โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เมื่อฉันไปนั่งคุยกับ ‘เท่าพิภพ’ ส.ส.เขตของตัวเอง ให้เขารีวิวการทำงาน 1 ปีหลังเลือกตั้ง

The MATTER

อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 05.43 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 09.06 น. • Politics

เลือกตั้งผ่านมา 1 ปีเต็มๆ แล้ว หลังจากที่เกือบ 5 ปี ที่เราไม่มี ส.ส.เขต หรือนักการเมืองที่เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงของเราในพื้นที่

หลังจากที่ ส.ส.เขตแต่ละคน และแต่ละพรรค ได้ทำงานในวาระกันไป 1 ปีแล้ว นอกจากที่ ส.ส.หลายคน จะมีการย้ายพรรค ย้ายสังกัด ในแต่ละพื้นที่ เราคงได้เห็นการทำงานของ ส.ส.เรา ว่าพวกเขาได้ทำตามสัญญาในช่วงหาเสียงบ้างหรือไม่ ทำงานพัฒนาพื้นที่เราจริงหรือเปล่า ?

ซึ่งในโอกาสนี้ เราจึงมาคุยกับ 'เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร'  ส.ส. กทม. เขต 22 คลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี อดีตพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนี้ย้ายไปอยู่พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็น ส.ส.เขตของบ้านเราว่า ที่เราเคยขอให้มาติดไฟในพื้นที่มืดแถวบ้าน (ซึ่งตอนนี้ไฟมาติดแล้ว) เขาได้เห็นคำร้องเรียนของเราหรือไม่ พร้อมให้เขาได้รีวิวผลงานการเป็น ส.ส. และนักการเมืองของตัวเองใน 1 ปีว่า เป็นอย่างไรบ้าง ?

พี่เคยเป็นทั้งไกด์นำเที่ยว คนขายเบียร์ หรือนิติกร เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งตัวเองจะมาเป็นนักการเมือง

พี่ว่าคนรุ่นเรา อายุ 30-40 ลงมา เชื่อว่าหลายๆ คน คงคิดว่า นักการเมืองมันไม่ใช่อาชีพ หรือมันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือต้องเป็นลูกหลานนักการเมือง อยู่ในตระกูลการเมืองถึงจะเป็นได้ ต้องมีตังค์ หรือเป็นเรื่องของผู้ชายอายุ 40-50 ปีที่มีตังค์ และค่อยมาทำการเมือง มันเป็นสิ่งที่คนอาจจะไม่กล้าฝัน หลายคนคงเคยมีความคิดนี้

พ่อพี่เคยลง ส.ว. แต่ก็ไม่ได้นะ เราเลยรู้สึกว่าการเมืองมันไม่ได้ไกลเท่าไหร่ แต่ก็รู้ว่ามันมีค่าใช้จ่าย เรามาทำพรรคนี้ เพราะเราอยากมีพรรคที่เราเลือก การเมืองมันมีส่วนร่วมได้หลายระดับ ถามว่าเป็นนักการเมืองมันคืออาชีพ แต่การมีส่วนร่วมทางการเมือง มันมีได้ทุกคน แฮชแท็กในทวิตเตอร์ ไปเลือกตั้ง ดูข่าวแล้ววิพากษ์วิจารณ์ มันก็เป็นการทำการเมืองส่วนนึงแล้ว มันก็อยู่ในส่วนหนึ่งในสายเลือด เราปฏิเสธไม่ได้

แต่ก่อน การเข้าถึงการเมืองมันดูยาก แต่พอมีพรรคอนาคตใหม่มา เราก็มีส่วนเป็นผู้จดจัดตั้งพรรค ช่วยสร้างมาเรื่อยๆ ก็ไม่คิดว่าจะลงสมัคร ส.ส. คือ ลงก็ได้ ไม่ลงก็ได้ ไม่ได้อยากได้ตำแหน่ง แต่แค่อยากทำพรรคให้ดี เป็นพรรคที่เราอยากเลือก แค่นั้นเอง แต่พอได้รับโอกาสให้ลงสมัคร เราก็ทำเต็มที่ เราไม่คิดว่าจะได้ พวก ส.ส. เขตที่ลงตอนแรก ก็ไม่มีใครคิดหรอกว่าจะได้เป็น ส.ส.เขต แต่มันก็เป็นไปได้แล้ว เราเลยได้มาอยู่ตรงนี้ ตอนหาเสียงเราก็เต็มที่ ตอนนี้เราก็เต็มที่

