โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

อาหาร

เมื่อ COVID-19 เผยจุดอ่อนของเมือง คุยเรื่องความเหลื่อมล้ำของเมืองกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

The MATTER

อัพเดต 29 พ.ค. 2563 เวลา 07.33 น. • เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 07.32 น. • Social

คนออกมาเข้าคิวรับอาหาร ประชาชนออกมาเรียกร้องเพราะไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เด็กนักเรียนเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พอเกิดวิกฤต COVID-19 เราเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และเมืองของเราชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนส่งสาธารณะ ความแออัดของเมือง ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ต่างก็มีอยู่มาก่อนโรคระบาดจะเกิดขึ้น แต่มันทำให้เห็นว่าเราควรต้องรีบจัดการ และแก้ไขปัญหาเหล่านี้

The MATTER มาพูดคุยกับ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' อดีต รมว.กระทรวงคมนาคม ผู้แข็งแกร่งแห่งประเทศไทยว่า เราเห็นปัญหาของเมืองอะไรบ้างจากวิกฤต COVID-19 มีปัญหาอะไร ที่เราเห็น และควรรีบจัดการ ไปถึงเศรษฐกิจของไทยจะเดินหน้าไปได้อย่างไรต่อจากนี้

การใช้ชีวิตของคนในเมือง หลังการเปิดเมือง หรือ COVID-19 จะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

ตัวเมืองไม่ได้เปลี่ยนง่าย เมืองมีความต้านทานการเปลี่ยนแปลงในระดับนึง เพราะพวกโครงสร้างพื้นฐานมันใช้เวลานานในการทำ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรมคนมากคน ผมคิดว่าตัวที่จะเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนจะมี 4 ทิศทาง

เรื่องแรกคือ สุขภาพ คนจะกังวลเรื่องสุขภาพแน่นอน เพราะวิกฤตนี้เป็นเรื่องของสุขภาพ วิถีชีวิตหลังโควิด สุขภาพจะเป็นตัวสำคัญในการควบคุมการใช้ชีวิตอยู่ อย่างที่ 2 ผมว่าเป็นเรื่องของการประหยัด เพราะโควิดมันเขย่าเศรษฐกิจรุนแรง เรามีคนตกงานหลายล้านคน คนจะมีความไม่มั่นใจเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น คนจะกังวลเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งนั่นมันจะส่งผลกระทบหลายๆ อย่าง

ที่ผมคาดการณ์คือเราจะเห็นหาบเร่แผงลอยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพอคนตกงาน เราไม่มีอย่างอื่นจะไปรองรับเขา ไม่มีเกษตรที่จะไปรองรับ ภาคเกษตรก็ไม่ต้องการคน เพราะใช้เครื่องจักรเยอะขึ้น คนตกงานจะไปไหน ที่ง่ายสุดคือการทำหาบเร่แผงลอย ขายของตามถนน ซึ่งมันก็อาจจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อด้วย ที่ต้องการประหยัดเงิน ก็ลงมาซื้อของที่ราคาถูกลง ผมว่าเรื่องความประหยัดก็จะเป็นตัวกำหนดเมืองในอนาคต ยูนิท พวกทาวน์เฮ้าส์อาจจะขายดีขึ้น เพราะราคาถูกลง

อันที่ 3 ผมว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่ไม่ได้ใช้พร่ำาเพรื่อ เพราะมันจะมาตอบโจทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพ กับเรื่องสุขภาพ และประหยัด ถามว่า work from home การใช้ zoom ที่เยอะขึ้นก็ตอบโจทย์สุขภาพ เพราะเราไม่อยากมาเจอกัน เพราะกลัวติดเชื้อ ก็จะเจอเทคโนโลยีที่มาประหยัดค่าใช้จ่าย การซื้อของออนไลน์ ดังนั้นเทคโนโลยีจะมีการใช้เยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อันที่ 4 ผมว่าจุดอ่อนของเมือง ที่เราอาจจะไม่เห็นเพราะมันตกตะกอนแล้ว มันโดนวิกฤตโควิดเขย่า จนเราเห็นจุดอ่อนของเมืองชัดเจนเยอะขึ้นหลายเรื่อง ผมว่าที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่รู้สึกว่าเรามีชุมชนเยอะแยะ ที่เปราะบาง แต่วิกฤตินี้มันทำให้เราเห็นว่ามันมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า มีคนมาเข้าคิวรับอาหารทุกที่ในกรุงเทพ ไม่ใช่แค่ชุมชนแออัดใหญ่ๆ จุดอ่อนพวกนี้เราจะเห็นชัดขึ้น พอเราเขย่าตะกอน และตะกอนมันฟุ้งขึ้นมาให้เห็น เราก็ต้องรีบทำความสะอาดให้มันเข้มแข็งขึ้น ไม่ให้มันตกตะกอนไปอีก

