โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'เพลงหนึ่งเพลง เต็มไปด้วยความทรงจำ' เหตุผลที่เรากลับไปฟังเพลงเก่าๆ

The MATTER

เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2562 เวลา 11.58 น. • Lifestyle

ใกล้สิ้นปีแบบนี้ ก็จะเห็นหลายคนพากันแชร์ Spotify Wrapped ของตัวเอง หรืออัลกอริทึมจากแอพพลิเคชั่นสตรีมมิ่งที่ช่วยให้เราได้ทบทวนว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเราฟังเพลงอะไรไปบ้าง เป็นเพลงแนวไหนเยอะที่สุด หรือมีเพลงของศิลปินคนไหนที่เราชอบฟังเป็นพิเศษ

ซึ่งหลายคนก็ดูจะเอ็นจอยกับลูกเล่นนี้กัน เพราะนอกจากจะได้รู้ถึงพฤติกรรมการใช้แอพพลิเคชันสตรีมมิ่งของตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว ยังถือเป็นการแชร์ ‘รสนิยม’ ทางด้านการฟังเพลงให้แก่เพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียได้เห็นว่า เพลงสไตล์นี้แหละคือเราเลย เหมือนได้ทบทวนพัฒนาการการฟังเพลงของตัวเองไปในตัว

แต่ฟังก์ชั่นของอัลกอริทึมไม่ได้มีแค่การเก็บข้อมูลเท่านั้น เพราะถ้ามองเข้าไปลึกๆ เราจะพบว่าแต่ละเพลย์ลิสต์หรือแต่ละเพลงที่เราฟังบ่อยๆ กำลังบ่งบอกอะไรบางอย่างที่มากกว่าแค่ชื่อเพลงและศิลปินที่ร้อง

‘เสียงเพลง’ วิทยาศาสตร์แห่งการเรียกคืนความทรงจำ

เวลาได้ยินเพลงของ ‘สาวสาวสาว’ หรือ ‘M2M’ คุณนึกถึงภาพตัวเองกำลังทำอะไร? ของเราคงเป็นตอนที่กำลังพยายามคิดท่าเต้นเพลง 'รักคือฝันไป' อยู่ใต้อาคารเรียนสมัยประถมกับเพื่อนๆ หรือตอนโดดเรียนไปร้องเพลง The Day You Went Away แบบงูๆ ปลาๆ อยู่ที่คาราโอเกะ แต่สำหรับคนอื่นอาจจะมีภาพที่แตกต่างกันออกไป เพราะกล่องความทรงจำของแต่ละคนนั้นบันทึกเรื่องราวไว้ไม่เหมือนกัน

Young girl in bus listening to music
Young girl in bus listening to music

การที่เราชอบกลับไปฟังเพลงเก่าๆ นอกจากจะรู้สึกว่ามันเพราะและน่าจดจำแล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งนั่นก็คือเราอยากจะย้อนเวลากลับไป ณ ช่วงเวลานั้น เพราะเพลงสามารถดึงเอาเรื่องราว เหตุการณ์ หรือความรู้สึกเก่าๆ ขึ้นมาให้เราได้ย้อนดูว่าชีวิตตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้วยความที่เพลงก็อาจเปรียบเสมือนเครื่องเก็บความทรงจำหรือไทม์แมชชีน ที่เรามักจะเอาเรื่องราวต่างๆ ไปผูกติดไว้ในแต่ละท่อน แต่ละท่วงทำนอง พอเวลาได้ยินเพลงนั้นซ้ำอีกครั้ง ความทรงจำบางส่วนก็ย้อนกลับขึ้นมาในสมองทันที ทำให้เราเกิดอาการนอสตัลเจีย (nostalgia) นึกถึงความหลัง ย้อนกลับไปในห้วงเวลาหรือสถานที่ที่เก็บเรื่องราวนั้นไว้ในเพลงได้

ในปี ค.ศ.1999 มีผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเพลงหรือดนตรีมีพลังในการสร้างความทรงจำให้แก่ผู้ฟัง พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นความทรงจำทั่วๆ ไป อย่างความรู้สึกตอนที่เราเป็นเด็กหรือช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัย และบางเพลงยังสามารถกระตุ้นความรู้สึกและความทรงจำที่ลึกซึ้งได้มากกว่านั้น โดยจะปรากฎออกมาเป็นฉากสำคัญๆ ในชีวิต อย่างตอนมีจูบแรก หรือจัดปาร์ตี้วันเกิดหลังเรียนจบกับเพื่อนๆ

จึงทำให้ทันทีที่เพลงบางเพลงลอยเข้ามาในหู ก็มักจะนำภาพสถานที่ บุคคล หรือโมเมนต์บางอย่างเข้ามาด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะมันช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่อาจมีข้อเสียก็คือเราอาจจะจมอยู่กับอดีตหรือความทรงจำนั้นจนไม่สามารถมูฟออนไปไหนได้

