โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อการ 'ส่งอาหาร' นำพาเราสู่ความรักและคุณค่าของชีวิต - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 27 เม.ย. 2563 เวลา 17.09 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

ขณะที่ประเทศไทยเน้นเว้นระยะห่าง ไม่นั่งกินข้าวห้าง เก็บตัวในบ้าน อยากกินอะไรก็สั่งเอา กิจการสั่งและส่งอาหารถึงที่ จึงเฟื่องฟูอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เจอคุณพี่ส่งอาหารบ่อย ๆ เข้า ก็นึกไปถึงหนังดังเรื่องหนึ่ง ที่พาเราไปรู้จักกับระบบส่งอาหารที่มหัศจรรย์และไร้เทียมทานที่สุดของอินเดีย

ใช่แล้วค่ะ เรากำลังจะเล่าถึง หนึ่งในหนังอินเดียที่ดังที่สุดตลอดกาล The Lunchbox (2013) นั่นเอง

*หมายเหตุ วันนี้ (29 เม.ย. 63) นักแสดงนำ 'อีร์ฟาน ข่าน' ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อลำไส้ใหญ่ โดยเขาเป็นนักแสดงชาวอินเดียที่ประสบความสำเร็จทั้งในอินเดียและระดับอินเตอร์ เรามาอ่านเรื่องราวของ The Lunchbox เพื่อไว้อาลัยแก่นักแสดงผู้โด่งดังคนนี้กันค่ะ*

(SPOILER ALERT !!!)

THE LUNCHBOX (2013)
THE LUNCHBOX (2013)

The Lunchbox เป็นหนังดังที่ครองใจคนทุกวัยเสมอมา เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นจากว่า “อิลา” ภรรยาที่เริ่มไม่สาว และเข้าสู่วัยกลางคนหนึ่ง เริ่มสัมผัสได้ถึงความเหินห่างอย่างผิดปกติที่สามีมีให้

เธอคิดแบบหญิงยุคเก่าทั่วไป เริ่มตั้งใจทำอาหาร พลิกสูตรกับข้าวทุกอย่าง หวังให้ความรักที่จางหายผลิบานขึ้นอีกครา

แต่แล้ววันหนึ่งเธอพบว่า ปิ่นโตข้าวกลางวันที่เธอตั้งใจทำกลับถูกส่งหา ผู้ชายอีกคนที่เธอไม่เคยรู้จัก แต่รอคอยอาหารที่ทำจากความรักของเธอในทุก ๆ วัน

เรื่องราวทั้งหมดเกิดในมหานครมุมไบ ผ่านระบบส่งปิ่นโตอาหารกลางวันที่โด่งดังที่สุดในโลก “Dabbawala”

-----------------------------------------------------

หลังจัดแจงส่งสามีไปทำงานและลูกสาวไปโรงเรียน อิลาก็เข้าครัวทำอาหาร เธอเองก็เหมือนแม่บ้านในมุมไบทั่วไป ที่ผูกบริการส่งปิ่นโตกับ Dabbawala 

วันนี้เธอตั้งใจทำอาหารสุดฝีมือ หวังให้ความรู้สึกส่งถึงสามีที่เหินห่าง หลังบรรจุอาหารลงเถาปิ่นโตขนาดมาตรฐาน ก็ห่อปิ่นโตด้วยถุงผ้าอีกชั้น ซึ่งทาง Dabbawala เขียนสัญลักษณ์พิเศษ บ่งบอกสถานที่ส่งและรับอย่างชัดเจนบนนั้น

เธออ่านหนังสือออก แต่ไม่เข้าใจรหัสที่ว่า จึงไม่เคยรู้เลยว่ามันเขียนผิด-ถูกอย่างไร

ไม่นานจากนั้น คุณตาคนส่งปิ่นโตคนเดิมก็มารับปิ่นโตไป เหลือเพียงเธอดูแลบ้านอย่างเงียบเหงา พร้อมรอคอยลูกสาวและสามีที่จะกลับมา

