โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เรารู้คุณก็เคยเจอ! 4 ประเด็นความปลอดภัย “สตรีทฟู้ดไทย” ที่คนไทยควรต้องรู้

LINE TODAY

เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 02.01 น. • nuchthawat_p

ไม่เพียงแต่ในแง่ของชื่อเสียงที่ “สตรีทฟู้ด” หรือ “อาหารริมทาง” ในประเทศไทย ที่สำนักข่าว CNN ยกให้เป็น 1 ใน 23 ประเทศที่มีสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลกในปี 2018 ในแง่ของวัฒนธรรมนั้น สตรีทฟู้ดไทย ถือเป็นตัวแทนสะท้อนวัฒนธรรมการกินอยู่แบบไทยที่ชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบายในการเสาะหาแหล่งอาหารการกินที่มีให้เลือกรับประทานได้แทบจะทุกช่วงเวลา ไปจนถึงตัวอาหารที่มีรสชาติอร่อยถูกปาก เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังมีประเภทของอาหารที่หลากหลาย ให้คนไทยและนักท่องเที่ยวได้แวะเวียนมาลองลิ้มทั้งอาหารคาว-หวาน 

ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตในเมืองที่เร่งรีบบวกกับเน้นความง่าย ๆ สบาย ๆ อย่างไรก็ได้ มีผลต่อวัฒนธรรมด้านการบริโภคของคนในสังคมที่มักคำนึงถึงเรื่องความ “อร่อย” และ “สะดวก” เป็นลำดับต้น ๆ แล้วให้ความสำคัญต่อเรื่องความ “สะอาด” และ “ปลอดภัย” เป็นเรื่องรองลงมา หรือบางครั้งเราอาจละเลยไปเสียด้วยซ้ำ 

ในฐานะผู้บริโภคและผู้ประกอบการควรจะต้องมีจิตสำนึกด้านสุขภาพ (Health Conscious) และความปลอดภัย (Food Safety) โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ "4 ประเด็นความปลอดภัย" ดังนี้… 

1. เชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร (Contamination Pathogen)

จำเรื่องของคู่สามี-ภรรยาชาวออสซี่ที่อ้างว่าติดเชื้อปรสิตเนื่องจากกินผัดไทยในบ้านเรา จนทำให้ล้มป่วยหนักเหมือนตกนรกกว่า 2 ปีได้ไหม? ที่ปรากฏว่าสอบสวนไปมา ผลสุดท้ายเรื่องก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปโดยที่ประชาชนยังไม่รู้เลยว่าเป็นเรื่องจริงหรือจ้อจี้ แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยให้หันกลับมาตระหนักถึงเรื่องเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในอาหารมากขึ้น

“สุขอนามัย” เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่ามองข้าม! 

เคยไหม? เทน้ำชาหรือน้ำเปล่าลงในแก้วของทางร้านแล้วมีคราบไขมันลอยฟ่องเหนือผิวน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากล้างแก้วไม่สะอาดดีพอหรือน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เคยเจอไหม? ภาพอาเฮียขายข้าวมันไก่ใช้มือเปล่าวางเนื้อไก่สับลงบนจาน พลางใช้มือข้างเดียวกันนั้นหยิบเงินหรือทอนเงินให้ลูกค้า 

ถือเป็นความปกติที่ “ไม่ควร” ปล่อยให้เป็นเรื่องปกติ

2. สารอาหารครบถ้วน (Complete Nutrition)

กลายเป็นไวรัลให้ชาวเน็ตตื่นตะลึงเมื่อไม่นานมานี้ กับคลิปคุณป้าเจ้าของร้านส้มตำแห่งหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ ที่เท “ผงชูรส” กว่าครึ่งกิโลฯ ลงในครกขนาดเขื่อง แล้วบอกว่าเป็นสูตรเด็ดเคล็ดลับความอร่อยที่สืบทอดกันมา ถึงแม้คุณป้าจะพยายามอธิบายว่าตำครกนึง ได้ปริมาณส้มตำที่จะขายลูกค้ามากถึง 40-50 จาน ไม่ได้ทำแบบนั้นเพื่อเสิร์ฟแค่จานเดียวก็ตาม  

กรมอนามัยเตือน บริโภคอาหารใส่ผงชูรสมากเสี่ยงเป็นอัมพาต!

ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า หากกินผงชูรสมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแพ้ผงชูรสที่เรียกว่า "ไชนีสเรสเตอรองซินโดรม" (Chinese Restaurant Syndrome) ทำให้รู้สึกชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจ ไม่สะดวก ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ ส่วนผู้ที่แพ้ผงชูรสมาก ๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้

กระนั้น ก็ยังไม่อาจสรุปได้ 100% ว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผงชูรสหรือไม่ เพราะในอาหารเองก็มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นส่วนประกอบอีกหลายชนิด แต่อะไรที่เราบริโภคมากจนเกินไปก็ไม่น่าจะส่งผลดีต่อร่างกายนัก

ที่แน่ ๆ ผงชูรส ไม่ใช่ตัวการทำให้ "ผมร่วง" หรือ "หัวล้าน" แน่นอน อย่าปรักปรำค่ะ!

3. ภาชนะบรรจุปลอดภัย (Safety Container)

มีทั้งเรื่องเล็กน้อยที่พออะลุ่มอล่วยกันได้ เป็นต้นว่า เสิร์ฟอาหารมาในจานที่มีข้าวสุกแห้งเกรอะติดมากับจานที่เกิดจากล้างไม่สะอาด หนักกว่านั้นคือเรื่องของ “พิษภัย” ของสารแปลกปลอมที่แฝงมากับภาชนะที่บรรจุอาหาร เช่น การใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารร้อนหรือของทอด เช่น ไข่เจียวที่เพิ่งขึ้นจากน้ำมันร้อน ๆ เนื่องจากโฟมจะละลายปนเปื้อนไปกับอาหาร ก่อให้เกิดสารอันตรายปะปนในอาหาร ได้แก่ สารสไตรีน (styrene) และสารเบนซีน (benzene) โดยสไตรีนส่งผลเสียต่อร่างกาย คือ ทำลายระบบฮอร์โมนในร่างกาย มีผลต่อระบบประสาท ขณะที่ เบนซีน ร้ายยิ่งกว่านั้น เพราะเป็นสารก่อมะเร็ง หากเรากินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด (ลูคีเมีย) และโรคโลหิตจาง

โดยเฉพาะบางร้านยังใช้ถุงพลาสติกรองในกล่องโฟมเข้าไปอีก โอกาสที่เราจะได้รับสารก่อมะเร็งก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่า หากถุงที่ใช้นั้นผิดประเภท ถือเป็นโชค 2 ชั้นที่ใครก็คงไม่อยากได้

4. ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน (Safety of Life and Property)

อิหยังวะ? อ่านหัวข้อแล้วอาจจะงง ๆ ว่าความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน มาเกี่ยวข้องกับสตรีทฟู้ดได้อย่างไร 

แต่จากงานวิชาการในต่างประเทศของ “จีแซล ยาสมีน” เรื่อง “ทิวทัศน์อาหารของกรุงเทพฯ: การรับประทานอาหารในที่สาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และการเปลี่ยนแปลงของเมือง” ระบุถึงสตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ ว่าภายใต้สีสันในยามค่ำคืนของบรรดาร้านอาหารข้างทางที่เรียงรายอยู่นั้น มีทั้งพ่อค้าแม่ขาย มีทั้งผู้คนที่มานั่งกินอาหารข้างทาง (หนำซ้ำยุคนี้ยังมี LINE MAN และบริการเดลิเวอรีต่าง ๆ ที่ผลัดเวียนกันมายืนออรอคิวอาหาร) เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยทำให้ผู้คนรู้สึกอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เพราะมีสายตาจับจ้องทั่วท้องถนน ประหนึ่งเป็นการสอดส่องโดยพลเมืองด้วยกันเองอย่างไม่เป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นคงไม่ใช่ข้อควรระวังที่สงวนไว้ใช้พิจารณาแค่ “อาหารริมทาง” อย่างเดียว หากแต่ยังหมายรวมถึงอาหารที่เราบริโภคในทุก ๆ รูปแบบนั้น ก็ควรคำนึงถึงเกณฑ์ความปลอดภัยเหล่านี้ให้ติดเป็นนิสัย ประหนึ่งเป็นกลไกระวังตัวโดยอัตโนมัติ

เหมือนเวลาที่นึกไม่ออกว่ากลางวันนี้จะกินอะไร ปากก็โพล่งสั่งแม่ค้าไป “กะเพราไก่ไข่ดาว” นั่นแล

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0