โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อกรุงเทพฯ เสี่ยงจมทะเล ปี 2050 เมืองหลวงจะถูกย้ายไปไหน?

BLT BANGKOK

อัพเดต 08 ธ.ค. 2562 เวลา 11.38 น. • เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2562 เวลา 14.30 น.
34df62a89d3d70f8613cc5344a7f2a15.jpg

ปี 2019 ไทยเผชิญภาวะการเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ อย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่เริ่มหน้าฝนแต่ประสบปัญหาภัยแล้ง ตามด้วยฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ จ. อุบลราชธานี ขณะที่กรุงเทพฯ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเมืองจมทะเล เนื่องจากปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยงานวิจัยคาดว่า ปี 2050 พื้นที่กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองใต้บาดาลในที่สุด
ถึงคราวที่กรุงเทพฯ ต้องย้ายเมืองหลวงหรือยัง?
ผลวิจัยจาก Climate Central องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านวิทยา-ศาสตร์และข่าวสารเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลก ระบุว่า เมืองใหญ่ที่เสี่ยงจมน้ำภายในปี ค.ศ. 2050 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า มีทั้งเซี่ยงไฮ้ โฮจิมินห์ รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่จะหายไปใต้ทะเล 
โดยประชาชนกว่า 150 ล้านคน ในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากเมืองเหล่านั้นเจอปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะกลายเป็นเมืองใต้บาดาลในที่สุด ซึ่งกลายเป็นกระแสข่าวที่สร้างความตื่นตัวอย่างมากบนสื่อโซเชียล และเกิดคำถามต่างๆ ตามมาว่า “กรุงเทพฯ กำลังจะจมแน่แล้วหรือ?”
ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เอ่ยถึงไอเดียเรื่องการย้ายเมืองหลวงในที่ประชุมประจำปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นกระแสถกเถียงกันอย่างกว้างขวางบนโลกโซเชียล
ทั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเปิดประเด็นเรื่องการย้ายเมืองหลวงและการจราจรหรือความแออัดของประชากรที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองก็ไม่ใช่ปัญหาเดียว แต่ข้อกังวลยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากผลวิเคราะห์การทรุดตัวของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ผนวกกับอินโดนีเซียประกาศเดินหน้าย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปที่เมืองคาลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 1,300 กิโลเมตร 
ขณะที่ความกังวลของประชากรในประเทศไทย บางคนถึงกับซื้อที่ดินสร้างบ้านในจังหวัดพื้นที่สูง อย่าง นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ฯลฯ ขณะที่หลายๆ หน่วยงานวางแผนจะสร้างเขื่อน ทำถนนเพื่อกั้นน้ำทะเลไม่ให้ท่วมเข้ามา

“กรุงเทพฯ จม” แผนรับมือวิกฤตการณ์น้ำทะเลขึ้นสูง
ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธรกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ให้ทัศนะว่า ปี 2019 นี้เป็นปีที่ผิดปกติหลายอย่าง ตั้งแต่เริ่มหน้าฝนเราก็ประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนตกช้าเกือบ 2 เดือน เป็นห่วงว่าหน้าแล้งปีนี้จะมีน้ำกินน้ำใช้หรือเปล่า แต่พอสองสัปดาห์ผ่านไปเกิดภาวะฝนตกหนักเป็นช่วงๆ ในแต่ละพื้นที่ทำให้น้ำกระจุกตัวเกิดน้ำท่วมสูง 4-5 เมตร ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน
ไม่ว่าจะเป็นกรณีวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงสุดในรอบ 40 ปีของ จ.อุบลราชธานี ด้วยความสูงของระดับน้ำมากสุดถึงกว่า 10 เมตร หรือเพราะความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศที่ดูเหมือนปีนี้จะกลับตาลปัตร เกิดภัยแล้งในหน้าฝน และน้ำท่วมในฤดูแล้ง ล้วนเป็นการตอกย้ำความกังวลในเรื่องนี้
รวมถึงภัยพิบัติในต่างประเทศ อย่างนครเวนิสของประเทศอิตาลี ที่พื้นที่กว่า 70% เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลท่วมสูงแตะระดับที่ 1.6 เมตร สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านยูโร
ส่วนวิกฤตในกรุงเทพฯ ที่คาดว่าเมืองจะจมทะเลนั้น ได้มีการเตรียมการณ์รับมือวางแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า “กรุงเทพฯ จม” เพื่อเตรียมรับมือวิกฤตการณ์น้ำทะเลขึ้นสูงและแผ่นดินทรุดพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สำหรับคำว่า “กรุงเทพจม” นั้น ประกอบด้วย 3 เรื่อง 1. การทรุดตัวของแผ่นดิน ซึ่งประมาณ 70% ของการทรุดตัวเกิดจากการสูบน้ำเกินศักยภาพ 2. การขยายตัวของเมืองทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น และ 3. การขึ้นลงของน้ำทะเล ซึ่งต้องดูว่าความพยายามนี้สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาได้หรือไม่ 
อย่างไรก็ตาม ยังมีเวลาในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งต้องจริงจังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันสิ่งที่ทุกคนพอจะทำได้คือ ช่วยกันลดภาระ CO2 เพื่อให้ความร้อนในโลกลดลงไปบ้าง

เปิดแผนบริหารจัดการน้ำ
ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องย้าย แต่ทำให้ดีขึ้นได้
สำหรับ โครงการ “เจ้าพระยาเดลต้า 2040” (Chao Phraya Delta 2040) เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นการบริหารงานวิจัยแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้ประเทศมีทรัพยากรน้ำทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่สามารถรองรับการเติบโตในอนาคต ไม่ได้หมายเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะในมิติทางระบบนิเวศทางสังคม เจ้าพระยาเดลต้าย่อมเชื่อมไปถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ทั้งลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำท่าจีน ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าผลการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร
แม้จะเห็นว่าภาครัฐมีมาตรการรองรับภาวะเสี่ยงต่อการจมลงใต้น้ำในอีก 30 ปีข้างหน้าของกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการทรุดของแผ่นดินจากการสูบน้ำ การวางผังเมืองรองรับน้ำหนัก การจัดเตรียมเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ การจัดการน้ำท่วม รวมถึงโครงการจะเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนควรตื่นตัวและติดตามข้อเท็จจริงกันต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก หรือเตรียมตัวไม่ทันในอนาคต หากประเทศไทยต้องย้ายเมืองหลวงอย่างจริงจัง  

รศ.ดร.สุจริต คูณธรกุลวงศ์ - ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ 
"ประเทศไทยมีมาตรการรองรับทั้งเรื่องการทรุดของแผ่นดินจากการสูบน้ำ การวางผังเมือง การจัดเตรียมเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ การจัดการน้ำท่วม และจะมีโครงการเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ รวมถึงการติดตามการเพิ่มของระดับน้ำทะเล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เราควรตื่นตัวแต่ไม่ควรตื่นตระหนก เพราะจะทำให้เกิดข้อเรียกร้องที่เกินข้อเท็จจริงได้"

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 
"กรุงเทพฯ ต่างจากกรุงจาการ์ตาที่มีชั้นดินไม่เหมือนประเทศไทย ที่จาการ์ตาดินไม่ดี มีชั้นดินที่หนากว่า แต่อ่อนกว่า ลงเสาเข็มไปอย่างไรก็ทรุด แต่ที่กรุงเทพฯ เราลงเสาเข็มไป 20 กว่าเมตรก็เจอดินแข็งแล้ว จึงไม่ทำให้อาคารเกิดการทรุดตัว"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0