โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อทุกคนไม่ได้ใช้ชีวิตแค่กลางวัน ว่าด้วยธุรกิจ 24 ชั่วโมงที่มาตอบโจทย์มนุษย์กลางคืน

The MATTER

อัพเดต 24 ส.ค. 2562 เวลา 12.31 น. • เผยแพร่ 24 ส.ค. 2562 เวลา 12.24 น. • Pulse

เมื่อความหิวไม่เลือกช่วงเวลา งานที่ค้างคาก็ยังปั่นไม่เสร็จ แถมทั้งวันก็ยังไม่ได้เข้าฟิตเนสเลย จึงไม่แปลกใจที่กลางดึกเราจะยังเห็นผู้คนออกมาใช้ชีวิตพลุกพล่านกันเหมือนปกติ เพราะไลฟ์สไตล์ของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงมาสู่ ‘สังคมคนนอนดึก’ (Sleepless Society) กันมากขึ้น แต่จะมีที่ไหนบ้างที่สามารถรองรับกิจกรรมของพวกเขา ‘ธุรกิจแบบ 24 ชั่วโมง’ (24-hour business) อาจตอบโจทย์นี้ได้

ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตทำให้ทุกสรรพสิ่งบนโลกเชื่อมโยงกัน ผู้คนติดต่อสื่อสารข้ามน้ำข้ามทะเลได้ง่ายขึ้น ข้อจำกัดด้านระยะทางและเวลาจึงไม่ใช่อุปสรรคของการดำรงชีวิตอีกต่อไป ทำให้ชีวิตคนเราไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การตื่นไปทำงาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น แล้วกลับบ้านไปนอนดูทีวีอย่างที่เคยเป็น

มีรายงานจาก นีลเซ็น สหรัฐอเมริกา พบว่า ในปีค.ศ. 2005 ชาวอเมริกามากกว่า 1 ใน 3 เข้านอนหลังเที่ยงคืน โดย ทอม มาเกิร์ต (Tom Markert) หัวหน้าแผนกการตลาดของนีลเซ็นได้ระบุว่า อินเทอร์เน็ต แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรม 24 ชั่วโมงไปทั่วโลก

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและปัจจัยแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี สังคม หรือเศรษฐกิจ ทำให้การใช้ชีวิตของพวกเขาไม่เป็นไปตามแบบแผนเหมือนเมื่อก่อน มีไลฟ์สไตล์ที่ ‘ยืดหยุ่น’ มากขึ้น รักอิสระ ความรวดเร็ว ต้องการจัดสรรชีวิตด้วยตนเอง ด้วยไลฟ์สไตล์เช่นนี้ ‘สังคมคนนอนดึก’ จึงกลายมาเป็นคำนิยามของคนเมืองในยุคใหม่ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตโดยไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ท่ามกลางเมืองที่ไม่เคยหลับใหลเช่นกัน

Group of people sitting around a table and working late in the evening
Group of people sitting around a table and working late in the evening

เว็บไซต์ Marketingoops.com ได้สรุปพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคใหม่ ที่ทำให้สังคมเกิดเป็น sleepless society เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญนั่นก็คือการเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ ‘gig economy’ ที่ทำให้เกิดการจ้างงานแบบครั้งๆ ขึ้น เกิดความหลากหลายทางด้านอาชีพและส่งผลให้คนทำอาชีพ ‘ฟรีแลนซ์’ มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เช่น Uber, Grab, Airbnb ฯลฯ เกิดเป็นงานฟรีแลนซ์รูปแบบใหม่ที่สร้างงานสร้างโอกาสให้กับผู้คนทั่วโลก 

เมื่อเร็วๆ นี้ งานวิจัยพบว่า ทีมบริหารจัดการคนกว่า 62% มองว่า gig worker เป็นแรงงานที่กำลังจะเติบโตในอนาคต ในขณะที่อีก 65% มองว่า gig worker กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติของยุคนี้ และพบอีกว่า แรงงานของพวกเขาที่เป็น gig worker มีสัดส่วนถึง 40% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

