โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เพจดังเล่าเรื่อง'อินเดีย'เลิกล็อกดาวน์แม้'โควิด'ยังระบาด เหตุปชช.ตกงาน-ปากท้องรอไม่ไหว

แนวหน้า

เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 03.12 น.

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 เฟซบุ๊คแฟนเพจ "Gossipสาสุข" อันเป็นเพจข่าวที่เน้นเสนอเนื้อหาแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขของไทย เผยแพร่บทความ "อินเดียหักดิบ “เปิดเมือง” แม้ยอดโควิดยังพุ่ง เมื่อเรื่องปากท้องสำคัญกว่าสุขภาพ" เล่าเรื่องประเทศอินเดียที่แม้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังรุนแรง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมยุติมาตรการล็อกดาวน์ เหตุเพราะอินเดียมีประชากรมากควบคุมยาก ซ้ำยังหากยังดูจะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนเสียยิ่งกว่า ดังนี้

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียผ่าน “หลักไมล์” ที่สำคัญ หลังยอดผู้ติดเชื้อทะยานเกิน 1.8 แสนคน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ เพิ่มถึงวันละกว่า 8,000 คน ทำลายสถิติใหม่ทุกวัน และยอดผู้เสียชีวิต พุ่งถึง 5,000 คน แซงประเทศต้นกำเนิดของโควิด – 19 อย่างจีนไปเรียบร้อย

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ นายกฯ นเรนทรา โมดี กลับยังยึดกำหนดการเดิม เริ่ม “เปิดเมือง” ยุติการ “ล็อคดาวน์” ที่ดำรงอยู่อย่างเข้มข้นทั่วประเทศมาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. นั่นทำให้โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่สำคัญทางศาสนา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย โรงเรียน ก็กลับมาเปิดตามปกติอีกครั้ง ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าการระบาดในอินเดียจะไม่จบง่ายๆ ไม่ต้องพูดถึง Second Wave เพราะแม้แต่ Wave แรก การระบาดในอินเดียก็ยังไม่หยุด

แล้วทำไม อินเดีย ถึงเลือกเส้นทางนี้? คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะการ “ล็อคดาวน์” ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายที่ใหญ่หลวงกว่าเชื้อไวรัสไปมาก

หากจำกันได้ ในช่วงแรก อินเดีย มีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อย จนคนไทยหลายคนสงสัยว่า “เครื่องเทศ” สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโคโรนาไวรัส 2019 ด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายความจริงก็ถูกเผยออกมาเรื่อยๆ ในช่วงเดือน มี.ค. เมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมากผิดปกติในหลายเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นมุมไบ เดลี หรือเชนไน

จนในที่สุด รัฐบาลอินเดียก็พบว่า โคโรนาไวรัส 2019 มาถึงอินเดีย จนมีคนติดเชื้อได้สักระยะแล้ว เพียงแต่ขาดการ “ตรวจเชื้อ” อย่างเข้มข้น เมื่อไม่ตรวจ = ไม่เจอ ก็ทำให้การประเมินสถานการณ์นั้นผิดพลาดไปทั้งหมด

โมดี เริ่มแบนการเดินทางเข้า-ออกประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. และเริ่มต้นมาตรการเข้มข้นด้วยการทดลอง “เคอร์ฟิว” ห้ามออกจากบ้าน 14 ชั่วโมง ในวันที่ 22 มี.ค. ตั้งแต่ทั่วประเทศยังมีผู้ติดเชื้อเพียง 315 ราย ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่าตัวเลขที่รัฐบาลมีในมือ น่าจะ “แย่” กว่าที่คนทั่วประเทศคิดไว้มาก

ในที่สุด วันที่ 24 มี.ค. 2 วันหลังจากนั้น อินเดียก็ประกาศ “ล็อคดาวน์” ขั้นเด็ดขาด ปิดระบบขนส่งมวลชนทุกอย่าง รวมถึง “รถไฟ” ซึ่งอินเดียมีเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อลดการเคลื่อนย้ายประชากร และจำกัดวงการระบาดให้อยู่เฉพาะในพื้นที่เมือง อย่างน้อย 21 วัน

ถือเป็นการล็อคดาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่รัฐบาลอินเดีย อาจจะใช้ระยะเวลา “สั้น” ที่สุดในการประกาศล่วงหน้าด้วย เพราะคนอินเดีย มีเวลาเตรียมตัวแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น โดยโมดี ให้เวลาถึงแค่เที่ยงคืน ก่อนหยุดเคลื่อนย้ายทุกอย่าง

ผลที่ตามมาของการล็อคดาวน์สำหรับประเทศที่มีประชากร 1,300 ล้านคน และมีประชากรกว่า 200 ล้านคน อยู่ในภาวะ “ยากจน” และ “แออัด” ในเขตเมืองนั้น กลายเป็นความปั่นป่วนครั้งใหญ่ แรงงานยากจนหลายร้อยล้านคนต้อง “เดินเท้า” อย่างแออัดเพื่อกลับบ้านตัวเอง หลังจาก “ตกงาน” ทันทีด้วยคำสั่งล็อคดาวน์ มีรายงานว่าหลายคนต้องเดินไกลนับ 100 กิโลเมตร เพราะระบบขนส่งมวลชนปิดหมด

แน่นอน ด้วยประชากรมากขนาดนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ไม่สามารถปิดกั้นตามคำสั่งของรัฐบาลได้ทั้งหมด ในที่สุด การเคลื่อนย้ายประชากรหลังล็อคดาวน์ ก็เป็นการพาโรคระบาดกลับไปยังถิ่นพำนัก ชุมชนแออัด ซึ่งไม่สามารถ “เว้นระยะห่าง” ได้อยู่แล้ว หลายแห่งเริ่มมีรายงานผู้ติดเชื้อ รวมถึงชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย อย่างย่าน “ทราวี” ในมุมไบ

