โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เราเชื่อสายตาตัวเองได้แค่ไหน? : ว่าด้วยการมองเห็นและกลลวงของสมอง

The101.world

เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 15.31 น. • The 101 World
เราเชื่อสายตาตัวเองได้แค่ไหน? : ว่าด้วยการมองเห็นและกลลวงของสมอง

ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“คุณแม่ไม่ยอมนอนเลยค่ะหมอ” ลูกสาวคุณยายบอกกับผมสีหน้าเป็นกังวล คุณยายนั่งอยู่บนรถเข็นข้างๆ ลูกสาว หลับตานิ่ง หูตาเสื่อมตามอายุ เวลาพูดกับแกต้องพูดเสียงดังหน่อย

ผมพยายามหาสาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการนอนไม่หลับ แต่เท่าที่มองหาแล้วก็ยังไม่เจอสาเหตุอะไรชัดเจน สุดท้ายผมยอมรับตรงๆ ว่า ผมยังไม่แน่ใจว่าอาการนอนไม่หลับนี่เป็นจากอะไร

ลูกสาวคุณยายเห็นผมจนมุม ท่าทางครุ่นคิดเหมือนจะตัดสินใจว่าจะบอกดีหรือไม่บอกดี ก่อนจะตัดสินใจบอกเราว่า จริงๆ แล้วเธอคิดว่าคุณยายนอนไม่หลับเพราะว่าอะไร…

“ชั้นเห็นมันเดินไปมาอยู่ในบ้าน…” คุณยายบอก

“อะไรครับ ที่เดินอยู่ในบ้าน”

“ผี” คุณยายตอบเสียงแห้ง “…ผีเดินอยู่ในบ้าน”

 

พอถามรายละเอียดไปอีกสักหน่อย น่าสนใจว่า 'ผี' ของคุณยายเห็นแต่ตัวแต่ไม่เคยส่งเสียง เป็นผีที่ไม่ทราบชนิด (อันที่จริงผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่าผีมีกี่ประเภท ฮ่าๆ) และชอบมาเฉพาะในบางห้องของบ้าน ลูกสาวว่าคุณยายไม่ชอบห้องนั้น บางทีคุณยายจะเอาบันไดมาปีนขึ้นไปถอดเอาหลอดไฟห้องนั้นออกไปเก็บ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน  นอกจากคนแล้ว บางทีลูกสาวสังเกตว่าคุณยายทำท่าเหมือนเห็นภาพบนกำแพง ทั้งที่ไม่เห็นมีอะไรนอกจากรอยแตกร้าวบนกำแพง

 

“คุณยายคิดว่าเป็นไปได้ไหมครับว่าผีที่คุณยายเห็นเนี่ย จะไม่ได้มีอยู่จริงๆ” ผมตัดสินใจถาม ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะถูกคุณยายโกรธ

คุณยายขมวดคิ้วนิ่งคิดสักพัก “ก็เป็นไปได้เหมือนกันนะ มันอาจจะเป็นแค่ภาพหลอนก็ได้”

 

Charles Bonnet สังเกตว่าคุณปู่อายุ 89 ปีซึ่งมีปัญหาเรื่องการมองเห็นเพราะต้อกระจกมาสิบกว่าปีแล้ว เริ่ม ‘กลับมามองเห็น’ แต่การมองเห็นครั้งใหม่ของคุณปู่ออกจะแปลกประหลาด

Chalres Bonnet เขียนบรรยายไว้ (ในบทความ Essai analytique sur les facultés de l'âme) ว่า ความจำของคุณปู่ยังคงดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับอายุของท่าน ท่านชอบอ่านหนังสือ จดจำเนื้อหาส่วนใหญ่ได้ และชอบเลกเชอร์ให้เพื่อนๆ ท่านฟัง โดยเฉพาะเรื่องทางประวัติศาสตร์และการเมือง เขาเป็นคนหนึ่งที่ชอบเข้าฟังเลกเชอร์ของคุณปู่บ่อยๆ และมักจะเห็นท่านหยุดการบรรยายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เพราะว่าท่านมองเห็นอะไรบางอย่าง ท่านจะพูดบรรยายว่าท่านเห็นอะไรบ้างแล้วก็กลับมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ต่อซะเฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในบันทึกเขียนเล่าไว้ว่าคุณปู่มักเห็นภาพ ผู้ชาย ผู้หญิง นก รถเลื่อน ที่ปรากฏขึ้นมาชั่วพริบตาแล้วหายไป บางทีก็หด บางทีก็ขยาย บางทีก็เลื่อนเข้าหา บางทีก็เลื่อนออกไป แต่ไม่เคยมีเสียงประกอบ และคุณปู่มักจะบอกได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นเพียงภาพหลอน

หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนบรรยายกรณีคล้ายๆ กันนี้มากขึ้น แม้กระทั่งตัว Charles Bonnet เองในช่วงบั้นปลายชีวิตก็มีภาวะนี้เช่นกัน เพื่อให้เกียรติแก่ผู้บรรยายคนแรกเราเลยเรียกภาวะนี้ว่า Charles Bonnet syndrome

 

การมองเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ในทางการแพทย์มีคำเรียกแตกต่างกันหลายคำ มีทั้งกรณีที่มองเห็นไม่เป็นไปตามความเป็นจริง เรียกว่า ภาพลวงตาหรือภาพมายา (visual illusion) ตัวอย่างเช่น มองเห็นภาพขนาดเล็กเป็นขนาดใหญ่ มองเห็นเชือกเป็นงู คือมองเห็นอะไรบางอย่างที่มีอยู่จริงแต่มองเห็นไม่ตรงกับความเป็นจริง อีกกรณีคือมองเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เรียกว่า ภาพหลอน (visual hallucination หรือ hallucinosis) ตัวอย่างเช่น การมองเห็นคน ทั้งๆ ที่ไม่มีคนอยู่ คล้ายๆ กับที่ Charles Bonnet บรรยายไว้

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยโรคทางจิตหรือทางสมองเวลาที่เห็นภาพหลอน มักจะมีอาการสับสนร่วมด้วย (พูดคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร กำลังทำอะไรอยู่) และมักจะบอกไม่ได้ว่าสิ่งที่มองเห็นเป็นเพียงภาพหลอน แถมอาจจะมีเสียงหลอนมาประกอบด้วย (เช่น เห็นตัวคนมาคุยด้วย หรือพยายามจะมาบอกให้ทำอะไรบางอย่าง)

ต่างจากกรณีของ Charles Bonnet ซึ่งจะมีอาการเห็นภาพหลอนเพียงอย่างเดียว โดยที่ยังพูดคุยรู้เรื่องทุกอย่าง ไม่มีอาการสับสนใดๆ แถมยังรู้ด้วยว่าไอ้ที่เห็นอยู่นี่อาจจะเป็นแค่ภาพหลอนก็ได้ (การที่รู้ตัวนี้เราเรียกว่า hallucinosis ต่างจาก hallucination ที่ใช้บรรยายในกรณีคนไข้เชื่อว่าสิ่งที่มองเห็นเป็นของจริง ไม่รู้ตัวว่าเป็นเพียงภาพหลอน)

ถึงตรงนี้คงจะสงสัยกันแล้วว่า การมองเห็นภาพหลอนใน Charles Bonnet เกิดขึ้นได้ยังไง ก่อนอื่น เราจะต้องเข้าใจการมองเห็นของคนปกติเสียก่อน

 

การมองเห็นปกติของคนเรา เริ่มต้นจากแสงตกกระทบวัตถุแล้วสะท้อนเข้าในลูกตา ผ่านรูม่านตา

ผนังภายในลูกตาของคนเราแต่ละข้างจะบุไปด้วยเซลล์รับแสง (photoreceptors) เป็นเหมือนจอรับภาพ (เรียกว่า เรตินา หรือ จอประสาทตา) ซึ่งจะดูดซับแสงแล้วเปลี่ยนไปเป็นสัญญาณประสาทและส่งสัญญาณผ่านทางเดินประสาทเข้าสู่สมอง เพื่อนำไปแปลผลเป็นการมองเห็น

เรตินาหรือจอประสาทตานี่ทำงานเป็นเหมือน ‘จอ’ สมชื่อ คือขณะที่ตาเรากำลังจ้องไปที่จุดใดจุดหนึ่ง จอประสาทตาแต่ละตำแหน่งจะรับข้อมูลจากโลกภายนอกคนละตำแหน่ง เช่น ถ้าคุณปิดตาข้างหนึ่ง แล้วจ้องไปที่จุดตรงกลางของภาพข้างล่างนี้ ภาพของแต่ละเลขจะไปตกอยู่บนจอประสาทตาในตำแหน่งต่างๆ กัน

