โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เมื่อ”หัวเว่ย”ถูกสกัดดาวรุ่ง

Money2Know

เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2561 เวลา 00.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
เมื่อ”หัวเว่ย”ถูกสกัดดาวรุ่ง

การจับกุมหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารการเงินของบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์ ซึ่งเป็นทายาทเจ้าของบริษัท ถือเป็นการซัลโวครั้งล่าสุด ในการดำเนินความพยายามมาร่วมสิบปีของเจ้าหน้าที่สหรัฐ ที่จะสกัดบริษัทที่พวกเขามองว่าคุกคามความมั่นคงของประเทศ และคุกคามความเป็นหนึ่งของอเมริกาด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

เจ้าหน้าที่สหรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบัน เผยว่านักการเมืองสายเหยี่ยวในสภาสหรัฐและแวดวงข่าวกรอง เริ่มพยายามสกัดการพุ่งขึ้นมาของหัวเว่ยตั้งแต่ปี 2550 ในช่วงที่บริษัทสัญชาติจีนรายนี้ผงาดขึ้นเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อุปกรณ์เครือข่ายเคลื่อนที่และอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก

ความพยายามนี้เพิ่มพูนขึ้นมากสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากมีการตีความว่าท่าทีไม่ค่อยเป็นมิตรกับแดนมังกรของเขา ถือเป็นการให้ไฟเขียว

เจ้าหน้าที่อเมริกันจำนวนมากหวั่นเกรงกันว่ารัฐบาลจีนอาจสั่งให้หัวเว่ยไปสอดแนมหรือป่วนระบบสื่อสาร ทั้งที่หัวเว่ยปฏิเสธว่าไม่เคยมีเรื่องแบบนี้

กระนั้น ข้อวิตกนี้มีมากขึ้นเมื่อบรรดาผู้ให้บริการไร้สายกำลังจะอัพเกรดเทคโนโลยีไปสู่ 5G ซึ่งจะเปิดโอกาสให้วัตถุจำนวนมาก อย่างชิ้นส่วนในโรงงานและรถยนต์ขับเคลื่อนตัวเอง สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่อเมริกันยังวิตกว่าเทคโนโลยี 5G อาจทำให้เครือข่ายโทรคมนาคมเปราะบางต่อวินาศกรรม

ด้านหัวเว่ยอธิบายว่า เป็นบริษัทเอกชนที่ไม่เคยลงมือสอดแนมหรือก่อวินาศกรรมในนามของประเทศเลย เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำลายธุรกิจป่นปี้

ท่าทีในที่สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐ ออกไปในเชิงว่าจีนอาจใช้หัวเว่ยเป็น “พี่เบิ้ม” หรือทำหน้าที่สอดแนมในประเทศต่างๆ แต่สหรัฐก็ไม่เคยแสดงหลักฐานว่าหัวเว่ยมีส่วนร่วมในการสอดแนมหรือการโจมตีทางไซเบอร์ใดๆ

พนักงานหัวเว่ยเคยพูดเป็นการส่วนตัวว่ารัฐบาลสหรัฐขอความช่วยเหลืออย่างลับๆ ให้บริษัทต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการไร้สายอย่าง เอทีแอนด์ที รวบรวมข้อมูลคนอเมริกัน

ซึ่งในจุดนี้เจ้าหน้าที่อเมริกันตั้งคำถามว่า ในกรณีที่ถูกสอดแนม ผู้คนอยากให้ใครมาสอดแนมตนเอง ระหว่างบริษัทอุปกรณ์โทรคมนาคมตะวันตก กับบริษัทจีน

ทั้งนี้ สมาชิกสภาและเจ้าหน้าที่อเมริกัน จับตาดูด้วยความตกใจมานานแล้วที่หัวเว่ยเบียดคู่แข่งและเข้าไปทำธุรกิจในประเทศตะวันตก เมื่อปี 2555 คณะกรรมาธิการข่าวกรองประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ระบุว่าบริษัทและรัฐบาลอเมริกัน ควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับหัวเว่ยและ ZTE เพราะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐย้ำว่าแม้การจับกุมผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยมีขึ้นในช่วงที่สหรัฐกับจีนกำลังพิพาทกันด้านการค้า แต่ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องแยกต่างหาก และเป็นประเด็นด้านความมั่นคงของชาติ

เจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า หากประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวประเทศพันธมิตรให้หันหลังให้หัวเว่ย โลกจะมีเครือข่ายโทรคมนาคม 2 ประเภทๆ แรกอยู่ในซีกโลกตะวันตกและไม่มีอุปกรณ์จีน อีกค่ายอยู่ในจีน ประเทศในเอเชีย และแอฟริกา ซึ่งหัวเว่ยและ ZTE บริษัทจีนอีกราย ครองตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมอยู่แล้ว

สภาพการณ์ดังกล่าวคล้ายๆ กับระบบอินเทอร์เน็ตในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งระบบหนึ่งส่วนใหญ่ใช้กูเกิล เฟซบุ๊ก และแพลทฟอร์มอื่นๆ ในซิลิคอนวัลเลย์ ส่วนคนจีนซึ่งไม่สามารถใช้บริการเว็บต่างชาติ ก็ใช้บริการในประเทศ อย่าง WeChat ของบริษัทเทนเซนต์ และเว็บสืบค้น Baidu

แหล่งข่าวเผยว่า ช่วงปีที่ผ่านมา นักการเมืองสายเหยี่ยวในสภาสหรัฐได้จับมือกับเจ้าหน้าที่ด้านการข่าวสายเหยี่ยว และขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ อย่างกระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการสื่อสาร โดยหน่วยงานเหล่านี้ออกมาตรการหลายอย่างในปีนี้เพื่อจำกัดแขนขาหัวเว่ยบนแผ่นดินอเมริกา และขอให้พันธมิตรของสหรัฐ ดำเนินการแบบเดียวกัน

การเคลื่อนไหวนี้พัวพันไปถึงเมื่อครั้งที่ทรัมป์สกัดการเสนอซื้อผู้ผลิตชิป Qualcomm ของบริษัท Broadcom เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำให้สถานภาพของ Qualcomm อ่อนลงไป โดย Qualcomm แข่งขันกับหัวเว่ยด้านสิทธิบัตร 5G หลายอย่าง

ทั้งนี้ หัวเว่ยเป็นผู้นำในตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด 28% นับถึงไตรมาส 3 ปี 2561 ตามด้วยโนเกียแห่งฟินแลนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาด 17% ส่วนอีริคสันแห่งสวีเดนมีส่วนแบ่งตลาด 13.4%

นอกจากนั้น หัวเว่ยยังเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 2 ของโลก รองจากซัมซุง และนำหน้าแอปเปิล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0