มันก็ 1 ปีที่พี่อยู่ในวาระตั้งแต่เลือกตั้ง อยากให้รีวิว 1 ปี การเป็น ส.ส.ของตัวเอง คิดว่าชีวิตนักการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง

คือทุกๆ วันมันไม่เหมือนเดิม การเดินทาง 1 ปีนี้มันหนักมาก เหมือนอยู่ในทะเลที่คลื่นลมแรง และเราก็ไม่เคยเป็นกะลาสี หรือออกเรือไปไกลขนาดนี้ เคราะห์ร้าย ยังโดนพายุถาโถม เรือแตก แต่ยังโชคดี คว้าแผ่นไม้ไว้ได้ ยังลอยเกาะกลุ่มกันอยู่ มันเป็นฟีลนี้เลย มันก็เหนื่อย แต่มันก็ท้าทายดี สนุกบ้าง มีทุกข์บ้าง

เราก็ยังมีกำลังใจไปต่อนะ ทั้งๆ ที่โดนอะไรมาเยอะ และเรายังเชื่อว่า คนธรรมดาก็สามารถทำการเมืองได้ ยังสามารถมีส่วนร่วมได้ มันไม่ยากเกินไป มันก็ต้องใช้แพชชั่น ช่วงแรกๆ มันอาจจะยาก แต่ตอนนี้เราก็รู้สึกว่า มันเริ่มลงตัว เราเหมือนทำหลายอย่าง ทำตอนแรกมันจะช้า แต่พอเราทำไปมันจะเริ่มรู้หลัก เริ่มรู้ช่อง และง่ายขึ้น แต่สุดท้ายมันก็จะมีอะไรใหม่ๆ มาเรื่อย มันก็เป็นคลื่น หรืออุปสรรคลูกต่อมา ที่ข้ามไปได้ และก็ง่ายขึ้น

ตอนนี้รู้สึกดี อยู่ตัวในงาน พื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ หรืองานในสภา ครั้งแรกตอนไปพูดในสภา ได้พูดอยู่ 2 นาที เราซ้อมอยู่ 3 วัน พูดคำว่า ‘นะครับ’ อยู่ประมาณ 40 รอบ แต่มันก็มีความเปลี่ยนแปลง พอมาถึงตอนนี้ ถ้าไม่มีคนอภิปราย เราก็เอามาอ่านๆ ก็พูดได้ 5 นาที หรือ 8 นาที พออีกครั้งมา เราไม่ต้องอ่านเลย พูดได้เลย ซ้อมมาแต่ก็ไม่ต้องดู ส่งเลย อยากเป็นทิม พิธาอะครับ (ขำ) มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็พยายามให้ถึงที่สุด ในแบบของเรา พยายามดูรุ่นพี่คนอื่นในสภา ดูว่าต่างประเทศทำยังไง ก็ถือว่าเป็น 1 ปีที่ได้ประสบการณ์เยอะมาก และมันประเมินค่าไม่ได้

พี่ทำทุกอย่างด้วย เพราะ ส.ส.บางคนดูพื้นที่ บางคนทำประเด็นอย่างเดียว บางคนก็บริหารพรรค บริหารงานการเมือง แต่เราทำทุกอย่าง อย่างละนิด มันเลยครบดี อายุ 31 ปี เราได้เป็น ส.ส. และได้ทำพรรค 2 พรรค ภายใน 2 ปี มันก็เป็นโอกาส และสกิลที่เราได้ ได้เห็นอะไรที่เจ๋งๆ เยอะ

แล้วสำหรับการลงพื้นที่ ใน 1 ปีที่ผ่านมานี้ละ

ดีนะ ส่วนใหญ่เวลาไปเขาก็ต้อนรับ เขาก็ดีใจที่ ส.ส.มาเจอ จะชอบเรา หรือไม่ชอบเราก็เจอหมด เราก็คุยหมด สุดท้ายการเป็นนักการเมือง มันรู้ซึ้งตรงนี้ คือเราต้องเอาความคิดของเรา ที่เราอยากเสนอ ส่งไปถึงเขา แล้วให้เขาคิดแบบเราให้ได้ คือคุณต้องทำงานทางความคิด