ผมว่าหลักๆ ทิศทาง 4 อันที่เป็นตัวกำหนดทิศทางเมือง เมืองไม่ได้เปลี่ยนกะทันหัน ถามว่าทุกคนจะ work from home ตลอดไปไหม ผมก็ว่ายาก ถ้าโควิดเริ่มหายไป คนกังวลน้อยลง คนจะกลับไปทำงานเหมือนเดิม นักเรียนจะเรียนจากบ้าน ผมก็ว่ายาก เพราะระบบทุกระบบมันมีต้นทุนเก่าอยู่ บริษัทมีต้นทุนเก่าเรื่องออฟฟิศ โรงเรียน มหาวิทยาลัยก็มี อย่างจุฬาฯ ก็มีทรัพย์สินเป็นอสังหาฯ เยอะ และนี่คือ business model เดิม ซึ่งผมว่ายากที่คนจะทิ้งไปออนไลน์หมด และสุดท้ายเราจะถูกดึงกลับมาโหมดเดิม ยกเว้นอะไรที่ไปไม่ไหวจริงๆ ต้นทุนแพงมาก ก็จะล้มหายตายจากไป แต่ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้มีธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่มีต้นทุนเก่าเกิดขึ้นจากช่วงนี้ได้

พูดถึงเมือง เรารู้กันว่ากรุงเทพฯ ขึ้นชื่อว่าระบบขนส่งสาธารณะแออัดมาก เราจะ Social distancing กันได้ยังไงในระยะยาว หรือทำอย่างไรให้ขนส่งสาธารณะปลอดภัย

ในการออกจากบ้าน ผมเชื่อว่าขนส่งสาธารณะเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด ที่บ้าน เราปลอดภัย ที่ทำงาน เราก็ควบคุมได้ แต่จุดอันตรายคือขนส่งสาธารณะที่มีความแออัด แต่คำถามแรกเลย อาจจะต้องกลับไปที่พื้นฐานว่า มันอันตรายแค่ไหน ในการที่เรายืนใกล้ชิดกันในขนส่งสาธารณะ เพราะว่ามันไม่เหมือนการนั่งคุยกัน หรือกินข้าวที่มันมีกิจกรรม แต่ขนส่งสาธารณะคือการยืนนิ่งๆ ใช้เวลาให้น้อยที่สุด และออกจากมัน

ถ้าเราใส่หน้ากาก และยืนนิ่งๆ จุดเสี่ยงก็มีแค่ 2 จุด คือการสัมผัสราวจับ ประตู เบาะ และเรามาจับหน้า เชื้อโรคเข้า หรือไม่ก็จากละอองฟอย ซึ่งถ้าทุกคนไม่พูดกัน ทุกคนใส่หน้ากาก ความเสี่ยงตรงนี้ก็น้อยลง ผมว่าคำถามที่เราต้องกลับมาคิดคือ ขนส่งสาธารณะจำเป็นต้อง social distancing หรือเปล่า ผมว่าโจทย์นี้ก็ต้องให้ผู้ที่รู้ไปวิเคราะห์ให้ดีเหมือนกัน

เพราะเราดูอย่างไต้หวัน ผมก็ถามคนที่ไต้หวันว่า รถเมล์ รถไฟฟ้าที่แน่น มี social distancing หรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่มี ปกติเลย แต่มีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้า ห้ามกิน ห้ามคุยโทรศัพท์ ทุกคนต้องใส่หน้ากาก มีการทำความสะอาดราวจับ ซึ่งผมว่านี่มันเป็นตัวอย่างที่เราเอามาดูได้ เพราะการใช้ขนส่งสาธารณะเราจำกัดกิจกรรม ถ้าเราไม่ทำกิจกรรม ไม่พ่นละอองฝอย ความเสี่ยงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ระยะห่างก็ได้ เพราะทุกคนมีหน้ากากคาด มันมีตัวเลขอยู่แล้วว่ามีโอกาสติดกี่เปอร์เซ็น ผมว่าอาจจะต้องคิดให้ดี ว่า social distancing มีผลหรือไม่

ที่ผ่านมาที่เราดูตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอันนึงคือ เรือคลองแสนแสบ ปัจจุบันเรามีคนนั่งประมาณ 7 หมื่นคนต่อวัน ปัจจุบันเหลือประมาณ 2 หมื่น แต่ตอนเย็นก็แน่นเอี๊ยดเหมือนกัน เพราะคนยังต้องใช้เรือในการเข้าถึงชุมชน ผมว่าโมเดลคือไปศึกษาเรือคลองแสนแสบว่ามีการติดเชื้อไหม เพราะไม่มี social distance แต่ทุกคนใส่หน้ากาก ไม่พูดคุย รีบขึ้น รีบลง ถึงที่แล้วล้างมือ ผมว่าในแง่ของนโยบายภาครัฐต้องเอาให้ชัวร์ก่อนว่า สรุปแล้ว ต้อง social distance ไหม และถ้าบอกว่าต้อง แล้วไม่มีการบังคับใช้ในรถจริงๆ ก็จะทำให้คนไม่มั่นใจ แต่ถ้าบอกว่าไม่จำเป็น แต่มีมาตรการอย่างไต้หวัน ก็ทำให้เราชัดเจนมากขึ้น

ผมว่าในแง่ของมาตรการ ทางผู้รู้ต้องไปศึกษาให้แท้จริง ส่วนในฐานะผู้ใช้อย่างเราก็ต้องหลีกเลี่ยงเช่น หลีกเลี่ยงเวลาแออัด จับราวและล้างมือ พยายามไม่ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ผมว่าถ้าเรามีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ผมว่าไม่น่ากังวลมาก

ที่กังวลมากกว่าเป็นเรื่องอย่างแท็กซี่ เพราะคนขับคนเดียว ถ้าเป็นก็มีโอกาสมีเชื้อในรถ ผมว่าแต่ละกระบวนการของขนส่งสาธารณะต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ผมว่าภาครัฐต้องลงมาดูแล และอาศัยวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ถ้าไม่งั้นในอนาคตคนก็จะไม่มั่นใจในขนส่งสาธารณะ

