โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เยือน "สุรินทร์" ทัวร์ของกิน-แดนผ้าไหม ททท.เปิดรูตอาหารถิ่นในตำนาน

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 22 มิ.ย. 2561 เวลา 10.42 น.
phu03210661p3

กล่าวได้ว่าสุรินทร์มีภาพจำ เป็น “ช้าง” สัตว์ประจำชาติของไทย เนื่องด้วยมี “ชุมชนชาวกูย” ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกับช้างตั้งรกรากอยู่ แต่ในทางกลับกันอากาศที่ร้อนและพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้สุรินทร์ไม่ใช่จุดหมายยอดนิยมในการท่องเที่ยว จึงเกิดการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัด เพื่อส่งเสริมและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าไปในจังหวัด สนองนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล

โดย “คมกริช ด้วงเงิน” ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ได้นำคณะผู้สื่อข่าวตระเวนชิม “อาหารถิ่นในตำนาน” และแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์เมื่อเร็ว ๆ นี้

เปิด 3 เมนูเด็ดอาหารถิ่น

คมกริชกล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ จากการศึกษาวิจัย พบว่านักท่องเที่ยวในปัจจุบันมีความต้องการกินอาหารที่แปลกใหม่ จึงเป็นที่มาของการจัดเส้นทางท่องเที่ยว โดยมีแนวคิดตั้งต้นว่าอาหารไทยไม่ได้มีแต่ต้มยำกุ้ง และผัดไทย จึงควรนำอาหารในท้องถิ่นมาร้อยเรียงต่อยอดให้เกิดกระแสการเดินทางเข้าไปในท้องที่จังหวัดเมืองรอง นำไปสู่การสำรวจ “เส้นทางสายกินอาหารถิ่นในตำนาน” หรือ gastronomy tourism โดยมีจังหวัดเมืองรองนำร่องประกอบด้วย จังหวัดลพบุรี จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดสตูล

“โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นดึงนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เกิดความสนใจในจังหวัดสุรินทร์ก่อน เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะพิถีพิถัน และอนามัยในเรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้เส้นทางการท่องเที่ยวสำหรับประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมุ่งเน้นไปที่เมืองหลัก ซึ่งมีศักยภาพสูงกว่าเมืองรอง จึงต้องทำคู่ขนานกันไป” คมกริชกล่าว

 

สำหรับอาหารชูโรงที่เลิศรสของการท่องเที่ยวครั้งนี้ คือ “อังแก๊บบอบ” หรือ “กบยัดไส้ย่าง” เป็นอาหารท้องถิ่นของจังหวัดสุรินทร์ มีกระบวนการปรุงเริ่มด้วยการนำกบไปตัดขา จากนั้นสับขากบทั้งกระดูกจนละเอียดรวมกับเครื่องเทศต่าง ๆ

แล้วยัดไส้กลับเข้าไปในตัวกบ นำไปย่างไฟจนสุก กลิ่นหอมเครื่องเทศ รสชาติแซบนัวคล้ายไส้อั่ว นับเป็นอาหารถิ่นที่แปลกและควรค่าแก่การลิ้มลองรวมถึง “ซันลอเจก” หรือ “แกงกล้วย” ซึ่งใช้กล้วยน้ำว้าดิบ มาปรุงรวมกับแกงไก่ ใส่กะทิ และปลาร้า ทำให้ได้รสชาติกลมกล่อม เดิมนิยมใช้เป็นอาหารเลี้ยงแขกที่เดินทางมาร่วมงานศพ เพราะเชื่อว่าเป็นการตัดสายสัมพันธ์ ระหว่างผู้ตายกับญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่

นอกจากนี้ มี”อันซอมจรุ๊ก” ทำจากข้าวเหนียวผสมกับถั่วลิสง เนื้อหมู และมันหมู ปรุงรสชาติออกเค็ม ๆ ห่อด้วยใบตองให้กลิ่นหอมละมุน ตบท้ายด้วย “กาละแม”ห่อด้วยใบตอง มีกลิ่นหอมเหนียวนุ่ม

