โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เพ็ญสุภา สุขคตะ : 100 ปีชาตกาลเมธีล้านนา "พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 27 ก.พ. 2563 เวลา 07.50 น. • เผยแพร่ 27 ก.พ. 2563 เวลา 07.50 น.
ปริศนา 2062

กวี ปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ชาวลำพูน

พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย ผู้เป็นทั้งกวี ปราชญ์ และนักประวัติศาสตร์ ซึ่งรวมเรียกว่า “เมธี” แห่งล้านนา เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2463 ที่บ้านสันมหาพน (บริเวณใกล้กับวัดจามเทวี) ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ดังนั้นในวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 จะครบวาระ 100 ปีชาตกาลของท่าน โดยลูกหลานครอบครัววรรณสัย สภาเปรียญจังหวัดลำพูน วัดพระธาตุหริภุญชัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เทศบาลเมืองลำพูน สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน และคณะลูกศิษย์ ได้ร้อยรวงดวงใจกันจัดกิจกรรมพิเศษ ณ บ้านเลขที่ 64 ถนนเจริญราษฎร์ ซอย 6 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

มีกำหนดการคร่าวๆ ดังนี้ เปิดงานเวลา 09.00 น. โดยพระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน

จากนั้นมีพิธีทักษิณานุปทาน ถวายภัตตาหารเพลและรับประทานอาหารร่วมกัน

ชมการเปิดบ้านและเปิดผลงานลายมือเขียนต้นฉบับของ “เมธีล้านนา : พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย”

หรือที่ชาวลำพูนนิยมเรียกท่านว่า “มหาสิงฆะ วรรณสัย”

จากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ “บทบาทมหาสิงฆะ วรรณสัย กับเมืองลำพูน” โดยคณะวิทยากรมีทั้งเพศบรรพชิตและฆราวาส ประกอบด้วย พระครูปัญญาธรรมวัฒน์ (ครูบาอินทร) เจ้าอาวาสวัดสันป่ายางหลวง พระครูนิวิฐวิริยคุณ อาจารย์บารเมศ วรรณสัย ทายาทผู้เป็นลูกชายคนโตของมหาสิงฆะ วรรณสัย อาจารย์พงษ์เทพ มนัสตรง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน และอาจารย์รำไพ ศิสุพจน์

อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณาจารย์ นักวิชาการด้านล้านนาคดี ก็ได้มีการจัดกิจกรรม “โครงการอภิปรายเชิงวิชาการความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม : 100 ปีชาตกาลเมธีล้านนา พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย” ไปแล้วโดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

คุณูปการอันโดดเด่นสามประการ

พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย หรือมหาสิงฆะ วรรณสัย คือใคร มีความสำคัญอย่างไร

จากการศึกษาผลงานของท่าน ในมุมมองของดิฉันพบว่า ท่านเป็นปูชนียาจารย์ผู้มีคุณูปการต่อสังคมล้านนา 3 ด้านหลักๆ คือด้านอักขระ ภาษาและวรรณกรรม ด้านศาสนา ประเพณี พิธีกรรม และด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี

ด้านอักขระ ภาษาและวรรณกรรม ท่านมหาสิงฆะ เป็นกวีโดยจิตวิญญาณ เป็นกวีที่มีพรสวรรค์ เขียนคำประพันธ์โคลง กลอน ร่ายแบบภาคกลางในลักษณะที่เรียกว่า “กวีนิพนธ์” ได้ไพเราะเพราะพริ้ง ถูกฉันทลักษณ์ทุกประการ ทั้งที่มาบวชเรียนที่วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ในช่วงสั้นๆ เพียง 4 เดือนเท่านั้น

ในด้านวรรณกรรมล้านนานั้นเล่า ท่านมหาสิงฆะยิ่งมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นไปอีก คือเป็นกวีที่มีความเป็นนักคิด นักวิชาการ อาจารย์ นักจัดระบบ จัดทำตำรา หรือเป็นปราชญ์พร้อมสรรพในตัวเอง

ท่านเป็นผู้จัดทำระบบปริวรรตอักษรล้านนาให้เป็นตัวอักษรไทยกลาง พร้อมจัดทำตำราเรียนอักขระล้านนา ท่านเป็นผู้จัดระบบฉันทลักษณ์คำคร่าวล้านนาให้มีแผนผังจังหวะที่ลงตัว ท่านทำการปริวรรตวรรณกรรมล้านนาชิ้นสำคัญ อาทิ วรรณกรรมชาดกนอกนิบาตเรื่องอุสาบารส พรหมจักร และโลกนัยชาดก

