โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อไวรัสระบาดจนวิถีการทำงานเปลี่ยน : วงการหนังจะเป็นยังไงหลังภัยจาก COVID-19 จบลง?

The MATTER

เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 03.37 น. • Thinkers

สถานการณ์โรคไวรัส COVID-19 ระบาดทั่วโลกถือว่าน่าเป็นห่วง ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาทุกอย่างพลิกผันไปหมด ตั้งแต่ข่าวการปิดเมืองอู่ฮั่นในจีน, Super Spreader ที่สร้างวิกฤติการณ์การระบาดครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้ จนถึงการ Lockdown ประเทศอิตาลีที่ยังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวันในระดับน่าเป็นห่วง

ตัดมาที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ที่เพิ่งจะมีคำสั่งปิดศูนย์การค้าและปรับวิถีการ 'นั่งกินในร้าน' ให้เป็นการสั่งมากินที่บ้านหรือซื้อกลับอย่างเดียว ปิดสถานบันเทิงรวมไปถึงโรงภาพยนตร์และผับบาร์ ยอดสตรีมมิ่งพุ่งสูงพรวดพราด สวนทางยอดรายรับโรงหนังที่ดิ่งฮวบจนกระทั่งมีคำสั่งปิด

วิถีชีวิตแบบ 'สัตว์สังคม' ของมนุษย์โลกเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน แต่คำถามก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นแค่ชั่วคราวหรือถาวร แล้วมันจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนเราหลังการวิกฤติการณ์ครั้งนี้สงบลงอย่างไร? ในบทความชิ้นนี้เราจะชวนผู้อ่านมาสำรวจเฉพาะในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย-เทศ ที่น่าจะเปลี่ยนโฉมไป..ไม่มีวันเหมือนเดิมอีก

สหพันธ์แรงงานผลักดันมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ

120,000 คนคือตัวเลขแรงงานในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูดที่ตกงานทันทีหลัง WHO ประกาศยกระดับโคโรน่าไวรัสหรือ Covid-19 เป็นการระบาดทั่วโลก ( pandemic) 40,000 คนคือตัวเลขแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงอังกฤษที่ตกงานทันทีเช่นกัน ประเมินกันว่าอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก มีแรงงานได้รับผลกระทบกว่า 83% ซึ่งรวมตั้งแต่แรงงานในอุตสาหกรรมหนัง, โทรทัศน์, ละครเวที, คอนเสิร์ต-อีเวนต์ ตลอดจนอาร์ตแกลเลอรี่และสตูดิโอต่างๆ

เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการออกกองถ่ายหนังระหว่างเกิดโรคระบาดเช่นนี้ เพราะกองถ่ายทำอย่างน้อยก็มีทีมงานรวมนักแสดงถึงร้อยชีวิต เขาและเธอเหล่านี้ต้องทำงานคลุกคลีกันมาก ไม่สามารถทำงานในแบบ social distancing อย่างอาชีพอื่นๆ ได้เลย แม้แต่ฉากเล็กๆ ที่พระเอกนางเอกยืนคุยกันสองคน คุณก็ต้องการตากล้อง ทีมไฟ และอีกหลายตำแหน่งวิ่งวนในเซ็ตภายในระยะห่างกันไม่เกิน 1 เมตรทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่นที่อังกฤษ ตัวเลขรายได้ที่แรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์สูญเสียไปนับแต่ประกาศยกระดับโรคระบาดนั้นมีตั้งแต่ 2 พันปอนด์ (ราว 76,000 บาท) ถึง 4 หมื่นปอนด์ (1.5 ล้านบาท) หรือที่ออสเตรเลีย อุตสาหกรรมหนังของที่นี่อิงกับฮอลลีวูดค่อนข้างมาก บุคลากรกว่า 20,000 คนที่นี่ทำงานในโปรดักชั่นระดับยักษ์ตั้งแต่หนังอย่าง 'Shang Chi' หนังซูปเปอร์ฮีโร่เรื่องใหม่ของมาร์เวลและ 'Mcbeth' หนังอีพิคดัดแปลงจากบทประพันธ์เชกสเปียร์โดยผู้กำกับ บาซ เลอห์มานน์ เรื่องหลังนี่แหละที่ ทอม แฮงค์ ไปร่วมแสดงจนติดเชื้อ ต้องหยุดการถ่ายทำทันทีแบบไม่มีกำหนด

