โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เมื่อต้องเผชิญ COVID-19 หรือรัฐราชการจะพาเราไปสู่รัฐล้มเหลว?

The101.world

เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 06.00 น. • The 101 World
เมื่อต้องเผชิญ COVID-19 หรือรัฐราชการจะพาเราไปสู่รัฐล้มเหลว?

ชัชฎา กำลังแพทย์[1] เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 เป็นต้นมา รัฐราชการไทย[2]ได้กลับมามีบทบาทนำในการบริหารดำเนินนโยบายสำคัญในประเทศอีกครั้ง[3] ทั้งนี้แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม 2562 แต่รัฐราชการก็ยังคงเป็นตัวแสดงสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพรรคพลังประชารัฐ เห็นได้จากการที่บุคคลในคสช. และระบบราชการยังได้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุดนี้ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สมาชิกวุฒิสภา หรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด รัฐราชการไทยกำลังเจอกับความท้าทายใหญ่อีกครั้งเมื่อต้องเจอกับวิกฤต COVID-19 ซึ่งเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปี บทความนี้จึงต้องการเสนอว่ารัฐราชการไทย ซึ่งมีลักษณะรวมศูนย์แบบแตกกระจายจะไม่สามารถรับมือกับวิกฤตได้ เพราะการทำงานในภาวะวิกฤตต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน ยิ่งไปกว่านั้น การรวมศูนย์อำนาจเข้ามายังรัฐราชการที่อ่อนแออยู่แล้วจะทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐล้มเหลวเมื่อพิจารณาจากหน้าที่เชิงบวกของรัฐ

 

รัฐรวมศูนย์ที่แตกกระจาย: กรมาธิปไตย

 

กรมาธิปไตย (departmantalism) คือปัญหาด้านการรวมศูนย์อำนาจแบบกระจัดกระจายในการบริหารราชการไทย เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแผนงาน งบประมาณและกำลังคนภาครัฐที่ปรากฏออกมาในรูปของนโยบายรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน แผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี และการกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบตามแผนงานประจำปี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือผลที่เกิดจากการกำหนดและจัดเตรียมโดยแต่ละกรมนั่นเอง จึงเป็นสภาวะที่ฐานอำนาจอยู่ที่กรมเป็นหลักในการรวมศูนย์สู่ส่วนกลาง กรมจึงเป็นหน่วยพื้นฐานในการดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐ

วสันต์ เหลืองประภัสร์ เสนอว่าการขยายตัวของระบบราชการไทยหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เป็นการสะท้อนให้เห็นการขยายอำนาจหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีกรมเป็นฐานรองรับ ส่วนราชการต่างๆ ในสังกัดกรมจึงพยายามที่จะแตกตัวออกมาจากกรมต้นสังกัดนำไปสู่การจัดตั้งกรมใหม่ที่มีอำนาจหน้าที่ งบประมาณและกำลังคนของตนเอง

การที่แต่ละกรมเป็นนิติบุคคล ดำเนินงานอย่างเป็นเอกเทศ และต้องรักษาความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของหน่วยงานตนเองส่งผลให้การประสานงานระหว่างกรมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อีกทั้งในการดำเนินนโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมมือและอำนาจหน้าที่ของหลายกรมอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งในเรื่องความรับผิดชอบ ลักษณะเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายใหม่ๆ ที่คาบเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของหลากหลายหน่วยงานแม้แต่กรมในสังกัดกระทรวงเดียวกัน ผลกระทบสำคัญของกรมาธิปไตยคือการขาดเจ้าภาพที่ชัดเจนในการรับผิดชอบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายโดยรวม รวมถึงไม่มีเจ้าภาพที่จะบูรณาการการกำหนด ดำเนิน และประเมินนโยบายอีกด้วย[4]