หน้าที่ ส.ส.มันคือการออกกฎหมายในสภา หรือการเป็นปากเป็นเสียง ไม่ได้มีหน้าที่มาขุดลอกคูคลอง หรือแค่ฉีดยุงอย่างที่คนเข้าใจ เราต้องบริหารความคาดหวังของคน เราไม่ได้เป็น ส.ส.ที่มีเงิน และเอาเงินจากที่ไหนมาแจก เหมือนแต่ก่อน มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงระหว่างการเมืองเก่า และการเมืองใหม่ เลยรู้สึกว่าเราต้องปรับความเข้าใจกับคนอีกเยอะ คนก็พอเข้าใจนะ พอเราอธิบายตรงๆ มันก็มีชุดคำอธิบายของเราที่บอกเขาว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ เราก็พูดตรงๆ ว่ากฎหมายเป็นแบบนี้

สุดท้ายมันก็สร้างความกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกว่า หรือเขาอยากให้เราผิดกฎหมาย คุณไม่ชอบนักการเมืองโกง ผมก็เป็นให้ แต่หน้าที่อื่นผมก็ทำ ใครร้องเรียน ผมก็ไป ซึ่งหลักๆ ตอนนี้ก็คือเรื่องการสร้างรถไฟฟ้า สร้างคอนโด ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA

พี่เชื่อว่า ส.ส.ที่ดี คือ ส.ส.ที่ทำประเด็นเล็กระดับเขตให้เป็นประเด็นระดับชาติให้ได้ เราต้องผลักดันมันขึ้นไป คงไม่ใช่เขตเราเขตเดียวที่ประสบปัญหานี้ เขตอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเหมือนกัน เราก็ส่งเสียงของประชาชน เอาประเด็นปัญหาเหล่านี้ ผลักดันมันขึ้นไปให้ได้

มันดีเสมอนะ เวลาเราได้เจอคน เรารู้สึกดีกว่าอยู่ในสภา หรืออยู่บ้าน บางทีเราไปนั่งคุยเล่นๆ ในบ้านเขา ในร้านขายของชำ หรืองานวัด การใกล้ชิดกับประชาชนมันเหนี่ยวรั้งเราไว้ และทำให้เรารู้ว่าเราเป็นใคร เราก็มาจากคะแนนเสียงของเขา เขาก็เป็นเจ้านายเรา เราก็ต้องอ่อนน้อมต่อประชาชน แต่พอถึงวันไหนที่เราต้องต่อสู้กับความอยุติธรรม เราก็ต้องยืนตรงต่อสู้กับมัน มันก็เป็นหน้าที่ และข้อผูกพัน ของ ส.ส.อดีตอนาคตใหม่

สำหรับพี่เท่า อะไรคือความยาก และความท้าทายของการเป็น ส.ส.เขต ใน 1 ปีที่ผ่านมา

การทำให้พรรคไม่โดนยุบ น่าจะยากที่สุดแล้ว (ขำ) ยากที่สุดคือการจัดสรรเวลาส่วนตัว กับเวลาพักผ่อน

 

แล้วการเป็น ส.ส.ของฝั่งธนฯ หล่ะ คิดว่าแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ยังไง มีอะไรที่เราอยากทำในพื้นที่นี้บ้าง

จริงๆ แล้วการเป็น ส.ส.ในพรรคที่ก้าวหน้า ในพื้นที่ที่อนุรักษ์นิยมนี่ยากมาก ฝั่งธนฯ มีความชาตินิยมแบบคนฝั่งธนฯ เยอะ มันมีความเก่า แต่ทุกคนดีนะ ทุกคนมีความรู้ที่ดีเรื่องการเมืองมาก เดินไปไหนมาไหน ไปคุยการเมืองกับพวกเขา เขารู้เรื่องหมดเลย มันเลยง่าย พอเราอธิบายว่า เราไม่มีตังค์มาให้ แบบนั้นแบบนี้ เขาเข้าใจ ค่อนข้างจะเป็นพื้นที่ที่คนฝักใฝ่การเมือง โดยเฉพาะเขตที่ติดแม่น้ำ แต่ตอนนี้มันก็เป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคที่เริ่มมีคอนโดผู้อยู่ใหม่เข้ามาเรื่อยๆ และก็มีความเปลี่ยนแปลง

ที่นี่ยูนีคนะ วัดเยอะ วัดหลวงเยอะ แต่คนก็ทะเลาะกับวัดเยอะ ทะเลาะกับเจ้าอาวาส งงมาก และถ้าจะเปรียบเขตนี้กับที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ เราว่าชุมชนที่นี่ค่อนข้างเข้มแข็ง และมีความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรมเยอะ เดินไปซอยนึงมีชุมชนคนไทย-เนปาลอยู่ เดินไปอีกเป็นวัด สลับมาเป็นโบสถ์ มีเก๋งจีน ข้ามถนนมาเป็นมัสยิดอยู่รวมกัน สนุกดีนะ มันมีสเน่ห์ ของกินอร่อย