 

ดังนั้นหากจอประสาทตาของเราเกิดมีปัญหาขึ้นมา เช่น จอขาด มีเลือดออก จะทำให้เรามองเห็นภาพบางส่วนหายไป เช่นอาจจะมองไม่เห็นภาพส่วนบน ภาพข้างซ้าย อะไรทำนองนี้

แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ แม้แต่คนปกติเองก็มี ‘รู’ อยู่บนจอประสาทตา เพราะการส่งสัญญาณผ่านทางเดินประสาทจากลูกตาไปสู่สมองที่ว่า ต้องมีการเจาะ ‘รูทางออก’ บนจอประสาทตา (optic disc หรือ disk) เพื่อจะร้อยเส้นประสาทที่เป็นเหมือนสายไฟ (optic nerve) จากลูกตาไปยังสมอง ดังรูปข้างล่าง (ส่วนที่สำคัญที่สุดในการมองเห็นคือใจกลางของลานสายตาที่แสงรวมเข้ามามากที่สุดคือ Macula ซึ่งอยู่ข้างๆ optic disk)

 

ภาพประกอบจาก aboutkidshealth.ca

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่า ภาพที่เรามองเห็นอยู่ทุกขณะนี้ ความจริงแล้วมีส่วนหนึ่งที่ข้อมูลหายไปเพราะจอประสาทตาเป็นรู? แล้วทำไมคนเราถึงมองไม่เห็น ‘รู’ อยู่บนภาพที่เรามองเห็นล่ะ?

สำหรับคนที่ยังไม่เชื่อว่าเรามีรูของการมองเห็นที่เรียกว่า blind spot อยู่จริงๆ ขอให้ปิดตาข้างขวาแล้วใช้ตาซ้ายมองที่เครื่องหมายบวกด้านล่างนี้นะครับ จะเห็นว่าทางด้านหางตาจะแอบมองเห็นจุดแดงอยู่ อย่ามองไปที่จุดแดงตรงๆ นะครับ ให้มองที่เครื่องหมายบวกเอาไว้ จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนตาของเราเข้าไปใกล้เครื่องหมายบวกช้าๆ พร้อมกับสังเกตจุดแดงเอาไว้ จะเห็นว่าพอถึงระยะหนึ่ง จุดแดงจะหายไป! ตำแหน่งนั่นล่ะคือ blind spot ของคุณ​ จุดแดงหายไปเพราะมันไปตกบนตำแหน่งของ optic disk บนจอประสาทตาข้างซ้ายของคุณพอดิบพอดี

 

 

จุดแดงนี่ไม่ใช่เล็กๆ เลยใช่ไหมครับ แต่มันก็หายไปได้เฉยๆ เลย ที่น่าสนใจกว่าคือ ตำแหน่งที่จุดแดงหายไปนี่ แทนที่เราจะเห็นเป็นรู เรากลับเห็นเป็นพื้นขาวเข้ามาแทนที่ แล้วถ้าลองเปลี่ยนสีพื้นเป็นสีน้ำเงินอย่างรูปข้างล่าง คราวนี้เรากลับเห็นเป็นพื้นสีน้ำเงินเข้ามาแทนที่ซะอย่างนั้น! ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเวลาที่มีข้อมูลบางส่วนหายไป แทนที่สมองของเราจะยอมรับ มันกลับพยายามที่จะใช้ข้อมูลแวดล้อมในการคาดเดาว่า ‘อะไรที่หายไป’ แล้วเอาสิ่งนั้นมาถมข้อมูลที่หายไปแทน (filling in phenomenon)

 

 

blind spot ไม่ใช่สิ่งเดียวที่สมองเอามาเติม อีกตัวอย่างคือ จริงๆ แล้วภาพที่เรามองเห็นทุกวันนี้ มีแค่เพียงส่วนตรงกลางภาพเท่านั้นที่ชัดเจน เนื่องจากตรงกลางจอประสาทตาเรามีเซลล์รับแสงความละเอียดสูงอัดแน่นอยู่ตรงกลางภาพ ในขณะที่ภาพด้านรอบนอกเป็นเพียงภาพความละเอียดต่ำ ลองดูภาพสองภาพด้านล่างนี้ครับ

