โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ไข้หวัดใหญ่สเปน” ระบาด 100 ปีก่อน สมัยร.6 ผู้ป่วยเสียชีวิต 20-40 ล้านคน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 29 พ.ย. 2565 เวลา 10.04 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2565 เวลา 23.26 น.

หน้าฝนเป็นหวัด เป็นเรื่องปกติ เป็นหวัด 2-3 วัน ก็หาย หรือบางคนหนักหน่อย ก็ไอ, เจ็บคอ และมีไข้ ก็ต้องกินยา หรือไปหาหมอ แต่ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา พอถึงหน้าฝน สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคือ “ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่” เพราะเป็นหวัดไม่ใช่เรื่องนอนใจได้อีก เพราะบางที่เราอาจมาได้เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่เป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งอาจเสียชีวิตได้

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก ในแถบอบอุ่นไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดขึ้นในฤดูหนาว ในแถบซีกโลกเหนือพบได้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน และซีกโลกใต้พบในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ส่วนในเขตร้อนการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่ชัดเจน อาจพบไข้หวัดใหญ่ระบาดได้ตลอดปี

ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (A) บี (B) และซี (C) 2 ชนิดหลังมีความรุนแรงและระบาดได้น้อยกว่าชนิดเอ

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ มักก่อให้เกิดอาการรุนแรง อาจพบระบาดได้กว้างขวาง และสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่อยู่ได้เรื่อยๆ ไวรัสชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในคนและสัตว์ (ชนิดบีและซี พบได้เฉพาะในคนเท่านั้น) แบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของโปรตีนที่พบบนผิวของเชื้อไวรัสโปรตีนดังกล่าวมี อยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin เรียกย่อยว่า H) ซึ่งมีอยู่ 16 ชนิดย่อย และนิวรามินิเดส (neuraminidase เรียกย่อว่า N) ซึ่งมีอยู่ 9 ชนิดย่อย ในการกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จึงใช้ตัวอักษร H ควบกับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายอักษรแต่ละตัวตามชนิดของโปรตีน

การระบาดของไข้หวัดใหญ่ มีทั้งการระบาดในท้องถิ่นซึ่งมักเกิดทุก 1-3 ปี และการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemics) ซึ่งพบทุก 10-40 ปี เกิดจากการที่เชื้อมี antigenic shift และมีการผสมกัน ของไวรัสในคนและในสัตว์หลายชนิด เช่น สุกร สัตว์ปีก ม้า เป็นต้น เมื่อมีไวรัสชนิดย่อยใหม่เกิดขึ้นและสามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยในคนและแพร่ระบาดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ประชากรทั่วโลกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน โรคจะกระจายไปอย่างรวดเร็วในทุกกลุ่มอายุเกิดการระบาดไปทั่วโลกได้

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมามีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก 4 ครั้ง คือ

1.ระหว่าง พ.ศ. 2461- 62 Spanish flu จากไวรัส A(H1N1) เป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุด ประชากรทั่วโลกป่วยร้อยละ 50 และเสียชีวิตถึง 20 ล้านคน (บางข้อมูลว่ามีผู้ป่วย 500-1,000 ล้านคน และเสียชีวิต 20-40 ล้านคน)

2.ระหว่าง พ.ศ. 2500-01 Asian flu จากไวรัส A(H2N2) โดยเริ่มตรวจพบในประเทศจีน

3.ระหว่าง พ.ศ. 2511-12 Hong Kong flu จากไวรัส A(H3N2) เริ่มตรวจพบในฮ่องกง

4.ระหว่าง พ.ศ. 2520-21 Influenza A (H1N1) กลับมาระบาดใหญ่อีกครั้ง แยกได้จากผู้ป่วยในสหภาพโซเวียต จึงเรียก Russian flu แต่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญทางไวรัสวิทยา เขียนอธิบายการระบาดครั้งสำคัญของไข้หวัดใหญ่ในบทความชื่อ “หมอนักสืบ : เรื่องของหมอสองท่านต่างวัยช่วยกันสืบจับฆาตรกรที่อาละวาดคร่าชีวิตประชากรโลกประมาณ 40 ล้านคนเมื่อ 80 ปีก่อน” (เมื่อ 23 สิงหาคม 2552) ไว้ว่า

“การระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461/62 (ค.ศ. 1918/1919) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ของไทยเรา หรือปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 [จากช่วงค.ศ.แล้ว น่าจะเป็นปลายสงครามโลกครั้งที่ 1-กอง บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม] การระบาดครั้งนี้มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” หรือ Spanish flu อันที่จริงโรคไม่ได้เริ่มที่สเปน แต่ประเทศอื่นกำลังมีศึกสงครามจึงต้องปิดข่าวการระบาดของโรค สเปนไม่ได้เข้าสงครามก็เลยมีข่าวออกจากประเทศนั้น เขาก็เลยเหมาเอาว่าเป็น Spanish flu อีกครั้งต่อมาก็คือการระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2500 ที่เรียกกันว่า เอเชี่ยน ฟลู ครั้งถัดมาก็คือ ฮ่องกง ฟลู เมื่อปี พ.ศ. 2521 การระบาดย่อมๆของไข้หวัดนกที่ฮ่องกงเมื่อปี พ.ศ. 2540 และการระบาดในหลายประเทศของไข้หวัดนกในเอเชียระหว่างปีพ.ศ. 2546 ถึง 2548

ที่ผมสนใจมากก็คือการระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461/62 เหตุที่ผมสนใจในช่วงระยะการระบาดครั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ ประการแรกก็คือ การระบาดครั้งนั้น รุนแรงที่สุด ประชากรโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก ล้มตายจากการระบาดของโลก ประมาณ 40 ล้านคน ในบันทึกที่ออกจะโอเว่อร์หน่อยบอกว่าตายถึง 100 ล้านคน ส่วนมากเป็นคนหนุ่มคนสาวที่มีร่างกายแข็งแรงดีมาก่อน ป่วยปุบปับ เป็นเร็วและตายเร็ว เห็นหน้ากันอยู่หลัดๆ สองสามวันก็จากไปเสียแล้ว

ประการที่สองก็คือ ในการระบาดครั้งนั้น เรายังไม่รู้จักตัวเชื้อก่อโรคฟลู [ไข้หวัดใหญ่] ว่าเป็นเชื้ออะไร เรามารู้จักเชื้อก่อโรคว่าเป็นไวรัสเมื่อปี พ.ศ. 2476 คือ 14-15 ปีให้หลัง ความสนใจของผมในประการหลังนี้ก็คือ อยากจะทราบว่ามันคือเชื้ออะไรกันแน่ที่โหดเหี้ยม ภายในเวลา 18 เดือนที่ระบาด คร่าชีวิตมนุษย์ได้ถึง 40 ล้านคน มากกว่าการตายในสงครามหลายๆ ครั้งรวมกัน ตายมากกว่าการระบาดของใหญ่กาฬโรคในยุโรป ที่เรียกกันว่า Black death ซึ่งระบาดในยุโรปนานถึง 4 ปี พ.ศ. 1900-1904 (ค.ศ. 1357-1361) นั่นเสียอีก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

ข้อมูลจาก :

กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข http://www.boe.moph.go.th (สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562)

ไข้หวัดใหญ่ เว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน https://www.doctor.or.th/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเสริฐ ทองเจริญ. “หมอนักสืบ:เรื่องของหมอสองท่านต่างวัยช่วยกันสืบจับฆาตรกรที่อาละวาดคร่าชีวิตประชากรโลกประมาณ 40 ล้านคนเมื่อ 80 ปีก่อน” เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org (สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2562)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0