โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อเรื่องราว Sci-Fi จะจับต้องได้มากขึ้น ว่าด้วยบทบาทนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์

The MATTER

เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2563 เวลา 09.54 น. • Science & Tech

ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ หรือ 'หนังไซไฟ (Sci-Fi)' เป็นวัฒนธรรมป็อปที่ขายได้ทุกยุคทุกสมัย และสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทุกแขนง เวลาเราดูหนังไซไฟแล้วรู้สึกถึงความเป็นไปได้ในเรื่อง นอกจากจะตื่นเต้นเร้าใจแล้ว ยังกระตุกต่อมสงสัย เกิดกระแสปากต่อปากให้อภิปรายกันอย่างสนุก (หรือเนิร์ดสุดโต่งไปเลย) การที่ทำให้คนกลับไปนั่งขบคิดได้อีกหลายวัน หนังเรื่องนั้นก็น่าจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

กระแสหนังไซไฟจ่อคิวฉายตามมาอีกเป็นพรวน (เรากำลังรอ Dune อย่างใจอย่างหัวใจพองโต) หลังรัฐบาลประเทศต่างๆ ลดความตึงเครียดจากเหตุ COVID-19 และโรงหนังกลับไปเปิดฉายได้ตามปกติ บวกกับความสำเร็จของภารกิจ SpaceX ปูพื้นให้กับบริษัททุนหนาได้ทดสอบระบบการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศในเชิงพาณิชย์ด้วยยาน Crew Dragon ก็น่าจะทำให้กระแสหนังไซไฟถูกตีขึ้นฟองได้ง่าย

ความเบื่อหน่าย และความวุ่นวายจลาจลในโลก

ก็ยิ่งทำให้เราอยากหลุดไปจากดวงดาวนี้สักที

หนังไซไฟที่เต็มไปด้วยจินตนาการใหม่ๆ จึงน่าจะมาแรง!

นี่จึงทำให้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์มีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์ไซไฟหลายต่อหลายเรื่อง และมีแนวโน้มว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างงานศิลปะกับนักวิทยาศาสตร์น่าจะไปด้วยกันได้ดี สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล เรามาดูกันว่าความสัมพันธ์นี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร เมื่อโลกแห่งความบันเทิงและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาบรรจบกัน

Gene Roddenberry ผู้อำนวยการสร้าง Star Trek (ภาพ startrek.com)

มันไม่สมเจริงเอาเสียเลย

ในปี ค.ศ.1966 ซีรีส์ไซไฟอมตะตลาดกาล เรื่อง Star Trek ออกอากาศครั้งแรกโดยผู้สร้าง ยีน ร็อดเดนเบอร์รี (Gene Roddenberry) ฉายทางโทรทัศน์โดยมีผู้ชมหลายแสนคนดูไปพร้อมๆ กัน โดยผู้ชมหนึ่งในนั้นคือ ไอแซค อสิมอฟ (Isaac Asimov) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เบอร์ต้นๆ ของอเมริกา แต่เหมือน Star Trek จะไม่ถูกใจเขาสักนิด แถมรีวิวซีรีส์นี้ในนิตยสารรายสัปดาห์ว่า “น่าเบื่อและไม่สมจริงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์”  ยีน ร็อดเดนเบอร์รี ผู้สร้างได้อ่านรีวิวปุ๊บถึงกับเขียนจดหมายไปหาไอแซคโดยตรง ออกแนวตัดพ้อว่า การทำซีรีส์โทรทัศน์นั้นมีอุปสรรคมาก ต้องรีบทำส่งช่องให้ทันแต่ละตอน บทจึงค่อนข้างอ่อน ขาดการค้นคว้า และยอมรับว่าไม่สมจริงอยู่หลายขุม เขาจึงขอคำแนะนำจากไอแซคว่า จะพัฒนาซีรีส์นี้ให้ดีขึ้นอย่างไร  กลายเป็นว่าทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไอแซคจึงแนะนำว่า ถ้าอยากได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แจ๋วๆ ทำไมไม่ไปขอคำปรึกษาจาก NASA เลยล่ะ? เขาส่งมนุษย์ขึ้นไปอวกาศนะ หลังจากนั้น ยีนและไอแซคก็ได้เป็นเพื่อนกัน แถมไอแซคยังเชียร์ Star Trek อย่างออกอาการภายหลังด้วย

