โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อล้านนาต่อต้านอำนาจการปกครองของสยาม โดยใช้ "ผี" เป็นเครื่องมือ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 01 มิ.ย. 2566 เวลา 02.32 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2566 เวลา 00.30 น.
ภาพปก-ตลาดล้านนา
ตลาดใน “ล้านนา” ภาคเหนือของสยาม

แต่เดิมคนใน “ล้านนา” ได้พยายามต่อต้านการปกครองของสยามอยู่ตลอดเวลา ทั้งการต่อต้านแบบใช้อาวุธอย่างกรณีกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ และกบฏพระยาผาบสงคราม รวมถึงการนำความเชื่อจารีตพื้นบ้านอย่างเรื่องผี มาใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธอำนาจหรือคำสั่งจากกรุงเทพฯ

ผีในล้านนามีอยู่หลายประเภท เช่น ผีปู่ย่า ผีเรือน ผีอารักษ์ เรียกรวม ๆ ว่าผีบรรพบุรุษ รวมถึงผีเจ้าบ้านหรือผีเมืองโดยผีดังกล่าวถือว่าเป็น ผีดีมีหน้าที่ปกปักรักษาสมาชิกในครัวเรือน หมู่บ้าน และเมือง ตราบเท่าที่คนยังให้ความเคารพด้วยการเซ่นสรวงบูชา และไม่ทำผิดขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ถ้ามีคนไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าว อาจทำให้เกิดการ ผิดผี ที่เปลี่ยนจากผีที่คอยคุ้มครองกลายเป็นผีร้ายที่สร้างอันตรายและความเดือดร้อนแก่ผู้คน

ในสังคมล้านนามักมีร่างทรงหรือม้าขี่ เป็นตัวกลางทำหน้าที่สื่อสารระหว่างผีกับคน ซึ่งคนล้านนาทุกชนชั้นให้ความเคารพนับถือผี และใช้เป็นแนวทางควบคุมคนในสังคมไม่ให้ประพฤติตนผิดไปจากธรรมเนียมเดิม รวมถึงใช้เป็นพลังทางสังคมเพื่อต่อต้านอำนาจที่คนล้านนาไม่พึงปรารถนา

การต่อต้านสยามด้วยการใช้ผีของคนล้านนา เริ่มขึ้นช่วงที่สยามส่งข้าหลวงไปกำกับราชการในล้านนา มีการบังคับเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ยอมรับสนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2417 ที่ระบุให้ลาวเฉียง (เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน, น่าน, แพร่ และเถิน) เป็นมณฑลของสยาม และปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีโดยให้เจ้าภาษีเป็นผู้ประมูลภาษีแทนการผูกขาดเก็บภาษีโดยบรรดาเจ้านายล้านนา

การต่อต้านสยามด้วยการใช้ผีปรากฏหลักฐานใน พ.ศ. 2424 จากบันทึกของคาร์ล บ็อค ที่กล่าวถึงเจ้าอุบลวรรณา ธิดาองค์รองของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ว่าเจ้าอุบลวรรณาทรงเป็นม้าขี่เพื่อรักษาอาการป่วยของชายาพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ซึ่งการเข้าทรงครั้งนั้นผีได้พูดผ่านเจ้าอุบลวรรณาว่า ห้ามทำการผูกขาดเหล้าในเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากการผลิตเหล้าตามบ้านเรือนเป็นสิ่งที่คนล้านนาทั่วไปทำได้อย่างอิสระ แต่เมื่อสยามตั้งเจ้าภาษีสำหรับผูกขาดการจำหน่ายเหล้า ได้สร้างความเดือดร้อนแก่คนล้านนาที่ไม่สามารถผลิตเหล้าเองได้เหมือนแต่ก่อน และต้องเสียเงินซื้อเหล้าเพิ่มอีก เจ้าอุบลวรรณาจึงอาจใช้ผีมาเป็นวิธีในการต่อต้านการผูกขาดเหล้า แม้ว่าจะไม่สำเร็จก็ตาม

