้มครองชีวิตได้เหมือนกัน แต่การใช้งานแตกต่างกัน ซึ่งแนวคิดของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล “ประกันชีวิต” เป็นวิธีการเก็บเงินแบบเดียวที่ทำให้เราได้รับความคุ้มครองชีวิต มีชีวิตอยู่ก็มีเงินใช้ อายุสั้นมีเงินก้อนดูแลครอบครัว

 

เราเหมาะสมกับประกันชีวิตแบบไหน

อภินิหารเงินออมขอทำเป็นสรุปสั้นๆตามความเข้าใจส่วนตัวว่าประกันชีวิตแต่ละแบบเป็นอย่างไร เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินอะไรบ้าง หากใครอ่านแล้วรู้สึกขัดใจ ต้องการได้คำนิยามของแต่ละแบบอย่างเป๊ะๆและละเอียดยิบ รบกวนอ่านได้ที่ลิงค์ของ คปภ. อันนี้ได้เลยจ้า http://www.oic.or.th/th/consumer/insurance/about/life

เราเหมาะสมกับประกันชีวิตแบบไหน?
เราเหมาะสมกับประกันชีวิตแบบไหน?

 

ถ้าเบี้ยประกันชีวิตเท่ากัน เราจะได้รับความคุ้มครองจากประกันชีวิตแต่ละแบบแตกต่างกันเท่าไหร่ (ความคุ้มครองตามศัพท์ทางการในกรมธรรม์จะใช้คำว่า “ทุนประกันชีวิต”) เพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้นและเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับตัวเองได้ บทความนี้จะอธิบายประกันชีวิตที่หลายคนคุ้นเคย 5 แบบ

เบี้ยประกันจะแตกต่างกันระหว่างเพศหญิงและชาย สิ่งสำคัญ คือ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงขึ้น แปลว่ายิ่งทำเร็ว ยิ่งดีนะจ๊ะ ประกันทั้ง 5 แบบที่ยกตัวอย่างนี้เป็นของเพศหญิง อายุ 30 เตรียมเงินไว้ทำประกันชีวิตปีละ 60,000 บาท หรือเดือนละ 5,000 บาท (ตัวอย่างความคุ้มครองเป็นการคำนวณของบริษัทประกันแห่งหนึ่ง)

 

1. แบบชั่วระยะเวลา  

เหมาะกับ : คนที่ต้องการความคุ้มครองสูง จ่ายเบี้ยประกันถูก ไม่มีมูลค่าเงินสด

ได้รับเงิน : เฉพาะกรณีเสียชีวิตเท่านั้น ถ้าซื้อความคุ้มครองเกิน 10 ปี นำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้

ตัวอย่าง :  

  • เราซื้อความคุ้มครองระยะเวลา 10 ปี จ่ายเบี้ยประกัน 10 ปีรวม 600,000 บาท ซื้อทุนประกันชีวิตได้ประมาณ 28 ล้านบาท

  • หากอายุสั้นเสียชีวิตภายใน 10 ปี ครอบครัวได้รับเงินประมาณ 28 ล้านบาท 

    • หลังจาก 10 ปีไปแล้วความคุ้มครองหมดลง เงินที่จ่ายไปจะกลายเป็นศูนย์ นี่เองที่เรียกว่าไม่มีมูลค่าเงินสด

 

2. แบบตลอดชีพ

เหมาะกับ : 

  • คนที่ต้องการทำพ่วงกับประกันสุขภาพ เพราะเบี้ยประกันถูกและให้ความคุ้มครองยาวถึงอายุ 99 ปี ทำให้เรามั่นใจว่าประกันสุขภาพทำต่อเนื่องได้ตลอด 

  • มีมูลค่าเงินสด เก็บไว้เป็นเงินมรดก 

  • ในขณะที่นักศึกษาเพิ่งเริ่มทำงานอายุน้อย เบี้ยราคาถูก ทำไว้เพื่อเป็นค่าจัดการศพให้ตัวเองได้ (เช่น เพศหญิงอายุ 22 ความคุ้มครอง 200,000 บาท เบี้ยประกันปีละ 3,086 บาท)

ได้รับเงิน : ทั้งตอนมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิต เบี้ยประกันนำมาลดหย่อนภาษีได้

 ตัวอย่าง : 

  • จ่ายเบี้ยประกัน 20 ปี รวมจ่ายเบี้ย 1,200,000 บาท คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี ได้รับความคุ้มครองประมาณ 3,700,000 บาท

  • หากอายุสั้น มีเงินก้อนดูแลครอบครัว 3,700,000 บาท 

    • ถ้าเราอายุยืนในขณะที่ลูกหลานรู้ว่าเราจะได้รับเงินตอนอายุ 99 จำนวน 3,700,000 บาท เชื่อว่าลูกหลานช่วยกันดูแลเราดีอย่างแน่นอนและมีเงินดูแลตัวเองในขณะที่อายุยืนกว่าที่คิดอีกด้วย

    • ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินก่อนอายุ 99 ปี เช่น ตอน 80 ป่วยหนักต้องใช้เงิน ก็สามารถปิดกรมธรรม์นำเงินมาใช้ได้ ส่วนเงินที่จะได้รับก็เท่ากับมูลค่าเงินสดในขณะนั้น

 

3. แบบสะสมทรัพย์

เหมาะกับ : 

  • คนที่ต้องการเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอและได้รับความคุ้มครองชีวิต รับเงินคืนรายปี 

  • มีให้เลือกทั้งระยะสั้นถึงยาว เช่น 3 ปี , 5 ปี หรือมากกว่า 10 ปีขึ้นไป มีเงินคืนมากน้อยแตกต่างกันไป โดยดูที่ผลตอบแทนต่อปีหรือที่เรียกว่า IRR เพื่อเปรียบเทียบกัน

