โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เมื่อการยุบพรรคตอกย้ำกระแสต้าน: จากไทยรักไทยสู่อนาคตใหม่

The101.world

เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 07.25 น. • The 101 World
เมื่อการยุบพรรคตอกย้ำกระแสต้าน: จากไทยรักไทยสู่อนาคตใหม่

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สำหรับผู้ที่เคยเทเสียงให้พรรคไทยรักไทย (และพลังประชาชนในเวลาต่อมา) การยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ไม่ต่างอะไรกับ 'เดจา วู' (déjà vu) มันเกิดขึ้นแล้ว และได้เกิดซ้ำอีก เหมือนฝันร้ายเวียนมาบรรจบเมื่อครบรอบกรรม แต่ไม่ใช่การยุบพรรคที่เกิดซ้ำเท่านั้น แต่เราจะเห็นกระแสต้านชนชั้นนำที่แผ่ขยายอีกครั้ง

ถ้ายังจำกันได้ พรรคไทยรักไทยถูกยุบเมื่อปี 2549 ด้วยข้อหาหลักว่าจ้างให้พรรคการเมืองเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนเษายนปีนั้น เพื่อให้ถึงเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางการบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ในท้ายที่สุดวิกฤตการเมืองช่วงนั้นนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายน ต่อมาเมื่อพรรคไทยรักไทยในคราบพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้ง กลับมาเป็นพรรครัฐบาลอีกครั้งในปลายปี 2550 สถาบันฟันเฟืองของกลไกยุบพรรคก็ไม่รีรอที่จะกำจัดพรรคพลังประชาชน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นพรรครัฐบาลในปี 2551

หากมองว่าในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยจมปลักอยู่กับวงจรอุบาทว์ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามปกป้องตนจากภัยคุกคามซึ่งเผยตัวในรูปแบบของพรรคการเมืองที่มีหัวหน้าพรรคผู้เป็นที่นิยม การยุบพรรคถือเป็น 'อาวุธ' แบบหนึ่งที่ใช้ป้องกันตน ถ้าอาวุธนี้เป็นดาบ ดาบย่อมมีสองคม

การยุบพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งปลุกให้คนไทยจำนวนมาก 'ตาสว่าง' คนเหล่านี้โกรธที่เสียงของตนไร้ค่าในสายตาของชนชั้นนำ อาการ 'ตาสว่าง' สัมพันธ์กับความโกรธอย่างสำคัญ เพราะการยุบเกิดกับพรรคที่เป็นภัยคุกคามเท่านั้น แต่กับพรรคอื่นที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายถูกยุบพรรคเหมือนกันกลับไม่โดนอะไร ฉะนั้นจึงถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ใช้กลไกยุติธรรมเป็นอาวุธทางการเมือง โดยมิอนุญาตให้ฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องได้แก้ความหรือแสดงข้อเท็จจริงจากมุมของตน พรรคที่ถูกยุบทำได้อย่างเดียวคือก้มหน้ารับชะตากรรม การไล่บี้เช่นนี้ย่อมสร้างความคับแค้น คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะให้สยบยอมได้อย่างไร

บริบทเช่นนี้ให้กำเนิดขบวนการภาคประชาชนอย่าง 'แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ' (นปช.) ที่เคลื่อนไหวต้านกลุ่มคนที่พวกเขาเรียกว่า 'อำมาตย์' ผ่านการรณรงค์บนท้องถนน และการสร้างเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ฐานเสียงพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย

'อำมาตย์' มิได้หมายถึงตัวบุคคลเท่านั้น แต่มีนัยเชิงนามธรรม โดยสะท้อนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในสังคมไทยชนิดที่ยึงโยงกับระบบศักดินา 'อำมาตย์' คืออำนาจที่กระจุกตัวและปิดกั้น 'อำมาตย์' คือความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน 'อำมาตย์' คือตัวแทนแห่งความอยุติธรรม และ 'อำมาตย์' คือความกลัวว่าอำนาจดั้งเดิมนั้นจะถูกบั่นถอนด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

ในฐานะขบวนการต้านชนชั้นนำ แน่นอนว่า นปช. เป็นภัยคุกคามหลัก ซึ่งต้องถูกจำกัด การปราบปรามในปี 2553 และอีกระลอกหลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นผลจากการที่ชนชั้นนำเชื่อว่า นปช. อาจมีศักยภาพทางทหาร และก่อร่างอุดมการณ์ที่เป็นภัยกับระเบียบการเมืองดั้งเดิม

มาถึงจุดนี้ ไม่มีใครยืนยันได้ว่าศักยภาพทางทหารของ นปช. มีมากน้อยเพียงใด ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือศักยภาพทางอุดมการณ์ของกลุ่ม กล่าวคือการเคลื่อนไหวของ นปช. จี้จุดให้ชนชั้นนำตอบกลับด้วยมาตรการแบบอำนาจนิยมหลายครั้ง และเผยโฉมอันป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน ทุกครั้งที่มีการปราบปราม-ยุบพรรค-รัฐประหาร โฉมหน้าดังกล่าวยิ่งถูกสาดส่องด้วยแสงไฟจ้า ยิ่งปรากฏเป็นประจักษ์ต่อผู้คน

การปราบปราม-ยุบพรรค-รัฐประหาร จึงยิ่งแผ่ซ่านและตอกย้ำกระแสต้านชนชั้นนำ ที่อาจลามไปกัดเซาะฐานทางอุดมการณ์ที่โอบอุ้มระเบียบอำนาจเดิมไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า มิใช่ทักษิณ พรรคไทยรักไทยและเครือข่าย หรือนปช. ที่เป็นภัยคุมคามต่อชนชั้นนำ ทว่ายุทธวิธีป้องกันตนของชนชั้นนำต่างหากที่เป็นภัยต่อตนเอง

วงจรนี้กำลังเกิดขึ้นกับปรากฏการณ์ยุบอนาคตใหม่ กระบวนการที่นำไปสู่การยุบพรรคเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วถูกตั้งคำถามว่ายุติธรรมเพียงใด? การยุบพรรคหนึ่งด้วยคดีความอันน่ากังขา โดยท้ายที่สุด 'ปล้น' เสียงประชาชนหกล้านคนที่เลือกพรรคนี้ สะท้อนมาตรฐานเช่นใดของสิ่งที่เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ? ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงจุดยืนของพวกเขาผ่านกลไกเชิงสถาบัน ประเทศนี้กำลังบอกอะไรกับเขา? ว่าพวกเขาไม่ควรแม้แต่จะหวัง? อย่าสะเออะจะเปล่งเสียง? อย่าอาจหาญใช้สมองไตร่ตรองและเลือกพรรคซึ่งเป็นตัวแทนของพวกเขา?

ถ้าเราอยู่กันเช่นนี้ต่อไป กระแสความไม่พอใจต่อชนชั้นนำและระเบียบทางการเมืองเดิมจะยิ่งแผ่ขยาย หากกำเนิดนปช. สะท้อนจุดเริ่มต้นของกระแสเช่นนี้ในกลุ่มชนชั้นกลางล่าง จากพื้นที่ชายขอบในเมืองและชนบท ความโกรธที่คุกรุ่นในกลุ่มผู้สนับสนุนอนาคตใหม่ชี้ว่ากระแสต้านกำลังปะทุในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางในเมือง

ลักษณะ 'ไฟลามทุ่ง' เช่นนี้โทษใครไม่ได้ นอกเสียจากพฤติกรรมของเครือข่ายชนชั้นนำเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0