ด้วยความยืดหยุ่นในการทำงาน อาชีพฟรีแลนซ์จึงไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเวลาหรือเข้าออฟฟิศทุกวันเหมือนอาชีพประจำ พวกเขาสามารถกำหนดเวลาและสถานที่ทำงานได้ด้วยตนเอง บางครั้งเราจะเห็นคนนั่งทำงานตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่มีช่วงเวลาทำงานที่ตายตัว อาจจะเป็นช่วงกลางวัน ไปจนถึงช่วงเที่ยงคืน หรืออาจจะยันรุ่งสางเลยก็ว่าได้ ด้วยความมีอิสระในการทำงานเช่นนี้ ทำให้ผู้คนหันมาทำอาชีพฟรีแลนซ์กันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมี gig worker ถึง 31% ของแรงงานทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมจากครอบครัวใหญ่มาสู่ ‘ครอบครัวเดี่ยว’ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถจัดสรรเวลาได้ด้วยตัวเองมากขึ้น เพราะครอบครัวเดี่ยวที่มีสมาชิกจำนวนไม่มาก มักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่แบบ vertical living หรือการอาศัยในแนวดิ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ‘โครงการคอนโดมิเนียม’ ที่กำลังผุดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับประชากรที่หนาแน่นในเมืองหลวง จนใกล้จะมาแทนที่พักอาศัยแบบแนวราบ ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียมเหล่านี้มักจะมาพร้อมความสะดวกสบายในการเดินทาง ติดรถไฟฟ้าบ้าง ติดห้างสรรพสินค้าบ้าง ทำให้ผู้คนไปไหนมาไหนได้ง่ายขึ้น แม้จะเป็นช่วงเวลากลางดึกก็ตาม

นอกจากนี้ องค์กรและบริษัทหลายแห่งต่างก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้พนักงานสามารถออกไปทำงานนอกออฟฟิศได้ หรือที่เรียกว่า ‘work at home’ เพราะมีงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ออกมาชี้ว่า การทำงานนอกสถานที่หรือออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ จะส่งผลให้พนักงานจดจ่อกับงานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังเป็นการลดค่าใช้จ่าย (ค่าน้ำ ค่าแอร์ ค่าไฟ ฯลฯ) ในบริษัทอีกด้วย ฉะนั้น เมื่อพวกเขาสามารถออกไปทำงานที่ไหนก็ได้ พวกเขาจึงเลือกออกไปทำงานเวลาไหนก็ได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป ทำให้ 24 ชั่วโมงของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน และสิ่งที่ตามมาก็คือการเปลี่ยนแปลงของ ‘แวดวงธุรกิจ’ ที่ต้องเข้ามารองรับความต้องการของมนุษย์กลางคืนเหล่านี้ จนได้เกิดเป็นเทรนด์ ‘24-hour business’ หรือเทรนด์ ‘ธุรกิจแบบ 24 ชั่วโมง’ ขึ้น

‘เราตื่น คนอื่นหลับ’ โอกาสสร้างกำไรในธุรกิจ 24 ชั่วโมง

หากพูดถึงธุรกิจ 24 ชั่วโมง หลายคนคงจะนึกถึงร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น, แฟมิลี่ มาร์ท, ฟู้ดแลนด์ หรือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดและคาเฟ่อย่างเคเอฟซี, แม็คโดนัลด์, สตาร์บัคส์, คาเฟ่อเมซอน ฯลฯ แน่นอนว่าธุรกิจดังกล่าวได้เอื้ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับคนที่ชอบลุกมาหาอะไรทานกลางดึก หรือชอบออกมานั่งทำงาน อ่านหนังสือโต้รุ่ง

แม้จะเป็นเทรนด์ธุรกิจที่เห็นกันอยู่เรื่อยๆ และแพร่กระจายไปแล้วทั่วโลก แต่เรียกได้ว่าถ้าแบรนด์ไหนคว้าโอกาสมาได้เร็วที่สุดก็ยิ่งจะโชคดี เพราะในขณะที่คนอื่นกำลังหลับ เราได้ทำหน้าที่ให้บริการลูกค้าแบบไร้ซึ่งคู่แข่ง และทุกวันนี้ ไม่ได้มีเพียงธุรกิจร้านสะดวกซื้อเท่านั้นที่เปิดให้บริการทั้งวันทั้งคืน เพราะโมเดลการตลาดแบบ 24 ชั่วโมง ได้ถูกหยิบไปใช้กับธุรกิจและองค์กรหลายแห่ง จนชนิดที่ว่าหากเราเห็นผู้คนออกมาใช้ชีวิตเหมือนตอนกลางวันในเวลาตี 3 ตี 4 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอีกต่อไป

“Close up of neon sign outside 24 hour convenience store, Las Vegas, Nevada, USA.”
“Close up of neon sign outside 24 hour convenience store, Las Vegas, Nevada, USA.”