ตัวปัญหาอีกอันนึงผมว่าคือรถเมล์ ปัญหาคือ การ Social distance บนรถเมล์ ทำให้การบรรจุรถเมล์ลดลงมาก รถเมล์ในปัจจุบันก็ขาดทุนมหาศาลอยู่แล้ว รถเมล์มีทั้งของ ขสมก.กับของรถร่วม พอให้เขาเว้นที่นั่ง รถคันนึงก็ได้เงินน้อยลงกว่าเดิมประมาณครึ่งนึง สุดท้ายแล้ว รถร่วมวิ่งไม่ได้หรอก เพราะต้นทุนสูงกว่ารายได้ พอหยุดไป รถเมล์ขาด รถร่วมไม่วิ่ง คนก็จะวิ่งไปขึ้นของ ขสมก.ก็ยิ่งเป็นปัญหา แน่นกันไปอีก

ผมว่าอันนี้สำคัญ เพราะรถเมล์เป็นส่วนสำคัญของขนส่งสารธารณะ มันเป็นเส้นเลือดฝอยที่ลงไปถึงทุกพื้นที่ คนที่รายได้น้อยที่ไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ ผมว่ารัฐบาลคงต้องโฟกัสหรือว่าต้องเน้นเรื่องรถเมล์มากขึ้น ผมว่านโยบายที่ดีก็คือให้นั่งรถเมล์ฟรีไปเลยอย่างน้อย 3 เดือนในช่วงนี้ เพราะรถเมล์ฟรีปัจจุบันรายได้ต่อคันก็ไม่ได้เยอะ และจ้างเอกชนมาวิ่งด้วยเลย ที่มันดีเพราะไม่มีการสัมผัสเงินสด ไม่ต้องมีกระเป๋ารถเมล์ ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อก็ลดน้อยลง เราสามารถเว้นระยะห่างได้มากขึ้น

อาจจะมีรถเมล์ซัก 6 พันคันต่อวัน และจ้างรถทัวร์ที่ปัจจุบันไม่มีนักท่องเที่ยว ก็สร้างงานให้กับคนขับ อาจจะจ้างคันละ 6 พันบาท ผมว่างบประมาณต่อเดือนไม่ได้เยอะ มันจะช่วยคนมีรายได้น้อย และช่วงสร้างงานด้วย แต่อนาคตก็ต้องเร่งเรื่องตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ให้เร็วขึ้น ลดการใช้เงินสด

ผมว่าอันนี้คือรูปแบบของคนส่งสาธารณะ สรุปว่ารัฐต้องดูมาตรการให้ชัดเจน ตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่าอะไรต้องทำหรือไม่ต้องท ถ้าเราตั้งมาตรการที่เข้มงวดเกินไป แต่คนทำไม่ได้ คนก็จะไม่ไว้ใจ เพราะขึ้นไปแออัดกัน คนก็จะถ่ายรูปส่งมากัน มันสร้างความไม่ไว้ใจให้กับระบบ

พอมีโควิด ในหลายประเทศสกู๊ตเตอร์ หรือจักรยานขายดีมาก ในประเทศไทย เราสามารถใช้ได้ไหม หรือมีเงื่อนไขอะไรที่เราใช้มันไม่ได้

อันนี้ก็เป็นปัญหาที่มีมาก่อนโควิด แต่โควิดมันช่วยเขย่า ก่อนมีโควิดก็ขี่จักรยานลำบากแล้ว เราไม่ได้มีโครงสร้างที่เหมาะ ถ้าดูอย่างญี่ปุ่น เขาก็ขี่จักรยานบนฟุตบาท เพราะฟุตบาทเขากว้าง แต่ของเราขี่บนฟุตบาทไม่ได้อยู่แล้ว ขี่บนถนนก็ไม่ได้ ผมว่าทางเลือกของจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ มันเป็นเส้นเลือดฝอยมากกว่า เพราะเราอาจจะไม่ได้ขี่จักรยานจากบ้านมาที่ทำงาน เราก็จะขึ้นระบบเส้นเลือดใหญ่มา เช่นขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์มา ดังนั้นระบบมันจะเหมาะกับเส้นเลือดฝอย ขี่ไปจอดที่รถไฟฟ้ารอบๆ ไม่เกิน 1 กิโลเมตร

ถ้าโชคดีมีบ้านอยู่ใกล้ๆ ก็ใช้ได้ แต่ถ้าจะให้ระบบนี้เป็นเส้นเลือดใหญ่ ผมว่ามีเฉพาะบางคนที่เอาชีวิตรอดได้ ดังนั้นอนาคตคือ อาจจะต้องทำที่จอดจักรยานที่ดี ที่รถไฟฟ้า บางเส้นสายใหม่ๆ อย่างฝั่งธนฯ เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการขี่จักรยาน เพราะมีสวนสาธารณะเยอะอยู่ ขี่มาจอดตามรถไฟฟ้า และไปทำงานได้ แต่ถ้าจะให้ขี่จากฝั่งธนฯ มาทำงานฝั่งนี้ ผมว่าอันตราย และมันจะไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้รถ และเลนส์จักรยาน

มันก็เป็นทางเลือกนึงนะ เพราะว่าอย่างในนิวยอร์กตอนนี้ยอดจองจักรยานก็เยอะมาก เพราะมันเป็น social distancing ที่ดี ไม่ต้องเจอใคร

