โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เฝ้าระวังรอยเลื่อนปัว หลังเกิดแผ่นดินไหว 6.4 ใน สปป.ลาว รอบ 84 ปี

TODAY

อัพเดต 21 พ.ย. 2562 เวลา 05.27 น. • เผยแพร่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 05.24 น. • Workpoint News
เฝ้าระวังรอยเลื่อนปัว หลังเกิดแผ่นดินไหว 6.4 ใน สปป.ลาว รอบ 84 ปี

กรมทรัพยากรธรณีวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา แถลงเฝ้าระวังรอยเลื่อนปัว จ.น่าน หลังเกิดแผ่นดินไหว 6.4 ใน สปป.ลาว เผยเกือบร้อยปีก่อนเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในบริเวณเดียวกันมาแล้ว ยันไม่มีผลกระทบไทยรุนแรง

วันนี้ (20 พ.ย. 2562) เวลา 9:45 น. นาวา อากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีทรัพยากรธรณี แถลงการณ์ หลังเกิดแผ่นดินไหวใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงไชยบุรี ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้ามืดวันนี้เวลา 4.03 น. แรงสั่นสะเทือนขนาด 5.9 และเกิดขึ้นอีกครั้งจุดศูนย์กลางเดิม เวลา 6.50 นาที แรงสั่นสะเทือนขนาด 6.4 ซึ่งเป็นแรงสั่นสะเทือนหลัก ก่อนขยายแรงสั่นสะเทือนเป็น After Shock ซึ่งพบว่าจากจุดศูนย์กลางของแรงสั่นสะเทือนฝั่ง สปป.ลาว ห่างจากบ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน จ.น่าน ประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าแรงสั่นสะเทือนมีขนาดลดลงเรื่อยๆ จนไม่น่ากังวลใจ

ส่วนแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น สาเหตุมาจากสภาพดินมีลักษณะอ่อนตัว ชั้นหินน้อย จึงมีความสั่นไหว โดยเฉพาะตึกสูง ซึ่งเกิดข้อสงสัยว่าระยะทางจากจุดศูนย์กลางที่เกิดแผนดินไหวอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 600-700 กิโลเมตร แต่ทำไมช่วงระยะทางจังหวัดต่างๆก่อนถึงกรุงเทพฯไม่เกิดการสั่นไหว เนื่องจากใต้พื้นดินมีชั้นหินแน่นหนาที่ซับแรงสั่นสะเทือนไว้บางส่วนแล้ว จนกระทั่งมาถึงกรุงเทพฯที่ชั้นดินอ่อนนุ่ม จึงสั่นไหวนั่นเอง

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี - นาวาอากาศเอก สมศักดิ์  ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวเพื่อเติมถึงจุดที่ต้องเฝ้าระวังหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศลาวว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวังทั้งหมด 16 รอยเลื่อน แต่รอยเลื่อนที่ต้องจับตาดูในขณะนี้คือรอยเลื่อนปัวใน จ.น่าน เพราะรอยเลื่อนดังกล่าวเป็นรอยเลื่อนเดียวกันกับประเทศลาว แต่ในประเทศไทยจากการศึกษาพบว่าเคยเกิดขึ้นเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ขนาด 6.4 ทั้งนี้หากมีการเกิดแผ่นดินเกิดขึ้นตรงจุดนี้จะมีขนาด 6.4 - 6.5

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ในพื้นที่ จ.น่าน อ.บ่อเกลือ ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อย แต่ด้วยความโชคดีที่ในพื้นที่ไม่ค่อยมีบ้านเรือนของประชาชน จึงมีความเสียหายไม่มาก

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์  ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เมื่อเวลา 23.49 น. ของวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9 จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ สปป.ลาว หรือที่ละติจูด 19.46  องศาเหนือ ลองจิจูด 101.38 องศาตะวันออก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ห่างประมาณ 20 กิโลเมตร จากนั้น เวลา 04.03 น. ของวันนี้(21 พ.ย. 62) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 และมีรายงานเพิ่มเติมว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาขนาด 2.3-4.3 จำนวน 11 ครั้ง ในช่วงเวลา 04.19-06.28 น. และเมื่อเวลา 06.50 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างรุนแรง และมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา ขนาด 2.4-4.8 จำนวน 9 ครั้งสำหรับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ คาดว่าเกิดจากรอยเลื่อนใน สปป. ลาวที่เชื่อมต่อจากรอยเลื่อนปัวในประเทศไทย ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2478 ขนาด 6.5 ในบริเวณเดียวกัน

ทั้งนี้ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบโดยด่วนต่อไป ซึ่งประชาชนสามารถติดตามประกาศได้ที่เว็บไซต์ www.earthquake.tmd.go.th หรือสอบถามข้อมูลที่โทรศัพท์หมายเลข 0 2399 4547 และ 0 2399 0965 ตลอด 24 ชั่วโมง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0