เมื่อลองขับรถออกมาข้างนอกกลางดึก เราจะพบว่าไม่ได้มีเพียงแสงไฟจากเซเว่น อีเลฟเว่นเท่านั้น แต่จะเห็นไฟสว่างมาจากอีกหลายธุรกิจ ที่ได้สมัครเข้ามาในสนามการตลาดนี้

ร้านอาหาร เนื่องจากพฤติกรรมของคนยุคใหม่ที่ทำงานกันดึกดื่น เรื่องกินจึงเป็นเรื่องสำคัญ ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายร้านได้เริ่มเปิดให้บริการทั้งวันทั้งคืนเพื่อซัพพอร์ตท้องที่ว่างของคนกลุ่มนี้ ทั้งรูปแบบ stand alone ที่ให้คนเข้ามานั่งทานข้าวตอนไหนก็ได้ และแบบ drive thru สำหรับผู้ที่ขับขี่สัญจรไปมา อย่างเมื่อไม่นานมานี้ร้านโดนัทชื่อดัง 'คริสปี้ครีม' ก็ได้ประกาศเปิดสาขาใหม่ที่ไทม์สแควร์ นครนิวยอร์ก โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ร้านค้า การช้อปปิ้งไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในเวลาที่ห้างเปิด-ปิดอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกพัฒนาให้เอื้อต่อความสะดวกอย่างลาซาด้า, แอมะซอน, อาลีบาบา ฯลฯ ทำให้เราสามารถกดสั่งของเมื่อไหร่ก็ได้ ไหนจะมี internet banking ที่อำนวยความสะดวกให้เราทำธุรกรรมได้ตลอดเวลา ซึ่งในอนาคต บางร้านที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในออนไลน์ อาจจะมีการลงทุนเปิดหน้าร้านให้เข้าไปเลือกช้อปปิ้ง 24 ชั่วโมงเลยก็ว่าได้

ธุรกิจขนส่ง เมื่อมีการเติบโตของธุรกิจ e-commerce ที่สามารถซื้อขายกันได้ตลอดเวลา ก็ต้องมีธุรกิจขนส่งตามมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ไม่มีเวลาส่งของ โดยธุรกิจไปรษณีย์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการขยายเวลา ไปจนถึงเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว

Co-working space แน่นอนว่าพอมีคนทำงานดึกๆ ดื่นๆ ก็ต้องมีพื้นที่มารับรองการทำงานของพวกเขา ปัจจุบัน co-working space 24 ชั่วโมง มีผู้เข้าใช้บริการหลายรูปแบบ ทั้งนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาอ่านหนังสือติวสอบ พนักงานออฟฟิศที่เข้ามานั่งทำงาน สตาร์ทอัพที่เข้ามานั่งเจรจาธุรกิจ ไปจนถึงนักท่องเที่ยวที่มานั่งเล่นพักผ่อน โดยสถานให้บริการลักษณะนี้จะประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร ปลั๊กไฟ wi-fi เครื่องสแกนเอกสาร ห้องประชุม จอโปรเจ็กเตอร์ ฯลฯ

ยิมและฟิตเนส ธุรกิจที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพแต่เลิกงานดึก เพราะการจะไปสวนสาธารณะเวลากลางค่ำกลางคืนก็เป็นเรื่องอันตราย บางที่ก็ปิดให้บริการแล้ว ดังนั้นฟิตเนสหลายแห่งจึงขยายเวลาเปิดเป็น 24 ชั่วโมง เพื่อให้คนเลิกงานดึกเหล่านี้ได้เข้ามาออกกำลังกายชดเชยช่วงเวลาที่ไม่ว่าง โดยธุรกิจฟิตเนส 24 ชั่วโมงนี้ ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในประเทศออสเตรเลียช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่เข้ามา ครอบคลุมกับทุกกิจกรรมเหมือนที่เราทำกันตอนกลางวันแทบทุกอย่าง เพียงแค่เปลี่ยนเป็นอีกช่วงเวลาเท่านั้นเอง