ในฮอลลีวูดหนังใหญ่ๆ ที่มีข่าวยืนยันอาทิ The Batman,  Avatar 2-3, Little Mermaid ฉบับคนแสดง, Mission: Impossible 7, Jurassic Park 4 ฯลฯ เหล่านี้คือหนังที่หยุดถ่ายทันทีหรือเลื่อนกำหนดการถ่ายทำออกไปทั้งที่เตรียมงานมาหลายเดือน หากสตูดิโอยังจ่ายค่าแรงให้แก่แรงงานที่มีสัญญาวันต่อวันหรือสัญญาจ้างระยะสั้นตามตกลงไปก่อนในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์นี้ หรือรายที่นับค่าแรงเป็นชั่วโมง ก็จะจ่ายค่าแรง 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ขณะที่บรรดาแรงงานที่มีสัญญาจ้างระยะยาวเช่น ผู้กำกับ, นักแสดง, คนเขียนบท จะได้ค่าจ้างส่วนหนึ่งตามระบุไว้ในสัญญา

ทว่าหลายคนที่ไม่ได้มีสัญญาจ้างชัดเจน ก็จะยังไม่ได้รับค่าจ้าง อาทิ นักเขียนบทที่ส่งบทไปแล้วแต่ทำการ “เบิกค่าจ้าง” ไม่ได้เพราะบริษัทนั้นๆ จำเป็นต้องระงับกิจการชั่วคราวตามคำสั่งรัฐบาล เหล่านี้คือ 'แรงงานนอกระบบ'

ปัญหาใหญ่ก็คือยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าการระบาดครั้งนี้

จะพ้นจุดวิกฤติเมื่อใด และจะใช้เวลานานแค่ไหน

ถึงจะกลับสู่สภาวะ 'ปกติ' ที่ดำเนินงานตามสัญญาจ้างเดิมได้

ซึ่งเป็นเรื่องที่  IATSE หรือ International Alliance of Theatrical Stage Employees สหพันธ์แรงงานลูกจ้างในอุตสาหกรรมบันเทิงของอเมริกากำลังยื่นข้อเรียกร้องต่อสภา ว่าแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงต้องเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนแรงงานภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งสิทธิในการได้รับเครื่องอุปโภค-บริโภคยังชีพจากรัฐตลอดช่วงประกาศภัยโรคระบาดนี้

สำหรับไทยนั้นมีมาตรการออกมาเยียวยาแรงงานแล้ว โดยแบ่งเป็นมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบที่ประกันสังคมจะช่วยจ่ายให้ ส่วนเงื่อนไขที่นับ 'แรงงานในระบบ' ได้ดังนี้คือ 1. มีนายจ้าง 2. มีการจ่ายเงินประจำให้ (เงินเดือน) 3. มีการส่งประกันสังคมให้ แรงงานภาพยนตร์นั้นส่วนใหญ่เข้าเงื่อนไขเพียงข้อแรก ดังนั้นจึงนับเป็น 'แรงงานนอกระบบ' ตามนิยามของ รศ.ดร. จักษ์ พันธุ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาทางช่อง 3

ส่วนมาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบนั้นเปิดให้แรงงานนอกระบบต้องเข้าไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งมีเงื่อนไข 3 ข้อในการเข้าพิจารณารับเงินเยียวยาจำนวน 5 พันบาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน (ล่าสุดมีการลงทะเบียนไป 17 ล้านคนในรอบ 2 วัน **ซึ่งอาจจะไม่ได้ทุกคนที่ลงทะเบียน**) เงื่อนไข 3 ข้อที่ว่าคือ 1. เป็นแรงงานชั่วคราว ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ 2.ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 3.ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด เช่น ถูกสั่งพักงาน/เลิกจ้าง, ธุรกิจปิดชั่วคราว, ลดเวลาทำงาน, รายได้ลดลง ฯลฯ ทั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าผู้ที่ตกจากเงื่อนไขหรือถูกคัดออกจากเกณฑ์ข้างต้น จะได้รับการเยียวยาในรูปแบบใด

