โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

เพลงร็อกหายไปไหน : วิเคราะห์วัฒนธรรมเพลงเปิดตัวมวยปล้ำจากยุค 80's ถึงปัจจุบัน

Main Stand

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 09.44 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

"ใครเคยมีเพลงเปิดตัวมวยปล้ำในเครื่อง MP3 ขอให้ยกมือขึ้น"

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากแฟนมวยปล้ำสักคน จะเคยผ่านประสบการณ์ดังกล่าว เพราะ ครั้งหนึ่ง วงการมวยปล้ำเคยเต็มไปด้วยเพลงร็อกคุณภาพดี จากศิลปินชื่อดังมากมาย 

แต่เวลาผ่านไปไม่นาน เพลงเปิดตัวมวยปล้ำที่เราคุ้นเคยกลับหายไป เหลือแต่เพลงบรรเลงแบบใหม่ พร้อมกับคำถามที่หลายคนคาใจ ว่าเหตุใด วงการมวยปล้ำ จึงไม่ผลิตเพลงร็อกออกมาตอบสนองผู้ฟังอีกแล้ว

Main Stand พาคุณวิเคราะห์วัฒนธรรมเพลงเปิดตัวมวยปล้ำจากยุค 80's ถึงปัจจุบัน ทีไม่เพียงทำให้เห็นการหายไปของเพลงร็อกในมวยปล้ำ แต่ยังรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการ ในแง่มุมที่คุณไม่เคยสังเกตมาก่อน

 

80's : Rock 'n' Wrestling Connection 

ความสัมพันธ์ระหว่างกีฬามวยปล้ำและวงการดนตรี เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงกลางยุค 80's จากวิสัยทัศน์ของ วินซ์ แม็คแมน ที่ต้องการขยายความนิยมของค่าย WWF (WWE ในปัจจุบัน) ออกไปทั้งสหรัฐอเมริกา ผ่านการกระจายตัวของช่องโทรทัศน์เคเบิล ซึ่งกำลังแผ่ขยายทั่วประเทศ

วินซ์ แม็คแมน จ่ายเงินมหาศาลแก่ช่องทีวีมากมาย เพื่อฉายเทปมวยปล้ำของ WWF แต่จนแล้วจนรอด มวยปล้ำยังคงไม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง กระทั่งผู้จัดการนักมวยปล้ำรายหนึ่งชื่อว่า กัปตัน ลู อัลบาโน บังเอิญไปรู้จัก ซินดี ลอเปอร์ นักร้องสาวหน้าใหม่มาแรงในขณะนั้น

Photo : ilxor.com

อัลบาโน ปรากฏตัวในมิวสิควิดีโอเพลง "Girls Just Want to Have Fun" ของลอเปอร์ โดยไม่เคยคาดการณ์มาก่อนเลยว่า เพลงนี้จะฮิตติดตลาด ทะยานขึ้นสู่อันดับ 2 ของ ชาร์ต Billboard Hot 100 วินซ์ แม็คแมน มองเห็นความสำเร็จครั้งนี้เป็นโอกาส เขาจึงวางแผนการครั้งใหญ่ ที่จะนำมวยปล้ำกับดนตรีเป็นหนึ่งเดียวกัน

Rock 'n' Wrestling Connection คือชื่อของโปรเจคต์ดังกล่าว เริ่มจากการปรากฏตัวของอัลบาโนและลอเปอร์ ที่เป็นเพื่อนกันในชีวิตจริง แต่กลับต้องมาเป็นศัตรูกันบนรายการมวยปล้ำของ WWF ความบาดหมางของทั้งคู่นำไปสู่ ศึก The Brawl to End it All โชว์มวยปล้ำแรกที่ถ่ายทอดสดบนช่องทีวีเคเบิลของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ปี 1984

ศึก The Brawl to End it All ล้มเหลวในแง่ของการขายตั๋วเข้าชม แต่ประสบความสำเร็จเกินคาดบนจอโทรทัศน์ โชว์ดังกล่าวทำเรตติ้ง 9.0 ผ่านการถ่ายทอดในช่อง MTV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ดนตรี ไม่ใช่กีฬา และตัวเลข 9.0 ของศึก The Brawl to End it All ยังคงเป็นสถิติเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของโชว์มวยปล้ำทางทีวี ตราบจนทุกวันนี้

Photo : www.yardbarker.com

วินซ์ แม็คแมน ต่อยอดจากความสำเร็จดังกล่าว ด้วยการวางขาย The Wrestling Album อัลบั้มเพลงมวยปล้ำตลับแรกของโลก เมื่อปี 1985 ภายในอัลบั้มบรรจุเพลงที่ขับร้องโดยนักมวยปล้ำมากมาย เช่น ร็อดดี ไพเปอร์ หรือ จังก์ยาร์ด ด็อก โดยแนวเพลงของอัลบั้ม คือ ร็อคแอนด์โรล และ แดนซ์ ป็อบ ที่กำลังได้รับความนิยมในยุค 80's

