โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อ “PM 2.5” ท้าทายความสามารถของ “รัฐ” ใครจะอยู่ ใครจะไป! - จุดประเด็น

LINE TODAY

เผยแพร่ 15 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • AJ.

PM 2.5 กลับมาเปิดตัวต้อนรับศักราชใหม่ได้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรกว่าเดิม ด้วยการพา กทม. ไปติดอันดับเมืองอากาศแย่ของโลกเป็นที่เรียบร้อยราวกับจะรีบทำคะแนนคัดตัวเหรียญทองโอลิมปิก ทั้งในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา รวมถึงวันนี้ (16 ม.ค. 63) ที่ค่าฝุ่นพุ่งสูงที่สุด ซึ่งคนไทยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะคว้าหน้ากาก N95 เพื่อนยากมาปิดจมูก แล้วก้มหน้าก้มตาทำกิจกรรมในร่มตามคำแนะนำของรัฐแต่โดยดี

โดนฝุ่นทำร้ายซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ กันขนาดนี้ ลองมาย้อนดูกันหน่อยว่าที่ผ่านมา ระหว่าง “ฝุ่น” ​กับ “รัฐ” ใครปล่อยหมัดได้โหดกว่ากัน บนสังเวียนที่มีปอดของคนไทยเป็นเดิมพัน! (แค่ก ๆ)

ยกแรก : ฝุ่นนำไปก่อน

สถานการณ์ฝุ่นหนักหนาจนคนไทยพากันป่วย โดยรายงานสถิติจากสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 62 ถึง 9 ม.ค. 63 แล้ว จำนวนกว่า 38,803 ราย 

ความร้ายกาจของเจ้าฝุ่นคือเมื่อหายใจเข้าไปนาน ๆ จะยิ่งสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพ นำมาซึ่งภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ หอบหืด และบรรดาโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ ดังนั้นช่วงนี้ถ้ารู้สึกว่าหายใจลำบาก แสบจมูก ป่วยบ่อย หรือแสบตา ทำยังไงก็ไม่หายซักที ให้สันนิษฐานว่าเป็นเพราะฝุ่นได้เลย 

เรียกได้ว่าโหมทำลายล้างด้วยการโจมตีแบบคอมโบมาสองปีติด เลือดเย็นขนาดนี้ รัฐจะรับมืออย่างไรดี?

พักยก แล้วมาดูมาตรการขจัดฝุ่นจากทั่วโลก

เชื่อว่าผู้ประสบภัยจากฝุ่นทั้งหลายต่างก็ทำเต็มที่ในการป้องกันตัวเองจากฝุ่น ไม่ว่าจะใส่หน้ากากกันฝุ่นเป็นประจำ หมั่นล้างจมูก หรือถอยเครื่องกรองอากาศรุ่นใหม่ล่าสุดมาประดับบ้าน แต่หากพูดถึงการสกัดฝุ่นแบบองค์รวมที่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐ ต่างประเทศเขามีกลยุทธ์สกัด PM 2.5 อย่างไร เราสรุปตัวอย่างมาให้ ดังนี้

  • ลอนดอน : ลอนดอนมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 10,000 คนต่อปีเลยทีเดียว รัฐบาลอังกฤษใช้วิธีประกาศให้บางเขตเป็นเขตควบคุมมลพิษและจำกัดการปล่อยควัน นโยบายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่โหดพอ และแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อย
  • จีน : อีกประเทศที่เคยตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินด้านมลพิษทางอากาศ ต่อปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจกว่า 1.6 ล้านคน ซึ่งรัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งสร้างพลังงานทดแทน และจำกัดจำนวนประชากรในเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดฝุ่น
  • เซา เปาโล, ออสโล, ปักกิ่ง : เมืองใหญ่เหล่านี้เลือกวิธีแบนการใช้รถ เพื่อจำกัดการปล่อยคาร์บอนในศูนย์กลางของเมืองหลวง
  • เกาหลีใต้ : ภัย “ฝุ่นเหลือง” ที่กรุงโซลเพิ่งประสบเมื่อปีที่แล้วนับว่าสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีเลยก็ว่าได้ ซึ่งทางการเลือกแก้ปัญหาด้วยการส่งข้อความแจ้งเตือนปริมาณฝุ่นให้ประชาชนรับรู้รายวัน รณรงค์ให้ใช้รถสาธารณะ และจำกัดการใช้รถส่วนตัว เพื่อลดตัวการเกิดฝุ่นให้ได้มากที่สุด

กลับมาที่ยกสอง : รัฐไทยพร้อมเอาคืน

เคราะห์ดีของปอดคนไทย ที่รัฐบาลออกแผนปฏิบัติการ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” รับมือฝุ่นจิ๋วมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 62 นอกจากนี้ยังประกาศหนักแน่นว่ามีแผนรับมือฝุ่นที่กำลังรอคลอด ซึ่งเราสรุปมาสั้น ๆ ดังนี้

  • ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกให้การแก้ปัญหา PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ก็มีมาตรการเร่งด่วน เช่น ดักตรวจรถควันดำ และปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของ ขสมก. อยู่เป็นระยะ
  • นายกฯ ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 63 ว่ารัฐพยายามเร่งแก้ปัญหาฝุ่นละอองทุกวิถีทาง รวมถึงขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผา เพื่อลดฝุ่นควันด้วย
  • และเพราะตัวการเกิดฝุ่นใน กทม. มีที่มาจากยานพาหนะเป็นส่วนใหญ่ นายวรารุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้ออกมาเกริ่นถึง “ยาแรง” แก้ฝุ่น ที่แม้จะยังไม่เปิดเผยข้อมูล แต่หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการประกาศห้ามรถวิ่งในเขตเมืองแบบที่ประเทศเกาหลีใต้เคยทำ เพียงยังไม่ประกาศใช้จริง และจะดำเนินการในห้วงเวลาคับขันเท่านั้น

มาตรการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ก็มีการสั่งควบคุมการเผาในแต่ละจังหวัด รวมถึงการแจ้งค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์ แต่โชคร้ายที่สภาพอากาศช่วงนี้มีความกดอากาศต่ำ ทำให้การเคลื่อนตัวของอากาศน้อยลง น้องฝุ่นจึงยังคงวนเวียนอยู่แถวน่านฟ้าประเทศไทย และอาจไม่รามือในเร็ววัน

ไม่รู้ว่าใครจะโดนน็อกก่อนกัน แต่ประชาชนอย่างฉันคงต้องดูแลตัวเอง

แม้หลายมาตรการของรัฐฟังดูเข้าท่า แต่ประชาชนส่วนมากยังคงไม่เชื่อมั่นในวิธีแก้ปัญหาของทางการ แถมดูแนวโน้มว่าศึกระหว่างฝุ่น PM 2.5 VS รัฐบาล จะไม่จบลงง่าย ๆ งานนี้คนเดินถนนอย่างพวกเราคงต้องดูแลตัวเองไปก่อน ขออย่าเพิ่งหยุดตื่นตัวในเรื่องสุขภาพ และช่วยกันผลักดันสังคม รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ด้านมลพิษทางอากาศไปเรื่อย ๆ เพราะเราเชื่อว่า #อากาศดี จะกลับมาเยือนปอดคนไทยอีกครั้งแน่นอน อดทนไว้นะ!

--

อ้างอิง 

1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0