โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เผย 5 ทริค TCAS62 รอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน โอกาสของน้องๆ ที่มากกว่าแค่คะแนนสอบ – ทปอ.

Campus Star

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2561 เวลา 04.20 น.
เผย 5 ทริค TCAS62 รอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน โอกาสของน้องๆ ที่มากกว่าแค่คะแนนสอบ – ทปอ.
นักกิจกรรม นักล่ารางวัล ต้องรู้! ทปอ. เผย 5 ทริค TCAS62 รอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน โอกาสของน้องๆ ที่มากกว่าแค่คะแนนสอบ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากนักเรียนมัธยมฯ

หลายเรื่องหนักใจของน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อการคัดเลือกบุคคลเพื่อศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2562 หรือ TCAS62 หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นความกดดันจากการเตรียมตัวสอบ เพื่อนำคะแนนไปยื่นสมัครในรอบลึกๆ แต่ก่อนที่จะไปถึงเวลานั้น น้องๆ คนไหนที่รู้ตัวว่ามีความสามารถและผลงานที่โดดเด่น สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ต้องการเรียน แถมยังได้รับรางวัลจากการแข่งขันทักษะ ความสามารถพิเศษต่างๆ อาจจะใช้จุดเด่นนี้ รวบรวมออกมาเป็นแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เพื่อไปยื่นสมัครในคณะ สาขา หรือสถาบันที่น้องๆอยากเรียนต่อ เพราะในรอบนี้ โอกาสอาจจะเป็นของน้องๆ โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยไปสอบแข่งขันเลยก็ได้

เผย 5 ทริค TCAS62 รอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน

นักกิจกรรม นักล่ารางวัล ต้องรู้ ! โอกาสของน้องๆ ที่มากกว่าแค่คะแนนสอบ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า … ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากนักเรียนมัธยมฯ สู่การเป็นนิสิต นักศึกษา คือ โอกาสสำคัญในการวางแผนอนาคตของน้องๆ ในระบบการศึกษา ดังนั้นการคัดเลือกบุคคลเพื่อศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาโดยใช้เกรดเฉลี่ย และผลการสอบแข่งขัน ไม่เพียงพอในการตัดสินที่จะให้โอกาสทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม เพราะผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากผลการเรียน และคะแนนการสอบ อาจไม่สะท้อนตัวตนและศักยภาพของน้องๆ ได้อย่างแท้จริง

ซึ่ง ทปอ. เล็งเห็นความสำคัญของระบบการคัดเลือกที่มีความหลากหลาย เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษา ให้ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด โดยการคัดเลือกจากแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) คือ หนทางที่น้องๆที่มีความสามารถ มีแรงบันดาลใจ ได้แสดงศักยภาพ และความใฝ่ฝัน ซึ่งอาจตรงกับความต้องการของคณะ สาขา และสถาบัน อย่างคาดไม่ถึง ด้วย 5 เรื่องน่ารู้ต่อไปนี้

1. “เก่งที่สุด” ไม่ได้แปลว่า “เหมาะสมที่สุด”

ถึงแม้ว่าแต่ละสถาบันอาจมีเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกันออกไป แต่หัวใจสำคัญของการคัดเลือกในรอบนี้ คือ การค้นหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการของแต่ละแห่ง ซึ่งคุณสมบัติที่ว่านี้ อาจไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด หรือเรียนได้เกรดเฉลี่ยสูงๆ เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่น้องๆ ต้องมีในรอบนี้ คือ การแสดงตัวตนที่ชัดเจน มีความต้องการที่จะเรียนต่อในสาขา คณะ สถาบันนั้นๆ รวมถึงความใฝ่ฝันในการประกอบอาชีพในอนาคต ที่ตรงกับองค์ความรู้ของสาขาที่สมัครเข้าคัดเลือก

จึงแปลว่า ก่อนอื่นน้องๆ จะต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราว่าชอบอะไร ต้องการอะไร แล้วค่อยไปคิดต่อว่าอยากจะเรียนอะไร และอยากประกอบอาชีพอะไร ดังนั้น “คนเก่ง” อาจไม่ใช่คนที่เหมาะสมที่สุด และอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะในรอบนี้กำลังคัดเลือก  “คนที่เหมาะสมที่สุด” นั่นเอง

2. แฟ้มสะสมผลงานที่ดี จะต้องมี … (จุด จุด จุด)

เมื่อรู้ความต้องการของตัวเอง และมีตัวตนที่ชัดเชนแล้ว สเตปต่อไป คือ ทำอย่างไรให้แฟ้มสะสมผลงานของเรา เข้าตาคณะกรรมการมากที่สุด ซึ่งองค์ประกอบของการทำแฟ้มสะสมผลงานที่ดี จะช่วยให้น้องๆ มีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากขึ้น เพราะองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้คณะกรรมการ สามารถรู้จัก เข้าถึง และเข้าใจตัวตนของเราได้ในระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่ได้หมายถึงแฟ้มที่ดูแพง หรือสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วย 4 เรื่องโดนใจ! ได้แก่