ผลงานชิ้นโบแดงในกลุ่มนี้คือ ปริวรรตโคลงมังทรารบเชียงใหม่ จากอักษรพื้นเมืองล้านนา (โคลงที่กล่าวถึงเหตุการณ์การกวาดต้อนชาวเชียงใหม่ไปเป็นเชลยที่หงสาวดีหลังล้านนาพ่ายแพ้แก่พม่าราว พ.ศ.2158)

ด้านศาสนา ประเพณี พิธีกรรม ดิฉันขมวดรวมความโดดเด่นของท่านมหาสิงฆะ วรรณสัย ในด้านงานบริการสังคมที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณความเชื่อด้านศาสนาไว้ด้วยกันในหัวเรื่องนี้ กล่าวคือท่านมหาสิงฆะ วรรณสัย ได้รับฉันทามติจากประชาคมล้านนา หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ให้ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมหลักๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน อยู่สองพิธีกรรมหลักๆ พิธีกรรมแรกคือ การเวนทาน (ไม่พบในภาคอื่น) กับพิธีกรรมเรียกขวัญ

การเวนทาน เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณกาลของชาวล้านนา มหาสิงฆะต้องเขียนเรื่องราวบันทึกเหตุการณ์สำคัญของงานนั้นๆ เป็นภาษาร้อยแก้วกึ่งร้อยกรองที่มีสัมผัสในทำนองร่าย ในงานเหล่านี้ งานศพ งานฉลองวิหาร โรงเรียน ขึ้นบ้านใหม่ งานกฐิน งานบุญต่างๆ

พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย แต่งคำเวนทานไว้ในสมุดบันทึกมากกว่า 600-700 สำนวน ซึ่งงานเหล่านี้ถือเป็นเอกสารจดหมายเหตุหรือบันทึกร่วมสมัยของเหตุการณ์ต่างๆ อันทรงคุณค่า เพราะมีการระบุชื่อบุคคล ตัวตน ศักราช ณ สถานที่จริงทั้งหมด

คำเรียกขวัญ พบว่าพ่อครูสิงฆะ วรรณสัยแต่งไว้ด้วยภาษาพื้นเมืองล้านนา สอดแทรกด้วยภาษาบาลี สันสกฤต มากกว่า 100 สำนวน

ส่วนผลงานด้านสุดท้ายคือ งานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ดิฉันขอแยกกล่าวเฉพาะออกมาให้โดดเด่น เนื่องจากในเวทีสัมมนาที่ผ่านๆ มา พบว่ายังไม่มีนักวิชาการท่านใดแตะประเด็นรายละเอียดส่วนนี้เท่าใดนัก

 

พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย กับมุมมอง
ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองลำพูน

ดิฉันเห็นว่า งานวิชาการที่พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย เรียบเรียงเรื่องตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย กับประวัติพระนางจามเทวีและจังหวัดลำพูน สองเล่มนี้นั้น น่าจะเป็นงานมาสเตอร์พีซชิ้นสำคัญที่สุด ในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองเก่าหริภุญไชย

ลองคิดดูว่า สมัยก่อนนั้นจังหวัดลำพูนกว่าจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย โดยกรมศิลปากรอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีภัณฑารักษ์ในพื้นที่ก็ตกอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2518 เข้าไปแล้ว

จริงอยู่แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ.2470 จะทรงโปรดฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประจำมณฑลพายัพ ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่ก็เป็นเพียงการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุไม่ให้กระจัดกระจายหายสูญเกินไปเท่านั้นเอง ยังไม่ได้มีการสืบค้นวิเคราะห์วิจัยตีความหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเป็นกระบวนการแต่อย่างใดเลย

มีก็แต่เพียงคนเฒ่าคนแก่ บอกเล่าตำนานมุขปาฐะแบบปากต่อปาก ใส่สีเติมสรรสอดแทรกเรื่องราวที่เหลือเชื่อเข้าไปให้ตื่นเต้นเร้าใจ เช่น ตำนานศึกรักระหว่างรบของขุนหลวงวิลังคะกับพระนางจามเทวี ที่เน้นเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อพื้นถิ่น อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ

แต่ครั้นเมื่อได้อ่านงานของพ่อครูสิงฆะ วรรณสัย สองเล่มดังกล่าวอย่างละเอียด กลับพบว่า ท่านเป็นนักวิจัยโดยสายเลือด

เป็นนักวิชาการโดยจิตวิญญาณ

ท่านไม่ได้คัดลอกตำนานเล่มใดเล่มหนึ่งเพียงเล่มเดียว แต่มีการอ้างอิงเอกสารโบราณเล่มที่กรมศิลปากรยอมรับแล้วอย่างเป็นระบบมาใช้งาน

