โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมืองน่าอยู่ - ปราบดา หยุ่น

THINK TODAY

เผยแพร่ 16 ส.ค. 2561 เวลา 05.26 น. • ปราบดา หยุ่น

คอลัมน์ สัญญาณรบกวน

รายงานดรรชนีความน่าอยู่ (หรือ “อยู่ดี”) ของ 140 เมืองในโลกโดย The Economist Intelligence Unit ครั้งล่าสุด สร้างความฮือฮาเล็กน้อยในแวดวงที่ติดตามผลสำรวจขององค์กรนี้มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากครองตำแหน่งเมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งมาเจ็ดปีซ้อน เมลเบิร์นแห่งออสเตรเลียก็ตกไปอยู่อันดับที่สอง เสียแชมป์ให้กับเวียนนาแห่งออสเตรีย (ตัวเลขสูสี ห่างกันแค่ไม่ถึงหนึ่งคะแนน)

แต่ความเสียหน้าของเมลเบิร์นและชัยชนะของเวียนนาในครั้งนี้ต้องถือเป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ทั้งเมลเบิร์นและเวียนนาต่างก็ติดอันดับต้นๆของความเป็นเมืองน่าอยู่ของโลกมาหลายปี ทุกเมืองในสิบอันดับแรกของการสำรวจล้วนมีภาพลักษณ์และเป็นที่กล่าวขวัญว่าน่าอยู่โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาการจัดอันดับใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ซิดนีย์ แวนคูเวอร์ โคเปนเฮเกน โอซาก้า หรือโตเกียว และหากดูเฉพาะชื่อประเทศ ก็จะพบว่ามีเพียงห้าประเทศที่ครองตำแหน่งในสิบอันดับนั้น นั่นคือ ออสเตรีย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น (เมืองของญี่ปุ่นเพิ่งติดในสิบอันดับเป็นครั้งแรก) และเดนมาร์ก

แน่นอน ในมุมของผู้อยู่อาศัย ความ “น่าอยู่” ของเมืองเป็นเรื่องนานาจิตตัง ไม่ต่างจากความงาม และหลายคนอาจแปลกใจที่ “เมืองดัง” อย่างนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน เซี่ยงไฮ้ ไม่ติดอันดับต้นๆ (นิวยอร์กอยู่อันดับ 57 ลอนดอนอยู่อันดับ 48) ทั้งที่ดูเหมือนจะเป็นจุดหมายในฝันของผู้คนมากมาย มีความเคลื่อนไหวให้ติดตามและอยู่ในกระแสโลกมากกว่าเวียนนาหรือเมลเบิร์นหลายเท่า แต่คำว่า “น่าอยู่” ในดรรชนีนี้ครอบคลุมปัจจัยที่สะท้อนการมี “คุณภาพชีวิตดี” อย่างกว้างๆ และไม่ได้แปลว่าน่าอยู่สำหรับทุกคน อาจกล่าวอีกอย่างว่ามันเป็นความน่าอยู่ในอุดมคติของชีวิตความเป็นอยู่ที่สมดุลและสมบูรณ์ เช่น ปริมาณอาชญากรรมต่ำ ไม่มีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ไม่มีแนวโน้มจะเกิดเหตุก่อการร้าย บริการด้านสุขภาพเพียบพร้อมและทั่วถึง สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลและอยู่ในสภาพดี มีความเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเปิดกว้างโดยไม่ถูกบั่นทอนด้วยการทุจริต มีสังคมสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมและมีเสรีภาพในการแสดงออก มีทางเลือกทางการศึกษา มีพื้นที่สำหรับการกีฬา และมีการวางระบบโครงสร้างต่างๆอย่างได้มาตรฐาน

“เมืองน่าอยู่” อาจไม่มีคุณสมบัติเข้มข้นด้านใดด้านหนึ่ง (เช่น ถ้าเทียบความตื่นตัวของวงการบันเทิง เวียนนาก็คงสู้ลอสแอนเจลิสไม่ได้ หรือสำหรับคนชอบความทับซ้อนทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เมืองในฝันก็คงไม่พ้นนิวยอร์ก) แต่ความเข้มข้นในทางบวกก็มักต้องแลกด้วยการมีข้อบกพร่องที่เข้มข้นไปด้วย เมืองดังๆทั้งหลายมักมีปริมาณอาชญากรรมมากตามความหนาแน่นและเหลื่อมล้ำของประชากร การจราจรแออัดติดขัด เผชิญปัญหามลภาวะรุนแรง สุขภาพทั้งทางกายและใจของผู้คนเปราะบาง ฯลฯ เพราะคนเราจัดลำดับเรื่องสำคัญในชีวิตต่างกัน ความน่าอยู่ของเมืองจึงมีความหมายหลากหลายตามไปด้วย ถึงที่สุดแล้วหลายคนไม่ได้มีโอกาสจะเลือกเมืองได้ตามความน่าอยู่ และอีกหลายคนก็ไม่ได้ใช้เวลาไปกับการไตร่ตรองทบทวนถึงคุณภาพของเมืองที่ตนอาศัย แต่อยู่ด้วยเหตุผลง่ายๆว่าชีวิตของพวกเขาเป็นเช่นนั้น