อิลาตื่นเต้นและเฝ้าฝันว่า สามีจะกินอาหารที่เธอส่งหา ด้วยความรู้สึกแบบไหน

อิลา และความตั้งใจที่ใส่ในปิ่นโตเถาน้อย
อิลา และความตั้งใจที่ใส่ในปิ่นโตเถาน้อย

ในความจริงแล้ว ปิ่นโตยังเดินทางอีกไกล กว่าจะถึงมือของผู้รับ

Dabbawala แปลตรงตัวว่าคนส่งปิ่นโต เป็นระบบส่งปิ่นโตแห่งนครมุมไบ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1890 หรือ 130 ปีก่อน ภายใต้การนำของ Mahadeo Havaji Bachche ริเริ่มให้ผู้คนจากวรรณะ Marathas (Vakari sect) จากเมือง Maharashtra ซึ่งมีความเชื่อตามหลักศาสนาว่า การส่งอาหารแก่ผู้คนคือสิ่งประเสริฐยิ่ง ได้มารวมกลุ่มกันทำสิ่งที่ตนเชื่อ โดยได้ค่าตอบแทนพอเลี้ยงตัว ทั้งยังประโยชน์ต่อคนทั่วไป

หลังรับปิ่นโตจากอิลา คุณตาคนส่งขาประจำ ซึ่งอาศัยอยู่ละแวกนั้นเช่นกัน จะนำปิ่นโตทั้งหมดในความรับผิดชอบของเขานั้น ส่งยังจุดลงทะเบียนหน้าสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุด

เมื่อถึงจุดลงทะเบียน Dabbawala อีกกลุ่ม จะทำการคัดแยกปิ่นโตออกเป็นหมวดหมู่ ตามปลายทางที่ปิ่นโตเหล่านี้มุ่งหน้าไป

สัญลักษณ์ที่ถูกเขียนบนถุงปิ่นโต จึงเป็นตัวตัดสินใจ ว่าปิ่นโตเถานี้จะเดินหน้าไปที่ใดต่อกันแน่

ระบบสัญลักษณ์ หรือ Coding system ของ Dabbawala เป็นระบบธรรมดา ๆ ที่ใช้เลขอารบิก อักษรของวรรณะ และสีสันต่าง ๆ แทนการบอกต้นทางและปลายทาง ของทั้งสถานีรถไฟและจุดหมายโดยละเอียด

แม้แต่ Dabbawala ที่อ่อนการศึกษา ยังสามารถเข้าใจสัญลักษณ์ได้ในพริบตา ว่าปิ่นโตเถานี้ถูก-ผิดอย่างไร

แต่นางเอกของเรา อิลา กลับโชคร้าย การลงสัญลักษณ์แต่แรกคงผิดพลาดไป ทำให้ปิ่นโตส่งผิดที่อย่างถูกต้องในทุก ๆ วัน ทั้งคนรอรับคือสามีของอิลานั้น ไม่เคยใส่ใจว่าอาหารของภรรยาเป็นเช่นไร ความผิดพลาดนี้จึงไม่มีใครรับรู้มาก่อนเลย

ภาพของ Dabbawala (Credit: Steve Evan via Wikipedia)
ภาพของ Dabbawala (Credit: Steve Evan via Wikipedia)

ปิ่นโตของอิลาถูกลำเลียงขึ้นรถไฟ และถูกขนลงไปยังสถานีแห่งหนึ่ง ที่นั่นมี Dabbawala อีกกลุ่ม คอยคัดแยกปิ่นโตขาออก และจัดแจงมอบหมายให้ Dabbawala ซึ่งคุ้นเคยกับท้องที่นั้น นำส่งยังมือผู้รับต่อในตอนท้าย

จะเห็นได้ว่า ตอนสายจุดลงทะเบียนมีเพียงปิ่นโตขาออก ก่อนเที่ยงจุดลงทะเบียนมีเพียงปิ่นโตขาเข้า ปิ่นโตไหลไปทางเดียว จึงไม่สับสนปนเป และแม่นยำทั้งที่ไร้เทคโนโลยีใด ๆ

