โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อคนไม่ยอมแก่ : เรื่องของ clash of generations และ ageism

Johjai Online

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 06.52 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
เมื่อคนไม่ยอมแก่  : เรื่องของ clash of generations และ ageism
คนอายุยืนขึ้นสุขภาพดีขึ้น ทำให้ทำงานต่อได้อีกยาวนาน จนทำให้คนที่อายุน้อยกว่าไม่ได้ก้าวขึ้นมาแทนเสียที  

“คนอายุน้อย ฉลาดกว่า” - Mark Zuckerberg พูดไว้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว
 
“คนอายุน้อยกว่า 35 คือคนที่เปลี่ยนแปลงโลก คนที่อายุเลย 45 ไม่มีไอเดียใหม่ๆแล้ว” - Vinod Khosla นัก venture capitalist ระดับแนวหน้า พูดไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
 
เราเชื่อกันมาว่า “คนแก่ทำให้เศรษฐกิจโตช้า” ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะ ขึ้นชื่อว่าคนแก่ย่อมไม่กระฉับกระเฉงฉับไวเท่ากับคนหนุ่มสาวอายุน้อย อีกทั้งอาจไม่ได้อยู่ในวัยทำงาน ทำให้มองว่าไม่ได้ผลิตอะไรออกสู่ระบบเศรษฐกิจ มีแต่จะบริโภคอย่างเดียว แถมยังเจ็บป่วยง่าย เปลืองเงินสวัสดิของรัฐอีก สรุปคือ ดูเหมือนคนแก่มีแค่ค่าใช้จ่าย ไม่ได้ผลิตอะไรคืนกลับสังคม
 
จนในทางเศรษฐศาสตร์ต้องมี “dependency ratio” โดยเป็นจำนวนของคนแก่ เปรียบเที่ยบกับ จำนวนของคนหนุ่มสาว เพื่อวัดว่า ในแต่ละประเทศ คนแก่เป็นภาระคนหนุ่มสาว มากแค่ไหน
 
งานศึกษาจาก Harvard ที่ครอบคลุมข้อมูลระหว่างปี 1980 ถึง 2010 ก็ดูเหมือนสนับสนุนความเชื่อนี้ โดยรายงานว่า หากคนอายุเกิน 60 เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัว หรือ GDP per capita ลดลง 5.5% ซึ่งตีความต่อได้ว่า คนแก่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในทศวรรษนั้นลดลงไป 1.2% และ 0.6% ในทศวรรษต่อไป 
 
แต่ก็มีหลายคนแย้งว่า นั่นคือข้อมูลจากอดีตก็ย่อมต้องบอกว่าอย่างนั้น  แต่ว่าถ้านับจากปัจจุบันเป็นต้นไป ไปในอนาคตล่ะ คนมีอายุในยุคนี้ ยังเหมือนคนมีอายุในยุคที่ผ่านมา หรือไม่?
 
และยังเป็นไปได้มากอีกว่า ที่คนแก่ไม่ได้ทำงาน ไม่ใช่เพราะทำงานไม่ได้ แต่เป็นเพราะต้องหยุดทำงาน เนื่องมาจากวัฒนธรรมหรือสังคมบอกว่า “ถึงเวลาเกษียณแล้ว” ต่างหาก
 
ซึ่งหมายความว่า ถ้าให้คนแก่ทำงานต่อ เขาก็ทำได้ และทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจด้วย
 
ส่วนสาเหตุที่คนแก่สามารถทำงานต่อได้ ก็เพราะคนแก่ระยะหลังเป็นจำนวนมากไม่ได้ “แก่” จริงเหมือนสมัยก่อนแล้ว หากยังแข็งแรง มีความว่องไว อย่างที่เรียกว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” ทำให้ไม่ได้แข็งแรงแตกต่างจากคนหนุ่มสาวอย่างมากมายเหมือนในอดีต และนั่นทำให้คนแก่ในยุคหลังไม่ค่อยยอมเลิกทำงาน
 
เพราะถ้าหากเปลี่ยนช่วงเวลาของข้อมูลที่ใช้ศึกษาให้ทันสมัยขึ้น มาเป็นช่วง 1990-2015 นักเศรษฐศาสตร์จาก MIT พบว่า ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่า สังคมที่อายุมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจช้าลง” เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยของ Boston University ก็สรุปออกมาในทำนองเดียวกัน
 
และถ้ามองในยุคปัจจุบัน ก็ยิ่งประหลาดใจหนักขึ้นไปอีก
 
เพราะจากการศึกษาของ Azoulay และทีมงาน รายงานโดย National Bureau of Economic Research หรือ NBER พบว่า คนอายุ 50 กว่า มีโอกาสสร้างธุรกิจ staru จนประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนอายุ 30 ถึง 1.8 เท่า และ งานศึกษาของ Azoulay และทีมอีกเช่น รายงานใน Harvard Business Review ว่า อายุเฉลี่ยของคนที่สร้างธุรกิจ startup ที่โตเร็วที่สุด คือ 45 
 
