โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อความเครียดต้อนเราซะจนมุม มนุษย์มีกลไกต่อต้านยังไงกันบ้าง? - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 24 มี.ค. 2563 เวลา 12.52 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (1856 – 1939) นับได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในบิดาแห่งจิตวิทยา พวกเราก็เรียกกันว่าคุณปู่ฟรอยด์ เขาเชื่อว่า หากเราจะเข้าใจใครแต่ละคนได้อย่างลึกซึ้ง เราต้องดิ่งลงไปขุดก้นบึ้งของความรู้สึกนั้นออกมาและทำความเข้าใจจากจุดเริ่มต้นซะก่อน

.

.

ลักษณะนิสัยแต่ละอย่างที่เราแสดงออกมาให้คนภายนอกเห็น คุณปู่ฟรอยด์เชื่อว่า ลึกลงไปกว่านั้น จิตใจของเรามี 3 ทีมสมอง แก่งแย่งชิงดีกันเพื่อจะโชว์ออกมาเป็นนิสัยที่เห็นกันข้างนอก

  • ID (อิด)

คือแรงปรารถนาทุกอย่างมาจากก้นบึ้งที่มนุษย์โหยหา ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความโวยวายก้าวร้าว การโหยหากามอารมณ์ทั้งหลาย ฯลฯ มันคือความต้องการที่บริสุทธิ์มาก ไม่มีการคัดกรองใดๆ เป็นความคิดแรกที่พุ่งขึ้นมาในหัวเมื่อมีบางอย่างมาปะทะจิตใจเรา

  • Superego (ซุเปอร์อีโก้)

คือความต้องการที่อยากให้ตัวเองเผยโฉมต่อสาธารณชนอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด พยายามอยากทำทุกอย่างให้คนยกย่องเชิดชู จึงเกิดเป็นความรู้สึกผิด โทษตัวเอง กดดันต่างๆ เมื่อมันไม่ได้ดั่งใจ

  • Ego (อีโก้)

เจ้าตัวนี้แหละที่คอยสร้างสมดุล ตบๆๆ ให้เจ้าอิดและซุเปอร์อีโก้มันผสมรวมกันได้อย่างลงตัวพอดี อีโก้เป็นตัวที่สมเหตุสมผลที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น เราเห็น เด็กสี่ขวบเดินมาพร้อมไอติมน่ากินในมือเธอ ‘อิด’ ก็เกิดความคิดพุ่งขึ้นมาเลยว่า ต้องการจะกิน!! แต่ ‘ซุเปอร์อีโก้’ ก็ฉุดไว้ได้ว่า เห้ย อยู่ดีๆ จะเดินไปขโมยไอติมจากเด็กน้อยคนนั้นมันไม่ได้ บ้ารึเปล่า ไร้ความรับผิดชอบจังเลยคิดมาได้ยังไง (ซุเปอร์อีโก้เริ่มว่าตัวเอง) จน ‘อีโก้’ ต้องเข้ามาเบรกว่า เออ ไม่เป็นไร เข้าใจว่าอยากกิน งั้นก็เดินไปซื้อไอติมของเรากินเองละกันเนอะ ไม่ต้องโกรธตัวเองขนาดนั้นก็ได้ à ปรับให้ความรู้สึกเรามันกลับมาอยู่ในระดับคงที่เหมือนเดิม

หรือ ผู้ชายคนหนึ่ง เห็นผู้หญิงหุ่นดี ใส่เสื้อเอวลอย ฉีดน้ำหอมซะหวานฟุ้งเดินผ่านหน้าไป ‘อิด’ ก็กระเด้งขึ้นมาเลยว่า โอ้ยยยย จะเอาาาาา ไม่ไหวละโว้ยยยยย แล้วซุเปอร์อีโก้ ก็ตะโกนด่าในใจว่า ไอหื่นกาม! ทำไมเราถึงเป็นคนชั่วในสังคมแบบนี้นะ (อันนี้เฟืองยกตัวอย่างให้เว่อร์ให้เห็นภาพง่ายไว้ก่อนนะ) จนอีโก้ก็เข้ามาบอกว่า อ่ะ ไม่เป็นไร เก่งแค่ไหนแล้วที่เราไม่กระทำการผิดศีลธรรมใดๆ ลงไป เห็นไหมว่า ห้ามความคิดน่ะยาก แต่เราสามารถห้ามการกระทำได้ไง!