การใช้ผีในล้านนาเริ่มมีบ่อยครั้งขึ้นตั้งแต่ที่สยามส่งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ไปจัดวางเสนา6 ตำแหน่งและปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีอากรในล้านนา ส่งผลต่ออำนาจการปกครองและเศรษฐกิจของเจ้านายท้องถิ่นระดับสูงในล้านนา รวมถึงคนล้านนาก็ถูกบังคับให้จ่ายภาษีมากขึ้น ทำให้คนล้านนานำผีมาเป็นตัวแทนของสังคมสำหรับต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ดังปรากฏในรายงานของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ความว่า

“…มีธุระในการเซ่นผีทรงผีวุ่นไปทั้งเมืองผีเจ้าฟ้าไชยแก้วเข้าข่าวเรียกเจ้ามหาวงษ์เรียกพระเจ้านครเชียงใหม่มาบังคับให้เลิกภาษีหมูภาษีเหล้าเสียพระเจ้าเชียงใหม่ก็ทำตามผีตนนั้นจะเอาโน่นผีตนนี้จะเอานี่ก็ทำตามจนมีเสียงขึ้นมาบ้างว่าเพราะชาวใต้มาทำโน่นทำนี่เกือบโตขึ้นถึงพระพุทธเจ้าเห็นไม่ได้การจึงต้องเรียกพระยาราชสัมภาราการมาให้ไปพูดล่วงหน้าเสียว่าผีจะให้ใส่ไทยและฝรั่งฤาการใหญ่ไม่ได้จะต้องรับมือเอาหัวคนทรงผีการทั้งปวงจึงซาลง…”**(หจช. ร.5 ม.58/88 รายงานกรมหมื่นพิชิตปรีชากร เรื่องจัดราชการเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง พฤษภาคม พ.ศ.2427)

ซึ่งการกล่าวอ้างให้เลิกเก็บภาษีหมูและภาษีเหล้า มาจากความต้องการของผีนั้นอาจเป็นแผนการของบรรดาเจ้านายล้านนาสำหรับหยั่งเชิงดูท่าทีรัฐบาลสยามว่าจะตอบโต้สถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร รวมถึงเป็นการกระจายข่าวให้คนล้านนาทราบว่าปัญหาเรื่องภาษีว่ามาจากข้าหลวงสยาม ไม่ใช่จากบรรดาเจ้านายล้านนา การกระจายข่าวรูปแบบนี้ได้ผลเป็นอย่างดี เนื่องจากคนล้านนามีความเชื่อเรื่องผีเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่แล้ว จึงช่วยให้ข่าวสารกระจายเป็นวงกว้างทั่วทั้งเมืองอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นพิชิตปรีชากรสามารถสยบความเชื่อเรื่องผีของคนล้านนา ด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาด โดยสั่งตัดหัวคนที่อ้างว่าเป็นร่างทรงหรือม้าขี่ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติลงประกอบกับการที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรถูกเรียกตัวกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทำให้การต่อต้านการปกครองของสยามผ่านผีของคนล้านนาสงบลงชั่วคราว

ใน พ.ศ. 2431 ล้านนาได้กลับมาใช้ผีต่อต้านอำนาจสยามอีกครั้ง โดยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่อ้างว่าการจัดเสนา6 ตำแหน่งนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับเทวดาอารักษ์ที่ดูแลบ้านเมือง โดยออกหนังสือประกาศให้ชาวเมืองเชียงใหม่รับทราบและทำหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ความว่า