ซึ่งผิดจากที่เคยเชื่อกันว่า วงการ startup ต้องเป็นคนอายุน้อยถึงจะ work  ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นของ Northwestern University โดย Jones ก็พบว่า การค้นพบใหม่ๆในการแพทย์ ฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์ มาจาก คนในวัยกลางคน เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ไฟแรง
 
กลายเป็นว่า คำพูดของ Mark Zuckerberg และ Vinod Khosla เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำท่าจะไม่เป็นจริงเสียแล้ว และความเชื่อของสังคม mainstream ที่ดูแคลนคนอายุมากในเรื่องประสิทธิภาพ ก็ไม่น่าจะถูก เพราะ โลกได้เปลี่ยนไปจากเดิม
 
คนในยุคหลังมีอายุยืนยาวและแข็งแรงกว่าเดิมอย่างมาก   เพราะด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสุขภาพ บวกกับการให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย ทำให้ความแตกต่างด้าน physical รวมถึงความฉับไว ความอดทน หรือไหวพริบ ระหว่างช่วงอายุนั้นน้อยลงเรื่อยๆ
 

ในปี 1960 ถ้าผ่านมาถึงอายุ 65 ได้ ก็คาดว่าไปต่อได้จนถึง 79 แต่ในปัจจุบันสามารถไปต่อได้ถึง 87 เด็กที่เกิดในญีปุ่นวันนี้ เชื่อว่าจะมีอายุขัยเฉลี่ยถึง 87 คนอายุ 70 ในยุคปัจจุบันสามารถมีสุขภาพเท่ากับคนอายุ 50 ในอดีต คนที่วิ่งแข่งมาราธอนหรือวิ่งแข่ง 42 กิโลเมตร ส่วนใหญ่คือคนอายุ 40-49 ใน London Marathon คนอายุ 40-49 วิ่งเร็วกว่าคนอายุ 20-29 และอายุเฉลี่ยของนักวิ่ง trail runner ระดับ 161 กิโลเมตร คือ 45 ปี ส่วนในคนไทย มีคนอายุ 79-84 ปีผ่านการแข่งโหด Spartan Race Thailand II ถึง 8 คน และทำเวลาได้ไม่ต่างจากคนอายุ 30
 
ในปัจจุบันจึงไม่ยากที่จะเห็นคนอายุ 40+ 50+ fit พอๆกับคนอายุ 20+ 30+ ทั้งในร่างกายและสมอง
 
และคงไม่น่าประหลาดใจ หากในอนาคตอันใกล้นี้ คนอายุ 80 จะฟิตพอๆกับคนอายุ 50 ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ International Institute for Applied Systems Analysis (IIASA) ที่เวียนนา แนะนำว่า คำจำกัดความของ “วัยกลางคน” ในปัจจุบัน ควรเป็นเปลี่ยนเป็นอายุ 60-74 ปี และอายุขนาดนั้นก็ไม่ควรเรียกว่า “คนแก่” อีกต่อไป 
 
แต่ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดปัญหาใหม่ และปัญหาใหญ่ ตามมา
 
มีความเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ความขัดแย้งระหว่างคนต่างอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแบ่งแยกกีดกันทางอายุที่รุนแรงขึ้น หรือที่เรียกอย่างดรามาว่า “สงครามรุ่น” หรือ“ the clash of generations” หรือ “ลัทธิคลั่งอายุ” ที่เรียกอย่างวิชาการว่า “ageism” จนบางคนเชื่อว่า นี่อาจเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
 
สาเหตุหลักมาจากคนอายุยืนขึ้นสุขภาพดีขึ้นนี่เอง ทำให้ทำงานต่อได้อีกยาวนาน จนทำให้คนที่อายุน้อยกว่าไม่ได้ก้าวขึ้นมาแทนเสียที ต้องรอกันเป็นทอดๆ คิวรอยาวเหยียดลงไปจนถึงคนที่พึ่งเริ่มทำงาน
 
คนที่อายุน้อยกว่าที่เคยได้ชื่อว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่มากด้วยความสามารถ ฉับไว้ ก็อาจไม่ได้เปรียบคนรุ่นเก่ามากเหมือนในอดีต อีกทั้งคนอายุมากยังได้เปรียบจากประสบการณ์ และเครือข่ายเพื่อนฝูงหรือ network และ connection อีกต่างหาก  
 
ในสังคมที่ประชากรเพิ่มช้าลง อย่างประเทศไทย จำนวนคนที่อายุ 40-50 คือคนที่จำนนวนมากที่สุด และอีกเพียงแค่ 10 ปี คนกลุ่มนี้ก็จะเข้าสู่วัยมากสุดของระบบการทำงานแบบดั้งเดิม ที่ตั้งเวลาเกษียณไว้ที่ 60 ปี แต่ถ้าในยุคต่อๆไป พวกเขาไม่เลิกทำงาน เพราะสุขภาพและสมองสามารถทำงานต่อได้สบาย คนที่อายุน้อยถัดไป และถัดไป และถัดไปเรื่อยจนถึงวัย 20+ จะต้องยืนรอคิว career path อีกนานหรือไม่ หรือมีทางออกอื่น ไม่ต้องยืนรอ? 
 