ณ เวลานี้มีเพียงสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ออกประกาศ “ขอความร่วมมือให้ทุกกองที่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์, ละคร, ซีรีส์, โฆษณา ในขณะนี้ หยุดพักการถ่ายทำ เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 - 31 มีนาคม 2563” ลงประกาศในเฟซบุ๊กทางการของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาเช่นกัน และเป็นไปได้ว่าจะยืดระยะเวลาการหยุดการถ่ายทำออกไปอีกตามประกาศ พรก. ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ตามมาด้วยการขอความร่วมมือจากภาคประชาชน หนึ่งในนั้นคือ “ให้ประชาชนยึดหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์” ด้วยข้อนี้ทำให้การดำเนินงานในส่วนการถ่ายทำเป็นอันยุติไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ดีในไทยยังไม่มีสหพันธ์แรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะแรงงานที่ได้รับสัญญาจ้างรายวันหรือรายชั่วโมง ที่ต้องพึ่งพิงกับจำนวนวัน 'ออกกอง' ที่ได้ทำในแต่ละเดือนเป็นรายได้หลัก

คาดการณ์: หลังเหตุการณ์ระบาดนี้ผ่านพ้น สหพันธ์แรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลกอาจตื่นตัวถึงระบบสัญญาจ้างแรงงานรายวัน รวมทั้งเรียกร้องการรับรองสถานะแรงงานจากภาครัฐมากขึ้น ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานในระบบมากขึ้น หรืออาจต้องมีเงื่อนไขสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์ พร้อมกับทำประกันสังคม/ประกันชีวิตให้แก่แรงงานภาพยนตร์ที่ต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงชีวิตและสุขภาพในกองถ่ายทุกวัน

คนทำหนังเองก็ต้องเปลี่ยน

ไม่ใช่แค่บุคลากรระดับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ บุคลากรระดับครีเอทีพอย่างผู้กำกับหรือคนเขียนบทเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เมื่อเดิมระบบการทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แบ่งเป็น 3 ขั้นคือ Pre-Production (การเตรียมงาน) Production (ถ่ายทำ) Post-Production (กระบวนการหลังถ่ายทำที่รวมตัดต่อ,ทำเสียง,ซีจี ฯลฯ) ขั้นตอนแรกสุดอย่าง Pre-Production เดิมนั้นเน้นหนักไปที่การประชุม ตั้งแต่ประชุมบท, ประชุมทีมงาน ตลอดจนเวิร์กช็อปนักแสดง ซึ่งต้องทำงานในที่ปิด เป็นระยะเวลานานติดต่อกันหลายวันในรอบสัปดาห์

จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่เคยทำงานบทหนังและซีรีส์ ในโปรดักชั่นภายในและโปรดักชั่นร่วมสร้างระหว่างประเทศ โดยหลักจะเป็นการประชุมที่เรียกว่า Writer’s Room คือมีการระดมนักเขียนบทเข้ามานั่งประชุมร่วมกับโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ จำนวนนักเขียนอยู่ระหว่าง 2-4 คนหรืออาจจะมากกว่านั้นในกรณีที่เป็นซีรีส์ขนาดยาวกว่า 10 ตอนขึ้นไป การประชุมลักษณะดังกล่าวมักใช้วิธีนั่งประชุมสุมหัวรวมกัน โยนไอเดียกันทั้งวัน(และคืน) ในบางที่นั้นแทบจะกล่าวได้ว่าต้องกินนอนอยู่ในห้องประชุม โดยนัยวิธีการทำงานลักษณะเช่นนี้เกิดจากความเชื่อว่า “ถ้ามาอยู่ด้วยกัน ติดขัดอะไรจะได้ช่วยกันคิดและช่วยกันแก้ไขทันท่วงที” ในอีกมุมของผู้จ้างจะมองว่าการจ้างงานลักษณะเช่นนี้สามารถ 'ประเมินการทำงานได้' จากเวลาในการเข้างาน มากกว่าจะจากตัวงานที่ส่งให้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือเห็นคนมาทำงาน ดีกว่าเห็นงานส่งมา

ช่วงวิกฤติ COVID-19 ระบาดนี้ การทำงานลักษณะดังกล่าว

จำต้องเปลี่ยนเป็นการทำงานในรูปแบบออนไลน์

มีการส่งงานตามติดและคอมเมนต์งานทางออนไลน์ มีการประชุมที่สั้นลง 1-2 ชั่วโมงเพื่อสรุปประเด็นแล้วแยกย้ายไปทำงาน ผลดีก็คือทำให้ผู้ร่วมงานมีสุขภาพจิตและกายดีขึ้น ไม่ต้องแบกรับความเครียดและลดอาการเหนื่อยล้าจากการประชุมติดต่อกันยาวนาน (การประชุมก็เป็นการทำงานอย่างหนึ่งในกระบวนการทำหนังนะครับ) โปรแกรมประชุมงานออนไลน์อาทิ Moxtra และ Zoom นั้นช่วยในการทำงานภายใต้สถานการณ์ปิดที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านมาก