ปิ่นโตของอิลาถูกส่งต่อให้คุณลุงคนส่งปิ่นโตท้องที่คนหนึ่ง เขาแบกปิ่นโตขึ้นบ่า และค่อย ๆ แจกจ่าย ก่อนจะวางปิ่นโตเถานั้นลงไปที่หน้าโต๊ะของชายคนหนึ่ง

เขาคนนั้นเปิดถุงผ้าออกช้า ๆ ทันใดนั้นกลิ่นเครื่องเทศหอมหวลก็ลอยตามลมออกมา เขาบอกรับปิ่นโตจากร้านอาหารใกล้บ้าน รสชาติแม้ไม่เลว แต่ไม่ถือว่าโดดเด่นอันใด ทว่าวันนี้กลิ่นหอมผิดปกติไป

“ซานจา” ค่อย ๆ ปิดถุงผ้า มองเวลา วันนี้เขาหิวเร็วกว่าปกติแล้ว

ซานจา เฟอร์นานเดส กับปิ่นโตที่ส่งผิด
ซานจา เฟอร์นานเดส กับปิ่นโตที่ส่งผิด

วันนี้อาหารรสชาติไม่ธรรมดา

ทั้งแป้งนาน ข้าวอบ แกงพาเนีย ทั้งหอมทั้งจัดจ้าน แม้รู้สึกเค็มไปสำหรับคนแก่ใกล้เกษียณอย่างเขาอยู่บ้าง แต่รสชาติที่เปี่ยมด้วยความรัก กลับทำให้เขาหวนคิดถึงภรรยาที่ตายจากไป

ซานจาดื่มด่ำกับอาหารตรงหน้าอยู่นานสองนาน ก่อนจะกลับสู่ชีวิตประจำวันอันเงียบเหงา งานที่น่าเบื่อ และบ้านที่ปราศจากคนรู้ใจ

วันเวลาผ่านไปอย่างไร้ความหมายขึ้นทุกที

เว้นแต่ว่า

เขาเริ่มเฝ้ารอยามเที่ยงของทุกวัน 

วันนี้นอกจากรสชาติที่อร่อยผิดธรรมดา ยังมีกระดาษใบน้อยแนบมา แนะนำว่าตนชื่ออิลา เป็นคนทำปิ่นโตเถานี้ โดยเธอตั้งใจทำให้สามี แต่สงสัยว่ามันอาจถูกส่งผิดที่ไป

แต่ Dabbawala ไม่เคยทำงานพลาด

เล่าลือกันว่า ในการส่ง 8,000,000 ครั้ง พวกเขาจะผิดพลาดเพียงครั้งเดียว

เมื่อเป็นไปได้ยาก เจ้าของปิ่นโตคงพยายามหาหลักฐาน ขอเพียงซานจาเขียนตอบไปบ้าง คงเป็นประโยชน์ในการร้องเรียนได้ ทว่าจดหมายมิได้จบเพียงเท่านั้น เจ้าของปิ่นโตกลับเล่าถึงอาหาร ว่าเธอพยายามทำทุกทาง ให้คนที่รักได้กินอาหารที่เปี่ยมด้วยรสชาติและหัวใจ

“มีเพียงเวลานี้ ที่ฉันรู้สึกว่า กระเพาะเป็นทางผ่านไปสู่หัวใจ”

ซานจาพลันคิดถึงภรรยาที่จากไป ก่อนละเลียดอาหารจากความรักที่อยู่ตรงหน้า

---------------------------------------------------

ด้วยเหตุบางประการ อิลายังคงทำอาหาร ส่งปิ่นโตให้แก่ซานจาเช่นนั้น ในเวลาเดียวกัน เธอพบว่าสามีห่างเหินอย่างจงใจ และมีใครคนใหม่ที่เขารักมากกว่าเธอ

เมื่อโลกใบเล็กของอิลา ที่มีเพียงโถงซักผ้าและห้องครัวเริ่มแตกสลาย เธอระบายความทุกข์ใจ ลงจดหมายผ่านปิ่นโตแก่ซานจา

อิลาที่กำลังเจ็บปวด
อิลาที่กำลังเจ็บปวด

“สามีของฉันมักกลับบ้านดึก และดูมือถือตลอดเวลา”