ถัดมาในปี ค.ศ.1979 ภาพยนตร์เรื่อง Star Trek : The Motion Picture ออกฉายครั้งแรกบนจอเงิน โดยมีความพิเศษที่เครดิตท้ายมีชื่อของเจสโก พุตต์คาเมอร์ (Jesco von Puttkamer) ผู้เป็นวิศวกรขององค์กร NASA และเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค (technical adviser) ให้หนังเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

วิศวกร NASA อธิบายให้ทีมผู้สร้างถึงความเป็นไปได้ในทฤษฎีรูหนอน (wormholes) และการเดินทางไปจักรภพอื่นๆ ด้วยความเร็วเหนือแสง ผู้สร้างก็ต้องการเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำหน้าสอดรับโทนของเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม Star Trek ก็ไม่ใช่สารคดีวิทยาศาสตร์จ๋าเทียบกับ Nova เพียงแต่หยิบจับไอเดียที่มีอยู่มาร้อยเรียงกันใหม่เพื่อความบันเทิงสำหรับคนหมู่มาก ปรากฏว่า Star Trek เวอร์ชั่นภาพยนตร์ขายได้ค่อนข้างดี มีคนพูดถึงทฤษฎีรูหนอนและความมหัศจรรย์ของจักรภพ เกิดแฟนๆ เดนตายให้พูดคุยถึงประเด็นวิทยาศาสตร์อื่นๆ ต่อยอดอีก

Jesco von Puttkamer วิศวกร NASA เป็นที่ปรึกษาให้ภาพยนตร์

จากที่เมื่อก่อนคนในวงการวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยมีใครจะไปแตะต้องวงการบันเทิง คนส่วนใหญ่นึกภาพพวกเขาเป็นคนเรียนสูง ไม่เอาสังคม นั่งทำงานในห้องทดลองทั้งวัน พูดจาไม่เป็นภาษามนุษย์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ปรากฏตัวในรูปแบบใหม่ต่อสาธารณชนจึงเกิดกระแสตอบรับในเชิงบวก วิทยาศาสตร์มันก็มีเรื่องว้าวๆ เพียบอยู่เหมือนกัน

นี่จึงทำให้คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ วอลเธอร์ บอดแมร์ (Walter Bodmer) ประธานและหนึ่งในสมาชิกกิตติมาศักดิ์ของ Royal Society of London ออกมาให้ความเห็นว่า การที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาให้ความร่วมมือกับภาคประชาชนเพื่อสื่อสารความรู้นั้นเป็นเรื่องที่รับได้ และไม่ควรเป็นตราบาปแบบ เช่น ในอดีต เพราะเมื่อก่อนการที่นักวิทยาศาสตร์ออกสื่อก็มักจะถูกดูแคลนจากคนในแวดวงด้วยกันเอง แถมถ้าเด่นมากๆ ก็ถูกปฏิเสธตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอีก ดังนั้นการที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาให้ความร่วมมือสังคมด้วยความรู้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แม้จะเป็นธุรกิจบันเทิงก็ตาม

“ไม่มีใครได้ยินเสียงคุณกรีดร้องในห้วงอวกาศ”

“In space no one can hear you scream,”

ถ้าคุณเป็นสาวกหนังไซไฟเจอวลีนี้เข้าไปก็นึกถึงหนังอสูรกายนอกโลก Alien ที่กำกับโดย ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) วลีนี้มีความน่าสนใจที่ “ไม่มีใครได้ยินเสียงคุณในอวกาศ” ท่ามกลางหนังไซไฟที่ยิงกันด้วยปืนเลเซอร์เสียงสนั่นจักรวาล เดธสตาร์ (Death Stars) ระเบิดตูมตาม เสียงในอวกาศจึงเป็นอะไรที่ผู้สร้างต้องชั่งน้ำหนัก ถ้าอิงความจริงคือในอวกาศจะไม่เกิดเสียงใดๆ แต่หากเป็นเช่นนั้นหนังคงเงียบงันและไร้ชีวิตชีวา ยกเว้นหนังอย่าง Alien และอีกหลายๆเรื่องที่พยายามเป็น hardcore Sci-Fi ที่รักษาความเงียบในอวกาศเพื่อเพิ่มความตึงเครียดและอึดอัดจากความว่างเปล่าอันไร้ขีดจำกัด