แล้วการเปิด 24 ชั่วโมงดียังไงต่อธุรกิจ ซึ่งอาจตอบได้ง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของ ‘กำไร’ ลองจินตนาการถึงยอดขายของวันที่เปิดให้บริการถึงแค่ 3 ทุ่ม เทียบกับวันที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แน่นอนว่าการขยายเวลาเป็นการขยายโอกาสในการสร้างยอดขายไปด้วย เพราะเราจะได้กำไรเพิ่มมาจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในช่วงหลัง 4 ทุ่มไปจนถึง 8 โมงเช้า แต่นอกจากกำไรแล้ว ก็ถือเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะได้สร้าง positioning ที่แตกต่างไปจากแบรนด์อื่นๆ เพราะเราจะสามารถเคลมได้ว่าเราเป็นผู้ให้บริการได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน พร้อมกับสร้างกิมมิกหรือประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อดึงลูกค้า ผ่านการคิดค้นสินค้าและบริการที่แตกต่างไปจากตอนกลางวัน

ธุรกิจ 24 ชั่วโมงได้ทลายข้อจำกัดทางด้านเวลา ที่ปกติการเปิด-ปิดให้บริการของศูนย์การค้าทั่วไปจะอยู่ที่ 10.00-21.00 น. (หรือ 22.00 น.) แต่สิ่งที่ธุรกิจ 24 ชั่วโมงต้องคำนึง ไม่ใช่แค่การขยายเวลาให้บริการเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะนอกจากค่าน้ำค่าไฟที่ต้องจ่ายมากขึ้น ยังมีระบบบริหารจัดการร้านอื่นๆ ที่ต้องมีการลงทุนลงแรงเพิ่ม ทั้งระบบการจ้างพนักงานที่ให้บริการ ระบบความปลอดภัยที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น (เนื่องจากกลางดึกเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเจอมิจฉาชีพ) และระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งบางธุรกิจก็ต้องตัดสินใจให้ดีว่า การเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงนั้นจะคุ้มทุนกับตัวเองหรือไม่เมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการในช่วงเวลากลางดึก

ธุรกิจรีเทล 24 ชั่วโมงในไทย

ถ้าพูดถึงโมเดลนี้ ประเทศไทยเองก็ประยุกต์ใช้กับธุรกิจรีเทลหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งที่เห็นชัดๆ ก็คือโครงการศูนย์การค้า ‘เดอะ สตรีท รัชดา’ (The Street Ratchada) ที่มีกลุ่มนักศึกษาไปจนถึงวัยทำงานแวะเวียนเข้ามาใช้บริการตลอดเวลา เพราะที่นี่ไม่ได้เป็นแค่แหล่งแฮงก์เอาต์ในเวลากลางวัน แต่ยังเปิดให้ลูกค้าเข้ามาใช้สอยพื้นที่ในเวลากลางคืนไปจนถึงรุ่งเช้า เพื่อนัดเจอ พูดคุย ทานข้าว อ่านหนังสือ และนั่งทำงานเหมือนปกติที่ทำในตอนกลางวัน โดยมีแบรนด์ที่ร่วมลงทุนเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงหลายแบรนด์ เช่น ฟู้ดแลนด์, สตาร์บัคส์, เคเอฟซี, เบอร์เกอร์คิง, มิสเตอร์พิซซ่า, โซอาเซียน ฯลฯ

