โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เราต้องสร้างคนไทย แบบไหนจึงจะรอดวิกฤติ?

ไทยโพสต์

อัพเดต 14 พ.ย. 2562 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

 

               หนึ่งในคำถามที่ผมได้รับในช่วงนี้จากคนที่เป็นพ่อแม่ที่เป็นห่วงว่าลูกๆ ควรจะเรียนวิชาอะไรจึงจะไม่ตกงานในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือ

                เรียนวิชาอะไรแล้วจะไม่ตกงานในอีก 5 ปีข้างหน้า?

                ผมสนใจประเด็นนี้มาหลายปีแล้ว และได้พยายามศึกษาหาความรู้ แสวงหาข้อมูลและถามไถ่ความเห็นทั้งในและต่างประเทศในเวทีเสวนาและอ่านหนังสือต่างๆ

                อนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ผมเชื่อในแนวคิดของหลายคนที่ว่า

                อนาคตไม่ได้มาเอง เราจึงต้องเป็นคนสร้างอนาคตเอง

                The future isn’t waiting for us. We have to invent the future.

                นั่นแปลว่าเราจะต้องกล้าสร้างอนาคตเอง ไม่ใช่รอให้มันเกิดขึ้นเอง

                ที่ออกจะชัดเจนก็คือ งานอะไรที่ทำซ้ำๆ หรือเป็นงานประจำแบบพื้นฐานจะหายไปจากตลาดแรงงานมนุษย์ เพราะ “ปัญญาประดิษฐ์” จะเข้ามาแทนที่แน่นอน

                ดังนั้นเราต้องสร้างคนรุ่นต่อไปที่มีความสามารถที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้หรือทำไม่ได้ดีเท่ากับคน

                ทักษณะที่สำคัญน่าจะเป็น

                จิตใจที่เข้าใจและพร้อมจะปรับตัว อาจจะหมายถึงการเรียนจิตวิทยาที่ลุ่มลึก สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง

                ความสามารถในการแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนที่ฝรั่งเรียกว่า problem-solving skills

                ทักษณะในการบริหารจัดการคนให้สามารถร่วมมือและมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในองค์กร

                ความสามารถในการคิดวิเคราะห์…ทั้งอย่างวิทยาศาสตร์และอย่างยืดหยุ่น พร้อมจะปรับไปพร้อมกับสิ่งใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง

                ทักษณะของการปรับตัวให้ทำงานในตำแหน่งที่วันนี้ยังไม่มีให้เห็น

                เมื่อเร็วๆ นี้ผมอ่านเจอความเห็นที่น่าสนใจของ ดร.รัฐกร พูลทรัพย์

                อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเป็นหัวหน้าโครงการฝึกอบรม Digital Transformation ด้วย

                ท่านได้อ้างถึงอาชีพยอดนิยม 10 อันดับในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2016 จัดทำโดยเว็บไซต์ในประเทศสหรัฐอเมริกาชื่อ Careercast.com ได้มีการจัดอันดับสายอาชีพยอดนิยม ดังนี้

                1.Data Science (วิทยาการข้อมูล) คือสายอาชีพใหม่ที่น่าสนใจ มุ่งเน้นด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะหาความรู้จากข้อมูลที่มีมากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นจากใน Social Network หรือ Sensor รับข้อมูลต่างๆ รวมถึงรูปภาพ คลิปวิดีโอจากกล้องต่างๆ ด้วย ความรู้ที่ได้มาจากข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาคาดการณ์แนวโน้มต่างๆ ในอนาคต กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จดจำรูปแบบการใช้หรือซื้อสินค้า Online เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าให้มากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ในแง่ของการทำงานของหุ่นยนต์ ยังอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Sensor ต่างๆ ในศาสตร์นี้ประกอบกับศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อตอบสนองและควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในปัจจุบันสายอาชีพดังกล่าวจึงได้รับความนิยมสูงสุด มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 4-5 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะมีความต้องการบุคลากรด้านนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 16%