มันเป็นที่อยู่อาศัยที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุดแล้วเราว่า ใกล้สาทร แต่ก็ไม่ใช่เมืองจ๋า ตรอก ซอก ซอยเยอะ น่าค้นหา ลึกลับๆ หน่อยๆ มันคือ Real Bangkok มาก เป็นเดินไปบางที คนก็สอยชมพู่มาให้กิน มีสวนอยู่ด้านในแต่หันไปติดรถไฟฟ้า หาเสียงสนุกสุดแล้ว ที่นี่

มีประสบการณ์ที่ชาวบ้านในเขตเคยมาร้องเรียนอะไรแปลกๆ ที่เราไม่รู้ต้องทำอย่างไรไหม

ก็เยอะนะ บางทีคนก็ไม่รู้ว่าอันไหนเราทำได้ เราทำไม่ได้ ส.ส.บางคนอาจจะให้เบอร์ผู้ช่วยกับประชาชน แต่พี่ให้เบอร์คนตลอดเลย มีอะไรให้โทรมา แต่ก็ไม่มีใครโทรมาเท่าไหร่เลย เราเอาใบหาเสียงเขียนเบอร์ให้เลยนะ เขาก็รู้สึกประทับใจ ให้เบอร์ติดบ้านไว้ แต่มันก็มีกระบวนการของมัน เขาก็ไปร้องเขตบ้าง ร้องเราบ้าง แต่เราก็ต้องไปร้องเขตอีกที

เรื่องแปลกๆ ก็เยอะ เคยมีคนมาร้องว่าโดนติดตามด้วยคลื่นไมโครเวฟ โดนดาวเทียมติดตาม ให้เราช่วย หลอนๆ ก็มา หรือก็เคยโดนมาร้องว่า ต้องเปลี่ยนประเทศไทย ให้กลายเป็นด้ามขวาน ขวานไทยจะแข็งแรงได้ เป็นเหมือนลัทธินึง ก็แปลกดี เราก็รับฟัง ก็สนุกดีนะ

อย่างที่บอก ทุกวันมันไม่เหมือนกัน ทุกวันเหมือนเกม ตื่นมาเปิดว่า ใครร้องเรียน เป็นเควสอะไร วันนี้ต้องไปไหน วันนี้ต้องประชุมเขต ไปดูท่อ ไม่เหมือนกันเกินจนทำทุกอย่าง มันแย่ตรงนี้ที่ทำไม ส.ส.ต้องทำทุกอย่างขนาดนี้ เป็นระบบการกระจายอำนาจที่แย่มาก ถ้าเรามี ส.ก. ส.ข. ที่มีอำนาจ ส.ส.ไม่ต้องทำอะไรแบบนี้ เราก็ประชุมสภาไป

แต่คือประชาชนก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดด้วย ถ้าคาดหวังให้ ส.ส.ตอบแทนประชาชน ก็จะเกิดงูเห่า เพราะเราต้องไปเอาตังค์มา เพราะคนเรียกร้องให้เราต้องใส่ซอง มันก็ไม่เปลี่ยน การเมืองมันก็จะสกปรกเหมือนเดิม

เราก็เคยมาร้องเรียนพี่เหมือนกัน เรื่องขอให้ติดไฟ เพราะตรงทางลง MRT ท่าพระ มันมืดมาก 

จริงปะ น้องเองหรอ นี่พี่เอาไปพูดในสภาด้วยนะเรื่องนี้ ตอนนี้ก็มาติดไฟแล้วนะ นี่แหละ เราอยากผลักดันเรื่องแบบนี้แหละ จากเขตไปสู่สภาด้วย

พูดถึงพี่เท่า หลายคนก็จะนึกถึง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ทำไมเราถึงอยากผลักดันเรื่องนี้เป็นพิเศษ

มันเริ่มมาจาก ตอนนั้นที่เราเริ่มทำพรรคการเมือง เพราะรู้สึกว่ามันไม่มีใครที่เป็นตัวแทนของเราเลย ในฐานะที่เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีใครทำประเด็นนี้ ไม่มีใครแตะเลย ตอนนั้นไม่มีสภา ไม่มีใครมาแก้ไขกฎหมายให้เรา ในฐานะที่เรามาอยู่ตรงนี้แล้ว เราก็อยากผลักดันเพื่อให้ เพื่อน พี่น้องในวงการ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คนเปิดบาร์ คนทำสุราชุมชน ซึ่งเขาไม่เคยมีตัวแทนเลย