ด้วยลักษณะกรมาธิปไตยของการบริหารราชการดังกล่าวเมื่อต้องเผชิญวิกฤตความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนที่มีมาอย่างเรื้อรังยาวนาน เช่น วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือของไทย และมีแนวโน้มจะเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่รัฐยังไม่ได้มีความพยายามจะแก้ปัญหานี้ในระยะยาวแต่อย่างใด[5] เมื่อไวรัสโคโรนามาเยือนประเทศไทยและกลายเป็นความเสี่ยงสุขภาพอย่างร้ายแรง รัฐแบบกรมาธิปไตยก็ถูกเปลือยให้เห็นถึงความไร้สมรรถนะและด้อยประสิทธิภาพอย่างชัดแจ้ง

 

เมื่อไวรัสทำให้คนตั้งคำถามต่อรัฐ

 

ในภาวะที่ไวรัสแพร่ระบาดในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ทุกรัฐทั่วโลกเสมือนว่ากำลังได้รับโจทย์เดียวกัน ประชาชนจึงสามารถประเมินความสามารถของรัฐตัวเองแบบง่ายๆ ผ่านการเปรียบเทียบ เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสได้ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้ป่วย การป้องกันการติดเชื้อไวรัส และพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ไม่ควรเดินทางไป การที่พวกเรา พลเมืองของรัฐ สามารถรับรู้ได้ว่ารัฐอื่นๆ มีมาตรการหรือนโยบายใดที่ออกมารองรับกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เช่น มาตรการชดเชยค่าแรงในกรณีที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้านในยุโรป แผนที่หน้ากากและระบบข้อมูลของไต้หวัน ประสิทธิภาพในการสื่อสารของรัฐแบบสิงคโปร์ หรือแม้แต่การลดค่าใช้จ่ายอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ในหลายประเทศ ฯลฯ การรับรู้ดังกล่าว ย่อมทำให้เราต้องหันกลับมาพิจารณารัฐของเราว่าได้มีมาตรการหรือนโยบายใดบ้างในยามวิกฤต เมื่อประชาชนเห็นตัวแบบจากประเทศอื่น ย่อมเกิดคำถามว่าทำไมรัฐบางรัฐจึงสามารถออกมาตรการหรือนโยบายบางอย่างให้แก่ประชาชนได้อย่างครอบคลุม รอบด้าน ทันท่วงทีในขณะที่บางรัฐไม่สามารถทำได้

รัฐราชการไทยที่รวมศูนย์แบบแตกกระจายและเป็นกรมาธิปไตยเผชิญกับความท้าทายที่ไม่คาดฝัน ยากต่อการรับมือ เนื่องจากขาดการสื่อสารและการทำงานประสานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ ไม่สามารถปรับตัวสอดรับความท้าทายหรือปัญหาที่มีความซับซ้อน ครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างขวางและต้องอาศัยขอบข่ายการทำงานจากหลายภาคส่วน ดังเช่นการระบาดของไวรัสโคโรนาในขณะนี้ และอาจพารัฐไทยไปสู่รัฐล้มเหลว ซึ่งอาการกรมาธิปไตยในห้วงวิกฤตนี้มีตัวอย่างชัดเจนจากการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไทย

 

ระบบสาธารณสุขไทย: ตัวอย่างของกรมาธิปไตย

 

เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (health security) เป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย[6] จึงเป็นที่แน่ชัดว่าระบบสาธารณสุขของไทยมีความเข้มแข็งโดยเฉพาะในด้านการตอบโต้โรคระบาดที่รวดเร็ว

ระบบสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไทย และระบบราชการที่มีลักษณะกรมาธิปไตยเช่นเดียวกัน กล่าวคือมีหน่วยงานย่อยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม ทั้งยังมีกลุ่มตัวแสดงต่างๆ ที่เรียกร้องขับเคลื่อนผลประโยชน์ของตนเอง เช่น ขบวนการแพทย์ชนบท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุขไทยถือว่ามีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง เพราะการปฏิรูปและรูปแบบการเมืองภายในของระบบสาธารณสุขเอง