 

ภาพประกอบจาก Metamers of the ventral stream 

 

ถ้ามองไปที่กลางภาพทีละภาพแล้วจะดูไม่ออกเลยว่าสองภาพนี้แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ถ้าลองดูให้ดีๆ บริเวณด้านรอบนอกของทั้งสองภาพนี้ต่างกันอย่างมาก ที่เรามองเห็นภาพรอบนอกของการมองเห็นชัดเจนทุกวันนี้เพราะว่าสมองของเรา fill in ให้ต่างหาก (ต้องมองใกล้นิดนึงนะครับ ให้ภาพเบลอๆ ไปตกอยู่ที่จอประสาทตารอบนอก

ถ้ายังสงสัยผมมีตัวอย่างให้ดูอีกตัวอย่างครับ รูปข้างล่างที่ดูยังไงก็เห็นเป็นสองส่วน คือส่วนตรงกลางกับส่วนรอบๆ แต่ลองปิดตาข้างหนึ่งแล้วจ้องไปที่ตรงกลางภาพสักพักโดยไม่ขยับตาดูนะครับ

ผมไม่เฉลยแล้วกัน แต่ผมมั่นใจว่าคุณก็เห็นแบบเดียวกันกับที่ผมเห็น

 

ภาพประกอบจาก www.uniformillusion.com

 

อย่างที่เล่าให้ฟังตอนแรก การมองเห็นภาพหลอนแบบ Charles Bonnet มักจะเริ่มต้นจากปัญหาด้านการมองเห็นที่สูญเสียค่อนข้างมาก แต่หลังจากนั้นเกิดเหมือน ‘กลับมามองเห็น’ ใหม่ ปัจจุบันเชื่อว่าพอสมองคนเราไม่ได้รับสัญญาณหรือได้รับสัญญาณแต่ขาดความชัดเจน สมองเราก็จัดการ ‘เดา’ ให้ (fill in) เสียเลย ซึ่งอธิบายว่าทำไมจึงมักเกิดในคนที่มีปัญหาสายตา ทำไมถึงมีแต่อาการภาพหลอนขณะที่อาการอื่นเป็นปกติดี ทำไมถึงยังพอจะรู้ว่าสิ่งที่มองเห็นอาจเป็นแค่ภาพหลอน นั่นก็เพราะปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ต่างจากกลไกการมองเห็นปกติของคนเราสักเท่าไร

ปรากฏการณ์ fill in นี้เป็นการออกแบบโดยธรรมชาติที่ชาญฉลาดสุดๆ ลองเปรียบเทียบคุณภาพของสัญญาณที่สมองได้รับ กับคุณภาพของสัญญาณที่มาจากกล้องถ่ายรูปที่ดีที่สุดบนโลกนี้ หรือแม้กระทั่งกล้องมือถือรุ่นล่าสุดดูสิครับ คุณภาพของสัญญาณที่สมองได้รับไม่มีทางสู้สัญญาณจากกล้องได้เลย แต่หลายครั้งเรากลับได้แต่ยอมรับว่า ภาพถ่ายไม่มีทางสวยเท่าที่ตาเห็น แต่มันเป็นเช่นนั้นเพราะคุณภาพของสัญญาณ หรือสิ่งที่สมองสร้างขึ้นทีหลังกันแน่?

 

ที่เขาว่ากันว่า seeing is believing เรามักจะใช้ในความหมายที่ว่า เราเห็น-เราจึงเชื่อ

ภาวะ filling-in กลับบอกผมว่า เราเชื่อ-เราจึงเห็น อาจจะถูกต้องกว่าก็ได้

 

อ่านเพิ่มเติม

 

  • Damas-Mora J, Skelton-Robinson M, Jenner FA. The Charles Bonnet syndrome in perspective. Psychological Medicine. 1982 May;12(2):251-61.
  • Ramachandran VS, Blakeslee S. Phantoms in the Brain: Probing the Mysteries of the Human Mind. New York: Willian Morrow and Company.
  • Freeman J, Simoncelli EP. Metamers of the ventral stream. Nature neuroscience. 2011 Sep;14(9):1195.
  • Otten M, Pinto Y, Paffen CL, Seth AK, Kanai R. The uniformity illusion: Central stimuli can determine peripheral perception. Psychological Science. 2017 Jan;28(1):56-68.
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0