เรื่องนี้มันก็เป็นนโยบายหลักของพรรค และก็เป็นนโยบายที่เราหาเสียงด้วย เรื่องทุนผูกขาด เพราะสุดท้ายเราเชื่อว่า ประเทศไทยไม่ได้จนหรอก แต่เราไม่มีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เพราะว่ากฎหมายบางอย่างมันเอื้อให้กับคนบางคน มันเกิดจากอำนาจเผด็จการ หรือการรวมศูนย์อำนาจ หรือการที่มีนายทุนเอาเงินเข้าไปใส่ในการเมืองมากเกินไป มันทำให้เสียงของประชาชนเจือจางลงด้วยเงิน ส.ส.แต่ละคนอาจจะฟังนายทุนที่เอาเงินมาให้ มากกว่าฟังประชาชนในเขตตัวเอง

ถามว่าทำไมไม่มีคนทำ มันก็เข้าใจได้ว่าแต่ก่อน การเมืองคือเรื่องอำนาจ กับเงิน เราต้องทำลายตรงนี้ ถ้าเราอยากทำการเมืองให้ดีขึ้น ให้เป็นการเมืองที่เป็นตัวแทน หรือเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนคนธรรมดาแบบเรา เลยอยากพิสูจน์ ถ้าทำไม่ได้ จะรู้สึกเฟลถ้าหมดสมัย รู้สึกแย่ ซึ่งมันเหมือนกับเป็นเป้าหมายหลักของเรา

ตอนนี้ กระบวนการใน พ.ร.บ. ตัวนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ร่างเสร็จแล้ว ก็กำลังรับฟังความคิดเห็นของคน อธิบายให้คนฟังและเข้าใจ หาแนวร่วม รณรงค์ ซึ่งจริงๆ แล้วจะยื่นตั้งแต่ก่อนปิดสมัย แต่พรรคโดนยุบก่อน ก็เลยพักไว้ก่อน คือมันไม่ได้ทำคนเดียว กระบวนการทางการเมือง เราว่ามันต้องมีเสียงนำ คือเสียงของประชาชน เราถึงจะผ่านไปได้ ถ้ามีเสียงของประชาชนนำ ในสภาก็ต้องโหวตตามอยู่แล้ว มันมีแรงกดดันจากสังคม ซึ่งมันก็ค่อนข้างไปได้สวย ในสภาและนอกสภา

นอกจากเรื่องนี้ มีเรื่องไหนที่คิดว่า ก่อนหมดสมัยต้องทำให้ได้

เรื่องผลักดันประเด็นของเขต และสิ่งที่อยากพัฒนา ผลักดันอีกอย่างคือ ระบบขนส่งสาธารณะของฝั่งธนบุรี โดยใช้เรือตามลำคลอง เหมือนที่ฝั่งนู้นเขามีคลองแสนแสบ มันก็เป็นไปได้เรื่องเรือเมล์ และก็พยายามดึงภาคประชาสังคม อย่างยังธน หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยบางมด กลุ่มจักรยาน นักพัฒนาเมือง มาช่วยเรา

เราอยากเป็นปากเป็นเสียงให้เขา คือเขาทำทุกอย่าง เขามีความรู้มากกว่าเราอยู่แล้ว คือ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องเก่งก็ได้ แต่ต้องใจกว้าง และมีวิสัยทัศน์ เราก็พยายามสนับสนุนสิ่งที่มันดีๆ และพยายามเป็นปากเป็นเสียงให้เขา อยากทำทางจักรยานด้วยนะ เราก็อยากทำหลายๆ อย่างอีกเยอะ

 

คุยเรื่องพื้นที่กันไปแล้ว อยากรู้เรื่องบรรยากาศในสภา เวลาพี่เข้าไปนั่งทำงานในนั้น ฟังคนอื่นอภิปราย เป็นยังไงบ้าง

คนนอกอาจจะมองว่ามันคือการเมือง จะประท้วงอะไรกันไร้สาระ แต่ถ้าพูดไปตามตรง สภามันเป็นที่เหมือนโรงละคร สิ่งที่เราเห็น กับความเป็นจริงอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ในทางกลับกันสภาก็เป็นที่ที่ผู้คนต้องพูดความจริง สะท้อนเสียงประชาชนที่ต้องการออกมา