เห็นว่านอกจากรถ และจักรยานแล้ว คุณชัชชาติสนใจเรื่องการเดิน

ผมว่าการเดินนี่น่าสนใจมากนะ ผมว่ามันคือ social distance 100% และเป็นเรื่องของสุขภาพด้วย ผมว่าน่าจะเป็นโอกาสทองเลย ของการทำตรงนี้ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการเดินขึ้นมา เพราะมันคือความไว้ใจ ไว้ใจว่าจะไม่ติดใคร ถ้าเราดูจุฬาฯ เป็นตัวอย่าง ว่าสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการเดินอย่างไร เขาสร้าง cover walkway เหมือนกันสาด และมีไฟติด นิสิต อาจารย์ หรือคนมาติดต่อก็สามารถเดินได้โดยที่ไม่ร้อน ไม่เปียก กลางคืนก็มีไฟติด

อันนี้เราสามารถเพิ่มในกรุงเทพฯ ได้ไหม ให้คนสามารถเดินอย่างสะดวกได้มากขึ้น เดินเป็นเส้นเลือดฝอย เช่น ลงจากรถไฟฟ้าและเดินไปที่ทำงาน เดินไปร้านอาหาร ก็จะแบ่งเบา และช่วยในแง่ของโควิดด้วย อันนี้เป็นจังหวะดีที่เราจะพัฒนาโหมดต่างๆ ของการเดินทางให้มันสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนมากขึ้น

ไม่เพียงแค่ขนส่ง แต่ความเป็นเมือง และเป็นอยู่ของคนบางกลุ่มก็อยู่ในพื้นที่แออัด จะต้องมีการจัดการอย่างไรหลังจากนี้

ถามว่าชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ อยู่ที่ไหน คนก็จะบอกว่าอยู่ที่คลองเตย แต่จริงๆ ถ้าดูแล้วจะเห็นว่ามีทุกเขต ทุกพื้นที่ เพราะว่าคนต้องอยู่ใกล้งาน งานอยู่ใกล้บ้าน ทุกที่ที่ต้องการคนมาบริการภาคเซอร์วิส พวกนี้ก็จะอยู่ในชุมชนทั่วไป ซึ่งในกรุงเทพฯ มีชุมชนเหล่านี้เยอะมาก เรามีชุมชนที่เปราะบางที่ต้องการพัฒนาอย่างน้อย 1.5 พันแห่ง มีคนอยู่ประมาณ 1.2 ล้านคน คือมีอยู่ทุกพื้นที่ และจะอยู่ในซอกหลืบที่เรามองไม่เห็น อันนี้คือจุดเปราะบาง

วิกฤตโควิดไม่ได้สร้างชุมชนพวกนี้ขึ้นมา แต่มันเขย่าให้เราเห็นชัดเจนขึ้น เราเห็นความเปราะบาง เห็นลงไปเลยว่า เขาคือภาคบริการที่โดนหยุดงานก่อน

ผมว่าถ้ามอง เมืองต้องพัฒนาระบบเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง ผมว่ากรุงเทพฯ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องระบบเส้นเลือดใหญ่ เรามีรถไฟฟ้า ทางด่วน ถนน โรงพยาบาลอย่างดี แต่หัวใจคือเส้นเลือดฝอยต่างๆ เหล่านี้ ที่เปราะบางมาก ผมว่าถ้าเป็นไปได้ต้องพัฒนาเรื่องความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยก่อนเลย พัฒนาเรื่องนี้ให้เขามีสุขอนามัยที่ดีขึ้น เป็นเจ้าของได้มากขึ้น มีอันนึงที่รัฐบาลทำได้ดี คือเรื่องของบ้านมั่นคง พอคนเรามีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย จะมีความภูมิใจ และจะพัฒนาบ้าน พัฒนาอาชีพ และชีวิตให้เข้มแข็งขึ้น

แต่ถ้าเราอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความมั่นคง อนาคตจะโดนไล่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไม่มีใครจะกล้าลงทุน ขนาดปูหลังคาใหม่ยังไม่กล้าเลย เพราะไม่รู้ว่าเงินที่ลงทุนไปจะหายไหม ผมว่าเราควรจะดูชุมชนเหล่านี้ให้เข้มแข็ง เพราะเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นกัน ถ้าเรารอดก็ต้องรอดไปด้วยกัน พวกเขาก็เป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจของเรา

เราต้องดูเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง เพราะมันจะเชื่อมโยงกันหมด ถึงระบบการเดินทาง รถเมล์ที่ลงมาถึงเส้นเลือดฝอยเหล่านี้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมว่าเราน่าจะปรับปรุงได้ มันอาจจะไม่เซ็กซี่เหมือนระบบเส้นเลือดใหญ่ เหมือนทำรถไฟฟ้า 10 สาย 400 กิโลเมตร แต่นั่นมันคือชีวิตจริงๆ ของคน ที่เขาตื่นขึ้นมาและเจอ กลับบ้านก่อนนอนและเจอ

ในมุมนึงเราเห็นความแออัด แต่ตอนที่รัฐบาลประกาศปิดต่างๆ เราก็เห็นภาพคนที่กระจายกลับบ้านกันไป มันแสดงว่าคนต่างจังหวัดแห่กันมาทำงานที่กรุงเทพเยอะมาก เราควรจะต้องกระจายคน กระจายความเจริญจากกรุงเทพเพื่อลดความแออัดหรือเปล่า