The Wrestling Album ล้มเหลวทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ แต่ในแง่ของกีฬามวยปล้ำเพียงอย่างเดียว ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพลง Real American ที่บรรจุอยู่ในอัลบั้ม ถูกเปิดซ้ำไปมาในช่องวิทยุเพลงร็อค เนื่องจากความนิยมของ ฮัลค์ โฮแกน ซูเปอร์สตาร์หมายเลขหนึ่งของ WWF ที่ใช้เพลงดังกล่าวขณะเปิดตัว

Photo : www.angelfire.com

วินซ์ แม็คแมน จึงมองเห็นถึงความสำคัญของเพลงเปิดตัว ที่สามารถผลักดันให้นักมวยปล้ำให้โด่งดัง หรือเป็นที่จดจำโดยไม่ต้องเห็นหน้า เพลงของนักมวยปล้ำในยุค 80's จึงสอดคล้องกับบทบาท หรือ กิมมิค ของนักมวยปล้ำแต่ละรายเป็นหลัก โดยไม่จำกัดว่า แนวเพลงที่นำมาใช้ จะได้รับความนิยมหรือไม่ในขณะนั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ บรรดานักมวยปล้ำตัวร้าย ที่มักไม่ใช่ชาวอเมริกัน เช่น ร็อดดี ไพเปอร์, ดิ ไอออน ชีค หรือ นิโคไล วอลคอฟฟ์ พวกเขาเหล่ามีเพลงเปิดตัวที่บ่งบอกทันทีว่า นักมวยปล้ำแต่ละรายมาจากประเทศใด (สกอตแลนด์, อิหร่าน, สหภาพโซเวียต ตามลำดับ) แม้ผู้ชมจะไม่เคยรู้จักนักมวยปล้ำรายนั้นมาก่อน

นอกจากการใช้เพลงเพื่อบ่งบอกตัวตน นักมวยปล้ำในยุค 80's จนถึงต้นยุค 90's สามารถมีส่วนร่วมกับเพลงเปิดตัวของตนเอง หากคาแรกเตอร์ของนักมวยปล้ำรายนั้นเอื้ออำนวย เช่น ฮองกี ท็องค์ แมน นักมวยปล้ำกิมมิค เอลวิส เพลสลีย์ หรือ ชอว์น ไมเคิลส์  กับเพลง "Sexy Boy" ที่แฟนมวยปล้ำทั่วโลกคุ้นหูกันดี

 

90's - 2000's : WWF Full Metal

เพลงเปิดตัวที่ไม่จำกัดแนว สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อสอดคล้องตามบทบาทของนักมวยปล้ำ ดำเนินมาถึงช่วงกลางยุค 90's โดยในปี 1996 สมาคม WWF วางขายอัลบั้ม WWF Full Metal: The Album ชุดรวมฮิตเพลงเปิดตัวมวยปล้ำชื่อดังในช่วงเวลานั้น นอกจากเพลง Sexy Boy ของ ชอว์น ไมเคิลส์ ยังมีเพลงระดับตำนานในวงการมวยปล้ำ อย่าง Hart Attack, Graveyard Symphony และ With My Baby Tonight บรรจุไว้ในอัลบั้ม

Photo : @TheRCDupree

อัลบั้ม WWF Full Metal: The Album ได้เสียงตอบรับที่ดีขึ้นจากนักวิจารณ์ และได้รับความนิยมจากแฟนมวยปล้ำ WWF จึงกระโจนเข้าสู่ตลาดเพลงอีกครั้ง ด้วยแนวทางที่แตกต่างไปจากเดิม คือ การประยุกต์แนวเพลงที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น มาเป็นเพลงเปิดตัวของนักมวยปล้ำ

สำหรับยุค 90's ไม่มีแนวเพลงใดจะได้รับความนิยมในหมู่ชายกลัดมัน อันเป็นแฟนมวยปล้ำของ WWF มากกว่าแนว Heavy Metal ดนตรีร็อกรูปแบบดังกล่าว จึงเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก ต่อเพลงเปิดตัวมวยปล้ำ ตั้งแต่ปลายยุค 90's ไปจนถึง 2000's

เพลงเปิดตัวแรกที่เป็นแนว Heavy Metal และได้รับการจดจำจากแฟนมวยปล้ำไปทั่วโลก คือ เพลง Are You Ready? ของกลุ่ม D-Generation X ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มวยปล้ำ ที่นักมวยปล้ำระดับสูงของวงการ ใช้เพลงเปิดตัวเป็นเพลงร็อกประกอบเนื้อร้อง