การทำหน้าที่มันก็มี 2 ฝั่ง ฝั่งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล บางทีก็ไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ต้องทำ ตามหน้าที่ของเขา ต้องประท้วง ต้องขัดจังหวะ เป็นแท็กติก เป็นเกม แต่ภายหลัง พออธิบายกันเสร็จ ส่วนใหญ่ก็มาจับมือกันนะ ล่าสุดก็มีมาคุยกันว่า สุดยอดมาก ประท้วงตั้งเยอะ ไม่หลุดเลย มันก็เป็นบทบาท

สุดท้ายสิ่งที่อยู่ในสภา ถ้าเราเอาไปเก็บเป็นเรื่องส่วนตัวเราก็ตาย เราต้องปล่อยๆ ไปบ้าง ยิ่งไปมีอารมณ์ยิ่งแย่ การได้รับการยอมรับนับถือในสภา มันคือความเป็นมืออาชีพ เพราะทุกคนทำหน้าที่ สุดท้ายแล้วจะมาโกรธกันเรื่องงานไม่ได้ ต้องแยกแยะให้ออก

สภาเป็นระบบที่ดีนะ อาจจะดูเชื่องช้า แต่มันเป็นอะไรที่ทุกคนต้องทำข้อตกลงอะไรบางอย่าง ในการจัดสรรทางการเมืองให้ประชาชน เป็นรูระบายไอน้ำที่เดือดๆ ของสังคม การที่ให้นักการเมือง เป็นตัวแทนความคิดของประชาชน มันปลอดภัยกว่าบนท้องถนนอยู่แล้ว การที่ผลักคนออกจากสภา ไม่ใช่ทางที่ดีเลย

คิดอย่างไร ที่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เลือกตั้ง เมื่อเห็นภาพพรรคตัวเอง หรือแกนนำของพรรค โดนคดีมากมาย นับไม่ถ้วน จนมาถึงการยุบพรรคในที่สุด

เราก็รู้แหละ ว่ามันต้องโดนแน่ เลยไม่ได้แปลกใจ ก็เตรียมใจตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้ามาในพรรคนี้ โดยเฉพาะในสภาพสถานการณ์พิเศษที่ยังมีความเป็นเผด็จการอยู่ มันก็คาดการณ์ได้ พี่ว่าธรรมชาติของนักการเมืองมันคือการคาดการณ์ ถ้าเรามองออก คิดว่าเขาจะเดินเกมยังไง แล้วเราจะรู้ว่าต้องทำยังไง ต้องพูดยังไง

จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ควรเฉยนะ มันเป็นความอยุติธรรมที่ทุกคนต้องรู้สึกอยู่แล้ว แต่พี่อยู่วงในจนมันชิน เจอมาเรื่อยๆ ตลอด 2 ปี จะยุบตั้งแต่ยังไม่มีชื่อพรรค เลยไม่ได้แปลกใจอะไร แต่ก็เข้าใจว่าวันนี้ทุกคนก็คิดเหมือนเรา รู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก แล้วจริงๆ ทุกคนก็ควรจะออกมา ช่วยกันปกป้องคนที่ทำถูก แต่เจอความอยุติธรรมแบบนี้ เพราะวันนึงมันอาจจะเป็นคุณก็ได้ พี่ว่าคนไทยรักความยุติธรรมนะ พอเราเห็นอะไรที่ไม่ยุติธรรม คนก็โกรธ

แล้วกับการที่เห็น ส.ส.ในพรรค มีจำนวนลดน้อยลง เรื่อยๆ ละ

เฮ้อ (ถอนหายใจ) ก็รู้ว่าต้องมีคนไป ถามว่าจำนวนโดยรวมก็รู้สึกโอเค ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่บางคนเราก็ไม่ได้คาดการณ์จริงๆ พี่บางคนก็สนิทกับเรา เราก็ไม่รู้เลยว่าเขาจะไป เสียใจนะ แต่ถามว่าโกรธไหม ไม่ได้โกรธเขาเลย

รู้ว่าทุกคนมีปัญหาในเขตบ้าง คือพี่โชคดี เจอเขตที่ดี หลายๆ คนที่ดี เขาโอเคกับสไตล์เรา แต่บางที่ไม่โอเค บางที่เจอคนไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานเขาเลย เขาก็มีเหตุผลที่เลือกทางนี้ แต่ถามว่าเรา ในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพ ถ้าเราเป็นมืออาชีพ เราต้องอย่าเอาอารมณ์มา

