โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อการวิ่งของพี่ตูน ไม่ได้ช่วยแค่โรงพยาบาล แต่ยังช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย

The MATTER

อัพเดต 15 พ.ย. 2562 เวลา 11.05 น. • เผยแพร่ 15 พ.ย. 2562 เวลา 13.00 น. • Branded Content

เป็นที่ทราบกันดีว่าการวิ่งของพี่ตูน - อาทิวราห์ คงมาลัย ในโครงการก้าวคนละก้าว ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแพทย์มากมายขนาดไหน รวมไปถึงการจุดกระแสให้การวิ่งกลายเป็นการออกกำลังที่ทุกคนหันมาสนใจ จนมีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า

แต่รู้หรือไม่ว่าในทุกๆ ครั้งที่มีการจัดงานวิ่ง จะมีขยะเกิดขึ้นมากมาย รวมถึง แก้วน้ำและขวดน้ำพลาสติก

เนื่องจากนักวิ่งจำเป็นต้องดื่มน้ำเป็นระยะขณะที่วิ่ง เพื่อเติมน้ำให้แก่ร่างกายที่ต้องสูญเสียเหงื่อ แน่นอนว่าขยะพลาสติกเหล่านี้ หากไม่มีการจัดการอย่างถูกวิธี ก็จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย

คงจะดีกว่า หากการวิ่งในแต่ละครั้ง สามารถลดปริมาณของขยะพลาสติกหรือนำขยะเหล่านั้นไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ลองไปพิสูจน์กันดูว่า การวิ่งของพี่ตูนนอกจากจะช่วยโรงพยาบาลแล้ว จะช่วยสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร

การวิ่งกับขยะพลาสติก

ปัญหาขยะแก้วหรือขวดพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการจัดงานวิ่งมาราธอนในแต่ละครั้ง เป็นประเด็นที่เหล่าผู้จัดงานและนักวิ่งมาราธอนทั่วโลกต่างตระหนักและพูดถึงกันมาสักพักแล้ว เนื่องจากการดื่มน้ำเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ระหว่างการวิ่งของนักวิ่ง เพื่อชดเชยน้ำในร่างกายที่สูญเสียไป ภาชนะที่ใช้สำหรับการดื่มน้ำจึงต้องใช้งานง่ายและสะดวกต่อนักวิ่ง ขวดพลาสติกหรือแก้วพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งแบบ Single-use plastic จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด เพราะสามารถหยิบดื่มและทิ้งได้ทันที แต่ก็แลกมาซึ่งปัญหาของปริมาณขยะจำนวนมาก

อย่างเช่นการแข่งขัน Boston Marathon ในปี 2017 ที่มีนักวิ่งกว่า 30,000 คน ได้ทำให้เกิดขยะขวดพลาสติกกว่า 62,000 ขวด และแก้วพลาสติกอีกกว่า 1.4 ล้านใบ! ทำให้เกิดการรณรงค์ให้ลดการใช้และเปลี่ยนมาใช้ขวดน้ำแบบพกพาสำหรับการวิ่งมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดไอเดียดีๆ ในการลดขยะพลาสติก อย่างเช่นการเปลี่ยนมาใช้แก้วแบบย่อยสลายได้ หรือ Hartford Marathon ในอเมริกา ที่ติดตั้งน้ำพุสำหรับให้นักวิ่งก้มดื่มได้โดยไม่ต้องใส่แก้ว หรือล้ำไปกว่านั้นที่ London Marathon ได้พัฒนานวัตกรรมแคปซูลน้ำที่ผลิตมาจากสาหร่ายสกัด นั่งวิ่งสามารถกลืนเข้าปากพร้อมกับน้ำที่บรรจุภายในได้ทันที เรียกว่าเป็นการรณรงค์ที่ลงมือทำจริงและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนได้จริงๆ