ในฮอลลีวูด สถานการณ์นี้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานในส่วนของ Post-Production เช่นกัน มาริโอ โรกิคกิ (Mario Rokicki) color supervisor แห่งบริษัท DNEG ที่รับผิดชอบงานด้านโพสต์ให้แก่สตูดิโอหนังฮอลลีวูดและซีรีส์ทาง Netflix มานานหลายสิบปี ได้ออกแถลงการณ์พร้อมลายเซ็นบรรดาทีมงานฝ่ายโพสต์จากบริษัทต่างๆ ที่เห็นชอบให้มีการทำงานจากบ้าน (Work from Home) จากเดิมพนักงานฝ่ายโพสต์ตั้งแต่ทีมเสียง, ทีมเกรดสี ไปจนถึงทีมซีจี (สเปเชียล เอฟเฟกต์) จะต้องเข้าออฟฟิศเก็บตัวทำงานในห้องปิดร่วมกันหลายคน และติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน

นอกจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปแล้ว ในเชิงเนื้อหา (content) ก็มีการคาดการณ์ว่าคนทำหนังเองจะหันมาทำหนังว่าด้วยวิกฤติการณ์ครั้งนี้มากขึ้น ผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่างเควิน แม็คโดนัลด์ (Kevin Macdonald) ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่าปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือคนดูหวนกลับไปค้นหาหนังที่พูดถึงเหตุโรคระบาดหรือสถานการณ์วันสิ้นโลกมากขึ้น รวมถึงหนังของแม็คโดนัลด์เองอย่าง How I Live Now (2013) ที่แม้ไม่เกี่ยวกับโรคระบาดโดยตรง แต่ก็มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์วันสิ้นโลก (ที่ผู้คนรู้สึกอยู่ในช่วงเวลานี้)

“บางทีคนดูอาจจะอยากเห็นสิ่งที่ตนกลัวในหนัง อย่างน้อยพอได้เผชิญหน้ากับมัน พวกเขาก็จะหวาดกลัวมันน้อยลง” ท้ายสุดแม็คโดนัลด์ยกตัวอย่างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปีแรกๆ นั้น (ปลายทศวรรษ 1940) คนทำหนังพากันทำหนังรักหรือตลก เพราะคิดว่าคนดูไม่อยากเห็นภาพหรือรับรู้เรื่องราวในสงครามอีก แต่การณ์กลับกลายเป็นกลุ่มหนังที่ได้รับความนิยมในทศวรรษ 1940-50 กลับเป็นกลุ่มหนังสงครามซะเอง เพราะหนังเหล่านั้นเสนอภาพที่คนดู 'กลัว' แล้วปลุกเร้าให้พวกเขาเอาชนะมันด้วยตัวเอง

คาดการณ์: คนทำหนังอาจได้ลองเปลี่ยนวิธีการทำงาน หันมาทำงานออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ประหยัดเวลาและลดการใช้พื้นที่ร่วมกันลง แต่ยังเอื้ออำนวยต่อการทำงานในสเกลร่วมทุนระหว่างประเทศได้ด้วย สำคัญสุดคือเนื้อหา (content) ต้องหลากหลายขึ้น เลิกความซ้ำซากจำเจพาฝันรักตลก เพราะสุดท้ายมันไม่ช่วยเยียวยาทั้งคนดูและคนทำหนังเอง คนดูกล้าพอที่จะเผชิญมัน คำถามคือคนทำกล้าพอที่จะทำออกมาให้ดูรึเปล่า?