                2.Statistician (นักสถิติ) คือสายอาชีพด้านสถิติ ก็ยังคงบทบาทสำหรับศาสตร์การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ในเชิงสถิติและการจัดการ สาเหตุก็เช่นเดียวกับสายอาชีพ Data Science เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลเป็นจำนวนมากเกินกว่าศักยภาพของคนที่จะวิเคราะห์และสรุปข้อมูล ศาสตร์ด้านสถิติจึงเป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปข้อมูล และทำนายข้อมูล สายอาชีพนี้มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อปี แต่มีอัตราการขยายตัวสูงมากถึง 34% นับเป็นหลักฐานที่ชัดเจนให้เห็นว่าธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ข้อมูล สารสนเทศ และสถิติในการจัดการและบริหารงานมากกว่าการคาดเดาและประเมินสถานการณ์จากผู้ที่มีประสบการณ์ ทั้งนี้ เนื่องจากการให้บริการธุรกิจในปัจจุบันมีการใช้ Web/Mobile Application เป็นหลักในการให้บริการ ประชากรหลักล้านทำงานอยู่บน Web/Mobile Application พร้อมๆ กันจากทั่วโลก ข้อมูลปริมาณมหาศาลถูกส่งไปมาเพื่อประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการยากเกินกว่าผู้บริหารจะเข้าไปทำความเข้าใจ รูปแบบต่างๆ ของธุรกรรมที่เกิดขึ้น ดังนั้นการบริหารงานสมัยใหม่จึงต้องใช้สถิติล้วนๆ ในการจัดการ ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนธนาคารก็จะเน้นให้เปิดสาขาเพื่อบริการลูกค้า ผู้จัดการสาขาของธนาคารก็สามารถเข้าไปสำรวจ หรือสังเกตพฤติกรรมการทำงานและการให้บริการ เพื่อใช้ในการปรับปรุงการให้บริการได้ แต่ในปัจจุบันลูกค้าใช้บริการผ่าน Application ทั้งบน PC ผ่าน Browser และ Mobile Application บนโทรศัพท์มือถือ ผู้จัดการสาขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปสำรวจหรือสังเกตพฤติกรรม เพียงแต่ดูข้อมูลสรุปทางสถิติให้เข้าใจ ก็สามารถดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ดังนั้นข้อมูลและสถิติจึงเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงการทำงานในยุคสมัยนี้

                3.Information Security Analyst (นักวิเคราะห์ความมั่นคงสารสนเทศ) คือ สายอาชีพที่น่าสนใจเช่นกัน การควบคุมความมั่นคงระบบสารสนเทศขององค์กรกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ในการป้องกันผู้ไม่พึงประสงค์ที่เข้ามาแอบขโมยข้อมูลขององค์กร เข้ามาแกล้งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ขององค์กรล่ม เพื่อไม่สามารถให้บริการกับลูกค้าต่างๆ ได้ สายอาชีพนี้จะต้องเรียนรู้วิธีการติดตั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ช่วยป้องกันภัยคุกคาม ไม่ให้มีรูรั่วในระบบคอมพิวเตอร์อันจะเป็นช่องโหว่ให้ถูกเข้ามาโจมตีได้ รวมไปถึงการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัยต่างๆ ในองค์กรด้วย ท่านผู้อ่านลองพิจารณาตามดูว่า หากเราประกอบกิจการ ทำธุรกรรม E-Commerce เช่น ซื้อขายสินค้าออนไลน์ เวลาทุกนาที ทุกชั่วโมงนั้นมีความหมายสำหรับการดูสินค้า สั่งสินค้า และติดตามสถานะการส่งสินค้าของลูกค้าจำนวนหลายหมื่นคนต่อวัน ถ้าหากระบบคอมพิวเตอร์เราเสีย เนื่องจากมีบุคคลภายนอกแกล้งเขียนโปรแกรมเข้ามาทำลายเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราโดยส่งข้อความจำนวนมหาศาลมาที่คอมพิวเตอร์ของเราให้ทำงานไม่ไหว จนไม่สามารถให้บริการลูกค้าอื่นๆ ได้ หรืออาจจะส่งผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราหยุดทำงานไปสัก 2-3 ชั่วโมง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทจะมีมากน้อยเพียงไร นอกจากนี้หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีแอบเข้ามานำข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าเราไปชำระเงินโดยใช้ชื่อสินค้าและบริการต่างๆ ธุรกิจของเราก็จะเสียหาย ดังนั้นจึงเกิดความต้องการบุคลากรในสายอาชีพนี้ที่จะต้องได้รับการฝึกฝนนานหลายปี จึงจะเข้าใจรูปแบบการโจมตีที่หลากหลาย เข้ามาทำงาน และทำหน้าที่ป้องกันภัยให้เราได้ เปรียบเสมือน รปภ.ที่ดูแลอาคารสถานที่ แต่ต้องเป็น รปภ.ที่มีความรู้และทักษะด้านการระวังภัยด้าน Cyber Security สายอาชีพนี้จะมีรายได้ประมาณ 3 ล้านบาทต่อปี และอัตราการขยายงานประมาณ 18%

                4.Audiologists (นักโสตสัมผัสวิทยา) เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัย, วินิจฉัยและรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหู เนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนเป็นสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้น และหูเป็นอวัยวะที่มีปัญหาเรื้อรังในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นจำนวนมากเพื่อดูแลผู้ป่วย รายได้ของนักโสตสัมผัสวิทยาในประเทศสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อปี และมีอัตราการขยายตัวประมาณ 29%

                5.Diagnostic Medical Sonographer (นักวินิจฉัยทางการแพทย์) สายอาชีพนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นประมาณ 24% เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของอุปกรณ์ Ultrasound ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยผลการตรวจ ซึ่งสายอาชีพนี้จะมีรายได้ประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี.

                (พรุ่งนี้ : อีก 5 อาชีพสำหรับพรุ่งนี้) 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0