ผมว่าคนก็อยู่ทำงานแหละ ชัดเจนเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่หัวโตที่กรุงเทพ เรามี GDP ขนาดใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ผมว่าก็จะดีมากถ้าเราสามารถกระจายงานออกไปที่หัวเมืองต่างๆ ได้ วิกฤตโควิดก็ทำให้เราเห็นว่า จริงๆ เราสามารถกระจาย โดยใช้เทคโนโลยีได้ เช่น work from home การสื่อสารทางไกลเพิ่ม และเราก็เริ่มเห็นคนย้ายออฟฟิศไปอยู่ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บริษัทที่ไม่ได้ขายโมเลกุล ที่ขายบิตไบท์ เช่นขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ขายภาพกราฟฟิก ก็สามารถย้ายไปอยู่จังหวัดต่างๆ ได้ และส่งของผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไปให้ลูกค้าที่กรุงเทพฯ หรือทั่วโลก ผมว่าโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT จะเป็นตัวสำคัญที่จะช่วยกระจายเมืองให้คนสามารถไปอยู่เมืองต่างๆ ที่มีคุณภาพชีวิตได้

อย่างที่ผมว่า อนาคตจะมีหาบแร่แผงลอยมากขึ้น เพราะคนไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพที่บ้านได้ การเกษตรก็รองรับไม่ได้ เพราะปัจจุบันการเกษตรไม่ได้ต้องการคนเยอะเหมือนสมัยก่อน แต่ถ้าสามารถกระจายเมืองให้เจริญขึ้น มันก็จะเป็น urbanization มากขึ้น แต่ว่าตอนนี้ urbanization มันมารวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว อนาคตอาจจะต้องให้กระจายไปหัวเมืองใหญ่ สร้างงานที่ส่วนต่างๆ

ที่มันยังไม่เจริญ หรือไม่กระจายไป เพราะว่าเราไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มานานด้วยหรือเปล่า

อาจจะเกี่ยว แต่ก็พูดยาก ผมว่าก็มีส่วนเหมือนกัน ปัญหาเรื่องท้องถิ่นคือ ถ้าได้คนจากท้องถิ่นมา เขาก็จะมีความผูกพันธ์และต่อเนื่องมากกว่า ผมเคยไปเจอนายกเทศมนตรีเก่งๆ แถวชลบุรี ที่เขาอยู่มานาน 20 ปี ซึ่งเมืองก็พัฒนาไปอย่างดีมาก เพราะเขามีความต่อเนื่อง ดังนั้นในแง่ยุทธศาสตร์ของเมือง เขาสามารถทำแบบระยะยาวได้ อันนี้ก็เป็นจุดนึงที่อาจจะมีผล เพราะพอเรามีผู้ว่าที่แต่งตั้ง และไม่ได้มีความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย การจะทำให้เป็นศูนย์กลาง เป็น hub ก็จะไม่มีความต่อเนื่อง

ถ้าเราได้มีการเลือกตั้ง และได้คนดีก็อาจจะมีผลทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเข้มแข็ง ก็มีตัวอย่างหลายเมือง ที่ผู้นำท้องถิ่นเข้มแข็งและสามารถพัฒนาเมืองให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน และเศรษฐกิจได้

 

อีกปัญหานึงที่เราจะเห็นแน่ๆ คือเรื่องของเศรษฐกิจ ในแง่นี้ รัฐบาลควรมีมาตรการอย่างไร ที่จะกู้เศรษฐกิจที่ดีกลับคืนมา

ผมโปรโมทเรื่อง Trust economy เพราะผมว่ามันจะเป็นตัวช่วยกระตุ้น เพราะปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องโควิด กับเรื่องเศรษฐกิจที่หยุดชะงักเพราะโรคระบาด อันนี้เป็นเรื่องของความไว้ใจเลยที่รัฐจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานของความไว้ใจขึ้นมา เราไว้ใจเขา เขาไว้ใจเรามันก็จะสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาได้ เพราะถ้าคนไม่ไว้ใจ คนก็จะไม่กล้าเดินทาง ไม่กล้ามีธุรกรรมต่างๆ ถ้าคนมีความไว้ใจ จะกล้าใช้จ่ายมากขึ้น

ผมว่าเราได้เปรียบเยอะ เพราะเราเป็นประเทศที่ติดเชื้อน้อย มีคนตายน้อย ดีอันดับต้นๆ ของโรค เอาตรงนี้มาเป็นแรงเหวี่ยง มาเป็นตัวงัดให้เป็น Trusted nation ให้คนเชื่อใจ มาลงทุน อนาคตอาจจะมาเที่ยว มาซื้อบ้านในไทย กล้าสั่งของจากเมืองไทยเพราะรู้ว่าเราจะไม่สะดุดถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้น การสร้างความเชื่อใจนี่แหละจะทำให้เศรษฐกิจกลับคืนมา

การใช้เงินของรัฐบาล นอกเหนือจากการช่วยเหลือคนระยะสั้นซึ่งจำเป็น ระยะยาวอาจจะต้องมี key word หรือหลักคิด ซึ่ง trust ก็อาจจะเป็นตัวนึง ที่เป็นเหมือนไม้บรรทัดว่าเงินที่รัฐบาลกู้มา 1.9 ล้านล้าน ต้องเอามาสร้างความไว้ใจ ผมว่าที่แบงค์ชาติทำ 1.9 ล้านล้าน มี 1 ล้านล้านของรัฐบาล 9 แสนล้านของแบงค์ชาติ ที่ 5 ล้านทำ soft loan 4 แสนล้านทำหุ้นกู้เอกชน ซึ่งหุ้นกู้เอกชนคือการสร้างความไว้ใจ ว่าเอกชนจะสามารถขายหุ้นกู้ได้ ไม่เกิดการรันของตัวพันธบัตร