เลยมีคำถามว่า ความอยู่ยงคงกระพันของคนอายุมาก จะทำให้คนอายุน้อยกว่าเสียเปรียบหรือไม่?  มีผลต่ออนาคตหรือไม่? และถ้าเป็นเช่นนั้น ทางแก้อยู่ที่ไหน? 
 
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในบางประเทศ อย่างเช่นในอเมริกาที่มีรายได้น้อยกว่าสมัยรุ่นพ่อแม่ตอนที่อายุเท่ากัน แถมพอยังไม่ทันทำงานยังมีหนี้สินจาก student loan พ่วงติดมาอีกเป็นจุดอ่อนอีก หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเอง ที่คนรุ่นใหม่อายุ 25-30 ปีเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้มากที่สุด โดย 1 ใน 5 นี้ เป็นหนี้เสีย ก็ย่อมทำให้พลังงานที่จะคิดกล้าเสี่ยง กล้าสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ไม่แรงเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนในประเทศอื่นๆ อย่าง แคนาดา อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น พบว่า คนรุ่นใหม่อย่างรุ่น millannial และ generation z มีปํญหาความรู้สึกเหงาเป็นพิเศษ  
 
ไม่เพียงแต่เท่านั้น คนรุ่นใหม่ยังต้องแข่งกับ AI- artificial intelligence ที่สามารถเข้ามาทำแทนคนที่น้อยประสบการณ์ในบางงานได้อีกด้วย ส่วนสำหรับคนอายุมาก ที่มีทั้งประสบการณ์, soft skill หรือศิลปในการเจรจาดีลงาน, และคอนเนคชั่นกับผู้คนในวงการ นั้น AI ยังเข้ามาแทนไม่ได้อยู่แล้ว  
 
เมื่อมาบวกกับ “ปัญหารอคิว” จาก career path ที่อืดเหมือนอยู่กับที่ ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่าง generation คนอายุมากมองคนอายุน้อยว่าไม่มีประสบการณ์ ไม่อดทน คนอายุน้อยมองคนอายุมากกว่าไม่เปิดโอกาส วางอำนาจ หัวเก่า แต่ละ generation ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน เกิดการกีดกัน ดูถูกกันในเรื่องอายุ หรือ ageism
 
เรื่องนี้ บางคนมองว่านี่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป และปัญหารอคิวเป็นปัญหาขององค์กรที่มีโครงสร้างต้องไต่เต้าตำแหน่งขึ้นไปมากกว่า อย่าลืมว่า โลกยังเต็มไปด้วยธุรกิจขนาดกลางและเล็กหรือ SME ที่เป็นทางออก อีกทั้งเทคโนโลยีทำให้เกิดงานใหม่ๆ ซึ่งก็มักจะเป็นตลาดงานของคนรุ่นใหม่นี้เอง ที่ไปด้วยดีกับของใหม่
 
แต่ก็มีการโต้แย้งกลับเหมือนกันว่า ต่อให้เป็นโลกของ freelance หรือ gig economy ไปจนถึง SME ก็ไม่ต่างกันในภาพรวมระดับ macro เพราะ เมื่อคนอายุมากยังครองโลกของ SME เป็นเจ้าของธุรกิจอยู่ ทำงาน freelance ได้ดี และทำงานไม่ยอมเกษียณ
 
Rebecca Roache แห่ง University of London เขียนไว้ใน MIT Technology Review ว่า ageism จะเป็นเรื่องอ่อนไหวมากต่อจากนี้ และเป็นประเด็นที่โลกในศตวรรษที่ 21 จะต้องจัดการให้ได้ สังคมจะต้องต่อต้านการเหยียดหยามดูถูกกันในเรื่องของอายุอย่างจริงจัง ไม่ฉวยโอกาสเอามาเป็นประเด็นการเมือง และกฏหมายจะต้องป้องกันการกีดกันเรื่องอายุการทำงาน ไม่ว่าจะในคนอายุน้อยหรืออายุมาก อย่างเข้มข้น
 
มิเช่นนั้นแล้ว แทนที่คนเราอายุยืนขึ้นจะได้ประโยชน์ จะกลายเป็นโทษไปอย่างน่าเสียดาย 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0