โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โรคระบาดในประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้มีแต่ 'โรคห่า' ว่าด้วยชาวสยามกับการเผชิญโรคระบาด

The MATTER

อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 05.21 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 17.22 น. • Thinkers

ชาวไทยเผชิญภัยโรคระบาดมาตั้งแต่อดีตกาล ล่าสุด โรคที่จู่โจมพวกเราจนสถานการณ์บ้านเมืองเข้าขั้นวิกฤตย่อมได้แก่ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้วิถีประจำวันของทุกคนแปรเปลี่ยน จากเคยใช้ชีวิตปกติ ก็ต้องกักตัวจับเจ่าอยู่กับบ้าน และต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing)

ว่ากันเรื่องโรคระบาดในประวัติศาสตร์ไทย ดูเหมือนคนส่วนใหญ่มักไพล่นึกถึง ‘โรคห่า’ หรือ ‘อหิวาตกโรค’  โดยเฉพาะอหิวาตกโรคที่ระบาดหนักหน่วงในสมัยรัชกาลที่ 2  เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2363  ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากโข จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอาพาธพินาศ  ตอนนั้น ทางการประกาศให้ชาวสยามอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหน ทำให้เชื้อโรคค่อยๆ ลดการระบาดลง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 อหิวาต์ระบาดอีก บุคคลสำคัญของบ้านเมืองผู้สิ้นลมหายใจด้วยโรคนี้คือเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ครั้นสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 อหิวาต์ก็มิวายระบาดหนัก แต่พอวิทยาการแพทย์แบบสมัยใหม่หลั่งไหลมาสู่ประเทศ พลันเริ่มมีการจัดการสุขอนามัยเพื่อป้องกันและมียาปราบอหิวาตกโรค มิหนำซ้ำ ชาวสยามเองก็ยังตระหนักว่าควรดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคด้วย  ซึ่งเห็นได้จากโฆษณายาปราบเชื้ออหิวาต์บนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆช่วงทศวรรษ 2460 เรื่อยมา

ภาพจากหนังสือพิมพ์ หลักเมือง รายสัปดาห์ ประจำวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พระพุทธศักราช 2468

‘โรคห่า’ ใช่จะแปลว่าอหิวาตกโรคตรงๆ เพราะ  ‘ห่า’ แปลว่า มาก เฉกเช่น ‘ห่าฝน’ คือฝนที่ตกลงมามาก ส่วน ‘โรคห่า’ หรือ ‘ห่ากินเมือง’ หมายความว่าโรคระบาดที่ทำให้สูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก แน่ละ อหิวาต์รุนแรงปานนั้น คนเลยเรียกขานกัน ที่จริง โรคระบาดอื่นๆ ที่ทำให้คนตายเยอะๆ ก็ถือเป็น ‘โรคห่า’ ได้

กาฬโรคมิแคล้วถูกนับเป็น ‘โรคห่า’ เพราะทำให้คนตายไม่น้อยราย ยิ่งในยุโรป นี่คือโรคน่าสะพรึงกลัว เรียกกันว่า ‘Black Death’  ขณะในเมืองไทย กาฬโรคได้ระบาดในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้จะมีความพยายามตั้งด่านตรวจโรคบนเกาะไผ่ในทะเลอ่าวไทย คอยกักตัวคนจากจีนและฮ่องกงก่อนจะล่องเรือเข้ากรุงเทพฯ เพื่อป้องกันกาฬโรคระบาด แต่ท้ายสุด กาฬโรคเริ่มระบาดจากชุมชนพ่อค้าอินเดีย ฝั่งธนบุรี และแพร่กระจายไปหลายจังหวัด อย่างไรก็ดี สถานการณ์กาฬโรคมิได้เล่นงานชาวสยามรุนแรงเทียบเท่าอหิวาตกโรค

แท้แล้ว ยังมีโรคระบาดอื่นๆ น่าศึกษาอีกเยอะ เช่น วัณโรค โรคไข้ทรพิษ  โรคเรื้อน โรคคุดทะราด และโรคไข้ต่างๆ ที่เกิดจากยุง เป็นต้น ผมหมายใจแม่นมั่นว่าในคราวถัดๆ ไปคงสบโอกาสได้เขียนบอกเล่าสู่สายตาคุณผู้อ่าน อย่างโรคคุดทะราดที่มักระบาดทางภาคใต้นั้น มีบุคคลสำคัญไปพัวพัน ไม่ว่าจะเป็นขุนพันธรักษ์ราชเดช หรือ อิศรา อมันตกุล