และรัฐจะสร้างความไว้ใจอย่างไรว่าระบบสาธารณสุขเราดี สปาเราไว้ใจให้คนมานวดได้ จะสร้างยังไงต้องเริ่มคิดแล้ว ผมว่าต้องมีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสาธารณสุขในเส้นเลือดฝอย ทำห้องน้ำสาธารณะ ที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร ให้หมดความกังวลเรื่องโควิด

ในแง่เศรษฐกิจระดับย่อย เราเห็นประชาชนตกงาน คนไร้บ้าน คนที่ออกไปรับข้าวฟรีมากขึ้น ในด้านความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรเริ่มแก้ปัญหาอย่างไร

ชาวบ้านผมมองว่ามี 2 คลื่น คลื่นแรกคือ คลื่นของคนที่โดนหยุดงานกะทันหัน พวกนี้อยู่ในธุรกิจภาคบริการซึ่งถูกหยุดเพื่อป้องกันการระบาดโควิด พวกห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ไปถึงสนามกอล์ฟ คนที่อยู่ในชุมชนส่วนใหญ่คือกลุ่มนี้ กลุ่มนี้ผมเชื่อว่าไปเร็ว แต่ว่าก็จะคืนมาเร็ว อาจจะไม่ใช่ระยะยาว พอร้านอาหารเปิดเขาก็จะกลับมา ห้างเปิด ก็จะกลับมา ผมมองว่ากลุ่มนี้ส่วนนึงจะได้งานคืน

หัวใจของการแก้ ผมมองว่า คือต้องทำให้เขามีชีวิตรอดจนถึงวันที่เปิดงานใหม่ เขาต้องการเสื้อชูชีพ ซึ่งมาตรการของรัฐอันนึง ที่ให้ 5,000 บาท ก็เป็นวิธีนึงในการประคอง

จากข้อมูลนึงของธนาคารไทยพาณิชย์เขาบอกว่า ประมาณ 60% ของคนไทย หรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือน มีเงินเก็บไปน้อยกว่ารายจ่าย 3 เดือน แปลว่าถ้าขาดเงิน 3 เดือน จมน้ำตายแล้ว จึงต้องมีชูชีพให้ไป ผมว่าตัวคลื่นลูกแรกที่เป็นคนในชุมชนผลกระทบอาจจะรุนแรงแต่ไม่ยาว

แต่คลื่นที่ 2 ผมว่าน่ากลัว เพราะคือคนทำงานอยู่ในกลุ่มซึ่งมีผลระยะยาว เช่น ท่องเที่ยว หรือธุรกิจเปลี่ยนรูปแบบไป กลุ่มคนออฟฟิศกลุ่มนี้ ถ้าโดนออกจะออกยาว เพราะว่าไม่ใช่งานที่ไปชั่วคราว แต่มันไปเพราะ business model ใช้ไม่ได้แล้ว กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รายได้สูงขึ้นมาหน่อย และการช่วยเหลือจะไม่ง่าย เพราะเขาไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเงิน 5,000 บาท เขามีภาระหนี้ เครดิตการ์ด ซึ่งมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไป ผมว่าอันนี้ไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ง่าย แต่อย่างที่บอกถ้าเราสร้างความไว้ใจกลับคืนมาได้ เขาอาจจะได้งานกลับคืนมา หรือจะไปหางานในรูปธุรกิจแบบใหม่

อีกประเด็นหนึ่งที่เราเห็นปัญหาชัดเจนมาก คือเรื่องของการศึกษา การเรียนออนไลน์ หรือระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัวยังไงบ้าง

มันก็เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโควิด แต่มันมีมาอยู่แล้ว ผมไปลงชุมชนและก็อยากรู้ว่าเด็กได้เรียนออนไลน์ไหม เจอเด็ก 12 คน ก็มีเรียนอยู่แค่คนเดียว เป็นเด็กทุน เกรด 3.7 ที่นั่งเรียนผ่านมือถือ เด็กประถมนี่หมดสิทธิ เด็กมัธยมก็ลัลล้ากันไป ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่มีประสิทธิภาพ อย่าไปฝันว่าเรียนออนไลน์ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการเปิดเรียน อันนี้ไม่ถูก

อนาคตผมมองว่า การศึกษาก็เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะเป็นตัวปรับประเทศได้ เรื่องความเหลื่อมล้ำจะแก้ได้ด้วยการศึกษา โดยในระยะยาว คือการให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ ถ้าทำได้ซัก 2 รุ่น เขาก็จะสามารถปรับตัวขึ้นมา และความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง

ซึ่งผมก็ยังเชื่อมั่นในเรื่องของเส้นเลือดฝอย การศึกษาก็ต้องลงไปตรงนั้น โรงเรียนดีๆ เรามีเยอะ ไม่ต้องเป็นห่วงเลย แต่ถ้าเราเจอโรงเรียนวัดที่อยู่ในชุมชน บุคลการก็ไม่พร้อม อุปกรณ์ก็ไม่พร้อม จะแก้ปัญหาการศึกษาก็ต้องลงไป ดูให้ได้รับโอกาส ให้เท่าเทียมกันในเรื่องของการศึกษา