ไม่ว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และพงศาวดารโยนก

งานเขียนประวัติศาสตร์ของพ่อครูสิงฆะ วรรณสัย จึงเต็มไปด้วยเหตุและผล

เช่น มีการอธิบายว่า ตำนานต้นฉบับเล่มไหนบ้างที่กล่าวถึงฤๅษีพุทธชฎิล เล่มไหนไม่กล่าวถึง

หนังสือเล่มไหนเรียกชื่อเจ้าอนันตยศว่าเจ้าอินทวรบ้าง

หนังสือเล่มไหนระบุว่า กษัตริย์ราชวงศ์จามเทวีมี 50, 51, 52 พระองค์ มีการทำตารางเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของชื่อเรียก ศักราช เหตุการณ์ที่ไม่ตรงกันของเอกสารอ้างอิงแต่ละเล่มอย่างละเอียดยิบ

ประหนึ่งระเบียบวิธีการทำวิจัย หรืองานวิทยานิพนธ์ระดับมาตรฐานของยุคปัจจุบัน ฉันใดก็ฉันนั้น

นอกจากนี้แล้ว พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย ยังเสนอแนวคิด และตั้งคำถามต่อความสับสนข้อขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ตลอดเวลา

เช่น ตำนานมูลศาสนาระบุว่า เจดีย์สันมหาพนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครหริภุญไชย (บริเวณวัดพระยืน) แต่เล่มอื่นระบุว่าเป็นทิศตะวันตก

โดยพ่อครูสิงฆะมองว่า น่าจะอยู่ทิศตะวันตก แต่ก็มิได้หมายความว่า ข้อมูลส่วนอื่นๆ ของตำนานมูลศาสนาจะต้องผิดพลาดตามไปด้วยเสียทั้งหมด

ประเด็น “อะไรคือรัตนเจดีย์” ที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกอักษรมอญหลัก ลพ.2 ซึ่งพบที่ฐานเจดีย์วัดจามเทวี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ที่นักวิชาการส่วนใหญ่โต้แย้งกันว่าควรจะเป็นเจดีย์องค์ไหน ระหว่างเจดีย์องค์ใหญ่ (สี่เหลี่ยม) หรือเจดีย์องค์เล็ก (แปดเหลี่ยม) ในวัดจามเทวีกันแน่

แต่พ่อครูสิงฆะ วรรณสัย กลับมีความเห็นแปลกไปโดยสิ้นเชิงว่า “รัตนเจดีย์น่าจะเป็นเจดีย์แม่ครัว หรือเจดีย์เชียงยัน” ตรงโรงเรียนเมธีวุฒิกรมากกว่า

ด้วยเหตุที่ว่ายอดเจดีย์องค์นี้มีการตกแต่งบุทองจังโกและพบร่องรอยของการฝังแก้วอัญมณีอย่างวิจิตร ตรงตามที่กล่าวว่าพระญาสววาธิสิทธิได้สร้างเจดีย์องค์หนึ่งหลังจากแผ่นดินไหว ได้มีการบุเพชรพลอยของมีค่า จึงให้ชื่อว่า “รัตนเจดีย์”

ปมปัญหาเรื่องชื่อเรียกของเจดีย์องค์ต่างๆ ในสมัยหริภุญไชย ที่ปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนาน ทั้งเจดีย์สุวรรณจังโกฏ เจดีย์สันมหพน รัตนเจดีย์ ฯลฯ ยังเป็นปริศนาที่ต้องสืบค้นชำระสะสางกันต่อไปอย่างเข้มข้น ไม่ว่าข้อสันนิษฐานของพ่อครูสิงฆะ วรรณสัย จะเป็นเช่นไร แต่ดิฉันเห็นว่า

ท่านมีความกล้าหาญในทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นคุณสมบัติที่หายากในบรรดาปราชญ์ท้องถิ่นคนอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่อาจทำหน้าที่แค่จดจำคำบะเก่ามาบอกเล่าให้ลูกหลานฟัง แต่ไม่อาจฟันธงกล้านำเสนอสิ่งใหม่ๆ

เสียดายที่ดิฉันไม่ทันได้รู้จักกับท่านตัวเป็นๆ เพราะท่านถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ พ.ศ.2523 ก่อนหน้าที่ดิฉันไปอยู่ที่ลำพูนนานถึง 20 ปี มิเช่นนั้นแล้ว ดิฉันคงได้มีโอกาสเสวนาปสาทะ เรียนรู้วิธีคิดแลกเปลี่ยนมุมมองกับปราชญ์ใหญ่ท่านนี้อีกมากมายหลายมิติ

อย่างไรก็ดี ขอเรียนเชิญชาวลำพูนหรือชาวจังหวัดอื่นที่สนใจร่วมงานตามโปสเตอร์นี้ได้ตามอัธยาศัยค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0