เดิมที ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงการระบาดของไข้หวัดในวันวานของไทยมากนัก กระทั่งเพจหน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมได้หยิบยกหลักฐานแจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 36 วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2462 มาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดหนักในเมืองไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2461 กว่าจะสงบสิ้นเชื้อก็เดือนมีนาคม พ.ศ. 2462 มีคนติดเชื้อไข้หวัดในมณฑลหัวเมืองต่างๆ ทั้ง 17 มณฑลแต่ยังไม่รวมมณฑลกรุงเทพฯ 2,317,662 คน และมีผู้เสียชีวิต 80,223 คน ใครๆ จึงหันมาแชร์ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งผมคิดว่าเหมาะเจาะกับสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เสียมากกว่ากรณีอหิวาตกโรค

ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเมืองไทยช่วงต้นทศวรรษ 2460 เรียกขานกันว่า ‘ไข้หวัดสเปน’ สืบเนื่องจากในปี ค.ศ.1918 หรือ พ.ศ.2461 สมัยรัชกาลที่ 6 ได้เกิดเชื้อหวัดในทวีปยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1  ที่จริงพบคนติดไข้หวัดใหญ่ในหลายๆ ประเทศ พบผู้ป่วยที่เป็นทหารอังกฤษ ทหารฝรั่งเศส ทหารสหรัฐอเมริกา และทหารเยอรมัน  แต่ประเทศอื่นๆ มัวปิดข่าวเพราะกำลังอยู่สภาวะสงครามคับขัน ประเทศสเปนซึ่งไม่เข้าร่วมสงครามจึงประกาศข่าวโรคระบาด เลยเป็นที่มาของชื่อ ‘ไข้หวัดสเปน’ ชาวโลกติดเชื้อหวัด 50-100 ล้านคนและเสียชีวิต 20-40 ล้านคน แทบไม่น่าเชื่อว่า ไข้หวัดนี้จะแพร่มาถึงเมืองไทยด้วย เริ่มจากระบาดทางภาคใต้ในเดือนตุลาคมแล้วกระจายไปทั่วราชอาณาจักรจนควบคุมได้ในเดือนมีนาคม โดยทางการสยามส่งยาไปช่วยรักษาสมทบกับแพทย์ประจำเมือง

ใคร่จะสาธยายข้อมูลเพิ่มเติมที่ผมเคยผ่านตาให้อีกว่า ภายหลัง ‘ไข้หวัดสเปน’ ระบาดครั้งใหญ่ ชาวไทยทวีความตื่นตัวต่อโรคหวัด ขณะเดียวกันมีการผลิตยาป้องกันและแก้โรคไข้หวัดหลายขนานออกมาจำหน่าย ถ้าสังเกตดีๆ ยาโรคไข้หวัดที่โฆษณาบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ในทศวรรษ 2460 มักระบุสรรพคุณโดยพาดพิงถึงไข้หวัดใหญ่ที่มาจากทวีปยุโรปเมื่อต้นทศวรรษ ตัวอย่างเช่น โฆษณายาเม็ดดำตรากิเลนของห้างโอสถสถาน เต๊กเฮ้งหยูในหนังสือพิมพ์ เกราะเหล็ก ประจำวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2468 ที่โปรยถ้อยคำว่าสามารถใช้แก้ไข้ทุกชนิด ทั้ง “ได้เคยมีชื่อเสียงในการปราบไข้หวัดที่จังหวัดเพ็ชร์บุรีสงบ” และ “ได้มีชื่อเสียงในการปราบไข้หวัดใหญ่คราวที่แล้ว” ยาเม็ดดำตรากิเลนยังเน้นย้ำอีกในคำโปรยโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ธงไทย ประจำวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 ว่า “เปนยาแก้ไขอย่างศักดิ์สิทธิ์ เคยมีชื่อเสียงในการปราบไข้ที่เปนกันทั่วทั้งจังหวัดเพ็ชร์บุรี และคราวไข้หวัดใหญ่ที่เปนกันทั่วประเทศ” ลองพิจารณาจากโฆษณาจะเห็นว่า ไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศต้นทศวรรษ 2460 เป็นภาพจำหลักอยู่ในความรับรู้ของชาวไทยไม่เบาทีเดียว