การศึกษาของณัฐรุจ วงศ์ทางสวัสดิ์ (2560) ชี้ว่าการที่ความสำเร็จของขบวนการแพทย์ชนบทในการเคลื่อนไหวผลักดันการปฏิรูประบบสาธารณสุขเป็นเพราะมีการปรับตัวทางกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับโครงสร้างโอกาสทางการเมือง เข้าถึงชนชั้นนำทางการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคู่ไปกับการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการทางสังคมที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง กล่าวโดยย่อคือขบวนการแพทย์ชนบทมีการประสานความร่วมมือกับตัวแสดงนอกกลุ่มเพื่อบรรลุผลประโยชน์ของตนในการปฏิรูประบบสาธารณสุข

กล่าวได้ว่า แม้ระบบสาธารณสุขจะอยู่ในภายใต้รัฐราชการแบบกรมาธิปไตย ที่แม้จะไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่พลวัตภายในทำให้สภาวะปกติ ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค อย่างน้อยก็เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

คำถามมีอยู่ว่า แล้วเราจะอธิบายความล้มเหลวในการรับมือ COVID-19 อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตไวรัส COVID -19 เป็นวิกฤตใหญ่และลำพังการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้กรมาธิปไตยเพียงลำพังย่อมไม่อาจรับมือได้ กระนั้น การทำงานภายใต้วิกฤตที่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่นอย่างบูรณาการกลับทำให้สมรรถนะและความสามารถที่เคยมีในระบบสาธารณสุขไทยหดหายไป พูดอีกแบบคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในการรับมือกับ COVID -19 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัญหาการบริหารจัดการ ความล่าช้าในการกำหนดมาตรการต่างๆ  การตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาด ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารกับประชาชนของรัฐราชการส่วนกลางต่างหาก มากกว่าเป็นปัญหาภายในระบบสาธารณสุขไทย

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า ระบบสาธารณะสุขภายใต้กรมาธิปไตย ไม่มีปัญหาใดๆ หากแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า รัฐราชการรวมศูนย์แบบแตกกระจายที่อาจจะพอทำงานได้บ้างในสภาวะปกตินั้นไม่สามารถรับมือกับวิกฤตขนาดใหญ่ได้ และการรวมศูนย์อำนาจเข้ามายังรัฐราชการที่อ่อนแออยู่แล้วจะทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐล้มเหลวเมื่อพิจารณาจากหน้าที่เชิงบวกของรัฐ

 

หน้าที่เชิงบวกของรัฐ

 

การจะพิจารณาว่ารัฐนั้นเป็นรัฐที่ล้มเหลวหรือไม่ สามารถพิจารณาได้หลายประการ ประการหนึ่งที่โรเบิร์ต เออร์วิน ร็อตเบิร์ก (2003) นักวิชาการด้านการบริหารปกครองและการต่างประเทศชาวอเมริกันเสนอคือการปรากฏของความรุนแรงที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ และพิจารณาว่ารัฐได้จัดบริการสาธารณะให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในรัฐหรือไม่ ซึ่งบริการสาธารณะเหล่านั้นที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความมั่นคงในชีวิตของประชาชนในรัฐ ร็อตเบิร์กได้เสนอไว้ในบทความชื่อ 'The Failed States, Collapsed States, Weak States: Causes and Indicators' ซึ่งอยู่ในหนังสือรวมบทความเรื่อง 'State Failure and State Weakness in a Time of Terror' ว่าหน้าที่เชิงบวกของรัฐนั้นมี 4 ประการด้วยกัน ได้แก่

1. ความมั่นคง (security) ซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานที่สำคัญที่สุด ความมั่นคงในทีนี้คือการที่รัฐต้องรับรองหรือประกันว่าประชาชนจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความกลัว หรือภัยคุกคามที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของตน

2. เป็นสถาบันที่รักษาไว้ซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์ วินิจฉัยความขัดแย้ง ธำรงหลักนิติธรรม ประกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของประชาชน (law & order)

3. จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างอิสระ เปิดเผยอย่างเต็มที่ (political participation)

4. จัดบริการสาธารณะทั้งในมิติทางสังคม โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ (socio-economic services & management)