“…ในบ้านเมืองตึงมาเช่นพระเจ้ากาวิโลรสแลเช่นเราบัดนี้น้ำแห้งแล้วน้ำฟ้าแลสายฝนราษฎรได้ทำนาเต็มที่เหมือนแต่ก่อนนั้นบ่อมีเพราะฝนบ่อมีเหมือนแต่ก่อนบ้านเมืองแขวงเรานี้เพราะนับถือเทพยดาอารักษ์อันรักษาพระบวรพุทธศาสนาแลรักษาบ้านเมืองจำเปนได้เอาวัวควายหมูไก่เหล้าแกล้มเลี้ยงดูทุกปีมิได้ขาดเทพยดาลงทรงก็ว่าภาษีอากรนี้เปนเหตุเกิดขึ้นเปนที่บ่อทัดในพระทัยเทวดาออกปากว่าฉะนี้เมื่อจะตั้ง6ตำแหน่งอยู่เหมือนทุกปีทุกวันบ้านเมืองนี้จะเสียการและเสียพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวเปนแน่ขอเลิกยกใช้ตั้งพระยาท้าวแสน32ขุนสนามตมเดิม…”** (หจช. ร.5 ม.58/59 เบ็ดเตล็ดเรื่องราชการเมืองเชียงใหม่ ปีระกา สัปตศก1247 (มิถุนายน พ.ศ. 2428-ธันวาคม พ.ศ. 2431))

สาเหตุของการอ้างผีครั้งนี้มาจากการที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเปลี่ยนแปลงการเก็บภาษีด้วยการประมูลภาษีแทนการผูกขาดจากบรรดาเจ้านายล้านนา อีกทั้งมีการเก็บภาษีที่ได้ในแต่ละเมืองให้แบ่งเป็นของหลวงและเจ้าเมืองคนละครึ่ง โดยเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาประจำกรมจะได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่ง แต่ว่าตำแหน่งเสนาในแต่ละเมืองมีได้เพียง6 ตำแหน่ง ทำให้เค้าสนามหลวง(สำนักผู้ปกครองบ้านเมือง) ที่มีถึง32 ตำแหน่งได้รับผลประโยชน์ไม่ทั่วถึง จึงมีการรวมตัวกันเรียกร้องพระเจ้าอินทวิชยานนท์เปลี่ยนการบริหารให้เป็นเค้าสนามหลวงเหมือนเดิม

พระเจ้าอินทวิชยานนท์จึงใช้เรื่องความไม่พอใจของเทพยดาอารักษ์ที่บันดาลให้ฝนไม่ตก สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร เพื่อให้รัฐบาลสยามยอมผ่อนปรน แต่อีกทางหนึ่งแล้วเป็นการรักษาผลประโยชน์ของบรรดาเจ้านายล้านนาซึ่งดูเหมือนว่าโชคจะเข้าข้างบรรดาเจ้านายล้านนา เพราะว่ารัชกาลที่5 ทรงรับทราบเรื่องดังกล่าวไว้ แต่ยังไม่ได้มีพระราชวินิจฉัยก็เกิดกบฏพระยาผาบสงครามขึ้นเสียก่อน พระองค์จึงอนุมัติคำร้องทันที โดยยกเลิกตำแหน่งเสนาทั้ง6 เมื่อ พ.ศ. 2435 และเปลี่ยนกลับมาใช้เค้าสนามหลวงเหมือนเดิม

กล่าวได้ว่าการที่คนล้านนานำความเชื่อเรื่องผีมาใช้เป็นพลังทางสังคมในการต่อต้านอิทธิพลการปกครองของสยามนั้น มาจากความต้องการที่จะขจัดอำนาจของผู้ปกครองสยามออกจาก “ล้านนา” รวมถึงใช้อ้างในกรณีที่เกิดความขัดแย้งกับสยามในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะการต่อสู้ทางตรงด้วยอาวุธนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ จึงหวังใช่ผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติเป็นเครื่องมือแทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว.เปิดแผนยึดล้านนา.กรุงเทพฯ: มติชน,2559.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว; จุพิศพงศ์จุฬารัตน์.(2557, มกราคม–มิถุนายน).“รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417-2476″.ใน วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา(สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์).6(11): 65.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0