และนี่คือตัวอย่างกระบวนการความคิดแบบสโลว์โมชั่นของเรา ก่อนจะเกิดเป็นบุคลิกนิสัย หรือการกระทำต่างๆ ที่บางครั้งมันก็ติดตัวเรามา

คุณปู่ฟรอยด์เชื่อว่า

ชีวิตนี้ ถูกสร้างขึ้นมาโดยล้อมรอบไปด้วยความทุกข์เครียดกดดัน และ ความสุขสำราญ

ความรู้สึกมันจะเด้งไปเด้งมาระหว่างสองตัวแปรหลักนี้ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ชีวิตมันดำเนินไปได้ค่อนข้างราบรื่น นั่นแปลว่า อีโก้ ของเรามันกำลังทำงานอย่างถูกระบบ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเกิดปัญหาหรือชีวิตพังแบบคุมไม่อยู่จนอาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตใจต่างๆ นั่นแปลว่า อิด หรือ ซุเปอร์อีโก้ของเรา มันอยู่ในระดับที่มากเกินไป!

.

.

และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกว่าความทุกข์หรือปัญหาถาโถม จนสติมันตั้งรับไม่ไหว ก็จะเกิดเป็น 8 วิธีที่ร่างกายออกอาการต่อต้านความรู้สึกที่ท่วมท้นจนรับมือไม่ทันนี้ เพื่อหวังจะบรรเทาความเจ็บลง แต่หารู้ไม่ว่ามันไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ มันเหมือนเป็นการผลักความเจ็บออกไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น

  • Repression : การข่มอารมณ์

เมื่อไหร่ที่คิดถึงภาพเหตุการณ์ที่มันบั่นทอนจิตใจของเรา ทันทีที่รู้สึกตัว ก็จะกดภาพนั้นลงไปให้ลึกสุดใจ ไม่ให้มันโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำให้เราได้รับรู้อีก ยกตัวอย่างเช่น แม่เคยด่าเราด้วยคำเจ็บแสบที่จำฝังใจมาจนทุกวันนี้ ทุกครั้งที่แม่ทะเลาะกับพ่อ เราก็แอบดีใจเพราะสมน้ำหน้าที่แม่เคยทำเราเจ็บ พอรู้สึกตัวได้ ก็ยิ่งรู้สึกเกลียดตัวเอง ทำไมมีความคิดแบบนี้ บาปเหลือเกิน และพยายามข่มความเจ็บปวดนั้นลง ไม่ให้ตัวเองรู้สึกอีก

  • Denial : การปฎิเสธหัวชนฝา

เช่น ผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นคนขี้หึงมาก ถึงขนาดจ้างนักสืบคอยตามตลอดเวลาเมื่อสามีไม่ได้อยู่กับเธอ แต่ก็ปฏิเสธตัวเองว่า เปล่า ไม่ได้เป็นคนขี้หึงนะ เป็นห่วงต่างหาก กลัวสามีได้รับอันตราย แต่จริงๆ คือรับไม่ได้ที่จะยอมรับว่าตัวเองประสาทจะกินกับสามีได้ขนาดนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว เจาะลงไปให้ลึก มันมาจากความกลัวสามีจะทิ้งเธอไป เพราะตอนเด็กเธอเห็นพ่อต้องมาทิ้งแม่ไปจนแม่ร้องไห้ฟูมฟาย และภาพมันติดตา

  • Projection : การพุ่งความรู้สึกกลับไปที่อีกฝ่าย

คือความรู้สึกที่เราเคยคุ้นชินและสะท้อนมันกลับไปที่อีกฝ่าย เช่น ไม่ว่านักบำบัดจะพูดอะไร คนไข้คนนี้ก็เห็นด้วยตลอด ไม่เคยแย้ง ไม่เถียงกลับ สาวไปเรื่อยๆ ถึงชีวิตตอนเด็กก็เจอว่า แม่เธอไม่ยอมให้เธอพูดแทรก และคอยว่าเธอไม่มีมารยาทตลอด เธอโดนทำโทษทุกครั้งที่เถียง เธอจึงชินกับแนวทางการสื่อสารแบบนี้ เพราะจิตใต้สำนึกนั้นคอยปกป้องตัวเธอเองไม่ให้เจ็บอีก 