ก้าวคนละก้าว ที่เป็นมากกว่าการช่วยเหลือโรงพยาบาล

กลับมามองเรื่องปัญหาขยะพลาสติกจากการวิ่งในบ้านเรากันบ้าง ‘ก้าวคนละก้าว ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็กๆ’ เป็นการวิ่งเพื่อระดมทุนให้กับ 7 โรงพยาบาลในภาคใต้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 27 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา รวมระยะทางการวิ่งกว่า 300 กิโลเมตร จากจังหวัดตรัง กระบี่ พังงา และไปจบที่ภูเก็ต มีนักวิ่งทั้งหมดรวมกันกว่า 13,000 คน ได้สร้างขยะขวดพลาสติกจำนวนกว่า 82,000 ขวด ซึ่งปริมาณขวดที่มากมายขนาดนี้ หากไม่มีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างแน่นอน ยิ่งพื้นที่จัดงานเป็นชายหาดแล้ว การจัดการขยะพลาสติกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC รับมอบขยะขวดน้ำพลาสติกจากการวิ่งที่ภาคใต้ทั้งหมด 82,000 ขวด เพื่อนำเข้ากระบวนการ Upcycling หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรมชั้นสูงในการนำพลาสติกปั่นเป็นเส้นใย และนำมาทอเป็นสายคล้องเหรียญและเสื้อโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อจำหน่ายในการวิ่งที่ภาคเหนือที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย โดยที่ก่อนหน้านั้น การวิ่งของโครงการที่จัดขึ้นครั้งแรกที่ภาคอีสาน ขยะขวดน้ำพลาสติกจำนวนกว่า 80,000 ขวด ก็ได้ถูกนำมาผ่านกระบวนการ Upcycling ให้ออกมาเป็นเสื้อที่ระลึกโครงการก้าวเพื่อจำหน่ายในงานจำนวน 10,000 ตัว และนำมาทำเป็นสายคล้องเหรียญรางวัลของการวิ่งภาคใต้ในครั้งนี้เช่นเดียวกัน รวมแล้วสามารถช่วยลดปริมาณของขยะขวดพลาสติกได้กว่า 160,000 ขวดเลยทีเดียว

นอกจากการ Upcycling ขวดพลาสติกแล้ว ภายในงาน ยังมีการใช้พลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแก้ว GC Compostable ทดแทนแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตามจุดแจกน้ำ โดยในการวิ่งที่ภาคอีสานและภาคใต้ สองครั้งที่ผ่านมา ได้มีการส่งมอบแก้ว GC Compostableให้แก่กรมป่าไม้เพื่อนำไปใช้เพาะชำกล้าไม้ได้กว่า 9,000 ใบ และที่สำคัญคือการใช้ถุง GC Compostable ที่สามารถย่อยสลายได้ ในการบรรจุเสื้อที่ระลึกทั้งหมดของโครงการอีกด้วย เรียกว่าทุกๆ กระบวนการของโครงการก้าวคนละก้าวสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้

*สู่ต้นแบบของงานวิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม *

จากความตั้งใจของ GC ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดมุมใหม่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้กับนักวิ่ง ด้วยการนำแนวคิด ‘Circular Living ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก’ ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด จึงทำให้การจัดงานวิ่งในโครงการนี้ กลายเป็นต้นแบบของการจัดการขยะพลาสติกในงานวิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา ซึ่งไม่น้อยหน้าประเทศไหนในโลก

การวิ่งที่เหลืออีกทั้ง 3 ภาค คือภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง GC ก็จะดำเนินการจัดการขยะพลาสติกด้วยการ Upcycling เช่นเดียวกัน เพื่อให้โครงการ ‘ก้าวคนละก้าว ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็กๆ’ ในครั้งนี้เป็นก้าวที่พิเศษขึ้น ให้ก้าวครั้งนี้ เป็นก้าวที่ดีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

ร่วมบริจาคเงินให้ 7 โรงพยาบาลภาคใต้และติดตามข้อมูลการวิ่งของก้าวคนละก้าว kaokonlakao.com

ติดตามการสร้างไลฟ์สไตล์ลดขยะพลาสติกด้วยแนวคิด Circular Living

gccircularliving.pttgcgroup.com/th

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://loveearthwec.org/news_posts/footprint-of-a-marathon/

https://www.bbc.com/news/business-43830058

Content by Wichapol Polpitakchai

Illustration by Nipat Srisawad

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0