และอีกหนึ่งโครงการอย่าง ‘สามย่านมิตรทาวน์’ (Samyan Mitrtown) ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ ก็มีพื้นที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่าโซน ‘Never Sleep Mitr’ เพื่อรองรับทุกกิจกรรมของผู้บริโภค โดยมีแบรนด์มากมายที่เข้าร่วม เช่น มินิโซ, ชาบูชิ, สเวนเซนส์, ก๋วยเตี๋ยวเรือพระนคร, ไวท์ สตอรี่, มายด์ สเปซ โดย ซี อาเซียน, บิ๊กซี ฟู้ดเพลส (ร้านค้ารูปแบบใหม่ที่พัฒนาเพื่อให้บริการ 24 ชั่วโมงโดยเฉพาะ), เซเลบริตี้ ฟิตเนส, เคเอฟซี, สตาร์บัคส์, คาเฟ่อเมซอน, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

http://www.thestreetratchada.com/gallery.php

โครงการเหล่านี้มีคอนเซ็ปต์ที่หวังจะให้เกิด traffic หมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง บางแบรนด์เราจะเห็นได้ว่าเป็นแบรนด์ที่มีการใช้โมเดล 24 ชั่วโมงมานานแล้ว อย่างสตาร์บัคส์ เบอร์เกอร์คิง และเคเอฟซี แต่บางแบรนด์ก็เป็นหน้าใหม่ ที่เพิ่งจะมีการปรับตัว เพื่อให้รับกับไลฟ์สไตล์และคอนเซ็ปต์ของโครงการศูนย์การค้า

แต่ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจแบบนี้ก็ไม่ได้มีผู้คนเข้ามาทุกชั่วโมง เพราะจากการเก็บข้อมูลพบว่าการใช้บริการของกลุ่มลูกค้าในธุรกิจรีเทล 24 ชั่วโมง จะมีการเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเวลาตี 3 ที่เริ่มจะเป็นช่วง low traffic ผู้คนจะค่อยๆ เข้ามาใช้บริการน้อยลง และมีการเข้ามาใช้บริการอีกทีในตอน 6 โมงเช้า

เทรนด์ธุรกิจแบบนี้ไม่ใช่แค่ลูกเล่นของแบรนด์ใหม่ๆ เพราะแบรนด์นำร่องธุรกิจ 24 ชั่วโมงที่อยู่มายาวนานอย่าง 'เซเว่น อีเลฟเว่น' ในประเทศไทยเอง ก็ยังมีการปรับคอนเซ็ปต์ใหม่โดยการสร้าง format store ให้กลายเป็น 'stand alone' เพื่อรองรับคนนอนดึกให้มานั่งทำงาน กินข้าว พร้อมทั้งมีปลั๊กไฟให้ชาร์จ ทำให้เห็นว่าธุรกิจในไทยทั้งใหม่และเก่าเริ่มปรับตัวเข้าหาไลฟ์สไตล์คนมากยิ่งขึ้น

“คนใช้ชีวิต Night Life ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเป็นนักเที่ยวเตร่ที่อยากสนุกสนานแบบที่ผ่านมา เพราะบางคนยังต้องทำงาน หรือกลุ่มฟรีแลนซ์ที่อาจจะนัดคุยงานกับลูกค้าช่วงดึก แต่ไม่มีทางเลือกมากนัก ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมองเห็นเทรนด์หนึ่งในธุรกิจรีเทล ที่เริ่มขยายโซนบริการให้ยาวนานเพิ่มขึ้นเป็น 24 ชั่วโมง เพื่อให้รองรับลูกค้าได้ยาวนานมากขึ้น และเป็น destination ที่คนกลุ่มนี้นึกถึง” คุณธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล ผู้พัฒนาโครงการมิกซ์ยูส สามย่านมิตรทาวน์ กล่าว

จากนี้ ก็ต้องมาจับตาดูกันว่าจะมีธุรกิจไหนอีกบ้างที่เข้าสู่สนามการตลาดที่ไร้ขีดจำกัดด้านเวลานี้อีก

จะเห็นได้ว่าธุรกิจแบบ 24 ชั่วโมงค่อยๆ ทยอยเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ความหลากหลายของแบรนด์และความหลากหลายของประเภทธุรกิจ เพราะไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่เปลี่ยนไปได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจทำกำไรเพิ่มมากขึ้น แต่การขยายเวลาให้บริการถึง 24 ชั่วโมงนั้นก็ต้องอาศัยต้นทุนและทรัพยากรที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ก็อาจจะมีทั้งธุรกิจที่ได้ไปต่อและไม่ได้ไปต่อในโมเดลการตลาดนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก

www.businesswire.com

marketingoops.com (2)

brandbuffet.in.th

ausleisure.com.au

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0