“ฉันลองทำอาหารตามสูตรของคุณย่า แต่ว่าเขา…”

“วันนี้ฉันซักผ้า และเจอ…เขาน่าจะมีคนอื่น แต่ฉันไม่กล้าพูดอะไร”

สิ่งละอันพันละน้อยที่เธอทำด้วยใจ ยังคงถูกขยี้ซ้ำอย่างไร้ค่า โดยสามีที่เธอรักและบูชาอยู่เช่นนั้น

ความจริงเรื่องราวเหล่านี้ ก็แค่เรื่องจุกจิกในชีวิตประจำวัน กลับกระตุ้นซานจาให้ย้อนคิดถึงความหลัง บางทีภรรยาที่จากไปแล้วนั้น อาจเคยทุกข์ใจกับกิจกรรมประจำวันที่ดูเล็กน้อยในสายตาของคนทั่วไป

แต่เมื่อเธอไม่อยู่แล้ว ที่บ้านไม่มีเธอซักผ้าทำกับข้าวอีกต่อไป

เรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ ที่อิลาทำอยู่ทุกวัน กลับมีค่ามีความหมายเหนือสิ่งอื่นใด

“วันนี้ผมเห็นจิตรกรกำลังวาดภาพท้องถนน แต่ละภาพของเขาก็คล้าย ๆ กัน แต่พอมองใกล้ ๆ คนเดินเท้า ข้ามถนน รถ กลับไม่เหมือนกัน”

ซานจาเพียงอยากบอกว่า เรื่องเล็กน้อยที่ทำอยู่ทุกวัน แท้จริงมีพลังที่ทำให้แต่ละวันพิเศษไม่เหมือนใคร

เธอมีค่าเสมอ

------------------------------------------

วันเวลาผ่านไป อิลาเริ่มเปลี่ยนแปลง เธอมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เริ่มฝันเริ่มหวังถึงชีวิตที่ต้องการ และอนาคตที่แตกต่างไป

พลังแห่งชีวิตได้กลับมาสู่เธออีกครั้ง

อิลาวางแผนเดินจากสามีพร้อมลูกน้อย แต่ก่อนหน้านั้น เธออยากพบเขาสักครั้ง ชายที่ทำให้เธอเข้าใจในความหมายอันทรงพลัง ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่

เธอรวบรวมความกล้านัดพบเขา ทว่าเขากลับไม่มาตามนัด ส่งเพียงจดหมายน้อยผ่านปิ่นโตเถาสุดท้ายก่อนจากกัน

“ขอบคุณมากสำหรับความฝันอันทรงพลัง ที่เธอแบ่งปันแก่ชายชราคนนี้”

ซานจา เฟอร์นานเดส กับจดหมายของอิลา
ซานจา เฟอร์นานเดส กับจดหมายของอิลา

ในตอนท้ายของเรื่อง เป็นส่วนที่น่าสนใจมาก

ซานจาพบว่าตนแก่ชรามากเกินไป ไม่ใช่ด้วยอายุหรือร่างกาย แต่ด้วยจิตใจห่อเหี่ยวไร้พลัง จึงตัดสินลาจากเธอ ผู้เพิ่งผ่านเข้ามาในชีวิตตลอดไป

แต่ด้วยเหตุการณ์บางอย่าง เขากลับเปลี่ยนใจ และออกตามหาอิลา ในฐานะเพื่อน และผู้ชายคนหนึ่งที่อยากพบเธอ

นั่นคือวันสุดท้ายก่อนที่อิลาจะออกจากบ้านในมุมไบ

ซานจาขอติดตามคนส่งปิ่นโตขาประจำ ย้อนรอยปิ่นโตขากลับ ที่เหล่า Dabbawala นำส่งคืนต้นทางอาหารที่อยู่ห่างไป

เขาตามปิ่นโตขากลับไปยังจุดคัดกรองใกล้ ๆ ที่นั่น Dabbawala คัดแยกย้อนทาง จัดหมวดหมู่ตามสถานที่ที่ส่งปิ่นโตมา