ได้รับเงิน : มีเงินคืนรายปี ได้รับเงินทั้งตอนมีชีวิตและเสียชีวิต ถ้าความคุ้มครองเกิน 10 ปีขึ้นไป นำเบี้ยประกันนำมาลดหย่อนภาษีได้

ตัวอย่าง : จ่ายเบี้ยประกันและลดหย่อนภาษีได้ 21 ปี จ่ายเบี้ยประกันรวม 1,260,000 บาท ความคุ้มครองชีวิตประมาณ 540,000 บาทและเพิ่มขึ้นทุกปีถึง 1 ล้านกว่าบาท เราได้รับเงินคืนรายปีและเงินก้อนสุดท้าย รวมทั้งหมด 2,425,068 บาท

 

4. แบบบำนาญ

เหมาะกับ : คนที่ต้องการสร้างเงินบำนาญเป็นของตัวเอง 

ได้รับเงิน : มีเงินใช้สม่ำเสมอหลังเกษียณตั้งแต่อายุ 55 ยาวไปถึงอายุ 90 (แต่ละบริษัทก็จะมีให้เลือกไม่เหมือนกัน)

ตัวอย่าง : จ่ายเบี้ยประกันและลดหย่อนภาษี 30 ปี รวมประมาณ 1,800,000 บาทมีความคุ้มครองชีวิตประมาณ 8 แสนกว่าบาท รับเงินเกษียณรายปีตั้งแต่อายุ 60 - 90 รวม 3,900,000 กว่าบาท

 

5. แบบควบการลงทุน

เหมาะกับ : 

  • คนที่ต้องการได้รับความคุ้มครองสูง วางแผนจ่ายค่าเทอมให้ลูก วางแผนถอนใช้เงินหลังเกษียณ มีทั้งแบบจ่ายครั้งเดียวและจ่ายรายปี

  • เป็นส่วนผสมของประกันชีวิตและกองทุนรวม มีความยืดหยุ่นสูงเพราะหยุดจ่ายระยะสั้นได้ เบี้ยประกันราคาเหมาะสมกับความเสี่ยง

ได้รับเงิน : ถอนเงินออกมาใช้ตามแผนได้(ไม่ใช่การปิดกรมธรรม์) หากอายุสั้นก็มีเงินก้อนดูแลครอบครัวเท่ากับทุนประกันบวกกับเงินจากกองทุนรวม เบี้ยประกันนำมาลดหย่อนภาษีได้บางส่วน

ตัวอย่าง : เราเลือกความคุ้มครองได้ตั้งแต่ 3,600,000 - 15,000,000 บาท ควรจ่ายเบี้ยประกันมากกว่า 10 ปี เพื่อทำให้เงินเติบโตเลี้ยงกรมธรรม์ได้ เราจะเลือกความคุ้มครองเท่าไหร่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความจำเป็นของเรา เช่น

  • เก็บเงินเป็นเงินเกษียณ ต้องการให้เงินเติบโต ควรเลือกความคุ้มครอง 3,600,000 บาท เบี้ยประกันที่จ่ายไปก็จะนำไปซื้อความคุ้มครองชีวิตนิดหน่อย ส่วนที่เหลือจำนวนมากก็นำไปซื้อกองทุนรวม หากเราอายุสั้นจะมีเงินให้ครอบครัวเท่ากับ 3,600,000 บาทบวกกับเงินจากกองทุนรวม

  • รักษารายได้ให้ครอบครัว ต้องการความคุ้มครองสูง ควรเลือกความคุ้มครอง 15,000,000 บาท เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะนำไปซื้อความคุ้มครองชีวิตจำนวนมาก เงินส่วนที่เหลืออีกนิดหน่อยจะนำไปซื้อกองทุนรวม หากเราอายุสั้นมีเงินดูแลครอบครัวเท่ากับ 15,000,000 บาทบวกกับเงินจากกองทุนรวม

 

ความรู้อื่นๆเกี่ยวกับประกันชีวิต

ถ้าประกันรถยนต์ครบปี เราต้องรีบซื้อทันที ชีวิตของเราก็เช่นกันที่ควรได้รับความคุ้มครองมากกว่ารถยนต์ อีกหลายเรื่องเกี่ยวกับประกันชีวิตที่หลายคนควรรู้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเรา ซึ่งความรู้นี่เองที่จะทำให้เราวางแผนการเงินส่วนบุคคลของตัวเองได้ รวมถึงรู้วิธีการถามข้อมูลจากตัวแทนประกัน เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้ อภินิหารเงินออมรวบรวมจากโพสต์ที่เคยเขียนและทำลิงค์ไว้เพื่อให้อ่านง่ายตามนี้เลยจ้า

  • เราควรมีความคุ้มครองชีวิตเท่าไหร่ http://bit.ly/2m1wEWz

  • วิธีค้นหาแบบประกันที่เหมาะสมกับเป้าหมายของเรา http://bit.ly/2kSlaVl

  • มูลค่าเงินสดคำนวณอย่างไร http://bit.ly/2IeOCPp

การที่เราจะเลือกประกันชีวิตแบบไหนนั้น ควรเข้าใจก่อนว่าประกันแต่ละแบบนั้นเหมาะสมกับเป้าหมายการเงินอะไร แล้วตัวเองต้องการความคุ้มครองแบบไหน สุดท้ายถึงจะเลือกว่าควรจ่ายเบี้ยประกันเท่าไหร่ที่เหมาะสมกับสภาพคล่องของตัวเองนะจ๊ะ ^^

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0