เราเสียใจ และเราก็ไปคุย บางคนก็คุยไปแล้ว เราก็บอกเขาว่า ผมเสียใจ พี่ขอโทษผมก่อน ก็จบ ทำการเมืองมาไม่ค่อยเสียใจ มีเรื่องนี้แหละ ที่เรานับถือ เป็นพี่น้องกัน ผ่านอะไรด้วยกันมา  สุดท้ายมันก็ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูที่ถาวร คนก็เปลี่ยน

 

เปิดตัวพรรคใหม่ไปแล้ว คิดว่าการไปอยู่พรรคใหม่ เปลี่ยนอะไรเราเยอะไหม

ในแง่ของพรรค พรรคน่าจะดีขึ้น บริหารความคาดหวังของคนในพรรคได้ดีขึ้น เรื่องโครงสร้างพี่ก็รับผิดชอบ ช่วยดูโครงสร้างด้วย ก็ทำองค์กรเราให้มันลีนกว่านี้ พรรคเก่าเราฝันไว้ไกลมาก พอเราผิดพลาด เราก็เรียนรู้ ทำใหม่ มองว่ายุคนี้คือยุค พิสูจน์ตัวเองแล้ว ยุคแรกเราบุกทะลวงฟัน บู๊ซะเยอะ ยุคต่อจากนี้ก็น่าจะปรับเปลี่ยนไป

กลยุทธ์ที่ดีคือการเลือกว่าจะไม่ทำอะไร เพราะปกติเราจะเลือกอยากทำทุกอย่าง ถ้าเราเลือกทำนู้นนี้ทุกอย่าง คือไม่ต้องมีกลยุทธ์ คือขยัน แต่ที่เราเรียนรู้คือ เราจะทำอะไร และเราจะเลือกไม่ทำอะไร เราจะลีนแค่ไหน มันก็เป็นวิธีใหม่ ที่น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่สุดท้ายสิ่งที่ยึดโยงเราก็คือ อุดมการณ์ อ่อนน้อมต่อประชาชน ยืนตรงต่อความอยุติธรรม เราก็ต้องหนักแน่นในตรงนี้

เราก็มีเป้าหมายว่าจะทำให้ดีกว่ายุคของ ธนาธร กับ อ.ปิยบุตร เราไม่อยากเป็นเหมือนพรรคเพื่อนบ้าน ที่ไม่มีหัวหน้าก็ดิ่งลงเรื่อยๆ พี่อยู่จนสุดท้าย แต่ไม่ใช่สุดท้ายวาระของพรรค สุดท้ายของวาระชีวิตพี่ พี่ก็ไม่อยากให้มาตายในน้ำมือเรา เราก็อยากทำให้ดีขึ้น

พรรคเราก็คุยกับพรรคอื่นตลอดเวลา คุยกับผู้มีอำนาจ เจรจาแบ่งอำนาจกันในประเทศนี้ มันก็ยังเป็นไปไม่ได้ที่ฝั่งทหารจะเหลืออำนาจเป็นศูนย์ แต่อย่างน้อยประชาชนก็ต้องได้มากกว่า นี่แหละคือการเมือง การจัดสรรอำนาจ

ส่วนในมุมต่อตัวเอง มันก็เปลี่ยนไปแหละ ไม่ได้เปลี่ยนในเชิงนิสัย แต่รู้สึกว่าจะเหนื่อยขึ้นมาก เหมือนสถานการณ์บังคับให้เราต้องเปลี่ยนมาเป็นแกนนำ มาอยู่ด้านหน้า ก็ต้องช่วยกันไป ยิ่งคนน้อยลง มันเป็นอนาคตที่เรายังไม่รู้ แต่เรารู้ว่าเราต้องทำ

ก่อนเลือกตั้ง เรามักพูดว่า การเลือกตั้งจะทำให้ประเทศได้เดินหน้า พี่เท่าคิดว่า 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศเราได้เดินหน้ามากขึ้นแล้วหรือยัง

ก็เดินหน้าในแง่ของการมีสภา  มีตัวแทน ก็ดีขึ้นนะ มีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นใน 1 ปี มีม็อบนักศึกษา มีสภา มีอนาคตใหม่ มีการขับเคลื่อนประเด็น มีการทำงานการเมืองที่สร้างสรรค์ แต่สุดท้ายก็โดนฉุดรั้งเหมือนเดิม โดนตัดแขน ตัดขา ไม่ให้วิ่ง

