โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เฟดปรับลดดอกเบี้ยตามคาด ขณะตลาดจับตาปัญหาซาอุฯ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 ก.ย 2562 เวลา 10.58 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 10.58 น.
หุ้น-ดอลลาร์-ขนส่ง-น้ำมัน
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (16/9) ที่ระดับ 30.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (13/9) ที่ระดับ 30.41/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้รับแรงหนุนหลังจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกว่าเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสูงกว่านักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์, วัสดุก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับแรงหนุนหลังตลาดคลายความกังวลเรื่องสถานการณ์เรื่องโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย โดยล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้อนุมัติให้นำน้ำมันดิบในคลังสำรองออกมาใช้เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไป ประกอบกับตลาดมองว่าซาอุดิอาริเบียจะสามารถฟื้นกำลังการผลิตได้เร็วกว่ากำหนด ในคืนวันอังคาร (17/9) มีการเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนสิงหาคม สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% นอกจากนี้สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐ ได้เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านโดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 จุด สู่ระดับ 68 ได้เดือนกันยายน ขณะที่การประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงด้วยมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ 7-3 เสียงในการปรับลด 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์

อย่างไรก็ดีในแถลงการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับเปลี่ยนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจเล็กน้อย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ จะเติบโต 2.2% ในปี 2562 โดยปรับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.1% และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.0% ในปี 2563 นอกจากนี้ได้ประมาณการอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.7% ในปี 2562 โดยปรับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 3.6% และได้คงอัตราเงินเฟ้อไว้เท่าเดิมที่ 1.5% ในปีนี้ 1.9% ในปี 2563 และ 2.0% ในปี 2564

นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวถ้อยแถลงหลังการประชุมว่า การดำเนินนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมกับกล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง หากเศรษฐกิจในสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย และจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อไป ทั้งนี้เขาไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้มีการคาดการณ์ไว้ 57.7% ว่าทางธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในปีนี้

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยที่สำคัญนั้น กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนสิงหาคม โดยระบุว่าในเดือนสิงหาคม การส่งออกหดตัว 4.0% จากที่ขยายตัว 4.28% ในเดือนกรกฎาคม เป็นผลมาจากการเร่งส่งออกในเดือนก่อนหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำได้ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงหดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการแข็งค่าของค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.46-30.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 30.47/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (16/9) ที่ระดับ 1.1072/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/9) ที่ระดับ 1.1100/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรเริ่มมีแรงซื้อกลับในช่วงกลางสัปดาห์หลังสถาบัน ZEW รายงานว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวเยอรมนีปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับคาดการณ์ โดยออกมาที่ระดับ -22.5 จาก -37.0 ในช่วงเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ดีสถาบัน ZEW ยังได้เตือนว่าเศรษฐกิจของเยอรมนียังคงมีแนวโน้มถดถอย จากปัจจัยเรื่องสงครามการค้า และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ค่าเงินยูโรยังปรับตัวอ่อนค่าลงหลังสำนักงานสถิติสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงทรงตัวที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีในเดือนสิงหาคมที่ 1% เมื่อเทียบเป็นรายปีซึ่งเท่ากับช่วงเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตั้งไว้ที่ 2% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0990-1.1093 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 1.1065/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (16/9) ที่ระดับ 107.64/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/9) ที่ระดับ 107.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการที่นักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากเกิดเหตุโจมตีโรงงานน้ำมันของซาอุดิอาระเบียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในวันพฤหัสบดี (19/9) บีโอเจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และประกาศราคาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ 0% ได้แถลงการณ์เพิ่มเติมว่ายังคงติดตามสภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อและดำเนินนโยบายทางการเงินได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 107.46-108.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 107.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0