ผมว่าเริ่มจากครูเลย ถ้าลงไปดูครูที่อยู่ในชุมชน เขาเหนื่อยนะ ถ้าครูมีกำลังใจในการสอน มีประสิทธิภาพในการสอน ผมเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับโรงเรียน ครูกับผู้ปกครองเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ต้องลงไปถึงระดับล่าง

คุณชัชชาติเน้นตลอดว่า การแก้ปัญหาต้องไปยังเส้นเลือดฝอย แต่เราก็เห็นว่าการช่วยเหลือของรัฐบาลมันกระจายไปไม่ถึงคนทุกกลุ่ม ต้องทำยังไงให้เข้าไปถึงได้

ผมว่าจริงๆ แล้วหัวใจคือเรื่องของฐานข้อมูล และช่วงนี้เป็นโอกาสทองในการทำ ในภาวะวิกฤตการตัดสินใจมันต้องเป็นจากข้างบนลงมา เราไม่สามารถไปถามข้อมูลได้ เพราะมันมาจากการรวมศูนย์ แต่การรวมศูนย์ได้ก็ต้องมีข้อมูลที่ดี ผมว่าปัจจุบันสิ่งที่ขาดไปคือข้อมูลปลีกย่อย

อย่างผมลงไปชุมชนทองหล่อ ผมลงไปสำรวจประชาชนทุกครัวเรือน ใช้เวลาแค่ครึ่งวัน รู้หมดว่าครอบครัวมีกี่คน รายได้เท่าไหร่ ผมว่าถ้ารัฐบาลทำข้อมูลตรงนี้ให้ดี การช่วยเหลือคนทำไม่ยาก ใช้เวลาสั้นเลย ไม่ต้องไปลงทะเบียนอีกแล้ว เพราะเรารู้หมดว่าเลขบัตรประชาชนนี้อยู่ที่ไหน ทำงานอะไร มีประกันสังคมหรือไม่ ผมว่าถ้ามีครบ การช่วยเหลือจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ถ้าเราช่วยเหลือที ลงทะเบียนที ผมว่ามันก็ไม่ทัน คนก็เบื่อ และก็มีข้อบกพร่อง เราควรมีฐานข้อมูลใหญ่ที่ครบถ้วน บัตรประชาชนเป็นตัวตั้ง และลิ้งก์ข้อมูล ผมว่าก็เป็นโอกาสดีถ้าเราจะทำ และเป็นโอกาสในการสร้างงานด้วย ช่วงนี้ถ้ารัฐบาลอยากจะช่วยคน ก็สร้างเด็กจบใหม่ ลงไปทำสำมะโนประชาชน ลงฐานข้อมูลให้ครบถ้วน ได้สร้างงาน ได้ข้อมูล และเอาไว้ใช้ในอนาคตด้วย และมันจะแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำ และเส้นเลือดฝอยได้

เป็นเหตุที่เราทำโครงการชื่อว่า บ้านใกล้เรือนเคียง เราลงไปช่วยเหลือคนเยอะ 2 เดือนที่ผ่านมา ผมว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องความช่วยเหลือ เรามีคนใจบุญเยอะมาก แต่ปัญหาคือเราลงไปไม่ถึงเส้นเลือดฝอย คนที่เขาต้องการความช่วยเหลือจริงๆ มันเลยไปกระจุกอยู่ที่บางที่ เราก็แค่เอาข้อมูล ชุมชนที่มีลงใน google map และให้คนเข้าไปหาได้ว่าใกล้บ้านมีชุมชนอะไรบ้าง และในชุมชนนั้นก็มีชื่อประธาน เบอร์โทรศัพท์ เขาก็สามารถติดต่อโดยตรง

มันก็จะเปลี่ยนจากที่แต่เดิมเราอยู่ใกล้ชุมชนแค่ 500 เมตร แต่เราไปบริจาคของที่มูลนิธิที่ห่างไป 10 กิโลเมตร และจากมูลนิธิ ก็ต้องกลับมาให้ที่ชุมชน เราเดิน 500 เมตรเอาไปให้เลย ได้เห็นชีวิตเขา มันก็ตรงกว่า แต่ที่สำคัญคือมีฐานข้อมูลตรงนี้ไหม ผมว่าถ้ารัฐพัฒนาได้มันจะเจ๋งมาก จะทำให้การช่วยเหลือ การตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โควิดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทย มีโมเดลของที่ไหนในการจัดการวิกฤตที่ดี ที่คุณชัชชาติชอบบ้าง

ผมชอบไต้หวัน เพราะผมไปดูงานบ่อย ผมว่าเขาใช้เทคโนโลยีได้ดี ซึ่งเทคโนโลยีไม่ใช่ว่าเราค่อยมาใช้ตอนมีวิกฤต ปัจจุบันเรามีเว็บ ‘ไทยชนะ’ ใครกล้าใช้ไหม ผมว่าหลายคนไม่เชื่อใจนะ เราไม่รู้ว่ามันจะตามเราไปถึงไหน เพราะการใช้ IT การแบ่งปันข้อมูล มันไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมเรา แต่ไต้หวันเขามีวัฒนธรรมการใช้ IT มีการกระจายข้อมูลลงไปในระดับเส้นเลือดฝอย การเก็บข้อมูล การฟีดแบ็กต่างๆ มันเป็นการ empower ให้ประชาชนในเส้นเลือดฝอยผ่านระบบ