  1. สาระสำคัญตรงตามข้อกำหนดของสาขาวิชา
  2. มีรายละเอียดที่แสดงประวัติและผลงานเด่นๆ อย่างครบถ้วน
  3. เรียบเรียงเก่ง กระชับเข้าใจง่าย ดูเป็นระบบ
  4. มีความคิดสร้างสรรรค์ ช่วยให้น่าอ่าน น่าสนใจ และน่าประทับใจ

3. รู้ไว้ไม่โป๊ะ! รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ต้องจำใส่ใจ

นอกจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนแล้ว บางสาขา บางคณะ อาจมีรายละเอียดจุกจิกยิบย่อยที่แตกต่างไม่เหมือนใคร ซึ่งถ้าน้องๆ คนไหน สามารถทำแฟ้มออกมาได้ตรงตามเงื่อนไขได้อย่างครบถ้วน ก็ยิ่งสะท้อนความตั้งใจและทำให้คณะกรรมการประทับใจในความพยายามของน้องๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น กำหนดปริมาณว่าต้องไม่เกินกี่หน้ากระดาษ ให้ใช้ตัวอักษรได้ไม่เกินกี่คำ การพิมพ์ต้องใช้ฟอนท์อะไร ต้องใส่รูปถ่ายกิจกรรมหรือรางวัลหรือไม่ ขนาดกระดาษที่ให้เลือกใช้ เนื้อหาที่อยากให้ใส่เน้นลงไปเป็นพิเศษ หรือแม้แต่การกำหนดว่า ให้ผู้สมัครบรรจงเขียนด้วยลายมือของตนเอง

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่มีอยู่จริง และไม่ควรมองข้าม ซึ่งถ้าน้องๆ มีความใส่ใจ ละเอียดรอบคอบ รู้ไว้ไม่โป๊ะจะดีกว่า

4. คัดมาเน้นๆ คอนเทนต์ต้องบาดใจ

เป็นเรื่องที่น้องๆ หลายคนต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และลืมภาพการหอบแฟ้มเล่มโตๆ ไปโชว์ต่อหน้าคณะกรรมการไปได้เลย เพราะปีนี้ ทปอ.มีความปรารถนาดี อยากช่วยน้องประหยัดเงินในการทำแฟ้มสะสมผลงานให้ได้มากที่สุด จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการทำแฟ้มสะสมผลงานเพื่อยื่น TCAS62 ไว้ไม่เกิน 10 หน้ากระดาษ (ไม่รวมปก)

ดังนั้น สิ่งที่น้องๆ ต้องเตรียมให้พร้อม คือ การคัดเลือกสุดยอดผลงาน เรียบเรียงประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา บอกสิ่งที่ตนเองถนัด แรงบันดาลใจ และความต้องการของตนเอง “สิ่งสำคัญคือ การบอกให้คณะกรรมการเข้าใจ ว่าทำไมเราถึงอยากเรียนสาขา คณะ หรือสถาบันนี้มากที่สุด”

5. สายวิทย์-สายศิลป์ กินกันไม่ลง

บุคลิกภาพของผู้เรียนสายวิทย์และสายศิลป์ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน สะท้อนตัวตนและธรรมชาติของหลักสูตรการเรียนในแต่ละสาขา แต่ละคณะ ดังนั้น การออกแบบแฟ้มสะสมผลงานของผู้เรียนแต่ละสาย ไม่ว่าจะสายวิทย์หรือสายศิลป์ จะต้องสามารถบอกเล่าตัวตนของน้องๆ ให้ตรงกับบุคลิก ลักษณะของแต่ละกลุ่มวิชา รวมถึงแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคตได้ เพราะนั่นหมายถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ที่น้องๆ ต้องแสดงให้คณะกรรมการเห็น ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับตัวเรา และหมายถึงโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกก็จะมีมากขึ้นไปด้วย

เช่น หากต้องการเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องมีเนื้อหาที่บอกเล่าความสนใจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ความรู้งานช่าง แนวคิดการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในทางธุรกิจ ในทางกลับกันหากน้องๆ ต้องการเรียนคณะอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็ต้องมีการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับตัวตนของแต่ละคณะลงไป ให้รู้ว่าเราเหมาะกับการเรียนคณะนี้จริงๆ

ข้อเท็จจริงในรอบการยื่นแฟ้มสะสมผลงาน

“ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าเพื่อศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในรอบการยื่นแฟ้มสะสมผลงานนั้น ส่วนมากคณะกรรมการจะคัดเลือกจากบุคคลที่มีประวัติผลงานที่น่าสนใจ มีความมุ่งมั่นที่จะหากิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพในฝัน ซึ่งจะสะท้อนถึงความตั้งใจจริงของผู้เรียน ว่ามีความสนใจเกี่ยวกับสาขาวิชานั้นๆ จริง โดย ทปอ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเปิดรับสมัครในรอบแฟ้มสะสมผลงาน จะช่วยเพิ่มโอกาส สร้างความเท่าเทียมในระบบการศึกษาไทย และช่วยลดความกดดันให้กับน้องๆที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกๆ โดยไม่จำเป็นต้องสมัครคัดเลือกทุกรอบ ดังนั้น น้องๆ ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ขอให้น้องๆ ทุกคนโชคดี” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

บทความแนะนำ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0