อานิสงส์ “โมโตจีพี” ท่องเที่ยวโต

ด้าน “อิสระ สาตรา” รองผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า ในปี 2560 จังหวัดสุรินทร์มีนักท่องเที่ยวราว 1,010,000 คน แบ่งเป็นชาวไทย 900,000 คน ชาวต่างชาติ 110,000 คน คิดเป็นรายได้หมุนเวียน 1,900 ล้านบาท ในปี 2561 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 8-10% เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก (MotoGP) จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 5-7 ตุลาคม 2561 จะทำให้นักท่องเที่ยงเข้ามาในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดข้างเคียง โดยปัจจุบันมียอดจองโรงแรมในจังหวัดสุรินทร์ถึง 95% ในช่วงดังกล่าว เนื่องจากยอดจองโรงแรมในจังหวัดบุรีรัมย์เต็มหมดทุกแห่งแล้ว

ไฮไลต์เด็ด “ช้าง-ปราสาท-ผ้าไหม”

สำหรับไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้คือ การชมโขลงช้างที่มีการเลี้ยงมากถึง 200 เชือก ขณะนี้ทางจังหวัดอยู่ระหว่างก่อสร้าง “ศูนย์แสดงช้างแห่งใหม่” ในนาม “Elephant World” สถานที่ตั้งอยู่ด้านหลังศูนย์แสดงช้างเดิม คาดจะดำเนินการแล้วเสร็จปี 2562 ถัดมาคือการชมปราสาทโบราณ ทั้ง “ปราสาทสิงขรภูมิ” และ “ปราสาทตาเมือนธม” ที่มีความน่าสนใจในด้านโบราณคดีไม่แพ้ปราสาทอื่น ๆ ในภาคอีสานตอนล่างรวมถึงการชมทอ “ผ้าไหม” ที่ขึ้นชื่อ ทั้งที่ “บ้านเพี้ยราม” และ “บ้านสวาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา” บ้านท่าสว่าง ของ “อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย” ที่มีราคาค่อนข้างสูง และมีจุดเด่นที่ความประณีต โดยใช้สีย้อมจากธรรมชาติ ได้แก่ สีแดงได้จากครั่ง สีเหลืองได้จากแก่นไม้กาแล สีน้ำเงินได้จากคราม เป็นต้น ก่อนทอจะล้างไหมจนน้ำใสสะอาด ทำให้มีสีคงทนไม่ซีด รวมถึงการใช้ไหมเส้นเล็ก ทำให้เกิดผ้าทอที่แน่น บางเหมือนกระดาษ แต่มีความเหนียวและทนทาน

นอกจากนี้ กี่ทอของ “กลุ่มทอผ้าจันทร์โสมา” ผ้าทอที่มีลายที่สลับซับซ้อนมากกว่าผ้าทอทั่วไปที่ใช้คนทอ 1-2 คน จึงต้องใช้คนเพิ่มเป็น 4 คน ประกอบด้วยคนทอหลัก ผู้ช่วยซ้าย-ขวา และคนทอที่อยู่ในหลุมใต้กี่เย็บผ้าอีก 1 คนสำหรับการแยกเส้นยืน เพื่อให้ได้ลายที่ซับซ้อนและละเอียดยิ่งขึ้น โดยสามารถทอได้ราว 3-4 เซนติเมตร (ซม.)/วัน เฉลี่ย1-2 เดือน/ผืน ในผ้าทอขนาด 2 เมตร และในระยะเวลาสูงสุดถึง 4-5 เดือนสำหรับในลายที่มีความละเอียดสูง โดยกลุ่มลูกค้าของผ้าไหมทอสว่างเป็นลูกค้าในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะจัดทำตามออร์เดอร์มีราคาเมตรละ 5 หมื่นบาทเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม จังหวัดสุรินทร์จึงถือได้ว่าเป็นเมืองรองที่มีอาหารพื้นถิ่นในตำนาน มีวิถีชุมชนจากวัฒนธรรมอีสานตอนล่างที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวที่นักท่องเที่ยวน่าจะได้ไปสัมผัสสักครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0