Photo : bleacherreport.com

ความนิยมของเพลงมวยปล้ำขึ้นสู่จุดสูงสุด ในปี 1998 และ 1999 อัลบั้มเพลงของ WWE ที่ปล่อยวางขายอย่าง WWF: The Music, Vol. 3 และ 4 สามารถทำยอดขายมากกว่า 1 ล้านแผ่น โดยทั้ง 2 อัลบั้ม ประกอบด้วยเพลงแนว Heavy Metal เป็นส่วนใหญ่

เมื่อประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ WWF กลับมาสู่จุดตั้งต้นในการทำเพลงเปิดตัวมวยปล้ำ คือ บอกเล่าคาแรกเตอร์ WWF ทุ่มเงินจำนวนมาก เพื่อว่าจ้างหรือซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากวงดนตรีร็อคที่กำลังมีชื่อเสียง แก่นักมวยปล้ำระดับสูงของสมาคม ถึงขนาดช่วงเวลาหนึ่ง นักมวยปล้ำระดับ Main Event มีเพลงเปิดตัวเป็นแนวร็อคแทบทั้งหมด

เพลง "The Game" โดย Motörhead, เพลง "Rollin'" โดย Limp Bizkit, เพลง "Never Gonna Stop" โดย Rob Zombie, เพลง "Whatever" โดย Our Lady Peace, เพลง"Break the Walls Down" โดย Sevendust, เพลง "Slow Chemical" โดย Finger Eleven และ เพลง "Glass Shatters" โดย Disturbed

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือเพลงร็อคหลากหลายแนว ตั้งแต่ Hard Rock, Heavy Metal ไปจนถึง Nu-Metal เปิดตัวของนักมวยปล้ำระดับสูงของ WWF หรือ WWE ในช่วงต้นยุค 2000's โดยเป็นเพลงของ ทริปเปิล เอช, ดิ อันเดอร์เทคเกอร์, เอดจ์, คริส เบนวา, คริส เจอริโก, เคน และ สโตน โคลด์ สตีฟ ออสติน ตามลำดับ

เพลงเปิดตัวมวยปล้ำในยุคดังกล่าว จึงมีลักษณะการทำงานแตกต่างออกไปจากเพลงในยุค 80's เนื่องจากตัวเพลงมีความไพเราะและเรื่องราวในตัวเอง เมื่อแฟนมวยปล้ำจดจำเพลงของนักมวยปล้ำแต่ละคนได้ พวกเขาไม่ลังเลที่จะโหลดเพลงเหล่านั้นเก็บไว้ฟังในยามว่าง

Photo : www.indiafantasy.com

ไม่ใช้เรื่องแปลกเลยที่จะกล่าวว่า แฟนมวยปล้ำยุค 2000's ทุกคน มีเพลงเปิดตัวของนักมวยปล้ำที่ชื่นชอบ ในเครื่องเล่น MP3 ของตัวเอง ปัญหาแนวเพลงคล้ายกัน จนอาจทำให้สับสนว่าเพลงนี้เป็นของใคร จึงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากแฟนคลับชื่นชอบเพลงเปิดตัวมวยปล้ำ มากพอกับที่ชอบตัวนักกีฬาจริง

นักมวยปล้ำที่โด่งดังในช่วงหลัง อย่าง บาติสตา, แรนดี ออร์ตัน  หรือ ซีเอ็ม พังค์ ยังคงมีเพลงเปิดตัวแนวร็อค ที่ขับร้องโดยศิลปินดังเช่นเดิม เพลงร็อค และ กีฬามวยปล้ำ จึงกลายเป็นของคู่กันมาจนถึงปลายยุค 2000's จนสิ้นสุดในทศวรรษถัดมา ด้วยทิศทางที่เปลี่ยนไปของ WWE

 

2010's - Present : Part of Entertainment

WWE ได้รับความนิยมมากขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะแฟนคลับรุ่นเยาว์ หลังก้าวสู่ยุค PG (PG Era) เมื่อปี 2008 ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้กลุ่มแฟนคลับที่เคยเป็นชายกลัดมัน ผู้นิยมเพลงร็อก ในช่วงปลายยุค 90's เลิกดูมวยปล้ำ WWE จึงปรับเปลี่ยนแนวเพลงของพวกเขา เพื่อให้สอดรับกับกลุ่มแฟนคลับรุ่นใหม่ที่กำลังเข้ามา

Photo : www.bandwagon.asia

ดั่งกาลเวลาหมุนย้อนกลับ WWE นำแนวทางที่เคยใช้ในยุค 80's กลับมาใช้อีกครั้ง นักมวยปล้ำระดับสูงที่แจ้งเกิดในสมาคม ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นไป ไม่มีเพลงเปิดตัวเป็นเพลงร็อกจากศิลปินดังอีกแล้ว WWE หันกลับมาทำเพลงบรรเลงที่มีแต่ทำนอง เพื่อบอกเล่าตัวตนของนักมวยปล้ำแต่ละราย