ภาพยนตร์ Alien กับความพยายามเป็น hardcore Sci-Fi

แต่หนังอีกมากอย่าง Star Wars หรือ Battlestar Galactica จะประดังประเดด้วยเสียงเอฟเฟ็กต์มากมายในห้วงอวกาศให้ตื่นเต้นเหมือนนั่งรถไฟเหาะ จุดนี้เองที่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์จะมีความก่ำกึ่งระหว่าง veritable truth (ความจริงแท้) หรือ dramatic truth (ความจริงเร้าอารมณ์) เป็นทางแยกสำคัญที่นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักสร้างสรรค์จะต้องตกลงกันว่า จะใช้ข้อเท็จจริงอย่างไรให้สอดคล้องกับโครงเรื่องและรักษาความเป็นไปได้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แล้วเอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชม (audiences) สามารถแยกแยะว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ หรืออะไรที่บิดเบือนให้เกินจริงเพื่อเร้าอารมณ์ได้หรือไม่? เพราะเราจะเห็นว่าบางทฤษฎีมีความเป็นไปได้ แต่คนก็ไม่เชื่อ หรือบางเรื่องที่เป็นจินตนาการล้วนๆ แต่ผู้ชมก็ดันเชื่อสุดใจ

มีงานศึกษาจากสถาบัน National Science Foundation ได้ทดสอบความสามารถในการแยกแยะข้อเท็จจริงในหนังไซไฟกับผู้ชมชาวอเมริกัน ผลออกมาน่าสนใจว่า มีเพียง 3 ใน 10 เท่านั้นที่เข้าใจข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์จากหนัง และรู้ว่าในโลกความเป็นจริงนักวิจัยเขาศึกษาอะไรกัน ส่วนอีก 7 ใน 10 คิดว่านักวิทยาศาสตร์คงทำงานเหมือนในหนัง

หนังไซไฟเองจึงเป็นเครื่องมือสะท้อน scientific literacy (ความสามารถในการเข้าใจวิทยาศาสตร์) ของคนในสังคมที่น่าสนใจ เราเป็นชาติที่ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอแล้วหรือไม่แก่ประชาชน การบริโภคหนังมากๆ ไม่ได้เป็นเครื่องมือบอกว่าเขาคนนั้นจะเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ หนังไซไฟจึงน่าจะเป็นประตูหน้าด่านที่ติดคำว่า 'ยินดีต้อนรับ' เพื่อให้เราก้าวไปสัมผัสวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงมากกว่า ซึ่งจุดนี้เองที่วงการบันเทิงจะต้องส่งไม้ต่อให้หน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยเป็นผู้สานต่อ

แล้วหนังสามารถบิดเบือนภาพลักษณ์วิทยาศาสตร์ในสายตาคนทั่วไปไหม?

เราพูดถึงหนังไซไฟที่กรุยทางสู่ข้อเท็จจริง แต่ก็ยังมีมิติที่หนังสามารถบิดเบือนกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เช่น คุณจะเห็นทุกอย่างเป็นสีฟ้าในหลอดทดลอง เทคโนโลยีแปลกตา นักวิทยาศาสตร์อยู่ในแลปสุดไฮเทค สถาบันวิจัยลับอันมีงบประมาณไม่จำกัดใต้ดิน แต่ในความเป็นจริง ชีวิตนักวิจัยขัดกับภาพลักษณ์ที่โลกภาพยนตร์มอบให้ พวกเขาทำงานในห้องเล็กๆ ที่มีทรัพยากรจำกัด อยู่ภายใต้การดำเนินการของมหาวิทยาลัย ต้องทำงานรับใช้ทุนรัฐ ขัดกับภาพลักษณ์ที่หนังชอบมอบให้นักวิทยาศาสตร์เป็น 'อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย' (evil genius) ที่ทำการทดลองลับๆ หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม

ภาพลักษณ์เชิงลบแบบนี้มีผลต่อการทำงานของนักวิจัยในสนามจริง เพราะทุกคนคิดว่าจะถูกเอาผลประโยชน์ไปใช้ในงานวิจัย เกิดอคติต่อการศึกษาหาความรู้ ดังนั้นหนังไซไฟจึงอาจให้บริบทที่ไม่ถูกต้องในโลกความจริงว่าวิทยาศาสตร์มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร อันนี้เราจึงจัดว่าหนังไซไฟเหล่านี้เป็น ประเภท bad science ที่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่อยู่ในพื้นฐานข้อเท็จจริง แต่กลับเรียกตัวเองว่า 'หนังไซไฟ'

มีงานศึกษาที่น่าสนใจ เมื่อนักศึกษาภาควิชาปฐพีวิทยา ได้ชมหนังเรื่อง The Core ที่ฉายในปี ค.ศ.2003 หนังเล่าเรื่องว่า โลกหยุดหมุนรอบตัวเอง เพราะแกนกลางโลกหยุดหมุน นักวิทยาศาสตร์จึงต้องขับยานไปใจกลางโลกเพื่อถึงระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ให้แกนโลกกลับมาหมุนอีกครั้ง

The Core ที่ฉายในปี 2003
The Core ที่ฉายในปี 2003

The Core ที่ฉายในปี 2003

หลังจากที่ชม นักศึกษาภาคปีที่ 1 ยังเชื่อด้วยซ้ำว่า ใจกลางของโลกเป็นของเหลวแทนที่จะเป็นของแข็ง โดยจำมาจากในหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่หนังพยายามจะสื่อสารวิทยาศาสตร์แต่ไม่ได้ใช้หลักคิดวิทยาศาสตร์ในการดำเนินเรื่อง เพียงเน้นให้เกิดความตื่นเต้นอย่างเดียว

หนังเช่นนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาที่ให้ fault informations และข้อมูลผิดๆ เหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านตัวละครนักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ

จุดอันเปราะบางนี้เองที่หนังไซไฟ ควรจะมีที่ปรึกษาที่มาจากฝังวิชาการเพื่อให้ผู้สร้างมีพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนจะเสริมเติมแต่งอะไรใหม่ให้น่าตื่นเต้น นี่จึงกลับมาสู่คำถามว่า คนเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์มีความรู้เพียงพอแล้วหรือยัง? คุณจำเป็นต้องเข้าใจกฎก่อนที่จะแหกกฎ

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงต้องคำนึงถึงบริบท (contextual) ในการสื่อสารเพื่อหาโมเดลที่สมดุลที่สุด โดยตั้งคำถามอีกชั้นว่า ผู้ชมจะได้อะไร กลุ่มแฟนตัวยงและไม่ใช่แฟนจะรับรู้ข้อเท็จจริงได้ในระดับไหน เมื่อสวมความเป็น fictional เข้าไปแล้ว มีประเด็นอะไรบ้างที่ไปขัดแย้งกับข้อเท็จจริงชนิดที่ว่าสร้างการรับรู้เชิงลบต่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

เทรนด์หนังแนว Sci-Fi จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เราจะเห็นความร่วมมือของวงการบันเทิงกับโลกวิทยาศาสตร์ที่ลงทุนกับจุดนี้เยอะขึ้น  หนังที่กำลังอยู่ในช่วงถ่ายทำที่แสดงนำโดย ทอม ครูซ (Tom Cruise) ได้ร่วมมือกับ NASA เพื่อจะถ่ายทำกันบนอวกาศจริงๆ ให้ทีมงานสัมผัสกับความระทึกบนสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ความร่วมมือนี้เองที่ทำให้เกิด good entertainment ที่สนุกไปพร้อมๆ กับเปิดโลกวิทยาการ เพราะหากมองย้อนไปแล้ว ภาพยนตร์ก็คือหนึ่งในผลผลิตที่งดงามของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ มันจึงน่าตื่นเต้นที่เราจะสัมผัสโลกในมิติต่างๆ จากภาพยนตร์ ได้อีกไม่สิ้นสุด

อ้างอิงข้อมูลจาก

Communicating Science: Lessons from Film

Introduction: From “The Popularization of Science through Film” to “The Public Understanding of Science”

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0