เวลาเขาจะมีกฎหมายอะไร เขาก็จะให้ประชาชนได้แสดงความเห็นว่าดี หรือไม่ดี พูดคุยกันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ผมว่าตัวอย่างของไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดี ผมว่าเขามีรัฐมนตรีดิจิทัลที่เก่งมาก ออเดรย์ ถัง คือรุ่นใหม่ที่ใช้ IT อย่างมีประสิทธิภาพ เขาทำเรื่องหน้ากากว่า หน้ากากอยู่ที่ไหน ขึ้นบนแพลตฟอร์ม ซึ่งประเด็นไม่ใช่ว่าเขามาทำตอนวิกฤต แต่เขาปลูกฝังเป็นวัฒนธรรมแล้ว และพอมีวิกฤคมันเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้

ผมว่าโมเดลในไต้หวันเป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีในการกระจายอำนาจได้ดี มากการฟีดแบ็ก เขาเข้าหาปัญหาได้เร็ว และเขามีโมเดลมี่ติดเชื้อน้อย

คุณชัชชาติบอกว่าเราไม่มีวัฒนธรรมการใช้ IT เราจึงไม่เชื่อใจ มันเป็นเพราะเราไม่เชื่อใจรัฐด้วยหรือเปล่า

ผมว่าหัวใจของการเชื่อใจมันมาจาก 2 อย่าง เราจะเชื่อใจมันต้องมีเรื่องความเก่ง อีกอันนึงคือ ต้องไม่เห็นแก่ตัว ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ฉะนั้นมันมี 2 องค์ประกอบ คือ เก่ง และดี ถ้าไม่มีก็ทำให้คนขาดความไว้ใจ

ผมว่าอย่างไต้หวันเขาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง เขามีความเจ๋ง เขาทำได้จริง คนจึงไว้ใจ ของไทยเราอาจจะไม่มั่นใจ ว่าโปรแกรมของรัฐมันเจ๋งจริง เราไม่รู้ว่าข้อมูลจะถูกเอาไปใช้ส่วนอื่นหรือเปล่า พอตรงนี้ไม่ครบ เราก็ไม่ไว้ใจ ผมว่ารัฐต้องสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น ว่าโปรแกรมนี้ข้อจำกัดคืออะไร ทำอะไร และประโยชน์ก็เพื่อประโยชน์เรา ไม่ใช่รัฐฝ่ายเดียว ถ้าสื่อสารได้ คนก็จะไว้ใจ แต่องค์ประกอบ 2 อันที่สำคัญคือ ต้องเก่ง และทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

เราคุยกันว่าโควิดเปลือยให้เราเห็นปัญหามากมาย คุณชัชชาติคิดว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐควรจัดการหลังโควิด เป็นอันดับแรก

ผมว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราเห็นชัดเจน และมันกินหลายมิติ ทั้งการศึกษา รายได้ ที่อยู่อาศัย และการเดินทาง ผมว่าอันนี้คือการเขย่าครั้งใหญ่ จริงๆ มันมีมานาน แต่มันเป็นเหมือนตะกอนที่อยู่กับพื้นเราจะไม่ค่อยเห็นมัน พอมันถูกเขย่ามันก็ฟุ้งขึ้นมา ผมว่าตอนนี้คือโอกาสที่จะพูดถึงปัญหาเหล่านี้ เพราะว่าในการใช้จ่ายของภาครัฐ มันมีโอกาสที่จะใช้เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ถ้าเราคิคควบคู่กันไป

ที่ผมจะฝากไว้คือว่าวิกฤตโควิดมันทำให้เราเห็นปัญหา จุดอ่อนของเราอย่างไม่มีความปรานีเลย แต่ต้องระวังว่าหลังจากโควิดไปแล้ว อย่าคิดว่าชีวิตจะชิลเหมือนเดิม ชีวิตมันจะยากขึ้น เพราะคู่แข่งเราที่รอดโควิดไปได้เขาจะเข้มแข็งขึ้น เพราะเขาเอาจุดอ่อนตรงนี้มาปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง บุคคล เพื่อนร่วมงาน บริษัทซึ่งที่รอดไปได้ก็จะเข้มแข็งขึ้น มีความลีน ตัดค่าใช้จ่าย มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศก็เหมือนกัน ก็จะมีคู่แข่งขึ้นอีกเยอะ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว เพราะพวกเขาก็จะเห็นปัญหาของเขา และหลายคนก็จะปรับปรุงจุดอ่อน

ผมว่าประเทศไทยเองถ้าเห็นจุดอ่อนต้องรีบแก้ เพราะความเหลื่อมล้ำมันคือสิ่งที่ฝังรากมานาน และถ้าเราไม่แก้ ผมว่าไปยาก เพราะถ้าความเหลื่อมล้ำสูงมันจะส่งผลถึงปัญหาหลายๆ อย่าง ปัญหาเชิงสังคม ปัญหาการเมืองก็จะมีตามมา คงต้องเอาเรื่องนี้ให้ชัด ซึ่งจะต้องเริ่มจากตรงไหน ผมว่าที่อยู่อาศัย การศึกษา สาธารณสุข ถ้าเขามีความมั่นคงตรงนี้แล้ว ชีวิตก็จะก้าวไปได้ และก็จะมั่นคงขึ้น

photo by. Asadawut Boonlitsak

cover by. Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0