โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เฟ้นหาโอกาสลงทุนฝ่าวิกฤติ ... “มองหาโอกาสจากสงครามการค้า มีโอกาสซ่อนอยู่หรือไม่ ?”

Finnomena

อัพเดต 20 ธ.ค. 2562 เวลา 09.10 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 04.00 น. • นายแว่นลงทุน

“สงครามการค้า” เป็นอะไรที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด แต่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเพราะเมื่อสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่บนโลกนี้เริ่มช่วงชิงตำแหน่ง “เจ้าโลก” ย่อมต้องเกิดการปะทะกันเป็นธรรมดา

มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้ให้ทัศนะเอาไว้ว่า … ปัญหาระหว่างจีน กับอเมริกา แบ่งเป็นสามระดับ ได้แก่ ระดับการค้าขาย ระดับเทคโนโลยี และระดับความมั่นคง

ในระดับของการค้าขาย สหรัฐฯ ก็อ้างว่า พี่จีนของเราเกินดุลการค้ากับอเมริกา ทุ่มตลาดด้วยการขายของถูก ๆ ทำให้คนอื่นทำมาค้าขายยาก ที่สำคัญมันทั้งราคาถูก และคุณภาพดี เช่น “หัวเหว่ย” ราคาถูกกว่าไอโฟน แถมถ่ายรูปได้ชัดแจ๋วกว่ามาก และเทคโนโลยี 5G ของพี่จีนก็เริ่มจะล้ำกว่าของอเมริกา สังเกตได้จากการที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เริ่มมาจากฝั่งจีน เช่น การจดจำใบหน้า หุ่นยนต์ AI อ่านข่าวแทนคน แล้วแบบนี้อเมริกาจะทำอย่างไร ?

สาเหตุดังกล่าวมันก้าวล่วงไปถึงความมั่นคง อย่างที่เรารู้ ๆ ว่า อเมริกาเป็น “พี่ใหญ่” คุมทุกอย่างด้วยเงินดอลล่าร์ ไม่ว่าเราจะซื้อน้ำมัน หรือแลกเปลี่ยนสินค้าอะไรก็ตาม ซึ่งใครจะไปยอมล่ะครับ ? และนั่นทำให้เกิด “สงครามการค้า” ที่สักวันมันก็ต้องเกิด จนหลาย ๆ คนเริ่มชิน และเรียกว่าเป็น New Normal … ว่าแต่ในวิกฤติแบบนี้ จะมีโอกาสอะไรแฝงอยู่บ้าง ไปติดตามกันครับ

โอกาสแรก … “สงครามการค้าจะยาวนานกว่าที่คิด”

ผู้อ่านคงจะคิดในใจว่า … “เอ้ย ! สงครามการค้ายาวนานมันดีตรงไหน ?” … สำหรับผมแล้ว การมีสงครามการค้าก็ยังดีกว่าสงครามสู้รบจริง ๆ ซึ่งขออย่าให้เกิดเลยครับ … โดย แจ็ค หม่า คนดังระดับโลกยังเคยบอกว่าสงครามการค้าอาจยาวนานเป็นสิบ ๆ ปี แม้แต่ “ท่านสี” ผู้นำจีนยังบอกว่า “เราต้องเตรียมตัวเดินทัพทางไกล”

การที่สงครามการค้าจะยาวนาน อาจมองว่าเป็นโอกาสก็ได้นะครับ เพราะน่าจะเกิดการกีดกันสินค้าจากจีนนานกว่าที่คิด และอะไรที่ผลิตที่จีนก็ต้องแยกย้ายไปผลิตที่อื่นแทน ซึ่งอาจจะเป็นภูมิภาคอาเซียนของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตยุคใหม่ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องบิน ตู้โดยสารรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ซึ่งประเทศที่ยังอ่อนด้านเทคโนโลยียังอาจจะผลิตไม่ได้ หรือมือไม่ถึง

โอกาสที่สอง … “เงินบาทแข็งค่าจากสงครามการค้า”

อ้าวเอาอีกละ !? เงินบาทแข็งใครว่าดี แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มีคนเสียย่อมมีคนได้ หากเงินบาทแข็งค่ามาก ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ผู้ส่งออกจะแย่ แต่ผู้นำเข้าจะดีนั่นเอง

ถ้าเราเป็นนักลงทุน เราก็ควรกวาดตาไปดูว่ามีธุรกิจไหนที่ได้ประโยชน์ในภาวะแบบนี้ ยกตัวอย่างเช่น หุ้น SABINA ที่เริ่มไปจ้างผลิตสินค้าของตัวเองที่ประเทศจีนที่ค่าเงินหยวนอ่อน และนำเข้ามาขายในไทย แทนที่จะเน้นผลิตในไทย และนั่นทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น มาร์จิ้นดีขึ้น

หรือหุ้นที่นำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง โรคไต โรคเบาหวาน แม้แต่ผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศก็จะได้อานิสงส์ในงานนี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า การที่จะหวังให้ค่าเงินบาทอ่อนนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่คงไม่ง่ายนัก แทนที่เราจะว่ายทวนน้ำ ก็หันมาว่ายตามน้ำด้วยการลงทุนหุ้นให้ถูกตัวดูบ้างจะเป็นไร

ประการสุดท้าย … “โอกาสในการไปซื้อกิจการต่างประเทศ”

โอกาสนี้เราอาจต้องกวาดตาไปมองกิจการที่แข็งแกร่ง ที่มีเงินสดหนามือ และมองเห็นว่า ค่าเงินบาทที่แข็งเป็นจังหวะในการซื้อกิจการยังต่างประเทศ

ว่าที่จริงแล้ว เราก็ได้เห็นกิจการใหญ่ ๆ เริ่มซื้อกิจการอื่น ๆ เช่น MINT ไปซื้อกิจการโรงแรมของสเปน IVL กวาดซื้อกิจการปิโตร ฯ ในหลายที่ TU ซื้อกิจการปลาทูน่า CPF ซื้อกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น และหลายกิจการก็อาจไปลงทุนจริง ๆ เลย เช่น GULF ไปสร้างโรงไฟฟ้าที่เวียดนาม BCPG ซื้อโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย

*ข้อสรุป และข้อคิดก็คือ … *

ในวิกฤติมีโอกาสซ่อนตัวอยู่เสมออยู่ที่เราจะมองในแง่ไหน หากเราคิดว่าอะไร ๆ ก็วิกฤติจนทำอะไรไม่ได้แล้ว นั่นจะเป็นการปิดตัวเองอย่างน่าเสียดาย ลองมองหาโอกาสกันดูนะครับ ถ้าเจออะไรใหม่ ๆ กระซิบบอกผมมาก็ได้ครับ ใครมีไอเดียดี ๆ ผมยินดีรับฟังเลยละครับ

#นายแว่นลงทุน

หมายเหตุ: บทความนี้มิได้มีเจตนาส่งเสริมการซื้อหรือขายหุ้น แต่หากสนใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาปัจจัยให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุนครับ

—————————-

Jessada Sookdhis Investment Analyst (IA) ตรวจทานบทความ

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต

**สนใจลงทุนในพอร์ต RUNNING for Growth พอร์ตกองทุนรวมหุ้นซึ่งจัดโดยนายแว่นลงทุน คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเลย >> https://www.finnomena.com/port/naiwaen

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0