เรารู้สึกว่า หลายอย่างมันก็ไม่ได้เดินหน้าจริงๆ ต้องยอมรับว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่ก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะเป็นรัฐบาลเดิม มันเหมือนเดิมจะไปดีขึ้นยังไง แทนที่มีจุดเปลี่ยน แล้วคนจะมั่นใจ มันก็ไม่ใช่ ถามว่าก้าวไปข้างหน้าไหม ก็คงเหมือนที่ อ.ปิยบุตรบอกว่า เหมือนเราเดินไปข้างหน้า แต่จริงๆ แล้วเราเดิน moon walk ถอยหลัง บางแง่มันก็ก้าวหน้าไป แต่โดยรวม บวกลบคูณหารแล้วก็ถอย หรือไปดู GDP ก็ได้ ก็จะเห็นว่ามันลด

คิดว่าอะไรยังเป็นกับดัก ที่ทำให้ 1 ปีที่ผ่านมา เราเดินหน้าได้แค่นี้ หรือเดินหน้าไม่ได้อย่างที่คิดไว้

รัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เราเลือกตั้งมาก็ได้นายกฯ คนเดิม มี ส.ว.ต่างๆ แล้วมันก็ทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ นอกจาก ส.ว.แล้ว ยังมีการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันอย่างมโหฬารจากหลายๆ พรรคที่มีรัฐบาลผสม อย่างง่ายๆ การแก้ไขปัญหา อย่างไวรัส พรรคนึงที่ดูแลกระทรวงนึงบอกอย่างนึง อีกพรรคที่ดูแลอีกด้าน บอกอย่างนึง มันเหมือนทุกอย่างในประเทศไทยแตกแยก การบริหารแผ่นดินไม่มีเสถียรภาพ นายกฯ ก็ไม่สามารถรวมทุกคนได้ รัฐมนตรีแต่ละพรรคก็เหมือนอยู่คนละประเทศ ไม่คุยกัน ผลพวงมันก็มาจากรัฐธรรมนูญ

 

อีก 3 ปี ก่อนจะถึงเลือกตั้งครั้งหน้า มองประเทศในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่ายังไง คิดว่าตัวเองจะยังลงสมัครอีกไหม

3 ปีหน้า เราต้องลงอยู่แล้ว ในการเป็น ส.ส.เขตมันปฏิเสธไม่ได้ว่า จะไม่ลง เราไม่ได้ลงเพราะเราอยากได้อีกครั้ง แต่เราอยากประเมินตัวเองว่าเราผ่านหรือเปล่า อยากให้ผู้คนได้ลองประเมินเรา ทำการเมืองมันอยู่ตรงไหนก็ได้ ถ้าได้ หรือไม่ได้ เราก็ยังจะอยู่ในแวดวงการเมือง ไม่ไปไหนหรอก พยายามเป็นปากเป็นเสียงให้คนต่อ

คิดไหมว่าตัวเองจะไปไกลกว่า ส.ส.เขต หรือเป็นมากกว่านี้

พี่คิดว่าเป็น ส.ส.มันไม่พอ แต่มันก็เป็นความสวยงามของประชาธิปไตยนะ เป็น ส.ส.เขตเราก็เป็น 1 ใน 500 ส.ส. แต่ไม่พอ พูดแล้วอาจจะดูไม่ดี คือเราอยากได้อำนาจมากกว่านี้ แต่อำนาจนี้ เราก็อยากเอามาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ประชาชน เราเลยมองว่าแค่นี้มันได้ในระดับนึง

ตั้งเป้าไว้ที่ไหน

ประธานสภา อยากทำให้สภามีประสิทธิภาพ เรารู้สึกว่าบางเรื่องไม่ต้องพูดกันยาวก็ได้ อย่างสภาต่างประเทศ เขาก็ใช้เวลากันไม่กี่นาที มันทำให้เรื่องพิจารณาไปได้ไว มันดีกว่า คุ้มค่ากว่าต่อประชาชน เราก็อยากทำให้การทำงาน การมีส่วนร่วมกับประชาชนดีขึ้น ทำให้ระเบียบแบบแผนเก่าๆ อะไรที่เปลี่ยนได้ ก็อยากเปลี่ยน ถ้าทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ให้สภาเป็นที่ศักสิทธิ์ และเป็นเครื่องจักรประชาธิปไตยที่สำคัญของประชาชนได้จริงๆ

ตอนนี้มันก็เหมือนเป็นยุคเริ่มต้น เราก็เริ่มเห็นสภาที่เปลี่ยนแปลงไป คนก็เริ่มสนใจสภากันเยอะขึ้น แต่เราก็อยากทำให้มันได้ดี และดีต่อประชาชนมากที่สุด

Photo by  Asadawut Boonlitsak

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0