ภาพจากหนังสือพิมพ์ เกราะเหล็ก ประจำวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2468

ห้างโอสถสถาน เต๊กเฮ้งหยู เจ้าของยาตรากิเลน และมีสำนักงานอยู่ตรงสี่แยกสะพานเหล็ก ถนนเจริญกรุง ถือเป็นแหล่งที่มุ่งเน้นผลิตยาออกมารักษาโรคระบาดสำคัญๆ ในเมืองไทยเป็นหลัก นอกเหนือจากยาแก้ไข้หวัด ห้างนี้ยังผลิตยาแก้อหิวาตกโรค นั่นคือ ยากฤษณากลั่นตรากิเลน อวดสรรพคุณว่า “ปราบโรคอหิวาต์ได้สงบ มีชื่อกว่าขนานใดหมด” เพราะเคยปราบอหิวาต์ครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และที่นครศรีธรรมราช เป็นยาที่เจ้านาย ทหาร และเสือป่านิยมใช้  ทั้งกล้ารับประกันทำนอง “อย่าเข้าใจว่ายาที่แก้โรคปวดท้องลงท้องธรรมดาให้สงบได้นั้นจะแก้โรคอหิวาต์ได้ ควรเลือกใช้แต่ยาตรากิเลน จะช่วยชีวิตของท่านไว้ได้จริงๆ”

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ธงไทย ประจำวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468

ในปี พ.ศ. 2472 หลวงชาญวิธีเวช (แสง สุทธิพงศ์ ต่อมาได้เป็นพระชาญวิธีเวช และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) แพทย์ประกาศนียบัตรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ได้เขียนหนังสือเรื่อง หวัด พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเสรษฐี) เพราะเล็งเห็นว่า “โรคหวัดเป็นโรคที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด มั่งมีหรือยากจน คนอ้วนหรือคนผอม  ย่อมประสพด้วยกันทั้งสิ้น และมีจำนวนบุคคลเป็นอันมากที่ต้องทรมานหรือเป็นอันตรายเพราะโรคหวัดเป็นเจ้าเรือน ดังนั้น จึงได้พยายามเขียนโดยใช้ถ้อยคำที่ง่ายๆ และสั้นๆ เพื่อท่านผู้อ่านจะได้ไม่เปลืองเวลามาก…”

ตามทัศนะของหลวงชาญวิธีเวช แม้หวัดจะดูเป็นโรคเล็กน้อย แต่อาจเป็นชนวนไปสู่อาการร้ายแรงจนก่ออันตรายต่อชีวิต อวัยวะที่หวัดมักทำลายคงมิพ้นปอด โดยเฉพาะอาการปอดอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรีย คุณหลวงยังพาดพิงถึงตอนที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดระหว่างมหาสงครามในทวีปยุโรป พบทหารหลายชาติแสดงอาการปอดอักเสบ แต่ “ทหารในกองทัพอเมริกันได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยทั่วถึงกัน และปรากฏว่า มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้น้อยกว่าทหารในกองทัพของชาติอื่นๆ”

ก็เมื่อโรคหวัดอาจนำไปสู่โรคปอด ชาวไทยจึงเกิดความคิดในการดูแลตนเองไม่ให้เป็นหวัดเพื่อจะได้แผ้วพานโรคปอดด้วย หน้าสื่อสิ่งพิมพ์ปรากฏโฆษณายาบำรุงปอด ยาสมุนไพรซ่อมปอด ยาปฏิชีวนะ และยาฟื้นฟูปอดอักเสบให้เห็นบ่อยๆ กระนั้น นับแต่ทศวรรษ 2460 จนทศวรรษ 2480 โรคหนึ่งที่พบมากขึ้นในเมืองไทยคือวัณโรค อันเป็นโรคทางปอดที่รุนแรง ทางการจึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะตั้งสถานพยาบาลที่ใช้ปราบวัณโรคและโรคปอด ดังมีการสร้างโรงพยาบาลวัณโรคเป็นแห่งแรกของไทยที่นนทบุรีช่วงพ.ศ. 2482-2484 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พอทศวรรษ 2490 การระบาดหนักของวัณโรคทำให้คนตายเป็นอันดับสองรองจากไข้มาลาเรีย คณะแพทย์ได้พัฒนาการป้องกันรักษาอย่างแข็งขัน จนในที่สุดได้มีวัคซีนฉีดป้องกันโรคนี้