ในขณะเดียวกัน บางครั้งความคุ้นเคย ชาชิน ไม่มีทางเลือก การยอมรับความเป็นไปของสภาพแวดล้อมด้วยความจำเป็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความคลั่งชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา ก็สามารถทำปฏิกิริยาสุดโต่งกับทัศนคติของคนถึงขั้นส่งผลให้บอดต่อความ “ไม่น่าอยู่” ของเมือง ปฏิเสธข้อวิพากษ์วิจารณ์ทุกรูปแบบ และแสวงข้ออ้างทุกรูปแบบในการพลิกข้อบกพร่องและด้านมืดทั้งหลายให้กลายเป็นบวก

คะแนนของกรุงเทพฯอยู่อันดับที่ 98 ในรายงานครั้งนี้ และหากเทียบกับเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน กรุงเทพฯถือเป็นอันดับสามรองจากสิงคโปร์ (35) และกัวลาลัมเปอร์ (78) เป็นไปได้อย่างมากที่หลายคนจะเห็นตัวเลขแล้วส่ายหัวแย้ง กรุงเทพฯโดยรวมๆมักถูกมองโดยคนไทยและต่างชาติที่มาเยือนว่า “น่าอยู่” กว่าสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ หากจะมีคนถึงขั้นให้ท้ายกรุงเทพฯว่าเป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในภูมิภาคก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะถ้ามองข้ามปัญหารถติดที่เลื่องลือ (เรื่องนี้กรุงเทพฯติดอันดับท็อปเท็นทุกปีแน่นอน) ความแออัด มลพิษ และความขาดๆเกินๆในรายละเอียด กรุงเทพฯก็โดดเด่นในความมีสีสัน มีความสะดวกสบายทันสมัยระดับสากลในราคาที่ยังย่อมเยา อาหารการกินเป็นเลิศ และผู้คนแสดงความเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวอย่างออกนอกหน้า

คุณสมบัติเหล่านี้มักเป็นประเด็นหลักที่ถูกใช้ในการยืนยันความน่าอยู่ของกรุงเทพฯ โดยจงใจไม่เอ่ยถึง “ข้อดี” (ในสายตาคนบางประเภท) อีกด้านที่ทำให้กรุงเทพฯเป็นขวัญใจนักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่แพ้กัน เช่น ความบันเทิงทางราคะที่คึกคักและราคาถูกอย่างน่าตกใจ และความฉ้อฉลหลากรูปแบบที่เอื้อให้เงินมีอำนาจเหนือกฎหมาย และความหละหลวมต่อระบบระเบียบและมาตรฐานจนเปิดช่องโหว่ให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างง่ายดายในแทบทุกย่างก้าว

ความน่าอยู่ของเมืองในภาพกว้างไม่ควรมีความหมายในลักษณะเกื้อหนุนคนเพียงเฉพาะบางกลุ่มบางพวก และไม่ใช่ความน่าอยู่สำหรับนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติ แต่ควรเป็นคุณสมบัติที่กระจายโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิต “ดีๆ” ได้อย่างทั่วถึงทุกชนชั้นในเมืองนั้น

น่าสนใจว่าทุกเมืองในสิบอันดับแรกของคะแนนดรรชนีความน่าอยู่ล้วนเป็นเมืองในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชาธิปไตยและให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก (แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดในเอเชีย พอๆกับเกาหลีใต้) ซึ่งขัดแย้งอย่างชัดเจนกับความเชื่อของคนบางกลุ่ม ที่เสนอว่าชีวิตดีมีได้ภายใต้ระบอบเผด็จการ

ความสงบที่เกิดจากการกดข่มบังคับและความเจริญที่เกิดจากการสั่งให้สรรค์สร้างด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ อาจทำให้คนบางกลุ่มพึงพอใจและสร้างภาพความ “น่าอยู่” ให้ได้ในระยะหนึ่ง แต่นั่นเป็นเพียงผลลัพธ์ของการสับสนความ “อยู่ดี” กับการ “อยู่ได้” เพราะมีนายคอยดูแล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0