‘You are what you listen’ ทบทวนตัวเองจากเพลงที่ฟัง

ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เวลาหนุ่มสาวไปออกเดทกัน มักจะมีคำถามยอดฮิตนั่นก็คือ “คุณชอบฟังเพลงแนวไหน?” เพราะพวกเขาเชื่อว่ารสนิยมการฟังเพลงเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอก ‘ตัวตน’ ของคนบางคนได้ โดยไม่จำเป็นต้องถามออกมาตรงๆ ว่าเป็นคนยังไง

ไม่ว่าจะเป็นทำนอง จังหวะ หรือเนื้อหาเพลง ทั้งหมดล้วนมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างกับอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติของเรา อย่างเวลาเราอกหัก เราก็ชอบจะเปิดเพลงเศร้าเพื่อบิ้วด์ตัวเองจนร้องไห้ หรือเวลาอินเลิฟ ก็จะชอบเปิดเพลงรักหรือเพลงที่มีดนตรีและเนื้อหาสดใสคลอเป็นแบ็กกราวน์ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะคนเรามีนิสัยชอบฟังเพลงที่ตรงกับอารมณ์ เพื่ออธิบายหรือปลดปล่อยความรู้สึก ณ ขณะนั้นออกมา

Teenage girl with cat at home relaxing during the weekend
Teenage girl with cat at home relaxing during the weekend

เพลงยังสามารถสะท้อนไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ อาจจะเห็นได้จากเสื้อวงที่ใส่ เพลงที่แชร์บนโซเชียล หรือคอนเสิร์ตที่ไป หลายครั้งเราจะสังเกตเห็นว่า ในคอนเสิร์ตแต่ละประเภท เช่น อินดี้ ร็อค ป็อป ฮิปฮอป EDM ฯลฯ คนที่ไปก็จะมีสไตล์การแต่งตัวหรือบุคลิกที่ไม่เหมือนกัน มีผลการวิจัยพบว่า หลายๆ คนมักจะใช้รสนิยมการฟังเพลงในการนิยามทัศนคติและบุคลิกของตัวเอง

มีผลการวิจัยขนาดใหญ่ที่เก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมจำนวน 36,000 คน โดยศึกษากับแนวเพลง 104 แนวที่แตกต่างกัน เพื่อหาว่ารสนิยมการฟังเพลงเชื่อมโยงกับบุคลิกของคนเรายังไง ซึ่งพบว่า คนที่ชอบฟังเพลงป็อปมีแนวโน้มที่จะเข้าสังคมเก่งหรือเป็นคนเอ็กซ์โทรเวิร์ทมากกว่าคนที่ชอบฟังเพลงอินดี้ ส่วนคนที่ชอบฟังเพลงแร็ปมักจะเป็นคนที่มี self-esteem ค่อนข้างสูง เป็นต้น

และมีอีกผลการวิจัยหนึ่งที่พบว่าประเภทของเพลงหรือดนตรีสามารถบ่งบอกถึงวิธีประมวลผลข้อมูลในสมองของเราได้ โดยแบ่งการตอบสนองของสมองออกเป็น 2 รูปแบบ นั่นก็คือ 'empathizing' ที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึก และ 'systemizing' ที่ให้ความสำคัญกับการจัดระบบและการวิเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ โดยคนที่เป็นประเภทแรกมีแนวโน้มจะชอบฟังเพลงร่วมสมัยแบบสบายๆ กลมกล่อม แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ อย่างเพลงอินดี้ร็อค คันทรี่ หรือโฟล์ก ส่วนคนประเภทที่สองมีแนวโน้มจะชอบฟังเพลงที่ซับซ้อน เข้มข้น เต็มไปด้วยจังหวะที่สนุกและค่อนข้างมีพลังบวก

ด้วยเหตุนี้ การได้ลองกลับไปย้อนดูว่าที่ผ่านมาเราฟังเพลงอะไรบ้าง จึงเหมือนกับเป็นการปลุกความทรงจำเก่าๆ ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับทบทวนตัวเองไปในตัวว่าช่วงที่ผ่านมาเรามีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไร ทั้งต่อสังคม คนรอบข้าง และตัวเอง ถึงแม้จะมีทั้งดีและไม่ดีปนกันไป แต่ก็ถือว่าเพลงหรือเพลย์ลิสต์นั้นๆ เปรียบเสมือน ‘ไดอารี่’ เล่มหนึ่งที่เราเขียนขึ้นให้กับปีนี้ เพื่อดูว่าเราผ่านช่วงเวลาแบบไหนมาบ้าง

เพลงบางเพลงยังคงอยู่เป็นเพื่อนเรามาตั้งแต่ปีที่แล้ว บางเพลงก็เพิ่งเคยฟังในปีนี้จากเหตุการณ์หรือความบังเอิญอะไรสักอย่าง ซึ่งปีหน้าก็อาจจะมีการค้นพบเพลงอื่นๆ ที่พ่วงมาพร้อมกับความทรงจำและประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ อีกมากมายหลายเพลงเลยก็ได้

อ้างอิงข้อมูลจาก

psychologytoday.com

verywellmind.com

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0