ความแตกต่างระหว่างแนวเพลงเปิดตัวมวยปล้ำจากยุค 80's สู่ยุค 2010's คือเพลงมวยปล้ำในปัจจุบัน จะมีความร่วมสมัยมากกว่า สามารถโหลดเพื่อเปิดฟังในยามว่าง โดยมีแนวเพลงที่หลากหลาย ตั้งแต่ EDM, Hip-Hop จนถึง Rock แต่ไม่ว่าจะเป็นแนวไหน ทั้งหมดคือเพลงที่ฟังง่าย และค่อนข้างมีเอกลักษณ์ทำให้จดจำได้ทันที

เพลงมวยปล้ำในยุคปัจจุบัน ถูกวิจารณ์อย่างมากในหมู่แฟนรุ่นเก่า เนื่องจากความซ้ำซากจำเจของทำนอง หรือ เนื้อเพลงที่วนเวียนไม่บอกเล่าเรื่องราวของนักมวยปล้ำ ทำให้เพลงเปิดตัวของนักมวยปล้ำบางคน ไม่เป็นที่จดจำ หรือ เข้าใจผิดได้ง่ายว่าเพลงไหนเป็นของใคร

ยกตัวอย่าง กรณีเพลงของ ดรูว์ แม็คอินไทร์ และ เชมัส เนื่องจากเป็นเพลงที่ประยุกต์ดนตรีท้องถิ่นของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์ ให้ทันสมัยในรูปแบบเพลงบรรเลงที่มีลักษณะคล้ายกัน จนถูกล้อเลียนว่าหากนำเพลงของทั้ง 2 คน สลับกัน คงไม่มีใครสังเกตเห็น

อย่างไรก็ดี เพลงเปิดตัวรูปแบบใหม่ของ WWE มีจุดเด่นจากการเปิดโอกาสให้คนดูมีส่วนรวมระหว่างการเปิดตัวของนักมวยปล้ำ เช่น การชูมือพร้อมกับจังหวะเพลง "Catch Your Breath" ของ ฟินน์ เบเลอร์ หรือร้องคลอตามทำนองเพลง "The Rising Sun" ของ ชินสึเกะ นากามูระ 

การมีส่วนร่วมของคนดูระหว่างการเปิดตัวของนักมวยปล้ำ คือแนวทางใหม่ที่ WWE ชื่นชอบ เนื่องจากสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ผลิตภัณฑ์ของสมาคม ตามแนวทางกีฬาเพื่อความบันเทิง (Sport Entertainment) ที่ไม่ได้วัดคุณภาพแค่การแข่งขันบนเวทีอีกต่อไป

เพลงมวยปล้ำในปัจจุบัน จึงไม่ใช่แค่ดนตรีของนักมวยปล้ำ แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือความบันเทิง ที่สามารถก้าวไปไกลมากกว่าหมู่แฟนมวยปล้ำ อันเป็นเป้าหมายหลักของ WWE ในทุกผลิตภัณฑ์ที่พวกเขามี ฝ่าย WWE Music ก็เช่นกัน

แนวเพลง EDM หรือ Hip-Hop จึงพบเจอในวงการมวยปล้ำมากกว่าทศวรรษก่อนหน้า เนื่องจากได้รับความนิยมมากกว่าในปัจจุบัน รวมถึงการผลิตเพลงเองโดยโปรดิวเซอร์ส่วนตัวของ WWE สามารถสร้างรายได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องจ้างวงดนตรีชื่อดังอีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงของเพลงเปิดตัวมวยปล้ำ แต่ละยุคสมัย จึงเป็นเหมือนเครื่องบันทึกกาลเวลา คอยบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกีฬามวยปล้ำ ทั้งในแง่มุมของผู้สร้างถึงทิศทางของสมาคม  รวมถึงมุมของผู้ชมที่แตกต่างที่มีความต้องการออกไป ในทุกช่วงกาลเวลาอย่างน่าอัศจรรย์ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.billboard.com/charts/hot-100/1984-03-10
https://www.allmusic.com/album/wrestling-album-koch-mw0000311838
https://www.rollingstone.com/music/music-news/the-wrestling-album-at-30-the-inside-story-of-a-record-that-started-a-revolution-53620/
https://www.mentalfloss.com/article/20683/reviewing-wrestling-album
http://www.mtv.com/news/1453281/got-charts-wrestling-with-wwf-lps-breaking-records-with-celine/
https://www.allmusic.com/album/wwf-full-metal-mw0000080657
https://www.allmusic.com/album/wwf-forceable-entry-mw0000658926

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0