โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เราทุกคนเกิดมาต้องเคยร้องไห้? ว่าด้วยหยาดน้ำตาในวัฒนธรรมมนุษย์

The MATTER

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2562 เวลา 12.02 น. • Byte

เป็นเด็กก็สามารถร้องไห้ได้วันละหลายๆ ครั้ง แค่หิวก็ร้องตัวโยนแล้ว แต่พอยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เหมือนบ่อน้ำตาของพวกเราจะทำหน้าที่อะไรลึกลับได้มากกว่านั้น พวกเรามีกลอุบายในใช้น้ำตา อารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายทั้งสุข เศร้า และเสแสร้ง ไม่มีใครบีบน้ำตาได้เก่งกว่ามนุษย์อีกแล้ว เพราะเราใช้เป็นเครื่องมือทางสังคมที่ทุกหยดน้ำตามีความหมาย

มนุษย์เริ่มสงสัยพลวัตรของน้ำตามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล คนโบร่ำโบราณเชื่อกันว่า น้ำตาหลั่งมาจากหัวใจ จากบทหนึ่งของพันธสัญญาเดิม (Old Testament) เขียนไว้ตั้งแต่ 1,500 ปีก่อนคริสตกาลนู้นว่า เมื่อหัวใจของมนุษย์หวั่นไหว จะไหลหลอมรวมเป็นหยดน้ำ ความตื้นตันอันอบอุ่นหัวใจจะก่อให้เกิดความร้อน ควบเป็นไอ กลั่นเป็นหยดน้ำใสไหลผ่านดวงตา (ซึ่งอ่านดูก็โรแมนติกดี)

นักคิดหลายท่านในอดีต ล้วนวนเวียนหาคำตอบกลไกการร้องไห้อันเป็นปริศนาของมนุษย์ นักปรัชญากรีก อริสโตเติล (Aristotle) กล่าวว่า การร้องไห้ก็เปรียบเสมือนการขับปัสสาวะผ่านดวงตา ซึ่งแม้จะฟังดูพิลึกพิกลแต่คำกล่าวนี้กลับฝังรากลึกข้ามศตวรรษสู่กลุ่มนักคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalytic theory) โดยในปีค.ศ. 1940 นักจิตวิเคราะห์ชาวอเมริกัน Phyllis Greenacre กล่าวว่า การร้องไห้ของเพศหญิงเป็นอาการหนึ่งของความอิจฉาองคชาตเพศชาย (penis envy) โดยผู้หญิงจะร้องไห้ประดุจการปัสสาวะ (ก็มองแบบจิตวิเคราะห์สมัยนั้นแหละนะ)

ส่วนใหญ่น้ำตาถูกนิยามอย่างอุปมาอุปมัยแล้วแต่ใครจะตีความ จนกระทั่งปีค.ศ. 1662 นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก Niels Stensen พบว่า น้ำตานั้นมีบ่อเกิดจากอวัยวะที่เรียกว่า ต่อมน้ำตา (lacrimal gland) เป็นต่อมขับออกชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในเบ้าตา คราวนี้เองที่น้ำตาเริ่มได้รับความสนใจในกรอบวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าใช้ทฤษฏีวิวัฒนาการมามอง มนุษย์นั้นต้องได้รับต่อมน้ำตาผ่านทางวิวัฒนาการที่มีร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น จนมีทฤษฏีเพียบไปหมดตั้งแต่เชื่อว่า  มนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์น้ำที่เรียกว่า 'ทฤษฎีลิงน้ำ' (aquatic apes) น้ำตาช่วยให้มนุษย์อาศัยในโลกบาดาลได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างใช้จินตนาการสูงส่งอยู่ไม่น้อย

จนกระทั่งปีค.ศ. 1980 นักชีวเคมี William Frey เป็นคนแรกๆ ที่ศึกษากลไกทางเคมีของน้ำตาด้วยการทดลองวิทยาศาสตร์ เขาพบความเชื่อมโยงว่าการปล่อยน้ำตาช่วยลดองค์ประกอบทางเคมีที่มีผลเชิงลบต่อร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเครียด cortisol เกิดเป็นน้ำตาที่มาจากอารมณ์ (emotional tear) ซึ่งจะมีคุณสมบัติทางเคมีที่ต่างจากน้ำตาที่ผ่านกลไกป้องกันระคายเคือง (non-emotional tear) โดยมีโปรตีนที่มากกว่า แต่ยังไม่สามารถหาโปรตีนจำเพาะนั้นมายืนยันได้ว่า โปรตีนที่ว่าคืออะไร

น้ำตาแห่งอารมณ์นั้นยากที่จะศึกษาและเก็บตัวอย่างในห้องทดลอง หากสิ่งเร้าเปลี่ยนไป ก็อาจขัดจังหวะทำให้พวกเราหยุดร้องไห้โดยทันที แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า 'emotional tear' มีโครงสร้างที่ซับซ้อนอยู่ โดยมีสมมติฐานว่า น้ำตาแห่งอารมณ์มีฮอร์โมนโพรแลกตินที่ควบคุมด้านการเจริญเติบโต ควบคุมวงจรประจำเดือนในเพศหญิงและสร้างน้ำนมที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย

สัตว์ส่วนใหญ่บนผืนพิภพที่มีโครงสร้างร่างกายซับซ้อนล้วนหลั่งน้ำตาได้ทั้งนั้น หากเราจะลองสำรวจกว้างๆ ตั้งแต่สัตว์เลื้อยคลานยันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม น้ำตาช่วยปกป้องดวงตาจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดระคายเคือง เพราะลูกตาเองมีระบบชีวนิเวศที่แตกต่างจากร่างกายอยู่หลายประการ พวกมันจึงเป็นเอกเทศ และจำเป็นต้องได้รับการปรนนิบัติเป็นพิเศษ แต่มนุษย์(น่าจะ)เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์พิเศษที่สามารถร้องไห้ได้โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนทางความรู้สึก ไม่ได้เพื่อปกป้องดวงตาจากจุลชีพหรือสิ่งแปลกปลอมเพียงอย่างเดียว

น้ำตาที่เชื่อมใจ

มนุษย์ทารกค่อนข้างเกิดมาพร้อมกับความอ่อนแอผิดกับสัตว์ในธรรมชาติที่ออกมาจากท้องแม่ก็สามารถดูแลตัวเองได้เกือบจะทันที แต่ร่างกายทารกไม่ได้มีศักยภาพพร้อมดิ้นรนบนโลกได้ในทันที ยังคงต้องการการทะนุถนอม อาหาร น้ำดื่ม และความอบอุ่น น้ำตาและการร้องไห้จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญต่อการอยู่รอด  การร้องไห้จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า สถานการณ์ที่เผชิญนั้นอยู่เหนือการควบคุม ต้องการความช่วยเหลือ การเห็นน้ำตาของใครสักคนก็อาจกระตุ้นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจด้วย

มีงานวิจัยที่น่าสนใจจาก Tilburg University ระบุว่า น้ำตาที่มาจากใบหน้าอันเศร้าหมอง แม้จะมีคนเห็นเพียง 50 มิลลิวินาที ก็เพียงพอที่จะเรียกร้องความเห็นใจจากผู้พบเห็น ยิ่งช่วยเน้นย้ำว่า น้ำตาสามารถแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นต้องการความช่วยเหลือ ต้องการความเห็นใจ

มีความเป็นไปได้ที่น้ำตาทำให้รู้สึกดีขึ้น โดยระหว่างที่เราร้องไห้ ความรู้สึกที่แตกหักจะค่อยๆ ฟื้นฟูกลับมาอยู่ในร่องในรอยอีกครั้งราวกับพยายามปีนขึ้นจากหลุมบ่อแห่งความเศร้า มีหลักฐานว่า การร้องไห้ช่วยผ่อนคลายระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic nervous system) อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติที่รวมอยู่ในระบบประสาทส่วนปลาย ช่วยในการทำงานของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ให้อยู่ในสมดุล ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ลดการบีบตัวของลำไส้ ลดอัตราการหายใจ ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ช่วยให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายจากความตึงเครียด จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้หากมนุษย์เผชิญสถานการณ์ยากลำบากเป็นเวลานาน ระบบประสาทอัตโนมัติจะเรียกร้องให้คุณร้องไห้ออกมาบ้าง เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สมดุล วิวัฒนาการอันแยบยลนี้ทำให้มนุษย์ดึงดูดกับน้ำตา จนน้ำตาสามารถเป็นเครื่องมือในการสื่อสารหรือหว่านล้อมได้เช่นกัน

น้ำตามีผลดีต่อความรู้สึกจริงๆ ไหม?

ถ้าน้ำตาสำคัญกับมนุษย์มาก แต่ทำไมยังมีคนที่ไม่ค่อยร้องไห้ หรือไม่ร้องไห้เลยอยู่อีก พวกเขาเป็นผู้ปฏิเสธสังคมอย่างนั้นหรือ?  นักวิจัย Cord Benecke จากมหาวิทยาลัย University of Kassel ในเยอรมนี หาอาสาสมัครจำนวน 120 คน ที่มีประวัติว่าไม่ค่อยร้องไห้มาร่วมทำการทดลอง เพื่อดูว่าคนที่ไม่ร้องไห้จะมีความแตกต่างกันคนที่ร้องไห้บ่อยแค่ไหน เขาพบว่าคนที่ไม่ค่อยร้องไห้จะไม่ค่อยผูกมัดทางอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไร้เยื่อใย

ยังไม่มีหลักฐานยืนยันใดๆ ว่า น้ำตาจะช่วยเยียวยาหรือมีผลกระทบเชิงบวกต่อร่างกายระยะยาวที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ใครๆ ต่างเรียกว่า 'emotional detox' ที่เหมือนร่างกายเข้าสู่โหมดผ่อนคลาย ขับอารมณ์เสียออก และการกลั้นน้ำตาก็ไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อร่างกาย หรือเปลี่ยนคนๆ นั้นให้เป็นคนด้านชาไร้ความรู้สึก

อย่างไรก็ตามการร้องไห้ยังคงเป็นกระบวนการในการทบทวนอารมณ์ที่สำคัญในชื่อ catharsis ที่สำคัญมากในมิติทางศิลปะเราปล่อยตัวเองโลดแล่นไปกับความโศกเศร้า จมดิ่งไปเรื่อยๆ เพื่อสำรวจแง่มุมต่างๆ รับรู้ความรู้สึกผ่านโศกนาฏกรรมของผู้อื่น เมื่อเรากลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ย่อมเสริมกำลังใจต่อตัวเอง

แม้ในกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของน้ำตายังเป็นของใหม่อยู่ในขั้นแบเบาะ แต่น้ำตาก็เป็นเครื่องหมายที่สำคัญของธรรมชาติมนุษย์ หรือการร้องไห้นี่เองที่ช่วยย่ำเตือนเราว่า "มนุษย์ต้องการสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจ"

อ้างอิงข้อมูลจาก

Are all cries good for you?

The science of a good cry

Neural Regulation of Lacrimal Gland Secretory Processes

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0