ที่สำคัญคืออินเดียเองมีปัญหาด้านสาธารณสุขที่หนักหน่วงอยู่แล้ว โดยปกติคนอินเดียในพื้นที่แออัดต้องรอคิวหลายวันเพื่อเข้าพบแพทย์แต่ละครั้ง และถือเป็นประเทศที่มีเหตุ “เผชิญหน้า” รุนแรง ระหว่างหมอ และคนไข้เป็นประจำ แม้นายกฯ โมดี มีแผนจะนำอินเดียเข้าสู่ระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้ทุกคนรักษาฟรี แต่เป้าหมายล่าสุดก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริง

หากเกาหลีใต้ใช้วิธีคือ ตรวจโรค – กักกันโรค – สอบสวนเส้นทางโรค – และรักษาโรค เพื่อเอาชนะการระบาดของโรคนี้ อินเดียเอง ดูจะมีปัญหาทุกขั้นตอน การตรวจโรคนั้นไม่ง่ายเลย สำหรับพื้นที่ชุมชนแออัด ประชากรหนาแน่น เพราะเจ้าหน้าที่ในการคัดกรอง – เครื่องมือในการคัดกรองเองขาดแคลนอย่างเห็นได้ชัด เดือน มี.ค. – กลางเดือน เม.ย. อินเดีย “เทสต์” ได้ราวหลักหมื่นเท่านั้น ทำให้เจอผู้ติดเชื้อน้อย และรัฐบาลเองคิดว่าการ “ล็อคดาวน์” เฟสแรกประสบความสำเร็จ ทั้งที่ความเป็นจริงมากจากการ “ตรวจน้อย” มากกว่า

ขณะเดียวกัน “ระยะห่าง” ระหว่างประชาชน กับโรงพยาบาลในอินเดียนั้นค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยหลายคน เลือกที่จะป่วยอยู่ที่บ้าน แทนการไปพบแพทย์ ซึ่งกว่าจะได้พบ ก็ต้องไปต่อคิว ไม่รู้จะได้เจอเมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของรัฐบาลอินเดีย กลับมองว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 กลับไม่ได้แย่อย่างที่กลัวกันแต่แรก แม้อินเดีย จะมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มในอัตราที่น่ากังวล แต่ก็เป็นเพราะการระดมตรวจเชื้อเพิ่มจนได้มากกว่าวันละ 2-3 แสนคนต่อวัน และอัตราตายต่อผู้ติดเชื้อก็ค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 3% เท่านั้น เพราะฉะนั้น ผลเสียต่อเศรษฐกิจ น่าจะใหญ่กว่าโรคระบาด

แต่ในอีกด้าน จาค็อบ จอห์น นักระบาดวิทยา แสดงความกังวลว่า อินเดียเองก็มีความ “เปราะบาง” ในระบบการเก็บข้อมูล และน่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อ – ผู้เสียชีวิต อีกมาก ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การเก็บสถิติของรัฐ ทำให้ไม่รู้ว่าความจริงที่อยู่เบื้องหลังนั้นคืออะไร

จอห์นเชื่อว่า “กราฟ” ของอินเดีย ยังไม่สูงที่สุด และกว่าจะ “พีค” ก็ล่วงเข้าไปถึงเดือน ก.ค. หรือเดือน ส.ค. และ “เดาใจ” รัฐบาลว่า การยอมผ่อนปรนล็อคดาวน์รอบนี้ เพราะรู้ว่าการล็อคดาวน์โดยปล่อยให้มี “รูรั่ว” จำนวนมาก ไม่น่าจะมีผลอะไรกับการควบคุมโรค และที่สำคัญคือได้เห็นผลกระทบกับปากท้องของคนยากจน ที่ไม่มีงานทำอย่างมหาศาล

อาวินด์ เคจรีวัล มุขยมนตรีแห่งเดลี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซี ระบุว่า อินเดีย ได้ใช้ช่วงเวลา “ล็อคดาวน์” ในการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน และขณะนี้ ถือว่าพร้อมมากแล้ว จึงได้เดินทางเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการ “เปิดเมือง”

รัฐบาลอินเดียเองก็แถลงความสำเร็จของล็อคดาวน์ว่าสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ถึง 3 แสนคน และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากถึง 7.1 หมื่นราย

แต่ที่ยังไม่ได้พูดถึง และยังประเมินไม่ได้ก็คือ ในอนาคต อินเดียจะมีผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตมากขึ้นเท่าไหร่ จากการเปิดเมืองมากขนาดนี้ เพราะดูแล้ว ด้วยจำนวนประชากร ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตในอินเดีย น่าจะต้องว่ากันไปยาวๆ แต่หากจะให้กลับไปปิดเมือง ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว เพราะผลเสียทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปากท้องของคนรากหญ้านั้นมากเกินไป

ทั้งหมดนี้ ประเมินกันได้เลยว่า นักท่องเที่ยวอินเดีย ที่เคยเป็นหนึ่งใน “ตัวชูโรง” ของรายได้จากการท่องเที่ยวบ้านเรา น่าจะหายไปอีกนาน หากยอดผู้ติดเชื้อในอินเดียยังคงเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ และรัฐบาลอินเดีย จะเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนแบบนี้

ดีไม่ดี บางทีอินเดีย อาจบรรลุ Herd Immunity หรือการมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” ของประชากร เป็นที่แรกของโลก ก็เป็นได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0