พฤติกรรมคนดูเปลี่ยน

ผลจากการความไม่มั่นใจในสถาการณ์โรคระบาด คนไปดูหนังในโรงน้อยลง แม้ทางโรงจะมีมาตรการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการเช่น มีกระบวนการฆ่าเชื้อในโรงทุกรอบหลังการฉาย หรือ การเว้นระยะห่างจากเก้าอี้ผู้ชม จำนวนผู้ชมก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ดี ถึงขั้นลดรายได้จากสัปดาห์เดียวกันเมื่อปีก่อนถึง 60% ต่ำสุดในรอบยี่สิบปี จนกระทั่งมีคำสั่งปิดสถานบริการและโรงหนังไปตามดังกล่าว สวนทางกับตัวเลขผู้ชมออนไลน์ที่โตขึ้นถึง 13% ภายในสัปดาห์เดียว (ขณะที่ทีวีมีผู้ชมเพิ่มขึ้น 6%) ส่วนตัวเลขในเกาหลีและอิตาลี มีผู้ชมทีวีอยู่บ้านเพิ่มขึ้น 17% และ 12% ตามลำดับ

ในต่างประเทศ เดิมรูปแบบการฉายในโรงและสตรีมมิ่งจะมีกฎระยะห่างกัน 3 เดือน คือฉายโรงก่อนแล้วเมื่อหมดระยะการฉายโรงแล้วอีก 3 เดือนถึงจะหาชมหนังเรื่องเดียวกันได้ทางสตรีมมิ่ง แต่เมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ หลายสตูดิโอตัดสินใจ 'ย่นระยะ' ดังกล่าวให้กระชับขึ้น เริ่มจาก Disney ที่ปล่อยหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Star Wars: The Rise of the Skywalker ขายทางช่องทางออนไลน์ทั้ง Amazon และ Apple TV ส่วน Frozen 2 ก็ฉายทางสตรีมมิ่งของค่ายเองอย่าง Disney+ ทั้งสองรายการจำหน่ายและเช่าชมทางออนไลน์วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

แต่ที่ถือว่าเซอร์ไพรส์และน่าจะเป็นการเปิดตลาดรูปแบบ 'ฉายโรงและออนไลน์พร้อมกัน'

ก็คือค่าย Universal ตัดสินใจจำหน่ายและเช่าชมหนังชนโรงอย่าง The Invisible Man, Emma และ The Hunt ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตัวหนังเองยังยืนโรงฉายอยู่ก่อนจะมีคำสั่งปิดโรงจากภาครัฐ เช่นเดียวกับค่าย Warner Bros ที่จะปล่อยหนังอย่าง Birds of Prey และ The Gentlemen ลงสตรีมมิ่งภายใน 24 มีนานี้ ทาง Sony Pictures เองก็จะปล่อย Bloodshot หนังซุปเปอร์ฮีโร่ของวิน ดีเซล ที่เพิ่งฉายเมื่ออาทิตย์ก่อนขายทางสตรีมมิ่งเช่นกัน ถือเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ส่งตรงหนังถึงบ้านผู้ชมในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องอยู่บ้านกักตัวเอง

ความน่ากลัวอยู่ตรงที่ยิ่งการระบาดนี้กินเวลานานเท่าไหร่ คนดูก็มีสิทธิเสี่ยงที่จะเสพติดพฤติกรรมการชมสื่อบันเทิงที่บ้าน และลดละกิจกรรมทางสังคมลงมากขึ้น ผลกระทบนี้จะไม่ได้แค่กระทบโรงหนังหรืออุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหมด ยกตัวอย่างดิสนีย์ที่ผลกำไรกว่า 45% ของบริษัทในปี ค.ศ.2019 มาจากธุรกิจสวนสนุกที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลอดปีนี้ คนดูจะเลือกเสพสื่อบันเทิงในบ้านมากกว่าจะออกไปทำกิจกรรมชุมชนอย่างเคย และด้วยระยะเวลานานขนาดนั้น มีโอกาสที่สตูดิโอหนังเองจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่

เพื่อพาหนังเข้าหาคนดูเร็วขึ้นและวงกว้างขึ้น นั่นคือการทะลายกรอบ 3 เดือนระหว่างการฉายโรงและการฉายทางสตรีมมิ่ง หนังที่ถูกเลือกเข้าโรงอาจจำกัดวงแคบลง เป็นหนังที่มีความเป็น Event สูง มีศักยภาพพอที่จะดึงคนดูหมู่มากได้ ในขณะที่หนังขนาดกลางและเล็ก อาจถูกส่งตรงสู่ระบบสตรีมมิ่งโดยตรงในรูปของการฉายจำกัดโรงหรือโรงจำนวนร้อยควบคู่กับการขายและเช่าชมทางสตรีมมิ่ง