  • Displacement : การแทนที่

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่สามารถระบายความเจ็บนี้กลับไปที่ผู้ที่กระทำเรามา เราเลยเอาไปลงที่อื่น เช่น โดนเจ้านายด่า เลยกลับบ้านมาด่าแฟนตัวเองแทนเพราะโมโห หรือเด็กชายที่โดนเพื่อนบูลลี่ตอนเด็ก โตมาก็ถือปืนไปยิงเพื่อนคนอื่นในชั้น

  • Rationalization : การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองทั้งๆ ที่ตัวเองผิด

เพราะมันยากมากที่จะกล้ำกลืนฝืนทนยอมรับว่าเราทำสิ่งที่ผิดอยู่ เช่น เด็กนักเลงยกพวกตีกัน เราก็ช่วยเพื่อนตีกับเขาด้วยเพราะกลัวจะไม่มีเพื่อน ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด แต่การยอมรับว่าตัวเองเป็นคนไม่ดีมันเจ็บ เลยหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเช่น ‘ไม่เห็นเป็นไรเลย ใครๆ เขาก็ทำ’

  • Reaction Formation : คิดหรือทำตรงข้ามกับความรู้สึกที่แท้

เป็นวิธีที่ตัวเองใช้เพื่อคืนความมั่นใจและความเคารพตัวเองกลับมา เช่น นักกีฬาบึกบึนที่ค้นพบว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบผู้ชาย แต่รับตัวเองไม่ได้ เลยไปบูลลี่เพื่อนเกย์ในโรงเรียน

  • Regression : การถอยหลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้น

คือเมื่อไหร่ที่ตัวเองเครียดมากๆ จนร่างกายและจิตใจ ณ ขณะนั้นแบกรับไม่ไหว การกระทำเราเลยเด้งกลับไปสู่ช่วงเวลาในชีวิตที่เรารู้สึกปลอดภัยและมีความสุข

เช่น เมื่อไหร่ที่กำลังจะเผชิญหน้ากับอะไรที่เครียดมากๆ เธอก็หันมาดูดนิ้วโป้ง เหมือนตอนเด็กๆ ที่เธอดูดนิ้วตัวเองเวลาดีใจนั่นเอง

  • Sublimation : การเปลี่ยนแปลงสถานะ

ถือเป็นวิธีการรับมือปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว –การเปลี่ยนความรู้สึกที่มันรุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เรารู้ว่ามันจะสร้างปัญหา แล้วแปลงมันให้กลายเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น อกหัก เศร้ามากเหมือนจะอยู่ไม่ไหว เลยเอาความรู้สึกมาเขียนเป็นเพลง แล้วร้องออกมาเลยดีกว่า –เทเลอร์ สวิฟต์นั่นเองจ้า

.

.

.

ชีวิตมันก็มาพร้อมปัญหา

และเราก็มีหน้าที่ที่จะรับมือกับมันให้ได้

แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เรารับมือไม่ไหวคนเดียว

หนักเกินไปที่จะใช้พลังจากตัวเองคอยเคลียร์

การคุยกับคนที่ไว้ใจ หรือปรึกษานักจิตบำบัดก็เป็นตัวช่วยที่ดี

เพราะหลายครั้งผู้คนเลือกจัดการปัญหาด้วยปลายเหตุ

เพราะมันง่าย ใช้เวลาเร็วกว่า และอาจเจ็บน้อยกว่า

แต่บางครั้ง การเปิดแผลออกมาให้มันสุด

เพื่อขุดเอาลูกกระสุนที่เคยโดนยิงไว้เมื่อนานมาแล้วทิ้งไป

มันอาจจะเจ็บแทบขาดใจ

แต่ร่างกายและจิตใจจะใช้เวลาค่อยๆ เยียวยาสมานแผล

ให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง

ดีกว่าเราคอยซับเลือดที่มันไหลซิกๆ จากแผลที่มีกระสุนคาอยู่

ซับไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่าเลือดจะหยุดไหล

 

ความเจ็บอันยาวนานนี้จะหยุดได้อย่างไร

เมื่อต้นตอของความเจ็บนั้น มันยังฝังลึกอยู่ไม่ไปไหน

คอยเตือนเราถึงความทรมานนี้อยู่เสมอ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0