โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เมื่อเงินบาทแข็งไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ชวนทำความเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเศรษฐกิจไทย

The Momentum

อัพเดต 18 ก.ค. 2562 เวลา 13.33 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 13.33 น. • อิสร์กุล อุณหเกตุ

In focus

  • จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟ็ด (Fed) หรือธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ผลที่ตามมาคือ อัตราดอกเบี้ยในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่นไทย จึงสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้ายจากทั่วโลก ทำให้ความต้องการเงินบาทจึงเพิ่มสูงขึ้น และเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นด้วย
  • ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2562 ทั้งเงินเปโซฟิลิปปินส์ เงินรูเปียอินโดนีเซีย และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ต่างก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ค่าเงินบาทนั้นแข็งขึ้นมากที่สุดในภูมิภาค
  • เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นส่งผลดีกับผู้บริโภคภายในประเทศหากจะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่ผู้ส่งออกสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศจะได้รับผลกระทบทางลบจากค่าเงินบาทแข็ง เพราะราคาสินค้าและบริการของตนจะแพงขึ้นในสายตาของชาวต่างชาติ 
  • สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้การส่งออกหดตัวลง และเมื่อการส่งออกเป็นหัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย การส่งออกที่ลดลงจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย
  • แม้ว่าประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ต่างก็ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562ทั้งนี้ ท่าทีล่าสุดของแบงก์ชาติยังเป็นเช่นเดิมคือจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงผ่านตาข่าว “ค่าเงินบาทแข็ง” อยู่บ้าง เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้ทำให้กำลังซื้อของคนไทยที่มีต่อสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับความสามารถในการชำระหนี้ในเงินสกุลอื่น ผลดีเช่นนี้ชวนให้บางคนคิดเอาเองว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่ง

…แต่ค่าเงินบาทแข็งนั้น ไม่ได้มีแต่ด้านบวกอย่างที่เข้าใจ

ค่าเงินแข็งคืออะไร?

คำว่า “ค่าเงินแข็ง” นั้นเกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนในสองช่วงเวลา ซึ่งปกติแล้วเรามักจะเปรียบเทียบโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลัก เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เงินยูโร หรือเงินเยน ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 อัตราแลกเปลี่ยนคือ 32.35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนคือ 30.58 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างช่วงต้นปีกับช่วงกลางปีจะเห็นได้ว่า หากเราต้องการแลกเงินบาทไทยเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เราจะใช้เงินน้อยลงเกือบ 2 บาทในการแลกเงินจำนวน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่าเดิม ซึ่งแสดงว่า เงินบาทไทยมีค่ามากขึ้น หรือ “แข็งค่าขึ้น” เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (ในทางตรงกันข้าม เราอาจเรียกกรณีเช่นนี้ว่า เงินดอลลาร์สหรัฐ “อ่อนค่าลง” เมื่อเทียบกับเงินบาทไทย) 

อาจสรุปอย่างคร่าวๆ ได้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่บอก “ราคา” ของเงินสกุลต่างๆ ดังนั้น ค่าเงินแข็งจึงหมายถึงสภาวะที่เงินสกุลหนึ่งๆ มีราคาแพงขึ้น เพราะต้องใช้เงินอีกสกุลหนึ่งในจำนวนที่มากกว่าเดิมเพื่อซื้อ

การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ หากแต่เป็นแนวโน้มมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 แล้ว นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ทั้งเงินยูโรและเงินเยนจะพบว่า เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลเหล่านี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เงินบาทมิใช่เงินเพียงสกุลเดียวที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะในช่วงหกเดือนแรกของปี 2562 ทั้งเงินเปโซฟิลิปปินส์ เงินรูเปียอินโดนีเซีย และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ต่างก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยกันทั้งสิ้น

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทำไมค่าเงินบาทจึงแข็ง?

โดยทั่วไปแล้ว ราคาสินค้าชนิดหนึ่งๆ จะแพงขึ้นหรือถูกลง ย่อมถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของสินค้าชนิดนั้นๆ เช่น ราคาของสินค้า A มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อความต้องการสินค้า A เพิ่มขึ้น ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (floating exchange rate) นั้น อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็น “ราคา” ของเงินสกุลต่างๆ ก็ถูกกำหนดจากตลาดเงินตราต่างประเทศเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากเรามองว่า เงินบาทเป็นสินค้า A เมื่อความต้องการเงินบาทมากขึ้น เงินบาทจึงแพงขึ้น หรือแข็งค่าขึ้น

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมจึงมีความต้องการเงินบาทมากขึ้น? ในช่วงที่ผ่านมานั้น ความต้องการเงินบาทเพิ่มสูงขึ้นจากสองสาเหตุ สาเหตุแรกคือความต้องการนำเข้าสินค้าและบริการจากไทยที่เพิ่มขึ้น และสาเหตุที่สองคือความต้องการนำเงินเข้ามาลงทุนในไทยที่มากขึ้น ตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (current account) ของไทยเป็นหลักฐานสนับสนุนสาเหตุข้อแรกนี้ การส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์ซึ่งหมายถึงความต้องการเงินบาทที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ขณะที่สาเหตุข้อหลังนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟ็ด (Fed) หรือธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate) ลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาคือ อัตราดอกเบี้ยในประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging countries) รวมถึงไทย จึงสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้ายจากทั่วโลก เมื่อต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น (รวมถึงบางส่วนที่หวังจะใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินทุนระยะสั้น) ความต้องการเงินบาทจึงเพิ่มสูงขึ้น และเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นด้วย 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางรายเห็นว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นอีกจนถึงระดับ 28-29 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หากเฟ็ดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในปีนี้

ค่าเงินบาทแข็งส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยจริงหรือไม่?

เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นส่งผลดีกับผู้บริโภคภายในประเทศหากจะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงทำให้ราคาสินค้าถูกลง ตัวอย่างเช่น หากกระเป๋าใบหนึ่งราคา 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้บริโภคที่เคยต้องใช้เงิน 32,350 บาทซื้อเมื่อช่วงต้นปี จะใช้เงินเพียง 30,580 บาทในการซื้อกระเป๋าใบเดียวกันนี้ในช่วงกลางปี หรือเท่ากับว่า กระเป๋าใบนี้ราคาลดลงราว 5% เนื่องจากค่าเงินบาทแข็ง ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนที่นำเข้าสินค้าทุน หรือผู้ที่มีภาระหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศก็จะได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินบาทเช่นเดียวกัน

แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ในทางกลับกัน ผู้ส่งออกสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศจะได้รับผลกระทบทางลบจากค่าเงินบาทแข็ง เพราะราคาสินค้าและบริการของตนจะแพงขึ้นในสายตาของชาวต่างชาติ ภาคเอกชนแสดงความกังวลในประเด็นดังกล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้การส่งออกหดตัวลง และเมื่อการส่งออกเป็นหัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย การส่งออกที่ลดลงจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) คาดการณ์ว่า ในปี 2562 นี้ การส่งออกจะขยายตัวติดลบ 1% ขณะที่ GDP จะขยายตัวเพียง 2.9-3.3% จากเดิมที่ประมาณการว่าจะขยายตัว 3.7-4.0%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เคยยืนยันเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมาว่า เงินบาทมิได้แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมิได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2562 แบงก์ชาติจึงออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเพื่อป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ และเพิ่มความเข้มงวดของการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ

กลางเดือนกรกฎาคม 2562 แบงก์ชาติออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเพื่อป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ และเพิ่มความเข้มงวดของการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ

คำถามสำคัญคือ นอกจากมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทข้างต้นแล้ว แบงก์ชาติควรดำเนินมาตรการอื่นอีกหรือไม่? อย่างไร?

แบงก์ชาติควรทำอย่างไร?

 แนวทางที่อาจช่วยลดหรือชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ คือ หนึ่ง การแทรกแซงค่าเงินบาทในตลาดเงินตราต่างประเทศ และ สอง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

การแทรกแซงค่าเงินบาทในตลาดเงินตราต่างประเทศด้วยการซื้อ-ขายเงินตราสกุลต่างๆ เพื่อรักษาระดับค่าเงินบาทให้เป็นไปตามที่ต้องการ เป็นกลไกปกติในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (fixed exchange rate) แต่ไทยเลิกใช้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวแล้วตั้งแต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (managed floating exchange rate) แบบในปัจจุบัน แบงก์ชาติยังอาจแทรกแซงค่าเงินบาทได้ในกรณีที่ค่าเงินมีความผันผวนสูง โดยอาจซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเร็วเกินไป แต่การกระทำเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าจะทำให้ไทยต้องตกอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน(currency manipulator) เพื่อทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ แม้ว่าในรายงานอัตราแลกเปลี่ยนที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เสนอต่อสภาคองเกรสเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ทีผ่านมา จะยังไม่มีประเทศใดอยู่ในบัญชีดังกล่าวก็ตาม

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดแรงจูงใจของนักลงทุนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามายังไทยนอกจากนี้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อต่ำและเศรษฐกิจเติบโตต่ำ การลดอัตราดอกเบี้ยยังน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยซึ่งต่ำเกินไป กลับขึ้นไปอยู่ในกรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติ รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดแรงจูงใจของนักลงทุนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามายังไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แบงก์ชาติเพิ่งประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี แม้ว่าประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ต่างก็ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562ทั้งนี้ ท่าทีล่าสุดของแบงก์ชาติยังเป็นเช่นเดิมคือจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยให้เหตุผลว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (คือหักด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้ว) ของไทยนั้นอยู่ที่ 0.87% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

แม้ว่าประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ต่างก็ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562ทั้งนี้ ท่าทีล่าสุดของแบงก์ชาติยังเป็นเช่นเดิมคือจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ค่าเงินบาทแข็งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน และไม่ใช่เรื่องที่สรุปได้โดยง่ายว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง เพราะข้อสรุปเช่นนั้นจะทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่หลังตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังคงเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ โจทย์ที่สำคัญและท้าทายซึ่งควรคิดต่อคือ ไทยจะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพได้หรือไม่ และอย่างไร

ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบคงไม่ง่ายนัก.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0