หากพิจารณาตามเกณฑ์ทั้ง 4 ของร็อตเบิร์กซึ่งผู้เขียนจะเน้นไปที่มิติความมั่นคงซึ่งเป็นมิติที่สำคัญที่สุด เสริมด้วยมิติอื่นๆ

ในด้านความมั่นคงของประชาชน การที่รัฐบาลเลือกที่จะประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดการพื้นที่ของตนโดยอิสระและเบ็ดเสร็จ[7] อาจเป็นการแสดงออกถึงความพยายามในการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อไวรัสได้ทุกเมื่อ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การพยายามรวมศูนย์อำนาจมาสู่รัฐราชการส่วนกลางก็สะท้อนให้เห็นความไม่มั่นคงและต้องอาศัยอำนาจพิเศษตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์COVID-19 (ศบค.) ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการระดับสูงอย่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก[8]

ที่ผ่านมา รัฐไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่เดินทางของประชาชน ทั้งข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐนั้นไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือข้อมูลข่าวสารที่มาจากเอกชน หรือภาคประชาชน ในขณะที่การขยับตัวของพื้นที่ที่พลังการเมืองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เช่น ประกาศปิดจังหวัดบุรีรัมย์และอุทัยธานีด้วยมาตรการทางสาธารณสุข[9] ก็ล้วนเป็นการแสดงออกถึงความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐราชการส่วนกลางทั้งสิ้น

ทั้งนี้นอกเหนือไปจากความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตแล้ว ประเด็นเรื่องการเข้าไม่ถึงสินค้าจำเป็นอย่างหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ และน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ซึ่งขาดตลาดในประเทศแต่ปรากฏเป็นข่าวส่งออกไปยังต่างประเทศ[10] ก็สะท้อนความล้มเหลวในด้านความมั่นคงได้เป็นอย่างดี ในขณะที่การแถลงของคณบดีแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิริราช รามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องชุดตรวจเชื้อ COVID-19[11] ที่เป็นการแถลงโดยไม่ผ่านกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาล ก็ล้วนสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงให้ประชาชนทั้งสิ้น

สำหรับด้านการรักษาไว้ซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์ของรัฐ ในภาวะที่ COVID-19 ระบาด สอดคล้องกับมิติด้านความมั่นคงในชีวิตของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น ไต้หวันได้เริ่มตรวจตราผู้โดยสารจากอู่ฮั่นตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในช่วงปลายเดือนมกราคม และห้ามไม่ให้ผู้โดยสารจากจีนเข้าประเทศนับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ในขณะที่ชาวไต้หวันที่เดินทางมาจากจีนจะถูกกักตัวไว้ 14 วัน และทันทีที่มีผู้ติดเชื้อรายแรกในไต้หวัน รัฐบาลก็ห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยโดยทันที[12] หรือในกรณีของเกาหลีใต้ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 โดยระยะแรกตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้เคยมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงสุดในวันเดียวถึง 909 คน เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 จากการเจอ super spreader ที่แพร่เชื้อในวงกว้างทำให้คนติดเชื้อจำนวนมากในอัตราที่สูงเกินมาตรฐาน เกาหลีใต้ได้นำมาตรการเชิงรุกมาใช้แทบทันที ทั้งการกักตัว การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบเตือนภัยและแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ด้วยการส่งข้อความผ่านทางมือถืออีกด้วย[13]

ในส่วนของประเทศไทยนั้นตรวจพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 เป็นหญิงชาวจีนอายุ 61 ปี[14] แต่ทว่ากว่าที่จะมีการประกาศมาตรการที่เด็ดขาดในรับมือ COVID-19 ก็ล่วงเลยมาจนกลางเดือนมีนาคม อีกทั้งในช่วงเทศกาลตรุษจีนเมื่อวันที่ 25-26 มกราคมที่ผ่านมา ไทยยังจัดงานเทศกาลตรุษจีนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีนอีกด้วย[15] เมื่อเปรียบเทียบกับไต้หวันและเกาหลีใต้ที่สามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ ณ ขณะนี้ จึงถือว่ารัฐไทยดำเนินการได้ล่าช้าไม่ทันท่วงที ทำให้สถานการณ์การคุมโรคระบาดของไทยไม่สู้ดีนัก มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราววันละร้อยคน จึงเห็นได้ว่ารัฐไทยนั้นไม่สามารถรักษาระเบียบกฎเกณฑ์ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ จนนำมาสู่การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังที่กล่าวไปข้างต้นเพื่อจะรวมอำนาจมาสู่ศบค.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

และสำหรับอีกสองมิติคือการจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นในภาวะ COVID-19 รัฐราชการไทยยังมิได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนหรือภาคสังคมได้มีส่วนร่วมอย่างอิสระเต็มที่นัก ในส่วนมิติการจัดบริการสาธารณะทั้งในมิติทางสังคม โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจนั้น ท่ามกลางโรคระบาดที่ร้ายแรงและรวดเร็วเช่นนี้ มาตรการสำคัญคือการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และการทำงานที่บ้าน (work from home) ซึ่งรัฐควรสร้างแรงจูงใจและจัดให้ประชาชนสามารถดำเนินตามมาตรการดังกล่าวได้ด้วยการจัดบริการและโครงสร้างพื้นฐานบางอย่าง เช่น อินเตอร์เน็ต มาตรการลดค่าประปา ค่าไฟ ให้เป็นบริการสาธารณะหรือบริการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากที่สุดในช่วงวิกฤต

เห็นได้ว่าเราควรประเมินความล้มเหลวของรัฐในมิติด้านความมั่นคงเป็นหลักเนื่องจากรัฐบาลชุดนี้[16]ได้ชูประเด็นความมั่นคงเป็นจุดแข็งในการบริหารงานและการที่มิติเรื่องความมั่นคงเป็นหน้าที่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของรัฐ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจากข้อเท็จจริงขณะนี้รัฐราชการไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรรัฐที่มีแนวโน้มร้ายแรงขึ้นทุกขณะ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรคระบุว่า ณ ขณะนี้ (30 มีนาคม 2563) ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อ 1,524 คน เสียชีวิต 7 คน โดยผู้ที่ติดเชื้อมีอายุน้อยสุด 6 เดือน มากสุด 84 ปี อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยในไทยคือ 40 ปี[17] โดยมีผู้ติดเชื้อใน 7 วันหลังสุดตั้งแต่ 23 มีนาคม-30 มีนาคม รวม 925 คน[18] หรือเฉลี่ยมีผู้ติดเชื้อวันละ 132 คนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่

 

ทิ้งท้าย: หรือรัฐราชการจะพาเราไปสู่รัฐล้มเหลว?

 

ในแวดวงวิชาการระดับโลกระยะหลัง การศึกษาเรื่องรัฐเปราะบาง (fragile states) หรือรัฐล้มเหลว (failed states) เช่น รายงานเรื่อง fragile states โดย The Fund for Peace หรือการศึกษาเรื่องรัฐล้มเหลวของโจนาธาน ดี จอห์น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวของการเข้าไปแทรกแซงในประเทศต่างๆ เช่น โซมาเลีย เฮติ และอิรัก ของสหรัฐอเมริกา และการเกิดขึ้นของขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ แม้ข้อถกเถียงเรื่องรัฐล้มเหลวจะมีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่คำอธิบายส่วนใหญ่มักจะเป็นคำอธิบายในด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหาของรัฐล้มเหลวมักเป็นผลมาจากมรดกจากเจ้าอาณานิคมโดยเฉพาะหลังการปล่อยให้ประเทศอาณานิคมได้รับเอกราช

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การศึกษารัฐล้มเหลวอาจต้องย้อนกลับไปที่การทำความเข้าใจหน้าที่การทำงานของรัฐเสียก่อน ทั้งนี้ในการศึกษารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มักจะศึกษารัฐผ่านกลไกแบบมักซ์ เวเบอร์ รัฐที่ไม่สามารถดำเนินงานตามหน้าที่ขั้นต่ำจะถือว่าเป็นรัฐที่อ่อนแอ เปราะบาง และมีสมรรถภาพต่ำ ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดรัฐเหล่านี้จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว หรือรัฐที่ล่มสลาย

รัฐราชการภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคพลังประชารัฐ และเครือข่ายรัฐราชการถึงแม้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นรัฐล้มเหลวจากปัญหาความเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่มีผลกระทบในวงกว้าง และมีความซับซ้อน วิกฤต COVID-19 อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้รัฐราชการไทยที่ง่อนแง่นหมิ่นเหม่ต่อการล้มเหลวเต็มที มิอาจรักษาความชอบธรรมในการบริหารประเทศได้อีกต่อไป การที่รัฐราชการไทยเลือกใช้วิธีรวมศูนย์อำนาจด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมอำนาจเข้ามาสู่ตัวนายกรัฐมนตรีในการรับมือกับ COVID-19 จึงเป็นการนำพารัฐไทยไปสู่ความเป็นรัฐล้มเหลวที่ไม่สามารถประกัน/รับรองความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชนตามหน้าที่เชิงบวกของรัฐได้

รัฐใดที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต และใช้ชีวิตโดยปราศจากความกลัว รัฐนั้นย่อมไม่มีความชอบธรรมในการปกครอง

 

 

[1] รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต, ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] รัฐราชการ ในที่นี้ คือ โครงข่ายของตัวแสดงในระบบราชการที่มีการปรับตัวเพื่อรักษาอำนาจในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจสำคัญของประเทศมาตั้งแต่เกิดระบบราชการสมัยใหม่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ในการปรับตัวของรัฐราชการนั้น ลักษณะที่สำคัญคือการดึงเอากลุ่มพลังบางกลุ่มทางสังคมเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เช่น ตัวแสดงนอกประเทศ กลุ่มทุน ภาคประชาสังคม

[3] โปรดดูชัชฎา กำลังแพทย์ (2561) พลวัตและการปรับตัวของรัฐราชการไทย: กรณีศึกษาเปรียบเทียบรัฐราชการสมัยสฤษดิ์และรัฐราชการสมัย คสช.

[4] วสันต์ เหลืองประภัสร์. (2558). การรวมศูนย์อำนาจและการกระจายอำนาจกับการบริหารราชการแผ่นดินไทย: การทบทวนแนวคิด ข้อถกเถียงและข้อพิจารณาเพื่อการปฏิรูป. 

[5]เมื่อฝุ่น PM 2.5 เผชิญกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

[6]‘ไทย’ ติดอันดับ 6 ประเทศมั่นคงด้านสุขภาพ เป็นประเทศกำลังพัฒนาหนึ่งเดียวใน Top 10

[7] ทวิดา กมลเวชช: กาลเทศะของภาวะฉุกเฉิน

[8]'บิ๊กตู่' เซ็น 'คำสั่งนายกฯ' เซ็ตโครงสร้างภายใน 'ศบค.' 10 คณะ

[9] 09.00 INDEX จังหวะก้าว ปิดเมือง ‘บุรีรัมย์’ จังหวะก้าว ปิดเมือง ‘อุทัยธานี’

[10] ไวรัสโคโรนา : เปิดตัวเลขส่งออกหน้ากากอนามัยย้อนหลัง พบยอดส่งออก เดือน ม.ค.63 พุ่งกระฉูด เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 62

[11] คณบดีแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิริราชและรามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงข่าวเรื่องชุดตรวจเชื้อโควิด-19

[12] ความสำเร็จของไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

[13] ส่องแผนรับมือ COVID-19 ‘เกาหลีใต้’ ทำอย่างไรถึงเอาอยู่

[14] เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อCOVID-19 ในไทย เคส 1 - 47

[15] ททท.จัดงานเทศกาลตรุษจีน สานสัมพันธ์ 45 ปี การฑูตไทย-จีน

[16] รัฐแห่งความมั่นคง?

[17] รายงานสถานการณ์ โควิด-19

[18]สถานการณ์ไวรัส 'โควิด-19' ติดตามความคืบหน้าล่าสุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0