ขณะที่สตรีมมิ่งอย่าง Netflix ออกแอพพลิเคชั่นพิเศษขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศการดูหนัง “ร่วมกับเพื่อนๆ โดยไม่ต้องออกจากบ้าน” ผ่าน Netflix Party ที่ให้สมาชิกสามารถสร้างห้องดูหนังร่วมกับเพื่อนๆ พร้อมมีห้องแชทให้พิมพ์หากันระหว่างชมหนังเรื่องเดียวกันได้ด้วย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นนี้ถึง 5 แสนรายแล้ว กอปรกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ผูกติดกับโซเชียลมีเดียมากกว่าคนรุ่นก่อน พวกเขาอาจจะยังชอบไปปาร์ตี้กินดื่มกับเพื่อนๆ แต่ทุกคนต่างยังใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อสื่อสารรวมกลุ่มกันเพื่อนัดหมายก่อนอยู่ดี แสดงว่าการดูหนังหลังวิกฤติโรคระบาดก็อาจย่อส่วนลงมาอยู่ที่บ้านแทน?

สำหรับในไทยสตูดิโอนั้นเริ่มแผนรุกด้านสตรีมมิ่งชัดเจนตั้งแต่ปลายปีก่อนแล้ว เริ่มจาก GDH และ พระนครฟิลม์ ในรายแรกคือปล่อยหนังและซีรีส์ฉายทาง Netflix รวมทั้งปีนี้จะมี Original Series เรื่องแรกอย่าง “ฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรีส์” ขณะที่พระนครฟิลม์ใช้ชาแนลทาง Youtube ปล่อยหนังที่ถือสิทธิในมือทั้งหนังค่ายตัวเองและหนังค่ายอาร์เอสเดิมฉายฟรีให้ดู (แลกกับการได้ค่าตอบแทนยอดวิวจาก Youtube) น่าสนใจว่าหลังวิกฤติการณ์โรคระบาดนี้สงบลง แต่ละสตูดิโอจะมีแผนรับมือกับพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นี้อย่างไร?

ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ระยะเวลาการระบาดจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน? หนัง Event ใหญ่ๆ อย่าง Mulan, Black Widow และ No Time to Die ที่เลื่อนฉายออกไปนั้น เมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับมายืนโรงแล้ว จะยังมีศักยภาพดึงคนดูเข้าสู่โรงได้มากเท่าเดิมที่คาดการณ์ไว้หรือเปล่า ในมุมสตูดิโอนั้นการดึงคนดูเข้าโรงยังไงก็คุ้มกว่า พวกเขาสามารถเก็บค่าตั๋วรายหัว (เรตเมืองไทยคือ 200 บาท/คน) แต่กับสตรีมมิ่ง สมาชิกจ่ายเพียงรายเดียวอาจดูได้ทั้งบ้าน เท่ากับว่าถ้าครอบครัวหนึ่งมี 4 คน รายได้จะหายไปถึง 3 คนเมื่อผู้ชมเลือกดูสตรีมมิ่งแทนที่จะพากันยกครอบครัวเข้าโรง

และที่สำคัญผู้คนเสพติดความสะดวกสบายมากกว่าเสมอ

ยิ่งนานเท่าไหร่ก็ยิ่งอันตรายกับโรงภาพยนตร์

คาดการณ์: ระยะห่าง 3 เดือนจะเลือนรางเต็มที คนดูมีสิทธิเลือกมากขึ้น สตูดิโอจำต้องตัดใจปล่อยหนังฉายในรูปแบบชนโรง+สตรีมมิ่งพร้อมกันมากขึ้น ขณะเดียวกันการสร้างสตรีมมิ่งของตัวเอง (เช่น Disney ที่มี Disney+) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคุ้มทุนถ้าไม่มีคอนเท้นท์ใหม่ๆ เรียกแขก การจับมือกับสตรีมมิ่งเจ้าอื่นยังเป็นฐานสำคัญในอนาคตอยู่ เพราะมีความหลากหลายให้เลือกด้วยคลังคอนเท้นท์จำนวนมหาศาล ตอบโจทย์คนดูทุกเพศวัยมากกว่า

อ้างอิงข้อมูลจาก

variety.com

variety.com

time.com

www.cnbc.com

www.theguardian.com

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0