จากนั้นปิ่นโตถูกนำขึ้นรถไฟ ย้อนไปยังสถานีที่มันเคยจากมา ขนลงไปยังจุดคัดกรองแรกเริ่มที่มันถูกคัดมา ก่อนที่ Dabbawala ชุดสุดท้าย จะรับปิ่นโตย้อนคืนสู่บ้านที่แท้จริงของมัน

บ่ายนั้นซานจาตามติดกลุ่ม Dabbawala อย่างร้อนรนใจ

ใบหน้าที่เคยแก่ชราเกินวัย บัดนี้กลับมีสีสันและชีวิตชีวา บางทีความความแก่ชรา อาจไม่ได้เกิดจากวันเวลาที่ผ่านเลยไป

ความฝันและพลังแห่งวันใหม่ จะคงอยู่คู่กับเราเสมอและนิรันดร์

----------------------------------------------

“วันนี้หลังจากที่ลูกสาวกลับมา ฉันจะออกเดินทางไปยังที่แห่งนั้น บางทีฉันอาจส่งจดหมายนี้ให้คุณผ่านทางไปรษณีย์ หรือบางที ฉันอาจเก็บมันไว้กับตัวฉันตลอดไป เพื่อที่ในอนาคต ฉันจะได้เปิดอ่านอีกครั้ง”

ขณะที่อิลากำลังเขียนจดหมาย ก็มีเสียงแตรจากรถคันหนึ่งดังขึ้น

----------------------------------------------

ในขณะที่เขียนบทความนี้ จังหวัดของเรายังปิด และทุกบ้านยังต้องเว้นระยะห่าง อยู่แต่ในบ้านและกักตัว 

หลายคนโดยเฉพาะวัยทำงาน เบื่อหน่ายชีวิตในแต่ละวัน ที่คล้ายผ่านไปอย่างว่างเปล่า ตื่นเช้าเพื่อสั่งอาหาร ทำงานในบ้าน และนอนหลับไป วนเวียนซ้ำซากไม่ออกไปไหน เงินทองร่อยหรอ จิตใจห่อเหี่ยวไม่เหมือนเคย

แต่มีวันหนึ่ง เราสั่งอาหารจากร้านใหม่ ในกล่องข้าวกลับมีจดหมายเขียนด้วยมือมอบให้ ขอบคุณที่สั่งอาหารจากเขาไป ช่วยต่อชีวิตร้านและคนงาน เขาขอมอบกำลังใจ ให้เราจงสู้ต่อไป ไม่ว่าจะต้องสู้กับความเบื่อหนาย หรือภาระอันหนักอึ้งก็ตามที

แค่เศษกระดาษเล็ก ๆ แผ่นนั้น กลับทำให้วันนั้นทั้งวัน มีค่ามีความหมาย

ความจริงเรื่องราวรอบตัว ที่ดูเหมือนเล็กน้อย ก็เพราะเรามองข้ามไป แท้จริงแล้วทุกสิ่งที่ทำจากใจ ล้วนทำให้วันทุกวันพิเศษไม่เหมือนเคย

และอาหารวันนั้น ก็หอมกรุ่นกว่าทุกวัน

หมายเหตุ

ตอนแรกเราอยากเขียนเรื่องระบบการจัดการของ Dabbawala ซึ่งโด่งดังมาก ระดับฮาร์วาร์ดมาดูงานเลยค่ะ แต่พอมาคิดดูแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ Dabbawala คงเป็นความรู้สึกที่เชื่อมกันโดยอาหาร ซึ่งถ่ายทอดผ่านหนังเรื่องนี้อย่างดีมาก ๆ เลยค่ะ

อ้างอิง

1. Pathak GS. Delivering the nation: The dabbawalas of Mumbai. South Asia J South Asia Stud. 2010 Aug;33(2):235–57. 

2. Roncaglia S. Feeding the City: Work and Food Culture of the Mumbai Dabbawalas. Open Book Publishers; 2013 Jul 15.

3. The Lunchbox (2013)

4. Mumbai Dabbawala on Success through Synergy | Ritesh Andre | TEDxXIMEKochi

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0