โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เผือกร้อน “รัฐบาลใหม่” ตีตั๋ว 65 บาท BTS ตลอดสาย จบไม่ลง? 

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 04.00 น.

     ยืดเยื้อไม่จบ! เจรจาต่ออายุสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายใหม่ 2 ช่วง หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ ระหว่างกรุงเทพมหานคร(กทม.) ในนามบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และบีทีเอสในนาม บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC  ผู้รับสัมปทานเดิม
     ปมมาจากโจทย์ที่ว่า “กทม.”ต้องการผู้บริหารจัดการเดินรถเพียงรายเดียวหรือซิงเกิลโอเปอเรชัน เพื่อความสะดวกไม่ต้องเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนขบวนรถให้ยุ่งยากแก่ผู้โดยสารและที่สำคัญกทม.ต้องการบีบให้อัตราค่าโดยสารตลอดทั้งสายไม่เกิน 65 บาท หลังจากถูกสังคมกดดันหนักถึงราคาค่าบริการรถไฟฟ้าเมืองไทยถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น  

      เพราะหากคิดตามราคาปัจจุบันเริ่มต้นสถานีละ 15 บาท  และอัตราค่าบริการตลอดสายที่เปิดให้บริการทุกสถานีปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 59 บาท แต่ห้าหากเปิดให้บริการครบทุกสถานีตลอดสาย (คูคตถึงสมุทรปราการ)  ค่าโดยสารตลอดทั้งสายจะสูงลิบถึง 140-150 บาท เป็นเรื่องที่คนกรุงรับไม่ได้ และกทม.ก็ต้องถูกสับเละ ! 

     โดยปัจจุบันราคาค่าโดยสารจากหมอชิต-อ่อนนุชอยู่ที่ 44 บาท จากอ่อนนุชถึงแบริ่งเพิ่มอีก 15 บาท เป็นการเหมาจ่าย จากแบริ่งปากน้ำ สมุทรปราการ ที่เพิ่งเปิดบริการปลายปี 2561 ขณะนี้ยังนั่งฟรีไม่คิดเงิน 
   

      ด้วยส่วนต่อขยายที่เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยวันที่ 11 สิงหาคมนี้จะเปิดเพิ่มอีก 1 สถานีจาก หมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าว และสิ้นปีจะเปิดบริการถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ผู้ว่าฯ กทม. “พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง” จึงต้องการเคลียร์เรื่องสัมปทานและราคาให้จบโดยเร็ว 
      โดยโยนเผือกร้อนมาที่  “บีทีเอส”  ให้ยึดราคาไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งหมายถึงสถานีต้นทางจากคูคตถึงปลายทาง สมุทรปราการ ที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2563 รวมระยะทางราว 60 กิโลเมตรจำนวน 47 สถานี เชื่อมโยงถึง 3 จังหวัด คือ กทม.สมุทรปราการ และ ปทุมธานี แต่ราคาค่าโดยสารต้องไม่เกิน 65 บาทขาดตัว

     โจทย์นี้ทำเอา “เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์”  ถึงกับ “กุมขมับ” พยายามหาสูตรคำนวณให้ลงตัวและเจ็บตัวน้อยที่สุด ซึ่งว่ากันว่าในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งตั้งโดย “พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีการเสนอหลายแนวทางในการเจรจาต่อรอง 

     

   ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวยังมีผู้เกี่ยวข้องกันถึง 3 กลุ่ม คือ กทม. –บีทีเอสและ รฟม.หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาเอี่ยวในฐานะ ที่เป็นผู้ลงทุนส่วนต่อขยายหัว-ท้ายที่กำลังจะเปิดบริการและ รฟม.ก็เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ส่วนกทม.อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย 

      เรื่องเกี่ยวพันระหว่าง กทม.กับรฟม.เคลียร์กันจบไปแล้ว หลังจากมติครม.ให้รฟม.ต้องโอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่ลงทุนไปแล้วราว 8 หมื่นล้านบาทให้ กทม. รับภาระต่อ แต่กทม.ไม่มีเงิน จึงผลักภาระให้เอกชน สูตรในการคำนวณต่อสัญญาสัมปทานใหม่ระหว่างกทม.กับบีทีเอส

     จึงระบุไว้ในเงื่อนไขหลัก 3 ประการคือ  1. บีทีเอส ต้องแบกรับภาระหนี้ 8 หมื่นล้านบาท 2. คิดค่าตั๋วไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย และ 3. ต้องลงทุนระบบอาณัติสัญญาณอีก 2.3 หมื่นล้านบาท  

 
     ส่วนเงื่อนไขที่บีทีเอสต้องการคือ 1. ต่อสัญญาออกไปอีก 40 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2603  โดยเป็นการเหมารวมกับอีก 2 สัญญาเดิมที่มีอยู่คือ สัมปทานเดินรถช่วง หมอชิต-อ่อนนุช  และ สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่จะหมดภายในปี 2572 และสัญญารับจ้างบริหาร ส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2585 และ 3. การขอเงินสนับสนุนอีกปีละ 1 พันล้านบาท แต่ประเด็นหลังนี้ตกไปเพราะกทม.ไม่มีเงินสนับสนุน 
     ปัจจุบันบีทีเอสมีผู้โดยสารใช้บริการวันละ 8 แสนคนต่อวัน  ซึ่งเมื่อมีการขยายเส้นทางเพิ่มยอดผู้โดยสารต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน ยิ่งมีรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ เปิดบริการโดยเฉพาะสายสีเหลืองที่มีจุดเชื่อมต่อกันรวมถึงคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าที่จะเปิดขายเพิ่มขึ้น    

      แต่ปัญหาจุกอกของ “บีทีเอส” ก็คือจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้โดยสารปัจจุบันเดือดร้อน และการคำนวณราคาใหม่จะคิดกันอย่างไร  เมื่อรายได้จากค่าโดยสารปัจจุบันทั้งหมดได้ถูกโอนเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง (บีทีเอสโกรท)  ที่ได้ออกมาก่อนหน้านั้นเพื่อนำไปลงทุนซื้อขบวนรถและชำระหนี้บางส่วน เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมแรกเข้า เมื่อเชื่อมต่อตั๋วร่วมระบบ EMV ซึ่งประเด็นหลังบีทีเอสมีท่าทีอ่อนลง
      ปมปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันต่อจนกว่าจะสะเด็ดน้ำและต้องปิดดีลให้เร็ว เพราะ “บีทีเอส” ยังถูกกดดันด้วยการเปิดบริการสถานีใหม่ ๆ ช่วงนี้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะออกมาสูตรไหนอยู่ที่รัฐบาล “บิ๊กตู่ 2” เป็นคนจบปัญหา!  

 

คอลัมภ์: ตื่้น-ลึก-หนา-บาง 

โดย :    เรดไลออน  

                    

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0