ภาพจากนิตยสาร กรุงเทพฯบรรเทอง ในทศวรรษ 2490

กลุ่มคนหนึ่งที่มักประสบความทุกข์จากโรคปอดและวัณโรค ได้แก่ กลุ่มนักเขียนนักประพันธ์ ซึ่งพวกเขาได้ถ่ายทอดสภาวะของผู้ป่วยลงไปในผลงานของตน เช่น อ.อุดากร ที่ป่วยวัณโรคขณะเป็นนักศึกษาแพทย์จนไม่สามารถเรียนต่อได้ ต้องออกมาเขียนหนังสือและสะท้อนอารมณ์ผู้ป่วยผ่านเรื่องสั้นของเขา เช่นเรื่อง ‘สัญชาตญาณมืด’  เป็นต้น ส.ธรรมยศ เป็นอีกคนหนึ่งที่วัณโรคมาเยือนปอด ต้นทศวรรษ 2490 เขาป่วยหนักจนต้องลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ ร่างกายย่ำแย่ ไอตลอดเวลา ยามนั่งจะต้องมีหมอนรองทั้งหน้าอกและแผ่นหลัง แต่ ส.ธรรมยศยังคงค้นคว้าและเขียนหนังสือตลอดเวลา มิเว้นกระทั่งนอนซม ณ โรงพยาบาลกลางนนทบุรีและได้ทำงานไปจนหมดสิ้นลมหายใจ

ที่เรียงร้อยมาหลายบรรทัดคือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่ที่เราเผชิญในปัจจุบันคือ COVID-19 เป็นโรคระบาดที่อันตรายร้ายกาจ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ของมันเร่งเร้าให้ปอดอักเสบรุนแรงและยังไม่มียาปราบปรามโรคให้หาย ฟังข่าวคราว นับวันยิ่งพบคนติดไข้หวัดเพิ่มเรื่อยๆ ถ้าจะเปรียบประเทศประหนึ่งร่างกายมนุษย์ ปอดทั้งสองก็กำลังถูกรังควานหนักหน่วง พวกเราทั้งหลายจึงควรพร้อมใจช่วยกันฝ่าฟันภาวะโรคระบาดครั้งนี้ให้ลุล่วงไปได้

 

  

เอกสารอ้างอิง

เกราะเหล็ก. (6 กันยายน 2468)

ขวัญชาย ดำรงขวัญ.  UNSEEN กรมควบคุมโรค เส้Œนทางประวัติศาสตรและความทรงจำ.นนทบุรี:

สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข,

2559

ไข้หวัดใหญ่สเปน ระบาด 100 ปีก่อน สมัยร.6 ผู้ป่วยเสียชีวิต 20-40 ล้านคน, ที่มา

https://www.silpa-mag.com/history/article35900

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 36 วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2462, ที่มา

            หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม,

https://www.facebook.com/cumaplab/?tn-str=k*F

ชาญวิธีเวทย์, หลวง.หวัด. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาโชฎึกราชเศรษฐี

(มิ้น เลาหเสรษฐี).พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2472

ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย.**

พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: Illumination Editions, 2561.

ทิพากรวงศ์,เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์.

พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2504

ธงไทย. (20 กุมภาพันธ์ 2468)

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. กาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕. บรรณาธิการโดย ธันวา วงศ์เสงี่ยม.กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2562

หลักเมือง. (26 ธันวาคม 2468)

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์ แสง สุทธิพงศ์ (พระชาญวิธีเวช) ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ

ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 28 ธันวาคม 2512.  พระนคร: บริษัทบพิธ

(แผนกการพิมพ์), 2512

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0